ในโลกศิลปะที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของเพศชาย เป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญที่ศิลปินหญิงจะหาโอกาสก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จทัดเทียมศิลปินชาย กว่าจะก้าวขึ้นมาได้ก็ต้องต่อสู้ดิ้นรน ผ่านความเจ็บช้ำลำเค็ญกันมาไม่น้อย
หนึ่งในจำนวนนั้นคือศิลปินหญิงชาวญี่ปุ่นผู้ทรงอิทธิพลในวงศิลปะร่วมสมัยโลก ยาโยย คูซามะ (Yayoi Kusama) หลายคนรู้จักเธอในฉายา ‘ราชินีลายจุด’ (Polka Dot Queen) ผู้ทำงานศิลปะในหลากสื่อหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม, คอลลาจ (ภาพตัดแปะ), ประติมากรรมนุ่มนิ่ม (Soft Sculpture), ศิลปะแสดงสด (Performance Art) และศิลปะจัดวางกับสภาพแวดล้อม (Environmental Installations) ที่มุ่งเน้นในการนำเสนอสีสันอันหลอนประสาท รูปทรงและลวดลายซ้ำๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลวดลายจุดกลม หรือ (Polka Dot) และลวดลายลวงตาคล้ายรยางค์จำนวนนับไม่ถ้วน เธอเป็นศิลปินผู้บุกเบิกกระแสศิลปะที่ผสมผสานหลากหลายแนวทาง และเป็นศิลปินหญิงชาวเอเชียไม่กี่คนที่ร่วมแสดงงานเคียงบ่าเคียงไหล่ศิลปินชื่อดังของโลกอย่าง แอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol), เคลย์ส โอลเดนเบิร์ก (Claes Oldenburg) และ จอร์จ ซีกัล (George Segal)
ยาโยย คูซามะ เกิดในวันที่ 22 มีนาคม 1929 ที่เมืองมัตสึโมโต้ จังหวัดนากาโนะ ประเทศญี่ปุ่น ในครอบครัวที่ทำธุรกิจฟาร์มเพาะชำต้นกล้าและเมล็ดพันธุ์พืช ถึงแม้จะเกิดในครอบครัวมั่งคั่ง แต่วัยเด็กของเธอก็ไม่มีความสุขนัก เนื่องจากพ่อของเธอเป็นคนเจ้าชู้หลายใจ ส่วนแม่ของเธอก็มักจะทุบตีทำร้ายร่างกายของเธอบ่อยๆ เธอกล่าวว่า แม่มักจะส่งเธอให้ไปลอบสะกดรอยตามพ่อเวลาเขาแอบดอดไปมีสัมพันธ์สวาทกับชู้รัก หนำซ้ำบางครั้งเธอถึงกับได้เห็นกิจกรรมทางเพศของทั้งคู่ด้วยตาตัวเอง สิ่งนี้ส่งผลต่อทัศนคติทางเพศในชีวิตของเธอในภายหลังอย่างมาก
“ฉันไม่ชอบเซ็กส์ แต่ฉันก็มีความลุ่มหลงเซ็กส์ไปพร้อมๆ กัน เมื่อฉันเป็นเด็ก ฉันได้เห็นพ่อมีชู้รักมากหน้าหลายตา เพราะแม่ส่งฉันไปสะกดรอยตามพ่อ ทำให้เมื่อฉันโตเป็นสาว ฉันเลยหวาดกลัวและไม่กล้ามีเซ็กส์กับใครเลยเป็นเวลาหลายปี ความลุ่มหลงและความหวาดกลัวในเซ็กส์ฝังลึกอยู่ในตัวฉันตลอดมานับแต่นั้น”
เมื่อคูซามะอายุได้ 10 ขวบ เธอเริ่มมีอาการประสาทหลอน เธอมองเห็นภาพลำแสง รังสีออร่า และท้องทุ่งที่เต็มไปด้วยลายจุดสุดลูกหูลูกตา รวมถึงได้ยินเสียงดอกไม้ใบหญ้าพูดคุยกับเธอ และมองเห็นลวดลายบนผืนผ้าต่างๆ ออกมากระโดดโลดเต้นมีชีวิต แบ่งตัว ปกคลุมและกลืนกินตัวเธอไปทีละน้อย ในช่วงนั้นเองที่เธอเริ่มต้นวาดรูปสิ่งเหล่านั้นออกมา นอกจากนั้นเธอยังประทับใจกับก้อนหินกลมนวลสีขาวก้นแม่น้ำที่ทอดตัวผ่านบ้านของเธอ เธอกล่าวว่ามันเป็นแรงบันดาลใจเบื้องหลังความหลงใหลลวดลายจุดตลอดชีวิตที่ผ่านมา เมื่อคูซามะอายุได้ 13 เธอถูกส่งตัวไปทำงานในโรงงานทหาร เพื่อทำหน้าที่เย็บและผลิตร่มชูชีพให้กับกองทัพญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอกล่าวว่าเธอใช้ชีวิตวัยรุ่นในช่วงนั้นอยู่ในที่มืดมิด เธอมักจะได้ยินเสียงสัญญาณเตือนภัยทางอากาศ และเห็นเครื่องบินรบอเมริกันบินอยู่บนฟ้าเหนือหัวตอนกลางวันแสกๆ เหตุการณ์ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ ส่งอิทธิพลต่อช่วงชีวิตวัยเยาว์ของเธออย่างมาก เธอกล่าวว่าช่วงเวลานั้นส่งผลให้เธอเริ่มให้ความสำคัญกับเสรีภาพและความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง
ถึงแม้ทางบ้านของเธอจะไม่เห็นด้วยกับการทำงานศิลปะของเธอโดยสิ้นเชิง เธอถูกแม่ห้ามวาดภาพ และเอาสีและกระดาษของไปทิ้งบ่อยๆ เพราะสังคมญี่ปุ่นยุคนั้นไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงทำงานอาชีพอื่นนอกจากการเป็นแม่บ้าน ยิ่งเป็นศิลปินยิ่งแล้วใหญ่ แต่เธอก็ดึงดันที่จะทำงานศิลปะต่อไป จนกระทั่งในปี 1948 เธอก็หว่านล้อมพ่อแม่ที่ไม่เห็นด้วยกับการเรียนศิลปะให้อนุญาตให้เธอเข้าเรียนศิลปะการวาดภาพแบบประเพณีของญี่ปุ่น ที่โรงเรียนศิลปะและหัตถกรรมเทศบาลในเกียวโต แต่เธอรู้สึกอึดอัดหงุดหงิดใจและไม่อินกับแนวทางอันเคร่งครัดของศิลปะแบบประเพณี และหันมาสนใจศิลปะแบบล้ำยุคสมัยของศิลปินหัวก้าวหน้า ที่เรียกขานว่า อาวอง-การ์ด (Avant-garde) ที่เฟื่องฟูในยุโรปและอเมริกาในยุคสมัยนั้น เธอเริ่มต้นวาดภาพในแนวนามธรรมที่ได้แรงบันดาลใจมาจากรูปทรงธรรมชาติด้วยสีน้ำ สีโปสเตอร์ และสีน้ำมันบนกระดาษ เธอเริ่มต้นปิดหรือห่อพื้นผิวของผืนผ้าใบวาดรูป หรือแม้แต่สภาพแวดล้อมรอบตัวอย่างพื้น ผนัง ไปจนถึงวัตถุข้าวของเครื่องใช้ใกล้ตัวในบ้านต่างๆ ด้วยกระดาษหรือลวดลายจุดกลม ซึ่งกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของเธอไปในที่สุด
คูซามะกล่าวว่า “ลวดลายจุดกลมที่มาจากดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแหล่งพลังงานของทั้งโลกและสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย และยังเป็นรูปทรงของดวงจันทร์ ซึ่งมีความสงบ กลม นุ่มนวล เปี่ยมสีสัน ไร้อารมณ์ความรู้สึก เป็นความเคลื่อนไหวและหนทางสู่ความไม่มีที่สิ้นสุด”
ผลงานที่ทำให้เธอเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัคือ Infinity Nets (1960) ภาพวาดทุ่งลายจุดกลมอันกว้างใหญ่ที่เกิดจากช่องว่างกึ่งกลางขดวงกลมที่วาดทับซ้อนจำนวนนับไม่ถ้วนจนดูเหมือนตาข่ายขนาดมหึมา ซึ่งเธอได้แรงบันดาลใจโดยตรงมาจากอาการประสาทหลอนของตัวเอง โดยเธอวาดภาพลวดลายจุดกลมนี้ตั้งแต่ตอน 10 ขวบ ซึ่งเป็นภาพของผู้หญิงญี่ปุ่นสวมชุดกิโมโน ที่น่าจะเป็นภาพของแม่ของเธอเอง ที่ถูกปกคลุมด้วยลายจุด ผลงานชุดนี้ของเธอบางชิ้นมีขนาดใหญ่กว่า 30 ฟุต เธอกล่าวถึงประสบการณ์ภาพหลอนในวัยเด็กอันเป็นจุดเริ่มต้นของผลงานศิลปะของเธอว่า
“วันหนึ่ง ฉันมองไปที่ลวดลายดอกไม้สีแดงบนผ้าปูโต๊ะ เมื่อฉันละสายตาไปมองที่อื่น ลวดลายเหล่านี้ก็คืบคลานมาปกคลุมฝ้าเพดาน หน้าต่าง ผนัง และในที่สุดก็ปกคลุมไปทั่วทั้งห้อง ปกคลุมไปทั่วทั้งตัวฉัน ทั่วทั้งจักรวาล ฉันรู้สึกว่าฉันกำลังถูกลบเลือนตัวตน และหมุนวนเข้าไปในห้วงเวลาอันเป็นอนันต์แห่งกาลเวลาอันไม่มีที่สิ้นสุด และถูกกลืนกลับสู่ความว่างเปล่า และฉันตระหนักได้ว่าสิ่งนี้ไม่ได้เป็นแค่เพียงจินตนาการ แต่กำลังเกิดขึ้นจริงๆ ฉันรู้สึกหวาดกลัว และคิดว่าต้องวิ่งหนีจากการไล่ล่า และกลืนกินโดยดอกไม้แดงเหล่านั้น ฉันวิ่งหนีไปที่บันไดอย่างสิ้นหวัง ขั้นบันไดใต้ฝ่าเท้าฉันค่อยๆ แตกสลายร่วงหล่น และค่อยๆ ดึงฉันให้จมดิ่งลงไป”
ด้วยความต้องการที่จะต่อต้านกรอบและขนบธรรมเนียมและศีลธรรมแบบเก่าๆ ของครอบครัว และด้วยจิตใจใฝ่หาเสรีภาพและชื่อเสียง หลังจากมีงานแสดงเดี่ยวในเมืองมัตสึโมโต้ และโตเกียว คูซามะในวัย 27 ปี ก็ตัดสินใจเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา เธอกล่าวว่า สังคมญี่ปุ่นนั้นคับแคบเกินไป มีความเป็นศักดินา กดขี่ ดูหมิ่น เหยียดหยาม และมองผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศ ถึงแม้ผู้หญิงญี่ปุ่นจะเริ่มได้รับโอกาสบางอย่าง เช่น การได้รับศึกษาและการเลือกคู่ครองแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงมองผู้หญิงไม่พ้นไปจากบทบาทเมียและแม่อยู่ดี
ในปี 1957 เธอเดินทางไปสหรัฐอเมริกา และลงหลักปักฐานในมหานครนิวยอร์ก ตามคำชักชวนของศิลปินหญิงชาวนิวยอร์ก จอร์เจีย โอ’คีฟฟ์ (Georgia O’Keefe)ที่นั่น เธอผลิตผลงานภาพวาดที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะ แอบสแตรก เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ ก่อนที่จะเปลี่ยนมาทำงานประติมากรรมและศิลปะจัดวาง (ที่มีลวดลายจุด) ด้วยความช่วยเหลือแนะนำจาก โอ’คีฟฟ์ ทำให้คูซามะเริ่มสร้างชื่อเสียงอย่างรวดเร็วในฐานะศิลปินหัวหอกของกระแสเคลื่อนไหวศิลปะอาวอง-การ์ดในยุคนั้น
ในช่วงปี 1963 คูซามะเริ่มทำซีรีส์ Mirror/Infinity rooms (1963) ซึ่งเป็นผลงานศิลปะจัดวางอันซับซ้อน ที่ประกอบด้วยห้องที่สร้างขึ้นจากกระจกเงา ที่มีหลอดไฟนีออนทรงลูกบอลหลากสีจำนวนนับไม่ถ้วนแขวนห้อยอยู่ในระดับที่ต่างกัน เมื่อผู้ชมเข้าไปยืนในห้องก็จะเห็นแสงไฟหลากสีสะท้อนกันไปมาสร้างภาพลวงตาของพื้นที่อันกว้างไกลไร้ที่สิ้นสุด โดยเธอทำการทดลองกับผลงานชุดนี้ในหลากหลายขนาดและรูปแบบ แต่อย่างไรก็ดี เธอกลับไม่ได้รับผลตอบแทนด้านการเงิน จากการทำงานศิลปะอย่างหนักหน่วงของเธอเท่าไหร่นัก ยังดีที่ โอ’คีฟฟ์ หว่านล้อมนายหน้าขายงานศิลปะของเธอให้ช่วยซื้อผลงานของคูซามะเพื่อช่วยเธอให้รอดจากวิกฤติทางการเงินมาได้
ในช่วงปลายทศวรรษ 1960s คูซามะโอบรับการมาถึงของกระแสวัฒนธรรมฮิปปี้ เธอเริ่มทำงานศิลปะสถานการณ์ (Happening Art) และทำงานศิลปะแสดงสด โดยส่วนใหญ่จะเป็นการที่เธอวาดภาพลวดลายจุดกลมสีสันสดใสลงบนร่างเปลือยของผู้ร่วมแสดง เธอยังทำงานศิลปะต่อต้านสงครามในพื้นที่ที่มีคนพลุกพล่านอย่าง สวนสาธารณะเซ็นทรัลปาร์ก และสะพานบรู๊กลิน อย่างเช่นผลงาน Anti-War Naked Happening and Flag Burning on the Brooklyn Bridge (1968) ที่เธอนำเพื่อนออกมาชุมนุมด้วยร่างกายเปลือยเปล่า ป้ายเนื้อตัวด้วยลวดลายจุด เผาธงชาติ และถือป้ายประท้วงสงครามเวียดนาม เธออธิบายว่า เธอต้องการเรียกร้องความสนใจไปยังความงามอันเป็นธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ และโศกนาฏกรรมของการส่งคนหนุ่มไปตายในเวียดนาม ด้วยข้อความต่อต้านสงคราม เรียกร้องสันติภาพ ความรัก และเสรีภาพ จากพันธนาการทางสังคมอย่างการสวมเสื้อผ้าอาภรณ์
ว่ากันว่าครั้งนึงเธอถึงกับเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน (Richard Mihous Nixon) โดยเสนอว่าเธอจะมีเซ็กส์แบบสุดเหวี่ยงกับเขา ถ้าเขายุติสงครามเวียดนาม (ซึ่งนิกสันก็ไม่ได้ตอบสนองข้อเสนอของเธอแต่อย่างใด)
ในปี 1966 คูซามะเข้าร่วมในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติเวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 33 เป็นครั้งแรก ผลงานของเธอมีชื่อว่า Narcissus Garden ซึ่งประกอบด้วยลูกบอลทรงกลมผิวมันวาวเหมือนกระจกเงานับร้อยลูกวางอยู่กลางแจ้ง เธอเรียกพวกมันว่า ‘พรมเคลื่อนไหว’ (Kinetic Carpet) เมื่องานศิลปะชุดนี้ติดตั้งเสร็จบนสนามหญ้าหน้าอิตาเลียนพาวิลเลียน คูซามะที่อยู่ในชุดกิโมโนสีทอง เริ่มต้นขายลูกบอลทีละใบในราคา 1,200 ลีร์ หรือ 2 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ จนกระทั่งทีมผู้จัดงานมายุติการขายของเธอ เพราะผิดกฎของเทศกาล ผลงานชิ้นนี้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ตนเองของศิลปินผ่านสื่อและวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นการค้าในวงการศิลปะร่วมสมัย
นอกจากผลงานภาพวาดลวดลายจุดวงกลมแล้ว หลายคนอาจไม่ทราบว่าคูซามะยังทำงานในรูปแบบอื่นๆ เกี่ยวกับประเด็นทางเพศ ที่ได้รับอิทธิพลจากประสบการณ์ในวัยเด็ก โดยถ่ายทอดออกมาในรูปของผลงานประติมากรรมจัดวางผ้ายัดนุ่นรูปทรงเหมือนองคชาตสีขาว แปะติดลงบนวัตถุและข้าวของต่างๆ อย่างรองเท้า เก้าอี้ บันได ไปจนถึงเรือพาย รวมถึงถ่ายเอกสารภาพถ่ายประติมากรรมรูปองคชาติดุ้นเขื่องสีขาวเรียงรายเป็นพรืดติดบนผนังเหมือนวอลเปเปอร์ในห้องแสดงนิทรรศการของเธอ นักวิจารณ์บางคนวิเคราะห์ว่า องคชาตจำนวนนับไม่ถ้วนในผลงานของเธอเหล่านี้แสดงถึงความหวาดกลัวเซ็กส์และประสบการณ์อันเลวร้ายจากภาวะความเป็นชายเป็นพิษ (Toxic masculinity) ที่เธอได้ประสบพบพานมาในชีวิตนั่นเอง
น่าเศร้าที่ในภายหลัง ภาวะความเป็นชายเป็นพิษที่ว่านี้ก็ตามมาทำร้ายเธออีกครั้งอยู่ดี เพราะถึงแม้เธอจะหนีออกจากสังคมชายเป็นใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ที่ไม่เปิดโอกาสให้ศิลปินเพศหญิงได้ก้าวหน้าในวงการศิลปะ และย้ายไปยังนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่เธอเชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เพื่อไขว่คว้าความสำเร็จในฐานะศิลปินแล้วก็ตาม
หนึ่งในหลักฐานของเหตุการณ์ที่คูซามะถูกย่ำยีจากวงการศิลปะอเมริกันจนจิตตกและป่วยทางจิตจนต้องใช้ชีวิตในโรงพยาบาลจิตเวช ที่เราได้ไปเห็นมากับตา ก็คือผลงาน Aggregation: One Thousand Boats Show (1963) ซึ่งถูกสะสมและจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Stedelijk Museum กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเธอร์แลนด์
ด้วยความที่คูซามะเป็นศิลปินเอเชียในสหรัฐอเมริกา แถมเป็นผู้หญิงด้วย จึงทำให้ไม่มีแกลเลอรี่ใหญ่ๆ ในนิวยอร์กยอมจัดแสดงผลงานให้เธอ ซ้ำร้ายศิลปินเพศชายชาวอเมริกันชื่อดังหลายคนก็ยังฉกฉวยไอเดียของเธอไปใช้อย่างหน้าตาเฉย
ทั้งศิลปินป๊อปอาร์ตชื่อดังอย่าง คเลส์ โอลเดนเบิร์ก (Claes Oldenburg) ที่หลังจากได้เห็นผลงานประติมากรรมผ้ายัดนุ่นรูปองคชาติของเธอในนิทรรศการกลุ่มที่แสดงร่วมกัน เขาก็ทำผลงานประติมากรรมนุ่มนิ่ม (Soft Sculpture) ที่ทำด้วยผ้ายัดนุ่นแบบเดียวกันกับที่เธอทำออกมาแสดงในนิทรรศการเดี่ยวของเขา จนกลายเป็นผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เขาอย่างมาก คูซามะเล่าเรื่องนี้ในสารคดี Kusama: Infinity (2018) ว่า ในวันเปิดงาน ภรรยาของโอเดนเบิร์กเดินมาหาเธอ (ที่กำลังช็อกตาแตกอยู่) แล้วกล่าวกับเธอว่า “ฉันขอโทษนะยาโยย”
หรือศิลปินป๊อปอาร์ตตัวพ่อชื่อดังอย่าง แอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) ก็เป็นอีกคนที่หยิบฉวยไอเดียของเธอไปใช้ โดยหลังจากวอร์ฮอลมาดูนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกของคูซามะในปี 1964 ที่จัดแสดงวอลเปเปอร์รูปประติมากรรมติดองคชาตสีขาวจำนวนนับไม่ถ้วนบนผนัง เขาก็ชื่นชมเธอว่า “ว้าว น่าทึ่งมากยาโยย! ผมชอบมากๆ” ท่าทางวอร์ฮอลจะชอบมากจริงๆ เพราะหลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ทำงานภาพพิมพ์ซิลค์สกรีนรูปหน้าวัวจำนวนนับไม่ถ้วนติดเป็นวอลเปเปอร์บนผนังในนิทรรศการของเขาในปี 1966 มันซะเลย
คูซามะยังถูกศิลปินชายชาวอเมริกันอีกคนอย่าง ลูคัส ซามารัส (Lucas Samaras) ขโมยไอเดียจากผลงาน Infinity Mirror Room – Phalli’s Field (1965) ห้องกระจกเงาที่มีทุ่งประติมากรรมรูปองคชาติลายจุดสะท้อนจนกลายเป็นจำนวนนับไม่ถ้วนของเธอ มาใช้ในผลงาน Mirrored Room (1965) ของเขา
เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้คูซามะหวาดผวา จนต้องปิดหน้าต่างสตูดิโอของตัวเองอย่างมิดชิด เพื่อไม่ให้มีใครมองเห็นและขโมยไอเดียของเธอ ท้ายที่สุดเธอก็จิตตกจนตัดสินใจฆ่าตัวตาย (แต่ไม่สำเร็จ) ในภายหลังเธอกลับไปบำบัดอาการป่วยทางจิตในโรงพยาบาลจิตเวชที่ญี่ปุ่น และพื้นฟูจิตใจตัวเองด้วยการทำงานศิลปะ จนประสบความสำเร็จและสร้างชื่อเสียงในฐานะศิลปินระดับโลกได้ในที่สุด
นอกจากภาพวาดลวดลายจุดกลม และประติมากรรมองคชาติยัดนุ่นแล้ว ผลงานที่โดดเด่นเป็นสง่าของเธออีกอย่างก็คือภาพวาดและประติมากรรมฟักทองที่มีลวดลายจุดประดับจนลายพร้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานที่แสดงในเจแปนพาวิลเลี่ยนในเทศกาลศิลปะเวนิส เบียนนาเล่ ในปี 1993 ที่เป็นห้องกระจกเงาเต็มไปด้วยประติมากรรมรูปฟักทองสีเหลืองจุดดำขนาดเล็กทั่วทั้งห้อง สะท้อนเงาในกระจกจนดูเหมือนมีมากมายไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งเจ้าฟักทองนี้เองที่กลายเป็นตัวตนที่สองหรือสัญลักษณ์แทนตัวตนของเธอ ซึ่งน่าจะได้แรงบันดาลใจจากช่วงชีวิตวัยเด็กที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติและครอบครัวที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับพืชพันธุ์ธัญญาหาร ในงานเปิดนิทรรศการเธอยังแต่งตัวในชุดสีเหลืองลายจุดและแจกประติมากรรมฟักทองเล็กๆ ให้กับผู้เข้าชมงานด้วย
เคยมีคนถามว่าทำไมเธอถึงใช้ฟักทองในงานศิลปะของเธอ เธอตอบว่า “ฟักทองมันดูน่าตลกขบขันดี” ซึ่งเป็นคำตอบที่เธอเลียนแบบ แอนดี้ วอร์ฮอล ที่กล่าวถึงวอลเปเปอร์รูปวัวของเขา เพื่อเป็นการแดกดันเขาที่ขโมยไอเดียผลงานของเธอนั่นเอง
ผลงานของคูซามะถูกนำไปจัดแสดงในนิทรรศการย้อนหลัง (Retrospective exhibition) ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะชั้นนำทั่วโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA) พิพิธภัณฑ์ Whitney พิพิธภัณฑ์ Tate Modern หรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยที่ฮิโรชิม่า ในปี 2006 เธอได้รับรางวัล Lifetime Achievement Award จากองค์กร Women’s Caucus for Art ของนิวยอร์ก ในปี 2008 ผลงานของเธอเคยถูกสถาบันคริสตี้ แห่งนิวยอร์ก ประมูลขายในราคา 5.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดของศิลปินหญิงที่ยังมีชีวิตอยู่ เธอยังได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในศิลปินคนสำคัญที่สุดของญี่ปุ่นที่ยังคงมีชีวิตอยู่ รวมถึงของโลกอีกด้วย
ในช่วงเวลานี้ ยาโยย คูซามะ กำลังจัดนิทรรศการแสดงเดี่ยวของเธอที่มีชื่อว่า Yayoi Kusama: 1945 to Now ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2023 – 8 ตุลาคม 2023 ที่พิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลบาว ประเทศสเปน ใครมีโอกาสไปแถวนั้นก็แวะไปชมกันได้ตามสะดวก ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.guggenheim-bilbao.eus/en/exhibitions/yayoi-kusama
ขอบคุณกองทุนศิลปะชวลิต เสริมปรุงสุข สนับสนุนการเดินทาง #84chavalitfestival
อ้างอิงจาก
หนังสือ Yayoi Kusama: Inventing the Singular ผู้เขียน Midori Yamamura สำนักพิมพ์ The MIT Press
หนังสือ INSIDE ART, OUTSIDE ART ข้างนอกข้างในอะไร (แม่ง) ก็ศิลปะ ผู้เขียน ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ สำนักพิมพ์ Salmon Books
ภาพยนตร์สารคดี Kusama: Infinity (2018)