YOU LEAD ME DOWN, TO THE OCEAN นิทรรศการล่าสุดของธาดา เฮงทรัพย์กูล คิวเรตโดย ธนาวิ โชติประดิษฐ เป็นผลิตผลจากความคุ้นเคยส่วนตัวของศิลปินที่เกิดและเติบโตมาท่ามกลางมรดกทางประวัติศาสตร์ ซึ่งตกทอดหลงเหลือมาจากยุคสงครามเย็นในจังหวัดนครราชสีมา พื้นที่ซึ่งเป็นทั้งบ้านเกิดและจุดยุทธศาสตร์สำคัญ อันเป็นที่ตั้งฐานทัพอเมริกันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยตั้งแต่ยุคสงครามอินโดจีน
ในระยะแรกธาดาเลือกทำวิจัยเกี่ยวกับสงครามเวียดนามเป็นหมุดหมายตั้งต้น โดยทำการค้นคว้าที่หอสมุดแห่งชาติ และหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ควบคู่ไปกับการสำรวจลงพื้นที่ภาคสนามที่จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างการทำงาน ศิลปินได้พบเจอกับผู้คน วัตถุสิ่งของ จดหมาย ภาพถ่าย เอกสาร สิ่งพิมพ์เก่า และหนังสือพิมพ์ต่างๆ มากมาย ท่ามกลางชุดข้อมูลของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่กระจัดกระจายเหล่านี้ ธาดาค่อยๆ เลือกนำเอาเศษเสี้ยว ชิ้นส่วนต่างๆ ที่เขาค้นพบ มาประกอบต่อสร้างขึ้นใหม่เป็นผลงานทางศิลปะ โดยเปลี่ยนห้องนิทรรศการศิลปะใจกลางกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นเสมือนก้นบึ้งมหาสมุทร พาผู้ชมจมดิ่งลงใต้บาดาลที่ซึ่งมีวัตถุสิ่งของตกค้างล่องลอยอยู่ รอให้ผู้ชมเข้ามารับรู้ สัมผัสและรู้สึก
ทางเข้าห้องจัดแสดงถูกออกแบบให้เป็นทางเดินเล็กและแคบ โดยมีผ้าม่านสีดำทำหน้าที่บังคับ กำกับทิศทางการเดินเข้างานของผู้ชม ด้วยสภาวะแวดล้อมของทางเข้าที่ทั้งมืด เล็ก และแคบราวกับต้องการจำลองจังหวะการกระโดดดำดิ่งลงน้ำ เพื่อลงไปสำรวจ ตรวจดูใต้ท้องทะเลลึก ขณะเดียวกันผ้าม่านสีดำก็มีบทบาทเป็นดั่งเขื่อนกั้นกักเก็บน้ำจากมหาสมุทรไม่ให้เอ่อล้นพ้นออกมาภายนอก ตัดขาดพื้นที่ใต้น้ำกับบนบกอย่างชัดเจน ไม่มีสิ่งใดหลุดลอยออกมา มีเพียงแต่ผู้ชมที่จมลง รุกล้ำเข้าไปในโลกบาดาล
ในความมืด ผู้ชมจะปะทะกับวิดิโอบนจอภาพขนาดใหญ่ ฉายภาพรถถังที่จมแน่นิ่งอยู่ ณ ก้นบึ้งท้องทะเล หันปลายกระบอกปืนประจันหน้ามายังผู้ชม ตัวรถถังเกรอะกรังไปด้วยปะการัง สาหร่าย สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตอื่นๆ ที่เข้ามาจับจองเอารถถังเป็นถิ่นที่อยู่ พร้อมกับมีฝูงปลาแหวกว่ายไปมาเป็นกลุ่มอยู่ด้านบน ด้านล่างมีหอยเม่นกระจัดกระจายอยู่โดยรอบ เป็นดั่งเกาะกำบังหรือกับดักที่มีหนามเล็กแหลมคอยป้องกัน ยิ่งทำให้ตัวรถถังดูน่าเกรงขาม คุกคาม บังคับข่มขู่ให้ผู้ชมรู้สึกกริ่งเกรง อาวุธสงครามที่ถูกทิ้งลงทะเลชิ้นนี้ เป็นหนึ่งในซากรถถังรุ่น T-69 II จำนวน 25 คัน ที่กองทัพบกขนย้ายจากค่ายสุรธรรมพิทักษ์ จังหวัดนครราชสีมา ในช่วงปลายเดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2552 ไปส่งมอบให้กับกรมประมงเพื่อเคลื่อนย้ายไปทิ้งลงทะเลอ่าวไทยที่จังหวัดนราธิวาส ตามโครงการพระราชดำริปะการังเทียมของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล
ซากอาวุธสงครามที่ใช้การไม่ได้จนถูกทิ้งร้าง ครั้งหนึ่งมันเคยถูกสั่งซื้อจากจีนเป็นการเฉพาะเพื่อใช้งานเป็นอาวุธสังหาร ในกรณีพิพาทไทย-เวียดนามช่วงทศวรรษ 2520-2530 ซึ่งเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมือง การทหารยุคสงครามเย็นที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้เงาพญาอินทรี สงครามเย็นจบลงไปนานแล้ว และรถถังก็ผุผัง สึกกร่อน เก่าแก่เสียจนใช้การไม่ได้ ตรงกันข้ามกับผลพวงของมันที่ยังคงทรงพลังเป็นอย่างมากจนถึงทุกวันนี้ การเข้ามาของอเมริกาในประเทศไทยยุคนั้นได้วางรากฐานพระราชอำนาจนำของสถาบันกษัตริย์ไว้อย่างมั่นคง ชาติกับกษัตริย์กลายเป็นหนึ่งเดียวกันได้ก็ด้วยเพราะการวางแผนของอเมริการ่วมกับกลุ่มก้อนปัญญาชนอนุรักษ์นิยม กษัตริย์ภูมิพลเองก็เป็นธรรมราชาที่พระราชสมภพในอเมริกา ส่วนกองทัพได้รับผลประโยชน์อย่างใหญ่หลวงทั้งความชอบธรรม และทรัพยากรทางการทหาร มรดกชิ้นใหญ่อันหนักอึ้งที่ยากจะขยับของสงครามเย็นต่อสังคมไทยคืออำนาจของสถาบันกษัตริย์ และกองทัพที่ล้นทะลักจนประชาชนก็รั้งไว้ไม่ได้ หยุดไว้ไม่อยู่เพราะถูกปลายกระบอกปืนรถถังเล็งล็อกเป้าไว้ ขยับตัวก็ไม่ได้ หายใจก็ลำบาก ซากอาวุธเสื่อมสภาพในนิทรรศการ พาผู้ชมกลับไปสำรวจหนึ่งในจุดตั้งต้นของสภาวะทางการเมือง ที่ร้อนระอุในปัจจุบันท่ามกลางบรรยากาศที่หนาวเย็น ล้อรับไปกับเสียงคลื่นชายทะเลที่ดังอยู่โดยรอบโลกบาดาล
ด้านตรงกันข้ามกับวิดีโอจัดวาง จัดแสดงเป็นจอโทรทัศน์ขนาดเล็กปรากฏข้อความที่คัดออกมาจากจดหมายตอบโต้ระหว่างสามี ภรรยา และลูกน้อย ซึ่งจัดแสดงในอีกห้องหนึ่ง ด้านหลังข้อความฉายภาพสีเขียวของชุดลายพรางที่ถูกหลอมละลาย การค่อยๆ จืดจางหายไปของสีเขียวชุดทหารส่อนัยถึงการปลดเปลื้องหน้าที่ทางการทหาร เพื่อเปิดเผยให้เห็นถึงเนื้อใน ล้วงลึกไปถึงด้านในอารมณ์ความรู้สึกของชายคนหนึ่ง ที่ซึ่งมีภาระครอบครัวให้ต้องดูแล ถอดชุดเขียว วางอาวุธอันหนักอึ้งที่ต้องแบกไว้ในฐานะชายชาติทหาร เปลือยที่ว่าง ถางที่ทางให้กับความรู้สึกนึกคิดของเขาและครอบครัว
วิดีโอข้างต้นเชื่อมโยงไปยังจดหมายที่จัดแสดงในอีกห้องหนึ่ง จดหมายโต้ตอบระหว่างทหารไทยที่ไปรบในเวียดนามกับครอบครัวที่กรุงเทพฯ ได้ชี้ชวนให้เรากลับไปสำรวจพิจารณาโครงสร้างความรู้สึก (the structure of feeling) กับระบอบอารมณ์ความรู้สึก (regime of emotions) ของคนไทยในยุคสงครามเย็น เพราะความรู้สึกไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของปัจเจกบุคคล แต่เป็นประดิษฐกรรมของสังคมและประวัติศาสตร์ที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการใช้อำนาจและการสร้างตัวตน เป็นกลไกหนึ่งในการนิยาม ควบคุมและกำหนดสถานะต่างๆ ของคนในสังคมว่า ความรู้สึกอะไรบ้างที่แสดงออกได้และแสดงออกไม่ได้ ในสถานการณ์เฉพาะหนึ่งๆ[1]
ในจดหมายทั้งหมดปรากฏอารมณ์ความรู้สึกของคนในครอบครัวสี่คน สามช่วงอายุ ได้แก่ วัยผู้ใหญ่คือนายทหารชั้นผู้น้อยกับภรรยา วัยเด็กคือลูกน้อยของเขา และวัยชราคือยายที่ถูกกล่าวถึงในจดหมายของภรรยา โดยในที่นี้อนุมานให้ทั้งสี่เป็นตัวแทนของกลุ่มคนรุ่นเดียวกันในยุคนั้น เพื่อแกะรอยค้นหาโครงสร้างกับระบอบอารมณ์ความรู้สึก จดหมายของภรรยาเต็มไปด้วยการซัดสาดอารมณ์ความรู้สึกที่หลากหลาย ทั้งคิดถึงห่วงหาอาวรณ์ โกรธ เหนื่อย ท้อแท้ สิ้นหวัง วิตกกังวลกับสถานการณ์ที่ต้องประสบพบเจออันเป็นผลกระทบจากสงครามการเมืองระดับโลก อาการพร่ำบ่นระบายความรู้สึกจนต้องหยุดตัวเองของเธอสะท้อนให้เห็นถึงกลไกการควบคุม จัดการอารมณ์ของสังคมวัฒนธรรมไทย ที่อนุญาตให้เพศหญิงแสดงออกทางอารมณ์ได้มากกว่าเพศชาย[2] ขณะที่นายทหารแสดงอารมณ์ความคิดถึง ความภาคภูมิใจในการรับใช้ชาติปราบปรามข้าศึก แม้มีความรู้สึกกลัวอยู่บ้าง แต่ก็พยายามกดข่มความกลัวไว้ด้วยการยึดถือสิ่งเหนือธรรมชาติ และขวัญกำลังใจจากสถาบันกษัตริย์ ลูกสาวเองก็แสดงความคิดถึงโหยหา และเป็นห่วงพ่อของเธอ ส่วนยายบ่นแสดงความไม่พอใจต่อความยากลำบาก ขัดสนที่เกิดขึ้นจากการต้องส่งลูกหลานออกไปเสี่ยงชีวิตรบทัพจับศึกเพื่อเกียรติศักดิ์ไทย ขณะเดียวกันก็เป็นห่วงความเป็นอยู่ สารทุกข์สุกดิบนายทหาร
แม้ว่าคนแต่ละช่วงอายุจะมีอารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างกันในห้วงเวลาและสถานการณ์เฉพาะ แต่สิ่งหนึ่งที่มีร่วมกันคือความหวาดหวั่น เกลียดกลัวภัยผีร้ายคอมมิวนิสต์ มองว่าพวกเวียดนามคือศัตรู จนต้องอาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช่วยเหลือ ปราบปรามในนามของฝ่ายธรรมะ ที่ย่อมต้องชนะอธรรม จดหมายของนายทหาร ภรรยาและลูกน้อยแสดงให้เห็นถึงกลไกการจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของพลเมืองโดยรัฐ ความเกลียดกลัวโกรธเคืองผีคอมมิวนิสต์ไม่ได้เป็นเพียงวาทกรรมที่ถูกผลิตและแพร่กระจายเพื่อควบคุมคนในสังคม แต่คืออารมณ์ความรู้สึกที่เพิ่งสร้างในยุคนั้น โดยรัฐเข้ามาแทรกแซงกำกับอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวของปัจเจก รัฐบ่มเพาะความกลัวให้เติบโตลุกลามภายในตัวปัจเจก แล้วใช้ความกลัวนั้นขับเคลื่อน บงการคนในสังคม อารมณ์ความรู้สึกจึงเป็นพื้นที่ทางการเมืองชนิดหนึ่งที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจต่างๆ เข้ามาทำงานปะทะสังสรรค์ต่อสู้แย่งชิงกัน
ถัดขึ้นไปห้องด้านบนบริเวณพื้นผิวน้ำมหาสมุทร จัดแสดงภาพถ่ายบุคคลเปลือยตัว เปิดที่ลับ พวกเขาคือตัวแทนของคนไทยในยุคปัจจุบัน ที่ยังคงต้องจำใจจมอยู่ภายใต้ท้องทะเล สืบทอดรับมรดกของระบอบอารมณ์ความรู้สึกจากยุคสงครามเย็นไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เรายังคงรับช่วงต่อความหวาดกลัวกริ่งเกรงการเปลี่ยนแปลงและผู้เห็นต่าง อ่อนไหวต่อสิ่งแปลกปลอมที่ตนเองไม่รู้จัก มีผีตัวใหม่เกิดขึ้นมาให้กลัวจนต้องคอยขับไล่ปราบปรามอยู่เสมอ จากผีร้ายคอมมิวนิสต์ มาเป็นผีทักษิณ ผีธนาธร มรดกความกลัวที่รัฐไทยยุคสงครามเย็นทิ้งไว้ให้ถูกนำมาปรับแต่งดัดแปลงใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมสังคมมาโดยตลอด ความกลัวคือสิ่งที่รัฐใช้ในการกำกับความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมเพราะความรู้สึกมีบทบาทอย่างสำคัญในการจรรโลงบรรทัดฐานและศีลธรรมอันดีงาม
ภายในนิทรรศการ ไม่มีการทำป้ายชื่อกำกับงานศิลปะแต่ละชิ้น ราวกับไม่ต้องการที่จะหมุดหยุดมันไว้กับที่ แต่ปล่อยให้มันล่องลอยอย่างนั้นด้วยตัวของมันเองภายในมหาสมุทรที่หนาวเย็น ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นจึงไม่อาจนำมาวางเรียง ประกอบต่อกันจนเป็นเนื้อเดียวได้อย่างแนบสนิท เพราะต่างมีบริบททางเนื้อหา พื้นที่ และเวลาแตกต่างกัน ศิลปินกับคิวเรเตอร์นำเอาเศษเสี้ยวเหล่านั้นมาผสมผสาน จัดวางหาที่ทางให้กับชิ้นส่วนซึ่งถูกทอดทิ้งมาจากอดีตให้กลายเป็นนิทรรศการศิลปะ เพื่อสะกิดเย้าแหย่ผู้ชมให้กลับไปทบทวนผลกระทบของสงครามเย็นต่อประเทศไทยใหม่อีกครั้งหนึ่ง
สงครามเย็นในงานของธาดา ไร้ซึ่งเสียงระเบิด กระสุนปืน และความสูญเสียจากสงครามโดยตรงเพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้ชม แต่กลับนำเสนอตนเองอย่างสงบนิ่งด้วยความมืด หนาวเย็นท่ามกลางเสียงสังเคราะห์บรรยากาศใต้ท้องทะเล สิ่งที่ซุกซ่อนแฝงฝังภายใต้ความงดงามทางสุนทรียศาสตร์คือรากเหง้าอำนาจเผด็จการทหาร และมรดกตกทอดของโครงสร้าง/ระบอบอารมณ์ความรู้สึกยุคสงครามเย็น ที่ยังคงเป็นเพดานคอยกำกับ ควบคุมสังคมไทยอยู่ในปัจจุบัน
นิทรรศการ YOU LEAD ME DOWN, TO THE OCEAN จัดแสดงที่ Nova Contemporary ถึงวันที่ 31 กรกฎาคมนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1]อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ , ลืมตาอ้าปากจากชาวนาสู่ผู้ประกอบการ , กรุงเทพฯ : มติชน, 2559 , 106.
[2] อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ , “ความรู้สึกกับประวัติศาสตร์ : ประวัติศาสตร์ความรู้สึก.” ด้วยรัก เล่ม 1 : ปรัชญาและสาระของประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์ . ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, บรรณาธิการ.กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์, 2556 , 144-145.