สัปดาห์ที่ผ่านมา ถ้าไม่นับข่าวเชือดสยอง 9 ศพที่จังหวัดคานากาว่าแล้ว หนึ่งในประเด็นที่สังคมญี่ปุ่นสนใจกันมากก็คงหนีไม่พ้น เทศกาลฮาโลวีน ที่เอาจริงๆ แล้วก็ถือว่าเป็นของใหม่ของสังคมญี่ปุ่น
ผมได้ดูรายการเพลงพิเศษรับเทศกาลฮาโลวีน ก็เห็นแขกรับเชิญที่มีอายุหน่อยบอกว่ารุ่นเขาไม่รู้จักฮาโลวีนกันหรอก ตอนเด็กๆ ไม่เห็นมีอะไร เอาจริงๆ สิบกว่าปีก่อนตอนผมอยู่ญี่ปุ่น ก็ไม่เห็นมีการฉลองอะไรกันนัก แต่พอห้างร้าน สวนสนุก และสินค้าต่างๆ เริ่มเอามาเป็นกิมมิคในการขายของ ชื่อก็ติดหูมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง และที่เป็นประเด็นมากที่สุดคงเป็นการออกมาแต่งตัวแฟนซีฉลองฮาโลวีนแล้วเดินเล่นกันแบบปิดถนนชิบุยะที่เป็นที่นิยมได้สักไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เอง
ที่เป็นประเด็นเพราะว่าการปิดชิบุยะฉลองนี่มันไม่ได้มีแม่งานเหมือนอีเวนต์ตามห้างหรือสวนสนุกสิครับ แต่นี่มันเกิดจากการที่คนชวนกันมาผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ช่วงแรกอาจจะไม่เยอะ แต่พอมีมากพอก็เจอ Tipping Point กลายเป็นงานที่เกิดขึ้นทุกปีแบบอัตโนมัติ (แต่เดิมฮาโลวีนมีปัญหาที่ชาวต่างชาตินัดกันมาบอมบ์จัดปาร์ตี้ในรถไฟในโตเกียว) และพอไม่มีแม่งาน มันก็มั่วไปหมด กลายเป็นการปิดถนนลำบากคนเดินทางกลับบ้านที่ต้องใช้เส้นทางนั้น ตำรวจก็ต้องระดมกำลังมาดูแลความสงบ แถมยังมีปัญหาขยะหลังจบอีเวนต์ซะอีก พูดแล้วก็เหนื่อยใจ ถกกันได้ทุกปี แต่ข้ามจากโตเกียวไปทางตะวันตกเป็นระยะทาง 424 กิโลเมตร ในเมืองโกเบ กลับมีงานฮาโลวีนที่จัดโดยกลุ่มบุคคลที่ไม่น่าเชื่อเป็นประจำเกือบทุกปี นั่นคือกลุ่มยากูซ่า แก๊งยามากุจิกุมิ
หากใครติดตามข่าวหรือสนใจเรื่องยากูซ่าสักหน่อย คงรู้จักแก๊งยามากุจิกุมิเป็นอย่างดี เนื่องจากแก๊งยามากุจิกุมิคือแก๊งยากูซ่าที่ใหญ่ที่สุดและครองอันดับหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นมาเป็นเวลายาวนานเหลือเกิน และก็ไม่น่าเชื่อว่า แม้จะเป็นแก๊งใหญ่ขนาดนี้ แทนที่จะเป็นที่รังเกียจของชาวเมือง กลับกลายเป็นว่า บางเขตในเมืองโกเบนั้น ยินดีที่จะให้มีแก๊งนี่อยู่เสียด้วยซ้ำ
แก๊งยามากุจิกุมิ (คำว่า กุมิ มีความหมายว่า กลุ่ม) ตั้งมาตั้งแต่ปี 1915 โดยมีโกเบเป็นถิ่นฐาน แต่แก๊งขยายตัวใหญ่จริงๆ ในช่วงปี 1940s หัวหน้าแก๊งคนที่สามได้พัฒนาระบบการจัดการ ทำให้ขยายขนาดใหญ่โตขึ้นจนกลายเป็นหนึ่งในองค์กรใหญ่ประจำเมืองไปโดยปริยาย ถึงขนาดที่ในยุคหลังสงครามมีการล้อกันเล่นว่าถ้าเรียนจบมัธยมแล้ว หัวไว แข็งแรง ทักษะการเงินดี ก็ไปสมัครเข้าแก๊งยามากุจิกุมิเพื่ออนาคตได้ ซึ่งตัวตนของแก๊งก็เป็นสิ่งที่ชาวเมืองยอมรับว่ามีอยู่จริง แต่ที่น่าสนใจคือ ไม่ได้มีใครรู้สึกว่าแก๊งน่ากลัว
ดูเหมือนแก๊งยามากุจิกุมิจะวางตัวแบบยากูซ่าในอุดมคติ ที่แม้จะประกอบธุรกิจเถื่อนสารพัดทั้งพนันและบริการทางเพศ รวมไปถึงต้มตุ๋นในยุคหลัง แต่ที่น่าทึ่งคือ กับคนทั่วไปแล้ว พวกเขาไม่ได้มายุ่มย่ามอะไร ไม่ได้เดินไปข่มขู่ใครในเมือง ถ้าหากชาวเมืองเจอสมาชิกแก๊งไปอาบน้ำในเซนโต (ร้านอาบน้ำที่ปกติแล้วมักจะห้ามไม่ให้ยากูซ่าใช้บริการ แต่บางแห่งในเมืองนี้คงไม่ถือสา) ก็ยิ้มให้ราวกับได้เจอนักกีฬาดัง ซึ่งยากูซ่าก็ผงกหัวรับโดยไม่พูดจาอะไรเป็นที่รู้กัน พอไปสัมภาษณ์ชาวเมือง ก็บอกว่าเพราะแก๊ง ทำให้ถนนหนทางเรียบร้อย สะอาด ไม่มีใครทำอะไรเรี่ยราด ไม่มีปัญหา อดีตแก๊งซิ่งเด็กแว้นในเขตก็ยอมรับว่าสมัยซิ่งรถ ก็ไม่กล้ามาซิ่งหรือส่งเสียงดังในเมือง เพราะว่ารู้ดีกว่ามีแก๊งยามากุจิกุมิคุมอยู่
ภาพลักษณ์ของแก๊งยามากุจิกุมิยิ่งดูดีขึ้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในเขตคันไซ ที่เมืองโกเบก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก แก๊งยามากุจิกุมิก็เป็นกำลังหลักในการบรรเทาทุกข์ให้กับชาวเมือง ด้วยการมาแจกอาหารและของใช้จำเป็นให้ผู้ประสบภัย ขนาดที่ว่าต่อให้สมาชิกแก๊งขี่จักรยานยนต์ขนของโดยไม่ใส่หมวกกันน็อค ตำรวจจราจรก็ไม่ว่าอะไร เพราะรู้กันว่าเป็นความจำเป็นในการช่วยชาวเมือง
ถ้าพูดตามสไตล์นักวิชาการการเมืองไทยก็คงต้องบอกว่าแก๊งยามากุจิกุมิเป็น ‘รัฐพันลึก’ หรือ Deep State ที่ปกครองเมืองโกเบอยู่อีกชั้นหนึ่งเช่นกัน ที่สำคัญคือชาวเมืองเองก็ยอมรับตัวตนของแก๊งด้วย
และหนึ่งกิจกรรมที่สานสัมพันธ์ของชาวเมืองกับแก๊ง ก็คือการเปิดสำนักงานใหญ่ แจกขนมให้เด็กๆ ในวันฮาโลวีนนี่ล่ะครับ ผมพยายามหาข้อมูล แต่ไม่เจอว่ากิจกรรมนี้เริ่มเมื่อไหร่ แต่ก็น่าจะมีมาหลายปีแล้วเหมือนกัน เพราะเห็นข่าวอยู่เรื่อยๆ แน่นอนว่าถ้าไปอ่านในเว็บรวมข่าวต่างๆ คนนอกเมืองก็ต่างตกใจ ว่าพ่อแม่ของเด็กคิดอะไร ที่ไปรับขนมจากสำนักงานใหญ่ของแก๊งอิทธิพลที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น (บางที่ก็จัดให้ใหญ่ที่สุดในโลก) แต่ดูเหมือนว่า ชาวเมืองโกเบจะไม่คิดอย่างนั้น เพราะทุกปีหลายครอบครัวก็สนุกกับการพาลูกหลานไปรับขนมจากแก๊งกัน
สายสัมพันธ์ตรงนี้แน่นแฟ้นแค่ไหน ก็ดูเอาง่ายๆ ว่า ปี 2015 ที่แก๊งยามากุจิกุมิมีปัญหาการแตกคอกันไปตั้งแก๊งใหม่เป็น แก๊งโกเบยามากุจิกุมิ (แตกไปแต่ใช้ชื่อแบบกลัวเสียแบรนด์) ด้วยปัญหาภายใน ทำให้การแจกขนมวันฮาโลวีนปีนั้นต้องยกเลิกไป แต่แก๊งก็ออกมาประกาศว่า ขอสัญญาแบบลูกผู้ชายว่า ปีหน้าเราจะกลับมาทำตามสัญญา ขอเวลา… เดี๋ยวๆ เอาเป็น กลับมาแจกขนมก็พอแล้วกัน ซึ่งสาเหตุหลักที่ปี 2015 ต้องงดแจกขนม ก็เพราะหัวหน้าฝ่ายงานฮาโลวีน (โคตรจริงจัง มีหัวหน้าฝ่ายโดยเฉพาะ) เป็นสมาชิกของกลุ่มที่แตกตัวไปนั่นล่ะครับ จู่ๆ ให้มือใหม่มารับงานก็คงทำได้ไม่ง่าย บางท่านคงคิดว่า ซื้อขนมมาแจกมันจะยากอะไร ถ้าเป็นสามัญชนแบบนายนัทคุงคงติดปัญหาแค่เรื่องเงิน แต่พอเป็นยากูซ่าก็โดนระเบียบควบคุมกลุ่มอิทธิพลเล่นงาน เคลื่อนไหวเงินลำบาก เปิดบัญชีก็ยาก ทำธุรกรรมก็ยาก จะซื้อของเยอะๆ ก็ใช่ว่าจะซื้อได้เลย เพราะตำรวจก็เตรียมไปสอบสวนร้านที่ขายของล็อตใหญ่ให้พวกเขาอยู่แล้ว (ตอนแผ่นดินไหวนั่นคือช่วงไม่ปกติ แต่พอช่วงปกติตำรวจก็ต้องทำหน้าที่ไป) ทำให้หาคนขายของให้ยาก การจัดงานที่ดูเหมือนจะง่าย ก็กลายเป็นเรื่องลำบากสำหรับพวกเขานี่ล่ะครับ
แต่ด้วยสัญญาลูกผู้ชาย แก๊งยามากุจิกุมิก็กลับมาแจกขนมให้กับเด็กในเทศกาลฮาโลวีนได้เหมือนเคยเมื่อปีก่อน ไม่ว่าเด็กที่ไหนมา ก็จะได้รับถุงขนมรวมมูลค่าประมาณ 800 เยนกลับไปกิน พร้อมทั้งเฮียๆ หน้าบากทักทายอย่างรื่นเริงว่า Happy Halloween แถมเฮียบางรายก็แต่งตัวรับเทศกาลอีกด้วย สมกับเป็นเทศกาลประจำเมืองจริงๆ ขนาดชาวต่างชาติยังพาลูกมารอขนมด้วย และในปีนี้ ทีแรกทางแก๊งก็ประกาศว่าจะไม่จัดงานฮาโลวีน นักข่าวก็ประเมินว่าคงเพราะปัญหาการกระทบกระทั่งกับแก๊งอื่นเริ่มหนักยิ่งขึ้นทำให้ไม่สามารถมาโฟกัสตรงนี้ได้ แต่พอถึงวันจริงก็กลับมาแจกขนมเหมือนปกติ และเด็กๆ ต่างแฮปปี้กัน จนสงสัยว่าที่ประกาศว่าจะไม่แจก คือการสับขาหลอกเพื่อที่สื่อจะได้ไม่มาป้วนเปี้ยนบริเวณงานรึเปล่า
ฟังดูแล้ว การดำรงอยู่ร่วมกันของแก็งยากูซ่า ชาวเมือง และรัฐ ในเมืองโกเบ ก็เป็นเรื่องน่าสนใจเอามากๆ เพราะต่างผูกพันกันในเงื่อนไขความสัมพันธ์แปลกๆ การแจกของในเทศกาลฮาโลวีนก็เป็นเพียงหนึ่งกิจกรรมที่เราเห็นได้เท่านั้น หากมองลึกลงไปในเมืองคงได้พบอะไรอีกเยอะ เพราะถึงแก๊งบอกว่าจะไม่ลงมือกับคนธรรมดาก็จริง แต่ธุรกิจใต้ดินทั้งหลายของพวกเขาก็มีผลกระทบต่อชาวเมืองไม่ใช่หรือ บางทีก็ไม่รู้ว่าเราจะตีความความสัมพันธ์แบบนี้อย่างไรดี
อ้างอิงข้อมูลจาก
vipper-trendy.net/yamaguchigumi-halloween/
www.kobe-np.co.jp/news/sougou/201710/0010693254.shtml
matome.naver.jp/odai/2141475197809982401