เมื่อไม่นานมานี้ มีเหตุการณ์วิวาทะกันให้ขรมในโลกออนไลน์ ด้วยประเด็นเกี่ยวกับอวัยวะเพศชาย ที่หลายคนเรียกกันห้วนๆ ว่า ‘คอ สระอวย’ หรือเรียกกันสวยๆ ว่า ‘องคชาต’ หรือเรียกกันแบบน่ารักน่าชังว่า ‘จู๋’ หรือ ‘เจี๊ยว’ ส่วนเรื่องราวรายละเอียดจะเป็นยังไงนั้น ก็คงต้องขอให้ไปติดตามกันเอาเอง เพราะนี้เป็นคอลัมน์เกี่ยวกับศิลปะ ไม่ใช่คอลัมน์ดราม่าแต่อย่างใด ในทางกลับกัน เราก็ถือโอกาสนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘จู๋’ ที่ปรากฏในโลกศิลปะ ให้สมกับความเป็นคอลัมน์ที่พูดถึงอะไรๆ ที่ไม่น่าจะเป็นศิลปะ (ไปได้) แต่ดันกลายเป็นศิลปะ (ไปแล้ว) กันดีกว่า
นับแต่อดีตกาลนานมา ‘องคชาต’ หรือ ‘จู๋’ นั้นถูกนำเสนอมาตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณ นับแต่ภาพวาดหรือภาพสลักรูปจู๋บนผนังถ้ำของยุคโรมันโบราณใน 122 และ 207 ไปจนถึง ศิวลึงค์ หรือวัตถุเคารพรูปองชาต ที่ใช้ในการบูชาสักการะในโบสถ์วิหารฮินดูมานับแต่ยุคโบราณเป็นพันๆ ปีมาแล้ว หรือประติมากรรมบรอนซ์และดินเผารูปเทวรูปองคชาตใหญ่ยาวชูชัน ที่พบในอารยธรรมปอมเปอีและมายาโบราณอันล่มสลาย
หรือภาพ ชุงกะ ศิลปะเชิงสังวาสของญี่ปุ่นในช่วงศตวรรษที่ 16 ถึงศตวรรษที่ 19 ที่มักวาดภาพอวัยวะเพศชาย (และหญิง) ขนาดใหญ่มหึมาเกินจริง จนบางครั้งดูเกือบเท่ากับศีรษะคน ซึ่งการวาดในลักษณะนี้นอกจากจะเป็นการเน้นย้ำเนื้อหาทางเพศให้ชัดเจนจะแจ้งแล้ว อวัยวะเพศอันใหญ่โตเกินจริงเหล่านี้ ยังเป็นตัวแทนของ ‘ใบหน้าที่ 2’ ที่แสดงออกถึงความปรารถนาภายในส่วนลึกของผู้คน ที่ถูกซ่อนไว้ภายใต้ใบหน้าปกติ ที่ใช้ในการดำเนินชีวิตและปฏิบัติภาระหน้าที่ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นอวัยวะเหล่านี้จึงมีขนาดเท่ากับใบหน้าหรือศีรษะ และอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้เคียงกันอย่างผิดธรรมชาติ เพื่อแสดงถึงสภาวะอันกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของคนเหล่านั้น
หรือในงานประติมากรรมกรีกและโรมันโบราณ หรือในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) ที่หลายคนอาจสงสัย ว่าทำไมประติมากรรมรูปเทพเจ้าหรือเหล่าวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ในตำนาน (อย่างเช่น ประติมากรรมหินอ่อน เดวิด (David) (1504) ปฐมกษัตริย์ชาวยิวผู้ยิ่งใหญ่ ของ ไมเคิลแองเจโล (Michelangelo)) จึงมักจะมีองชาตเล็กจิ๋ว ผิดกับร่างกายอันกำยำล่ำสัน ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะคตินิยมในยุคกรีกและโรมันโบราณ รวมถึงยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ ที่มองว่าองคชาตที่มีขนาดเล็กนั้นแสดงถึงความเป็นชนชั้นนำ ผู้ใช้สติปัญญาและควบคุมแรงปรารถนาทางเพศของตัวเอง ได้มากกว่าชนชั้นล่างผู้ใช้แรงงาน อันป่าเถื่อน หมกมุ่นมัวเมาในกามและสุราเมรัย ดังที่ปรากฏเป็นขั้วตรงข้ามในภาพวาดและประติมากรรมของ แพน (Pan) เทพเจ้าแห่งคนเลี้ยงแกะและการล่าสัตว์ และ เซเทอร์ (Satyr) ผู้ติดตาม ครึ่งมนุษย์ครึ่งสัตว์ ที่มักจะมีองคชาตยาวใหญ่นั่นเอง
ย้ายมาที่ยุคสมัยใหม่กันบ้าง หนึ่งในขบวนการทางศิลปะที่ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคสมัยโมเดิร์นอาร์ต อย่าง เซอร์เรียลลิสม์ (Surrealism) ที่นอกจากจะนำเสนอความพิลึกพิลั่นเหนือจริง ไร้ตรรกะ ผ่านงานศิลปะของพวกเขา เรื่องราวและแรงขับทางเพศก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ศิลปินกลุ่มนี้โปรดปรานจนถึงขั้นหมกมุ่น โดยเฉพาะศิลปินเซอร์ตัวพ่ออย่าง ซัลบาดอร์ ดาลี (Salvador Dalí) ที่นอกจากจะวาดภาพหอคอยรูปร่างเหมือนองคชาตและลูกอัณฑะ มีธงปลิวไสวปลายยอด ดูคล้ายกับน้ำอสุจิกำลังไหลออกมา ในภาพ The Anthropomorphic Tower (1930) แล้ว ดาลียังมักวาดภาพที่มีนอแรด อันเป็นเหมือนสัญลักษณ์แทนอวัยวะเพศชายอันพุ่งผงาดแกร่งกร้าว แต่แฝงความนุ่มนวลอ่อนหยุ่นด้วยเส้นสายอันกลมมน ที่ดูราวกับกำลังจะสอดใส่ในร่างกายของหญิงสาวเบื้องหน้า ในภาพวาด Young Virgin Auto-Sodomized by Her Own Chastity (1954) ของเขา
หรือแม้แต่ศิลปินคนสำคัญในกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์อีกคนอย่าง ฆวน มิโร (Joan Miró) ผู้มักสร้างสรรค์ผลงานอันบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา แต่ตอนไปเยือนพิพิธภัณฑ์ของเขา เรายังเห็นประติมากรรมหน้าตาพิลึกปนน่ารักหลายอันมีจู๋โผล่ตั้งเด่ออกมาให้เห็นกันจะจะเลยทีเดียว
หรือผลงานชิ้นเด่นของศิลปินชาวโรมาเนีย คอนสแตนติน บร็องกูชี (Constantin Brâncuși) อย่าง Princess X (1915–1916) ที่ไม่ต้องบอกก็คงรู้ว่าได้แรงบันดาลใจมาจากอวัยวะส่วนไหน)
หรือผลงานประติมากรรมรูปองคชาตขนาดเขื่อง ของประติมากรชาวดัชต์ เฮอร์มานน มัคคิงค์ (Herman Makkink) อย่าง The Rocking Machine (1969) ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากรูปทรงของอวัยวะเพศชายผนวกกับสัดส่วนโค้งเว้าอันงดงามของบั้นท้ายสตรี จนกลายเป็นประติมากรรมไฟเบอร์กลาสรูปทรงอีโรติกที่โยกเยกได้ โดดเด่นเตะตาผู้กำกับชื่อดังอย่าง สแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) จนหยิบไปใช้ในหนัง A Clockwork Orange (1972) ของเขาเลยทีเดียว
หรือศิลปินฉายา ‘เจ้าพ่อป๊อปอาร์ต’ อย่าง แอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) ที่นอกจากจะทำผลงานภาพพิมพ์ Penis (1977–1977) รูปจู๋ดุ้นเขื่องให้เห็นกันอย่างจะแจ้งแล้ว เขายังออกแบบปกอัลบั้มชุดแรกของวงดนตรีร็อกอเมริกัน The Velvet Underground ในปี 1967 ด้วยกราฟิกรูปกล้วยสีเหลืองอันเรียบง่ายบนปกแผ่นเสียงสีขาวสะอาดตา แต่จริงๆ รูปกล้วยที่ว่านี้เป็นสติกเกอร์ที่สามารถลอกออกได้ เมื่อแฟนเพลงซื้อแผ่นเสียงไปแล้วลอกสติกเกอร์รูปกล้วยสีเหลืองออก ก็จะพบเนื้อกล้วยสีชมพูสดใสอยู่ข้างใต้ (ที่คงไม่ต้องบอกให้เสียเวลาว่าเหมือนอะไร?)
หรือผลงานของศิลปินภาพถ่ายชาวอเมริกัน โรเบิร์ต แมพเพิลธอร์ป (Robert Mapplethorpe) ช่างภาพคนแรกๆ ในวงการภาพถ่าย ที่ถ่ายภาพองคชาต (โดยเฉพาะองคชาตอันใหญ่ยาวของคนดำ) ออกมาได้อย่างจะแจ้ง แต่ในขณะเดียวกันก็ดูงดงามราวกับงานประติมากรรม ซึ่งนับเป็นการปฏิวัติวงการภาพถ่าย ซึ่งภาพเปลือยที่แสดงอวัยวะเพศชายเคยเป็นสิ่งต้องห้าม อ้อ ตอนนี้ผลงานของแมพเพิลธอร์ปกำลังจัดแสดงในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 อีกด้วย
หรือผลงานประติมากรรมของศิลปินชาวอังกฤษ เจมี่ แม็คคาร์ทนีย์ (Jamie McCartney) อย่าง The Great Wall of Penis หรือ ‘กำแพงเมืองจู๋’ ที่หล่อขึ้นจากจู๋หลายขนาดหลากรูปร่างของอาสาสมัครชายนับร้อยคน เขายังทำผลงานแบบเดียวกันที่หล่อขึ้นจากอวัยวะเพศหญิงอีกด้วย ผลงานของเขาแสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่ว่าจะอวัยวะเพศจะมีขนาดและรูปร่างหน้าตาแบบไหน ก็มีความงดงามและมีความเป็นศิลปะได้อย่างเท่าเทียมกัน
ไม่เพียงแค่ศิลปินเพศชายเท่านั้น ที่ถือสิทธิในการสร้างผลงานเกี่ยวกับอวัยวะที่อยู่กลางหว่างขาของตัวเองแต่เพียงผู้เดียว ศิลปินเพศหญิงหลายคนก็หยิบเอาอวัยวะสุดรักสุดหวงของเพศชาย ผู้วางท่าเขื่องโขท่อนนี้ มาทำเป็นงานศิลปะกันเป็นล่ำเป็นสันได้เช่นเดียวกัน
ยกตัวอย่างเช่น ผลงานของศิลปินหญิงชาวฝรั่งเศส-อเมริกันเจ้าของฉายา ‘คุณนายแมงมุม’ หลุยส์ บรูชัวร์ (Louise Bourgeois) ซึ่งเธอก็ไม่ได้ทำแต่ประติมากรรมแมงมุมที่สร้างชื่อเสียงให้เธอแต่เพียงอย่างเดียว หัวข้ออีกอย่างที่เธอโปรดปรานหยิบมาทำงานก็คือของลับของเพศชายอย่าง องคชาติ หรือ จู๋ นั่นเอง เธอทำทั้งงานประติมากรรมรูปและภาพวาดรูปจู๋ต่างๆ หลากหลายชิ้น เธอยังเคยกล่าวเอาไว้ว่า
“ถ้าฉันอยากนำเสนอบางสิ่งบางอย่างที่ฉันรัก แน่นอนว่าฉันต้องนำเสนอเจ้าจู๋อันน้อยๆ นี่แหละนะ”
หรือผลงานของ ยาโยย คูซามะ (Yayoi Kusama) ศิลปินเจ้าของฉายา ‘ราชินีลายจุด’ (Polka Dot Queen) นอกจากผลงานภาพวาดลวดลายจุดวงกลมแล้ว คูซามะยังทำงานเกี่ยวกับประเด็นทางเพศ อันเป็นผลมาจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่ได้รับจากพฤติกรรมทางเพศของพ่อของเธอ ที่เป็นคนเจ้าชู้หลายใจและมักมากในกาม ส่วนแม่ของเธอก็มักจะทุบตีทำร้ายร่างกายของเธอบ่อยๆ เธอกล่าวว่า แม่ของเธอมักจะส่งเธอให้ไปลอบสะกดรอยตามพ่อของเธอเวลาเขาแอบดอดไปมีสัมพันธ์สวาทกับชู้รัก หนำซ้ำบางครั้งเธอถึงกับได้เห็นกิจกรรมทางเพศของทั้งคู่ด้วยตาตัวเอง สิ่งนี้ส่งผลต่อทัศนคติทางเพศในชีวิตของเธอในภายหลังอย่างมาก
“ฉันไม่ชอบเซ็กส์ แต่ฉันก็มีความลุ่มหลงเซ็กส์ไปพร้อมๆ กัน เมื่อฉันเป็นเด็ก ฉันได้เห็นพ่อมีชู้รักมากหน้าหลายตา เพราะแม่ส่งฉันไปสะกดรอยตามพ่อ ทำให้เมื่อฉันโตเป็นสาว ฉันมีอาการหวาดกลัวและไม่กล้ามีเซ็กส์กับใครเลยเป็นเวลาหลายปี ความลุ่มหลงและความหวาดกลัวในเซ็กส์ฝังลึกอยู่ในตัวฉันตลอดมานับแต่นั้น”
ถึงแม้ว่าเธอจะเรียกตัวเองว่าเป็นคนไร้เพศ และหวาดกลัวเซ็กส์ แต่ผลงานของเธอก็เกี่ยวข้องกับเรื่องเซ็กส์อย่างชัดเจนจะแจ้งบ่อยครั้ง ดังเช่นในปี 1963 ที่เธอทำประติมากรรมผ้ายัดนุ่นที่มีรูปทรงเหมือนองคชาติสีขาว แปะติดลงบนวัตถุและข้าวของต่างๆ อย่างรองเท้า เก้าอี้ บันได ไปจนถึงเรือพาย รวมถึงถ่ายเอกสารภาพถ่ายประติมากรรมรูปองคชาติดุ้นเขื่องสีขาวเรียงรายเป็นพรืดติดบนผนังหมือนวอลเปเปอร์ห้องแสดงนิทรรศการของเธอ นักวิจารณ์บางคนวิเคราะห์ว่า องคชาตจำนวนนับไม่ถ้วนในผลงานของเธอเหล่านี้แสดงถึงความหวาดกลัวเซ็กส์และ ภาวะความเป็นชายเป็นพิษ (Toxic masculinity)ที่เธอได้ประสบพบพานมาในชีวิตนั่นเอง
น่าเศร้าที่ในภายหลัง ภาวะความเป็นชายเป็นพิษที่ว่านี้ก็ตามมาทำร้ายเธออีกครั้งอยู่ดี ด้วยความที่เธอเป็นศิลปินต่างชาติในนิวยอร์ก แถมเป็นผู้หญิง จึงทำให้ไม่มีแกลเลอรี่ใหญ่ๆ จัดแสดงงานของเธอ แถมศิลปินเพศชายชาวอเมริกันชื่อดังหลายคนก็ยังฉกฉวยไอเดียของเธอไปใช้อย่างหน้าตาเฉย
ยกตัวอย่างเช่น ศิลปินป๊อปอาร์ตชื่อดังอย่าง คเลยส์ โอเดนเบิร์ก (Claes Oldenburg) ที่หลังจากได้เห็นผลงานประติมากรรมผ้ายัดนุ่นรูปองคชาติของเธอในนิทรรศการกลุ่มที่แสดงร่วมกัน เขาก็ทำผลงานประติมากรรมนุ่มนิ่ม (Soft Sculpture) ที่ทำด้วยผ้ายัดนุ่นแบบเดียวกันกับที่เธอทำออกมาแสดงในนิทรรศการเดี่ยวของเขา จนกลายเป็นผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เขาอย่างมาก คูซามะ เล่าเรื่องนี้ในสารคดี Kusama: Infinity (2018) ว่า ในวันเปิดงาน ภรรยาของโอเดนเบิร์กเดินมาหาเธอ (ที่กำลังช็อกตาแตกอยู่) แล้วกล่าวกับเธอว่า “ฉันขอโทษนะยาโยย”
หรือศิลปินป๊อปอาร์ตตัวพ่ออีกคนอย่างแอนดี้ วอร์ฮอลเอง ก็เป็นอีกคนที่หยิบฉวยไอเดียของเธอไปใช้ โดยหลังจากวอร์ฮอลมาดูนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกของคูซามะในปี 1964 ที่จัดแสดงวอลเปเปอร์รูปประติมากรรมติดองคชาตสีขาวจำนวนนับไม่ถ้วนบนผนัง เขาก็ชื่นชมเธอว่า “ว้าว น่าทึ่งมากยาโยย! ผมชอบมากๆ” ท่าทางวอร์ฮอลจะชอบมากจริงๆ เพราะหลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ทำงานภาพพิมพ์ซิลค์สกรีนรูปหน้าวัวจำนวนนับไม่ถ้วนติดเป็นวอลเปเปอร์บนผนังในนิทรรศการของเขาในปี 1966 มันซะเลย
เธอยังถูกศิลปินชายชาวอเมริกันอีกคนอย่าง ลูคัส ซามารัส (Lucas Samaras) ฉกไอเดียจากผลงานInfinity Mirror Room – Phalli’s Field (1965) ห้องกระจกเงาที่มีทุ่งประติมากรรมรูปองคชาติลายจุดสะท้อนจนกลายเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน มาใช้ในผลงาน Mirrored Room (1965) ของเขา
เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้คูซามะหวาดผวา จนต้องปิดหน้าต่างสตูดิโอของตัวเองอย่างมิดชิด เพื่อไม่ให้มีใครมองเห็นและขโมยไอเดียของเธอ ท้ายที่สุดเธอก็จิตตกจนตัดสินใจฆ่าตัวตาย (แต่ไม่สำเร็จ) ในภายหลังเธอกลับไปบำบัดอาการป่วยทางจิตในโรงพยาบาลจิตเวชที่ญี่ปุ่น และพื้นฟูจิตใจตัวเองด้วยการทำงานศิลปะ จนประสบความสำเร็จและสร้างชื่อเสียงในฐานะศิลปินระดับโลกได้ในที่สุด
เมื่อพูดถึงภาวะความเป็นชายเป็นพิษ ก็ทำให้เราเราอดนึกถึงผลงานที่เสียดสีตีแผ่ประเด็นนี้ได้อย่างน่าสนใจไม่ได้ ผลงานที่ว่านั้นเป็นของศิลปินหญิงชาวฝรั่งเศสนาม โอลอง (Orlan) ผู้โด่งดังในการใช้ร่างกายของตัวเองเป็นเครื่องมือในการทำงานศิลปะ ที่ล้อเลียนผลงานชิ้นเอกของศิลปินชื่อดังชาวฝรั่งเศส กุสตาฟว์ กูร์แบ (Gustave Courbet) อย่าง L’Origine du monde (1866) หรือ The Origin of the World (บ่อเกิดของโลก) ภาพวาดสีน้ำมันรูป โยนี หรือ ‘จิ๋ม’ ในระยะประชิดที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา จนกลายเป็นภาพวาดที่อื้อฉาวที่สุดภาพหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ด้วยผลงานเชิงเสียดสีสัพยอกโต้กลับ แบบเดียวกับสำนวนในวงการเพลงลูกทุ่งเขาเรียกกันว่า ‘เพลงแก้’ ในผลงานที่มีชื่อว่า L’Origine de la Guerre (1989-2012) หรือ The Origin of the War (บ่อเกิดของสงคราม) ที่เป็นภาพถ่ายองคชาติ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘จู๋’ ระยะประชิด ในองศาและโทนสีเดียวกับภาพวาดน้องจิ๋มของกูร์แบเป๊ะๆ ซึ่งเจ้า ‘จู๋’ ที่เป็นสัญลักษณ์ของเพศชายท่อนนี้ ถูกโอลองใช้แทนสัญลักษณ์ของสงคราม ความรุนแรง (โดยเฉพาะความรุนแรงต่อร่างกายเพศหญิง) และปัญหานานาสารพัดในโลกใบนี้ นับเป็นการจิกกัดภาพต้นฉบับที่วาดโดยศิลปินเพศชายได้อย่างแสบสันต์คันคะเยอดีแท้!
ผลงานศิลปะจู๋ๆ ของศิลปินเหล่านี้ (โดยเฉพาะของศิลปินหญิงทั้งหลาย) ทำให้เราตระหนักได้ว่า แม้แต่อวัยวะสุดหวงแหนของเพศชายผู้วางตนเป็นใหญ่ ที่เรียกขานกันอย่างภาคภูมิใจว่า ‘เจ้าโลก’ ในบางครั้งบางที ก็ยังถูกหยิบมาทำเป็นผลงานศิลปะที่สะท้อนสังคม หรือแม้แต่ความเหลื่อมล้ำทางเพศได้ แม้ศิลปินคนนั้นจะเป็นเพศตรงข้ามก็ตามที
อ้างอิงจาก
ภาพยนตร์สารคดี Kusama: Infinity (2018)
หนังสือ Yayoi Kusama: Inventing the Singular สำนักพิมพ์ The MIT Press