ในช่วงเวลาที่ลมฝนยังพอจะโปรยปรายและลมหนาวก็ยังมาไม่เต็มที่ในประเทศไทย ก็เป็นเวลาช่วงเดียวกันกับที่วันฮาโลวีนจะจัดขุึ้นในซีกโลกตะวันตกนั่นเอง แต่ในปี ค.ศ.2020 ที่ไวรัส COVID-19 ระบาดในหลายพื้น ก็ทำให้หลายคนในหลายพื้นที่อาจจะไม่สะดวกกาย ไม่สะดวกใจในการเดินทางไปร่วมกิจกรรมนอกบ้านกัน
เราก็เลยถือเอาโอกาสนี้ มาพูดถึงหนังสือการ์ตูนแนวเขย่าขวัญจากญี่ปุ่นที่ชวนทำให้เสียวสันหลังกันเล็กน้อย ซึ่งหลายคนอาจจะคุ้นเคยกับผลงานเหล่านี้ หรืออาจจะเป็นนักอ่านที่ยังไม่เคยได้สัมผัสความขนลุกขนพอง ให้ได้มีโอกาสไปแวะเวียนลิ้มรสความเสียวสันหลังกันบ้าง (ทั้งนี้ผู้เขียนจะขอละ Chi no Wadachi ที่เสียวสันหลังไม่เบา เพราะพี่นัทคุง เคยแนะนำไปแล้วในคอลัมน์เจแปนนิด ครับ)
ผลงานเกือบทั้งหมดของ Junji Ito
พูดถึงการ์ตูนที่ชวนขนลุกขนพอง และทำให้อุณหภูมิคนอ่านลดลงแบบกะทันหัน ถ้าไม่มีผลงานของอาจารย์จุนจิ อิโตะ (Junji Ito) ก็คงจะเหมือนเป็นการกระทำผิดกฎหมาย นักเขียนมังงะที่ดูเป็นคนนิ่งขรึมที่เคยเป็นช่างทันตกรรม อาจารย์จุนจิได้รับแรงบันดาลใจมาจากหลายทิศทาง อาทิ ผลงานมังงะของอาจารย์คาซึโอะ อุเมซุ (Kazuo Umezu) กับอาจารย์ชินอิจิ โคกะ (Shinichi Koga), นักเขียนนิยายอย่าง H.P. Lovecraft, Tsutsui Yasutaka, ฮิเดชิ ฮิโนะ (Hideshi Hino) รวมไปถึงภาพยนตร์หลากหลายเรื่องทั้งผลงานคลาสสิก รวมถึงงานใหม่ๆ อย่าง Heriditary หรือ The Conjuring ผสมรวมกับเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันที่ตัวอาจารย์ประสบกับตัวเอง ก่อนที่อาจารย์จะเอาเเรื่องเหล่านั้นมาขยายจนกลายเป็นเรื่องสยองแบบไม่ซ้ำใคร
ผลงานของอาจารย์จุนจิส่วนใหญ่เป็นแนว Body Horror หรือความสยองที่เกิดกับร่างกายของมนุษย์ เห็นได้จากผลงานเรื่อง โทมิเอะ หรือก้นหอยมรณะ แต่อาจารย์ก็ยังวาดงานสยองแนวอื่นอีกด้วย ไม่ว่าจะแนว Lovecraftian/Cosmic Horror อย่างที่เห็นได้จาก เรมิน่า ดาวมรณะ หรือแบล็คพาราดอกซ์ แต่อาจารย์ยังวาดงานอื่นๆ สลับเปลี่ยนไปด้วยอย่างเช่น การดัดแปลงวรรณกรรมคลาสสิกอย่าง สูญสิ้นความเป็นคน หรือแฟรงเกนสไตน์ และมีงานเรื่องสั้นแนวตลกออกมาอยู่เป็นระยะ จนบางครั้งก็ชวนให้คิดว่า ความสยองชวนหนาวสันหลัง กับความขบขันจากเหตุเหลือเชื่อ ก็อยู่ใกล้ชิดกันกว่าที่คิด
MMR – Magazine Mystery Reportage
จะบอกว่าเป็นมังงะแนวสยองก็ไม่ค่อยใช่เท่าไหร่นัก แต่เป็นผลงานที่ทำให้คนอ่านหลายคนเกิดความหวาดกลัวในใจอยู่ไม่มากก็น้อย กับเรื่องราวของกองบรรณาธิการที่ดูแลคอลัมน์ MMR หรือ Magazine Mystery Reportage ที่มี ‘คิบายาชิ’ เป็นแกนนำในการสืบสวนเรื่องราวเหนือธรรมชาติทั้งหลาย ทั้ง UFO, ผู้ใช้พลังจิต หรือการควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ ดูจริงจังกว่าการ์ตูนอีกหลายเรื่องๆ
และอีกประเด็นสำคัญที่ฝังหัวผู้อ่านเรื่องนี้มาจนถึงปัจจุบันก็คือ นอสตราดามุสที่ตามท้องเรื่องของตัวมังงะระบุคำทำนายของชายคนดังกล่าว นำพาไปสู่อาเพศที่อาจจะเป็นจุดจบของโลก เมื่อผสมกับการเล่าเรื่องที่มีการนำเอาภาพของบุคคลจริงมาประกอบอยู่บ่อยครั้ง (รวมถึงตัวละคร คิบายาชิ เองก็อ้างอิงตัวละครมาจากชิน คิบายาชิ (Shin Kibayashi) ที่เป็นกองบรรธณาธิการของนิตยสาร Magazine ในยุคนั้น) จนทำให้คนอ่านหลายคนเชื่อกันว่าเรื่องราวในมังงะนั้นเป็นความจริง จนทำให้เกิดความขนลุกขนผองตอนอ่านมาว่า โลกจะจบสิ้นแบบที่ในการ์ตูนกล่าว
ทว่า เมื่อโลกเข้าสู่ปี ค.ศ.1999 อันเป็นปมหลักของเรื่อง และโลกผ่านเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ด้วยความปลอดภัย ผลงานเรื่องนี้ก็กลายเป็นเหมือนเรื่องขำขันในกลุ่มคนเคยอ่านมากขุึ้น อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ.2012 อาจารย์ Ishigaki Yuuki ก็กลับมาเขียนมังงะภาคต่อที่ใช้ชื่อ Shin Seiki Mokushiroku – MMR Resurrection และโฟกัสเรื่องราวหลังจาก คิบายาชิ ออกจากกองบรรณาธิการของนิตยสาร Magazine ไป 10 ปี ก่อนจะกลับมาหลังจากที่เขาเดินทางไปทำงานอยู่ที่ต่างประเทศ เพื่อร่วมมือกับ ‘โทมารุ’ อดีตสมาชิกของกลุ่ม MMR เพื่อกลับมาตรวจสอบปริศนาที่อาจจะล้างโลกได้อีกครั้ง น่าเสียดายเล็กน้อยที่การกลับมาครั้งใหม่นี้ กลับมาเพียงสั้นๆ แค่เล่มเดียวจบเท่านั้น
Pet Shop Of Horrors
หลายคนอาจจะชอบสัตว์เลี้ยง แต่หลายคนก็อาจจะรู้สึกหวาดกลัวสัตว์เลี้ยงเช่นกัน และมีบางคนที่หวาดกลัวสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะถ้าเป็นสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในการ์ตูนชุด Pet Shop Of Horrors ผลงานมังงะของอาจารย์มัทสึริ อาคิโนะ (Matsuri Akino) ที่เล่าเรื่องของ Count D เจ้าของร้านสัตว์เลี้ยงซึ่งตั้งอยู่ในไชน่าทาวน์ ของเมืองใหญ่สักแห่งหนึ่ง
หากคิดว่าร้านขายสัตว์เลี้ยงมาอยู่ในย่านคนจีนนั้นแปลกพอแล้ว เมื่อพินิจผู้ดูแลร้านที่อ้างว่าเจ้าตัวไม่ใช่เจ้าของร้านจะพบว่า เขาเป็นคนที่มีดวงตาสองสี และลักษณะร่างกายที่อรชรสวยงาม ซ้ำยังมีลูกค้าหลายคนที่เห็นว่าหน้าตาของเขาเหมือนปู่ที่เป็นเจ้าของร้านเกือบจะทุกระเบียบนิ้ว ส่วนสัตว์เลี้ยงที่เขาขายนั้น ก็มีทั้งสัตว์เลี้ยงทั่วไป และสัตว์ต่างๆ ที่ควรจะอยู่ในเรื่องเล่า หรือตำนานทั้งนั้น หลายครั้ง Count D ก็เปิดให้ลูกค้าที่มาเยี่ยมเยียนร้านนี้ได้รับสัตว์เลี้ยงกลับไปฟรีๆ ด้วย เพียงแค่ลูกค้าจะต้องทำตามกฎข้อบังคับอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นพวกเขาจะต้องพบกับเรื่องเลวร้าย
ว่ากันตามจริงเนื้อหาของการ์ตูนเรื่องนี้อาจจะไม่ได้มีภาพที่น่ากลัวชวนขนหัวลุก และเนื้อเรื่องก็ค่อนข้างจะเป็นการจบในตอนสั้นๆ (แม้ว่าจะมีเส้นเรื่องหลักที่มีนายตำรวจหนุ่มคอยติดตามการกระทำของ Count D ก็ตาม) จุดที่น่ากลัวของเรื่องนั้นเป็นการตัดสินใจของตัวละครต่างๆ ในเรื่องเสียมากกว่า ที่หลายครั้งทำให้คนอ่านได้คิดตามต่อหลังการ์ตูนเรื่องนี้จบไปนานก็ตามที
ตัวมังงะฉบับดั้งเดิมตีพิมพ์ในช่วงปี ค.ศ.1995-1998 ก่อนจะมีภาคต่อ Shin Pet Shop Of Horrors ตีพิมพ์ในช่วงปี ค.ศ.2005-2013 ตามมาด้วยภาคย้อนอดีตที่เล่าเรื่องปู่ของ Count D กับภาค Pet Shop of Horrors Passage Hen ที่ตีพิมพ์ในช่วงปี ค.ศ.2013-2017 และภาคล่าสุดที่ยังเป็นภาคย้อนอดีตคือ ภาคสปินออฟ Pet Shop of Horrors – Hyouhaku no Hakobune-hen ตีพิมพ์ในช่วงปี ค.ศ.2018 – 2020
เรียกได้ว่าการได้เห็นสิ่งมีชีวิตเหนือจริง ที่สามารถปั่นป่วนจิตใจผู้คนได้น่าจะเป็นเรื่องราวที่คนอ่านยังอยากติดตาม และคนเขียนก็ยินดีจะกลับไปเขียนถึงเช่นกัน
Gakkou Kaidan
มีมังงะแนวสยองขวัญชวนขนหัวลุกไม่กี่เรื่องที่ทำให้คนอ่านรู้สึกว่า สยองขวัญ ขยะแขยง รู้สึกสงสัย และในขณะเดียวกันก็เหมือนได้อ่านการ์ตูนทีเดียวสองเรื่อง เพราะมีการปรับเปลี่ยนสไตล์การเล่าเรื่องระหว่างทาง และ Gakkou Kaidan หรือชั่วโมงเรียนพิศวง ของอาจารย์โยสุเกะ ทากะฮะชิ (Yousuke Takahashi) คือผลงานการ์ตูนที่สามารถทำได้เช่นนั้น
ในช่วงแรก ชั่วโมงเรื่องพิศวงจะเล่าเรื่องของ ‘ยามางิชิ’ นักเรียนชายคนหนึ่งที่เจอเรื่องราวพิศวงอย่างต่อเนื่อง บางครั้งเขาก็เป็นผู้เคราะห์ร้าย แต่บางครั้งเขาก็เป็นคนที่อยู่เบื้องหลังความพิศวงเสียเอง จนกระทั่งเรื่องราวปรับเปลี่ยนการเล่าเรื่องโดยเพิ่มตัวละคร ‘คุดัง คุกิโกะ’ คุณครูที่มีประสบการณ์กับการรับมือเรื่องราวพิศวงที่นักเรียนในห้องของเธอต้องพบเจอ และเธอยังเกี่ยวข้องกับ ‘มุเก็น มามิยะ’ ชายหนุ่มลึกลับที่เหมือนจะคอยสอนวิธิการรับมือเรื่องพิศวงให้กับคุดัง
นอกจากเรื่องราวที่แปลกประหลาด จนทำให้ติดหัวได้ง่าย กับลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์ของอาจารย์ทากะฮะชิ ทำให้ผลงานเรื่องนี้กลายเป็นที่จดจำของผู้อ่านหลายต่อหลายคน และหลังจากผลงานเรื่องนี้ อาจารย์ทากะฮะชิ ได้กลับไปเขียนเรื่องราวของตัวละคร มุเก็น มามิยะ อีกหลายครั้ง ในมังงะชุด Mugen Shinshi (สุภาพบุรุษมุเก็น) ที่อาจารย์เริ่มเขียนครั้งแรกในปี ค.ศ.1981 แล้วเขียนเนื้อหาต่อมาในช่วงปี ค.ศ.1983-1988, ค.ศ.1984-1988, ค.ศ.1992-1996, ค.ศ.2004-2005, ค.ศ.2005-2006, ค.ศ.2006-2007, ค.ศ.2008-2009, ค.ศ.2012-2013 เนื่องจากสไตล์การเล่าเรื่องของมังงะชุดนี้มักจะเล่าเป็นคดีปริศนาเหนือธรรมชาติ ทำให้อาจารย์ทากะฮะชิสามารถเปิดคดีใหม่แล้วให้ตัวละครที่โดดเด่นกลับมาแสดงบทบาทเมื่อใดก็ได้
นอกจากนั้นแล้วตัวละคร ‘Te No Me’ หญิงสาวที่มีรอยสักดวงตาบนฝ่ามือ ซึ่งปรากฎตัวครั้งแรกในมังงะ Mugen Shinshi ก็มีการ์ตูนภาคแยกของตัวเองในชื่อ Mononoke Soushi ที่ออกมาตีพิมพ์ในช่วงปี ค.ศ.2007-2011 และมีโอกาสไม่น้อยที่เรื่องราวของหญิงสาวคนนี้จะถูกหยิบมาบอกเล่าอีกครั้ง
หรือถ้าจะบอกว่าโลกที่เต็มไปด้วยเรื่องราวเหนือธรรมชาติของอาจารย์ทากะฮะชิ ยังคงขยายตัวอยู่ก็ไม่น่าจะผิดนัก
Kouishou Radio
อาจารย์มาซาอากิ นากายามะ (Masaaki Nakayama) ถือว่าเป็นนักวาดมังงะที่ปรับภาพให้สอดคล้องกับผู้แต่งเรื่องได้อย่างชำนิชำนาญ แต่ไม่ใช่ว่าอาจารย์จะไม่มีผลงานที่วาดภาพกับแต่งเรื่องเองเสียเลย และหลายครั้งก็ช่วยให้คิดว่า ในหัวของนักเขียนผู้นี้ อาจจะมองโลกได้อย่างสยองกว่าที่นักอ่านหลายคาดคิด
อย่างเช่นในผลงานเรื่อง Kouishou Radio หรือวิทยุหลังความตาย จะเป็นการเล่าเรื่องราวสยองขวัญแบบสั้นๆ ที่เหมือนจะไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลยแม้แต่น้อย อย่างการที่ชายหนุ่มสองคนที่ยืนอยู่บนตึกเห็นมือจำนวนนับไม่ถ้วนเอื้อมมาคว้าตัวของพวกเขา, หญิงสาวที่ถูกดึงผมจากสิ่งลึกลับ, หมู่บ้านที่มีของโบราณซึ่งมีเส้นผมงอกอยู่ ฯลฯ สังเกตได้ว่า เรื่องราวลึกลับ และยังมีรูปลักษณ์เหนือความเข้าใจของผู้อ่าน โดยมักจะเกี่ยวข้องกับ ‘เส้นผม’ อีกทั้งดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ท่านเกศา’ แต่เมื่อไม่มีใครเข้าใจชัดเจนนักว่าท่านเกศาทำหน้าที่
ก่อนหน้าที่จะมาเขียนเรื่อง วิทยุหลังความตาย อาจารย์นากายามะ เคยเขียนผลงานเรื่อง Fuan No Tane ที่เล่าเรื่องลึกลับที่แทบจะไม่มีอะไรเชื่อมโยงกันเลย จะมีเพียงความสยองขวัญที่ตัวละครในเรื่องและผู้อ่านไม่อาจหลบหลีกได้ก็เท่านั้น แต่ความไม่รู้ ไม่สามารถเข้าใจได้นั่นกระมัง ที่ทำให้มนุษย์อย่างเรายังพยายามยื่นมือเข้าไปสัมผัสความสยองแบบนั้นอยู่เสมอ
Franken Fran
สำหรับนักอ่านที่ชอบผลงานแนว Body Horror ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายแบบถาวร Franken Fran ที่เขียนโดยอาจารย์ Kigitsu Katsuhisa ถือว่าป็นผลงานที่ไม่ควรมองข้ามแต่อย่างใด
มังงะเรื่องดังกล่าวเล่าเรื่องของ ‘มาดารากิ ฟราน’ สาวสวยที่สามารถทำการวินิจฉัยโรคและผ่าตัดเพื่อ ‘แก้ไขอาการผิดปกติ’ จะติดก็เพียงแค่ว่าแนวคิดของ ฟราน ที่เป็นมนุษย์เทียม ไม่ค่อยสอดคล้องกับสามัญสำนึกปกติเท่าไหร่นัก ตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดมีนักวิ่งที่ประสบอุบัติเหตุจนขาเสียหายแต่อยากกลับมาวิ่งอีกครั้ง ฟราน อาจจะทำการผ่าตัดขาของม้าให้กับนักวิ่งคนนั้นแทน
ด้วยแนวคิดพิกล กับลายเส้นที่รีดเร้นความจิตออกมาได้อย่างดี ผสมกับมุกตลกร้ายที่คาดไม่ถึงทำให้การ์ตูนสยองขวัญเรื่องนี้กุมใจผู้อ่านได้ไม่น้อย และตัวอาจารย์ Kigitsu Katsuhis ก็กลับมาเขียนภาคต่อที่ใช้ชื่อว่า Franken Fran Frantic ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.2019 ที่ผ่านมา และคาดว่าน่าจะประจำการสร้างความขนลุกขนพองให้กับผู้อ่านกันอีกระยะหนึ่ง
Outer Zone
‘โลกใบนี้อาจจะมีพื้นที่บางแห่ง หรือวัตถุบางอย่างที่เชื่อมโยงกับดินแดนต่างมิติ’ ถือว่าเป็นแนวคิดที่เรื่องแนวสยองขวัญนิยมหยิบจับมาใช้เล่าเรื่องอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งในฝั่งมังงะก็พอจะมีการ์ตูนที่เล่าเรื่องแบบนั้นอยู่เช่นกัน อย่างเช่น Outer Zone ที่ตีพิมพ์ในช่วงปี ค.ศ.1991-1994 ซึ่งตีความว่าบนโลกใบนี้มีพื้นที่ที่เรียกว่า Outer Zone พื้นที่พิเศษของโลกที่มีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้นได้ โดยไม่สนใจหลักฟิสิกส์หรือห้วงเวลาแต่อย่างใด
การ์ตูนเรื่องนี้เล่าเรื่องในลักษณะคล้ายกับซีรีส์ฝรั่ง ที่มีตัวละครกลุ่มหนึ่งไปพบเจอเหตุประหลาด และจะมีตัวละคร ‘Misery’ หญิงสาวผมสีเขียวที่ระบุว่าตัวเองเป็นผู้นำทางและผู้บรรยายเหตุการณ์ในพื้นที่ Outer Zone และหลายๆ ครั้งเธอเองก็ทำหน้าที่เป็นแม่ค้าที่่นำเอาวัตถุประหลาดจาก Outer Zone มาขายให้คนทั่วไปได้ทดลองใช้
แม้ว่าเนื้อเรื่องส่วนใหญ่จะเป็นแนวลึกลับชวนฉงน แต่เรื่องราวส่วนใหญ่ในการ์ตูนเรื่องนี้จะไม่ถึงขั้นสิ้นหวังมากนัก กระนั้นผลงานเรื่องนี้ก็เป็นที่จดจำของนักอ่านหลายคน และอาจารย์ชิน มิทสึฮาระ (Shin Mitsuhara) ก็กลับมาเขียนถึงดินแดนต่างมิติอีกครั้งในปี ค.ศ.2015 กับภาคต่อที่ใช้ชื่อว่า Outer Zone Re:visited และเพิ่มความสามารถให้ Misery สามารถเปลี่ยนสภาพร่างกายได้ตามใจนึกขึ้นมาอีกหนึ่งอย่างด้วย
Eko Eko Azarak
ผลงานอีกเรื่องที่เราอยากจะพูดถึงก็คือการ์ตูนคลาสสิคอย่าง Eko Eko Azarak หรือที่ใช้ชื่อไทยว่า มนต์ดำมรณะ ผลงานของอาจารย์ชินอิจิ โคกะ ผู้ล่วงลับที่เล่าเรื่องราวของ ‘คุโรอิ มิสะ’ หญิงสาวที่ใช้มนต์ดำ และใช้พลังนั้น ในการปกป้องตัวเอง, ใช้พลังเพื่อช่วยเหลือคนอื่นบ้าง หรือบางครั้งก้ใช้พลังนั้นเพื่อสั่งสอนคนอื่นให้รับรู้ว่า ไม่เคยมีอไรดีเกิดขึ้นหากเข้าไปข้องเกี่ยวกับมนต์ดำ
ตัวมังงะภาคดั้งเดิมถูกเขียนขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1975-1979 และมีภาคต่ออย่าง Majo Kuroi Misa กับ Eko Eko Azaraku II เนื้อเรื่องของการ์ตูนเรื่องนี้ถือว่าเป็นรากฐานให้กับการ์ตูนสยองขวัญอีกหลายเรื่องในยุคหลัง จึงไม่น่าแปลกใจนักที่คนอ่านสมัยใหม่จะรู้สึกว่าเรื่องราวในมังงะต้นฉบับตกยุคไปบ้าง
และเหมือนว่าทางฝั่งสำนักพิมพ์ผู้ถือลิขสิทธิ์ของการ์ตูนเรื่องนี้ ส่งต่อเรื่องราวที่อาจารย์โคกะเป็นผู้ริเริ่มแต่ง มาให้อาจารย์ Yamada J-Ta มาสานต่อด้วยชื่อเรื่อง Eko Eko Azaraku: Reborn ที่เพิ่งเริ่มเขียนในช่วงปี ค.ศ.2020 ตัวเรื่องราวของภาคใหม่นี้ เหมือนเป็นการต่อยอดว่า คุโรอิ มิสะ นั้นกลับมาสู่โลกใบนี้อีกครั้ง แต่ถึงโลกจะเปลี่ยนแปลงไป มนต์ดำของแม่มดก็ยังทรงพลังเช่นเดิม และการกลับมาครั้งนี้น่าจะทำให้นักอ่านรุ่นใหม่ต้องตกเสียวสันหลังกับแม่มดคนนี้บ้าง
ขอขอบคุณ
คุณ Plaeix นักวาดภาพสาวสำหรับแรงบันดาลใจในบทความนี้