ท่ามกลางปัญหามลพิษทางอากาศอันรุนแรงทางภาคเหนือของประเทศไทย ที่กำลังเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน แต่หาใช่เพียงจังหวัดทางภาคเหนือเท่านั้นที่ประสบกับปัญหานี้
หลายจังหวัดในประเทศไทยเองก็ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตมลพิษทางอากาศเช่นเดียวกัน จากรายงานของ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการประเมินว่า มลพิษทางอากาศอาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตกว่า 29,000 ราย ใน 31 จังหวัดของไทยในปี 2564 ซึ่งมากกว่าอุบัติเหตุบนท้องถนน การใช้ยาเสพติด และการฆาตกรรมในประเทศไทยรวมกันเสียอีก
ในแวดวงศิลปะของบ้านเรา มีศิลปินจำนวนไม่น้อยที่ใช้ผลงานศิลปะสะท้อนประเด็นปัญหาเหล่านี้ให้ผู้คนได้ตระหนักรับรู้ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ นิวัฒน์ มนัศปิยะเลิศ ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะด้วยวิธีการอันหลากหลาย เพื่อสำรวจโครงสร้างของชีวิตผู้คนธรรมดาสามัญในประเด็นต่างๆ ทั้งทางวัฒนธรรม สังคม เศรษฐศาสตร์ และปัญหาสิ่งแวดล้อม เขายังเป็นหนึ่งในศิลปินที่เข้าร่วมโครงการ ART for AIR หรือ ‘โครงการศิลปะเพื่อลมหายใจ’ ที่เป็นการรวมตัวของคนในวงการศิลปะ วัฒนธรรม และภาคประชาสังคมในเมืองเชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆ เพื่อแสดงจุดยืนในการมีส่วนร่วมต่อการแก้ปัญหาฝุ่นมลพิษทางอากาศที่เรื้อรังมากว่า 10 ปี อีกด้วย
ในนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุดของเขาอย่าง Area 721,346 นิวัฒน์ใช้เวลากว่า 2 ปี ค้นคว้าเกี่ยวกับเกษตรกรรมการปลูกอ้อย และอุตสาหกรรมน้ำตาล หลังจากที่เขาพบว่าสภาพอากาศในเมืองบ้านเกิดของเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง อันเป็นผลกระทบจากอุตสาหกรรมน้ำตาล ที่มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจท้องถิ่นในจังหวัด ทำให้เขาเริ่มตั้งคำถามถึงความเป็นอยู่ของคนในชุมชนท้องถิ่น ไปจนถึงบทบาทของน้ำตาล ซึ่งในยุคหนึ่งเคยถูกขนานนามว่าเป็น ‘ทองคำขาว’ อันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมในช่วงเปลี่ยนผ่านการปกครอง และยังส่งต่อมรดกตกทอดสู่วัฒนธรรมการ ‘กินหวาน’ ของคนไทยในปัจจุบัน โดยนิวัฒน์กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของนิทรรศการครั้งนี้ว่า
“Area 721,346 มีที่มาจากจำนวนของพื้นที่ทำเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอ้อยในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของผม ในฐานะคนกาญจนบุรี ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงของที่นี่มาโดยตลอด พอดีช่วงที่ผมไปเรียนต่างประเทศ ประมาณ 6 ปี แล้วกลับมา ผมเริ่มสัมผัสได้ว่าบางอย่างเริ่มเปลี่ยนไป ตอนนั้น ภาวะโลกร้อน (Global Warming) กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงที่ทุกคนพูดถึง พอเรากลับมามองสภาพแวดล้อมบ้านเราที่เป็นแบบนี้ เรารู้สึกว่ามีหลายอย่างเปลี่ยนไปในแง่ที่ไม่ค่อยดี ทั้งสิ่งที่ตาเห็น จมูกได้กลิ่น หูได้ยินเสียง ผมเริ่มเห็นว่าสีของท้องฟ้าเปลี่ยนไป ไม่เป็นสีฟ้าเหมือนเดิม ผมเห็นขี้เถ้าจากต้นอ้อยลอยเต็มท้องฟ้าเหมือนเป็นหิมะสีดำ ซึ่งเกิดจากการเผาไร่อ้อยในช่วงก่อนและหลังเก็บเกี่ยว เป็นกระบวนการผลิตวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ที่น่าจะมีมาตั้งแต่ก่อนผมเกิดแล้ว แต่ว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ใช้อ้อยจำนวนมาก อย่างการผลิตเชื้อเพลิงเอทานอล ยิ่งทำให้การกระบวนการเหล่านี้เพิ่มขึ้นเยอะกว่าสมัยก่อนมาก อีกอย่าง สมัยก่อนเรามีต้นไม้เยอะกว่านี้ แต่ในภายหลังระบบอุตสาหกรรมต้องการวัตถุดิบจำนวนมากขึ้น พื้นที่ป่าก็เริ่มถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกอ้อยมากขึ้นเรื่อยๆ”
นิวัฒน์ถ่ายทอดสภาพแวดล้อม สภาพสังคม ไปจนถึงสภาพเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในจังหวัดกาญจนบุรีด้วยท่าทีอันนิ่งเงียบ แต่ตรงไปตรงมา ผ่านกระบวนการและวัตถุดิบที่นำมาใช้สร้างผลงานประติมากรรม, ศิลปะจัดวาง, ภาพวาด, ภาพถ่าย, วิดีโอ, ภาพยนตร์สั้น เพื่อชี้ชวนให้ผู้ชมได้รับทราบถึงความเป็นมาของวัตถุที่อยู่ใกล้ตัวเราอย่าง น้ำตาล ที่เป็นต้นตอของปัญหาสิ่งแวดล้อม เกาะเกี่ยวเหนียวแน่นกับระบบเศรษฐกิจของชุมชน อันเกิดจากนโยบายของรัฐ และส่งผลกระทบถึงพวกเราทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมันอบอวลอยู่ในทุกอณูของอากาศที่เราหายใจเข้าไป
“ผมหยิบวัตถุจากกระบวนการทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเหล่านี้มาเป็นวัตถุดิบในการสร้างผลงานแต่ละชิ้น เพื่อให้เป็นภาพสะท้อนว่ามีปัญหาทางสิ่งแวดล้อมเหล่านี้เกิดขึ้นจริงในหลายแง่มุม จะว่าไป การหาข้อมูลทำงานในจังหวัดกาญจนบุรีครั้งนี้อาจจะดูเป็นเหมือนการลงพื้นที่ แต่อันที่จริงแล้ว ผมใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองนี้ ที่นี่คือบ้านเกิดของผม คนขายเมล็ดพันธุ์พืชที่ผมสัมภาษณ์เพื่อเก็บข้อมูลก็เป็นญาติของผม ชาวไร่อ้อยที่ผมสัมภาษณ์ก็เป็นเพื่อนบ้านผมด้วยเหมือนกัน”
ผลงานแรกที่สะดุดตาเราตั้งแต่ครั้งแรกที่ย่างเท้าเข้าไปในห้องแสดงงานก็คือ White Gold (2021-2)ประติมากรรมจัดวางรูปอ้อยจำนวน 170 ลำ วางเรียงซ้อนเป็นกองใหญ่บนแท่นเหล็ก ที่น่าสนใจก็คืออ้อยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำขึ้นจากน้ำตาลชนิดต่างๆ ที่เป็นผลผลิตของมันนั่นเอง
“ผลงานชุดนี้ผมทำขึ้นในปี 2021 สำหรับโครงการศิลปะ ART for AIR ครั้งแรก โดยผมทำงานประติมากรรมด้วยการนำน้ำตาลทรายกลับมาทำให้เป็นลำอ้อย โดยใช้ลำอ้อยจริงๆ เป็นต้นแบบทำแม่พิมพ์หล่อประติมากรรมอ้อยขึ้นมา เพื่อเป็นการย้อนกลับกระบวนการของการทำน้ำตาล ตอนนั้นผมทำออกมาแค่ลำเดียว แต่ในนิทรรศการครั้งนี้ผมทำประติมากรรมอ้อยออกมาหลายลำ เป็นการเน้นปริมาณเพื่อให้เห็นความเป็นระบบอุตสาหกรรม โดยใช้น้ำตาลชนิดต่างๆ จากหลายโรงงาน ที่ขายอยู่ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของแหล่งผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย”
หลายคนอาจคิดว่าพอทำงานศิลปะจากน้ำตาลเยอะขนาดนี้น่าจะดึงดูดให้เหล่าบรรดามดยกโขยงมาใต่ตอมกัดกินงานเหล่านี้กันยุ่บยั่บ แต่ก็หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะตั้งแต่เราเดินเข้ามาดูงานเหล่านี้เป็นนาน ก็ยังไม่เห็นมดมาตอมสักตัวเลย ซึ่งนิวัฒน์เฉลยให้เราฟังว่า ถ้าน้ำตาลแห้งสนิท ไม่โดนความชื้น ก็จะไม่มีกลิ่นที่ดึงดูดมดให้เข้ามาไต่ตอม เขายังบอกว่างานชุดนี้เขาทำเสร็จตั้งแต่เดือนธันวาคมแล้ว ยังเคยไม่มีมดเข้ามาตอมเลยสักตัวด้วยซ้ำไป
บนผนังในห้องแสดงนิทรรศการยังมีผลงานอย่าง Black Snow (2022) ภาพวาดนามธรรมสีดำ 2 ชิ้นที่ดูคล้ายกับภูมิทัศน์ของไร่อ้อยที่ไหม้เป็นเถ้าถ่าน และ Yellow Sky (2023) แผงภาพวาดนามธรรมสีเหลืองขุ่นขมุกขมัว ราวกับเป็นภาพวาดท้องฟ้าที่ปกคลุมด้วยฝุ่นพิษก็ไม่ปาน
“หลังจากทำประติมากรรมอ้อยชิ้นแรกเสร็จ ผมก็ได้ทุนจาก DC collection เพื่อลงพื้นที่ค้นคว้าหาข้อมูล โดยผมเข้าไปดูเกษตรกรปลูกและเก็บเกี่ยวอ้อย ในระหว่างนั้นผมก็หยิบวัตถุดิบบางอย่าง เช่น อ้อยที่ถูกเผาจนเป็นขี้เถ้า ผมใช้แทนสีวาดภาพลงบนผ้าใบขนาด 180 x 180 ซม. 2 ภาพ โดยวาดให้ทั้ง 2 ภาพสามารถพลิกดูในมุมไหนก็ได้ ภาพวาด 2 ชิ้นนี้แทนสายตาผมในมุมมอง 180 องศา ที่มองเห็นสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวขมุกขมัวด้วยควันไฟที่เกิดจากการเผาอ้อยและควันจากโรงงานอุตสาหกรรม”
“หรือกากน้ำตาลที่เขาแปรรูปเป็นปุ๋ยเคมี ผมก็เอามาทำเป็นภาพวาดลงบนถุงปุ๋ยแทนผืนผ้าใบ โดยออกแบบให้เหมือนป้ายบิลบอร์ดที่ติดข้างทาง ตามถนนต่างจังหวัด ที่ผมเห็นเวลาขับรถไป/กลับบ้าน ไฟสปอตไลต์ที่ส่องภาพวาดก็เป็นไฟแบบเดียวกับที่ส่องป้ายบิลบอร์ดตามข้างทางจริงๆ เวลาผมตื่นขึ้นมาทุกเช้า ผมจะเห็นท้องฟ้าเป็นสีเหลืองๆ เทาๆ ที่เกิดจากกระบวนการเผาในการทำไร่อ้อย และกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม”
ยังมีผลงานอีกชุดของนิวัฒน์ถูกจัดแสดงในห้องแสดงนิทรรศการขนาดเล็กด้านในของหอศิลป์ ที่เอิบอาบไฟด้วยสีเขียวสะท้อนแสง กลางห้องจัดวางด้วยผลงาน 721,346 Rai (2022-3) ศิลปะจัดวางในรูปของโต๊ะและเก้าอี้ บนผนังรอบห้องติดด้วยวอลเปเปอร์ที่นำเสนอภาพภูมิทัศน์ไร่อ้อยและกิจวัตรของเกษตรกรชาวไร่อ้อยท้องถิ่น และวิดีโอสารคดีบันทึกกระบวนการผลิตน้ำตาลในโรงงาน ในห้องนี้ยังมีผลงานศิลปะในรูปของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ผู้ชมสามารถลองลิ้มชิมรสชาติจากแก้วช็อตที่วางเรียงรายอยู่บนหิ้งบนผนัง
“ศิลปะจัดวางในรูปของโต๊ะ ผมทำให้เป็นเหมือนแผนที่เวลาเรามองจากกูเกิลเอิร์ธลงมาบนพื้นดิน ผมเลยเลือกใช้วัสดุจากดินในพื้นที่เพาะปลูกอ้อย มาผสมกับดินปั้นเซรามิก เพื่อทำเป็นท็อปโต๊ะเซรามิกที่มีลวดลายของแผนที่ของพื้นที่ทำเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอ้อยทั้งหมดในกาญจนบุรี ซึ่งผมสำรวจรายงานจากสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ที่เขาเก็บสถิติทุกปีว่าจังหวัดไหนปลูกอ้อยได้เท่าไหร่บ้าง ส่วนเก้าอี้ ผมใช้ดินที่เสื่อมโทรมจากการเพาะปลูกที่เขากองทิ้งไว้ในไร่อ้อย มาร่อนและผสมกับกาวลาเท็กซ์เพื่อทำเป็นหน้าเก้าอี้รองนั่ง”
“แสงในห้องที่เป็นสีเขียว ผมได้แรงบันดาลใจจากสีของหลอดไฟของรถสิบล้อบรรทุกอ้อย หรือหลอดไฟที่ใช้ตามร้านค้าข้างทางในต่างจังหวัดที่เป็นสีเขียวฉูดฉาดสะท้อนแสง นัยว่าอาจจะเป็นจุดเด่นในการดึงดูดลูกค้าก็เป็นได้”
“วอลเปเปอร์บนผนัง ผมตั้งใจทำให้เป็นเหมือนป้ายประชาสัมพันธ์ (โฆษณาชวนเชื่อ) ของหน่วยงานราชการ โดยให้นักออกแบบกราฟิกในกาญจนบุรีที่เคยทำงานให้หน่วยงานราชการท้องถิ่นมาออกแบบให้ โดยใช้ภาพที่ผมถ่ายตอนลงพื้นที่หาข้อมูลมาทำเป็นภาพตัดแปะ”
“ส่วนเหล้าที่อยู่ในห้อง คือน้ำตาลที่แปรรูปเป็นแอลกอฮอล์ ทั้งในรูปของเอทาทอลที่ใช้ดื่มได้ และเอทานอลที่ใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นวิวัฒนาการของอุตสาหกรรมน้ำตาล ที่นอกจากจะผลิตเพื่อการบริโภคในอดีตแล้ว ในปัจจุบันยังสามารถผลิตเพื่อใช้เป็นพลังงานได้ด้วย ผมทำเหล้านี้ขึ้นมาเป็นพิเศษโดยร่วมงานกับคุณอนุภาส เปรมานุวัติ บาร์เทนเดอร์จาก Ku Bar (และ แอนเดรียส โกลเอล) ทำการกลั่นเหล้าจากน้ำอ้อยจากกาญจนบุรี โดยผสมให้มีกลิ่นของควันไฟ เหมือนเวลาที่เขาเผาไร่อ้อยในกระบวนการทำเกษตรกรรม เพื่อให้ผู้ชมสามารถลองชิมรสชาติกันได้ในวันเปิดนิทรรศการแก้วที่ใช้ชิม ผมดัดแปลงแก้วช็อตจากขวดของเครื่องดื่มชูกำลังเก็บตกจากร้านค้า ที่เกษตรกรในไร่อ้อยและคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมดื่มกันเป็นประจำ”
ด้านหน้าของห้องแสดงงานเล็กยังมีผลงานวิดีโอจัดวาง Bitter Sweet (2023) ที่ฉายคลิปจากภาพยนตร์เรื่องดังในอดีตที่เราคุ้นตา สลับไปกับคลิปของเกษตรกรไร่อ้อยท้องถิ่น โดยมีกระสอบน้ำตาลวางเอาไว้ให้เป็นที่นั่งสำหรับผู้ชมอย่างเข้ากั๊นเข้ากัน
“วิดีโอจัดวางชิ้นนี้ ผมหยิบเอาฟุตเทจแบบสุ่มจากหนัง Titanic ซึ่งเป็นหนังที่เกี่ยวกับความรักหวานซึ้ง มาตัดต่อเข้ากับวิดีโอที่ถ่ายทำตอนลงไปสำรวจพื้นที่ในไร่อ้อย และตัวหนัง Titanic เองก็เป็นเรื่องราวความรักระหว่างชนชั้นสูงและชนชั้นแรงงานอีกด้วย ตรงด้านหน้าวิดีโอ ผมเอากระสอบน้ำตาลมาวางให้ผู้ชมนั่งดู เพราะตอนผมไปโรงงานผมก็เห็นคนงานใช้กระสอบน้ำตาลทรายต่างเก้าอี้เวลานั่งพักรอทำงาน ”
ท้ายสุดกับผลงาน Sweetness and Power (2022-3) ศิลปะจัดวางในรูปของภาพยนตร์สั้น ที่ฉายภาพโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยควันจากปล่องลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า ที่จัดแสดงในพื้นที่ Project Room ที่แยกตัวออกมาจากห้องแสดงงานหลักเป็นเหมือนห้องแสดงงานลับของหอศิลป์ยังไงยังงั้น
“ผลงานชุดนี้เกิดจากการที่ผมเข้าไปสำรวจโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปอ้อย และถ่ายทำออกมาเป็นหนังสั้น 3 นาที ด้วยฟิล์มหนัง 16 มม. โดยความร่วมมือจากศิลปินผู้อาศัยอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรีอย่าง คุณชูเกียรติ วงศ์สุวรรณ ที่เลือกถ่ายทำด้วยวิธีนี้ก็เพราะฟิล์ม 16 มม. เป็นฟิล์มที่มักจะใช้ถ่ายทำสารคดี และระบบของกล้อง 16 มม. คือระบบสายพาน ซึ่งเป็นระบบเดียวกับที่ใช้โรงงานแปรรูปอ้อย ในขณะที่กำลังถ่ายทำ ผมได้ยินเสียงสายพาน เสียงฟันเฟืองข้างในโรงงาน ซึ่งผมคิดว่าเชื่อมโยงกับระบบของกล้อง 16 มม. แถมเครื่องฉายหนังระบบ 16 มม. ก็เป็นระบบสายพานด้วยเหมือนกัน”
ที่น่าสนใจก็คือเครื่องฉายหนังที่ว่านี้ใช้พลังงานไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟที่ใช้เชื้อเพลิงเอทานอล ซึ่งผลิตจากอ้อย นิวัฒน์ยังออกแบบปลั๊กไฟและสวิตซ์ปิดเปิดเครื่องปั่นไฟโดยใช้ฝาครอบดีไอวายจากแกลลอนบรรจุเอทานอล แบบเดียวกับที่ชาวบ้านทำฝาครอบเครื่องสูบน้ำเพื่อกันน้ำฝนอีกด้วย
“การทำงานครั้งนี้คือการกลับไปสำรวจบ้านเกิดของผมเอง ซึ่งครอบครัวผมก็ยังอยู่ที่นั่น แต่ประเด็นในการทำงานชุดนี้ ผมไม่ได้ต้องการที่จะโจมตีระบบเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเหล่านี้ เพราะมันมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน และเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คนในจังหวัด อย่างทางบ้านผมทำการค้าขาย เมื่อมีการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจก็จะเติบโตขึ้นจากเม็ดเงินในการทำไร่อ้อย บ้านผมเองก็มีรายได้จากเกษตรกรเหล่านี้ แต่ในขณะเดียวกัน คนในท้องถิ่นก็เริ่มป่วยเป็นภูมิแพ้จากมลภาวะในเมือง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ผมไม่ได้ต้องการให้ระบบเหล่านี้หายไปจากเมือง แต่ผมต้องการกระตุ้นให้ผู้คนได้เห็นปัญหา เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นจริงๆ””
“นิทรรศการครั้งนี้เป็นเหมือนการบอกเล่าประสบการณ์ของผมและคนในท้องถิ่น เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาทางสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ เชียงราย หากแต่มีอีกหลายๆ แห่งในประเทศไทยที่เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมขึ้นจริงๆ”
นิทรรศการ Area 721,346 โดย นิวัฒน์ มนัศปิยะเลิศ และภัณฑารักษ์ พอใจ อัครธนกุล จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน – 18 มิถุนายน 2023 ณ Gallery VER ในพื้นที่ศิลปะ N22 ซ.นราธิวาส 22 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร 02 120 6098 หรืออีเมล galleryver@gmail.com
อ้างอิงจาก