ถ้าพูดถึงชื่อของ เต๋อ—นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ มิตรรักแฟนหนังหลายคนคงรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับและนักเขียนบทภาพยนตร์หนุ่มมาดแนว ผู้เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงหนังนอกกระแสและกระแสหลัก
เจ้าของผลงานภาพยนตร์เรื่องเด่นอย่าง Mary Is Happy, Mary Is Happy (2013), ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ (2015), ดายทูมอร์โรว์ (2017), ฮาวทูทิ้ง.. ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ (2019) และ Fast and Feel Love เร็วโหด..เหมือนโกรธเธอ (2022) ที่คว้ารางวัลจากเวทีประกวดภาพยนตร์ทั้งในประเทศไทยและในระดับนานาชาติ รวมถึงได้รับเสียงตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างดี
แต่แฟนคลับของเขาบางคนอาจไม่ทราบว่า นวพลก็ทำงานในฐานะศิลปินร่วมสมัยด้วยเหมือนกัน เขาจัดแสดงนิทรรศการศิลปะมาแล้วถึงสองครั้งสองครา ทั้งนิทรรศการ i write you a lot. ในปี 2016 และนิทรรศการ second hand dialogue ในปี 2019 ที่ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่
ล่าสุด ในปี 2023 นี้ นวพลกลับมาทำงานศิลปะอีกครั้งกับแกลเลอรี่เดิม ในนิทรรศการที่มีชื่อว่า HEAVY ที่ประกอบด้วยภาพถ่ายเข้ากรอบขนาดใหญ่กว่า 120 ภาพ ที่ดึงมาจากคลังภาพถ่ายกว่า 50,000 ภาพของเขา ภาพถ่ายเหล่านี้ที่นวพลถ่ายสะสมไว้นานกว่าทศวรรษ บอกเล่าเรื่องราวส่วนตัวของเขาอย่างใกล้ชิด ทั้งความทรงจำตั้งแต่ครั้งเก่าก่อน หรือแม้แต่ความทรงจำเบื้องหลังการทำงานภาพยนตร์ที่ผ่านมาของเขา
“ที่มาของนิทรรศการนี้ก็มาจากเหตุผลง่ายๆ คือ ผมทำบ้านใหม่ เพราะต้องการให้มีที่ทางเยอะขึ้น เสร็จแล้วผมก็เลยอยากได้ภาพใหญ่ๆ ขนาดสัก 2 เมตร มาติดผนังบ้าน ก็มานั่งคิดว่า เออ เอาภาพของเราเองก็ได้นี่ ในแง่หนึ่งก็เป็นกระบวนการที่อยากลอง เพราะว่าปกติเราก็ชอบถ่ายภาพ แต่ก็ไม่เคยจะปริ้นต์ภาพถ่ายของตัวเองออกมา ได้แต่เก็บไว้ในเครื่อง หรือถ้าปริ้นต์ก็คงขนาดไม่ได้ใหญ่มาก ไม่เกินโปสการ์ดเท่านั้น ในขณะที่ไฟล์ที่ถ่ายมาสามารถปริ้นต์ออกมาได้ใหญ่มาก ขนาด 2 เมตร ก็ทำได้
ผมเลยลองปริ้นต์ขนาดใหญ่ออกมาดู เสร็จแล้ววันที่เขาเอาภาพใส่กรอบมาส่ง เป็นฉากที่ประหลาดมาก เพราะเราไม่เคยเห็นงานตัวเองอยู่บนรถกระบะวิ่งเข้ามาในซอยบ้านแบบนี้มาก่อน พอมาถึงเขาก็บอกว่า “ไม่รับขนเข้าบ้านนะครับ” ผมก็เลยต้องยกภาพถ่ายขนาด 2 เมตร เข้าไปในบ้านเอง พอยกภาพขึ้นชั้น 2 ก็เป็นความรู้สึกที่ประหลาดดี เหมือนเราเพิ่งเคยได้จับงานตัวเองที่ใหญ่ขนาดนี้ เพราะปกติที่เราทำหนัง งานของเราเกิดขึ้นอยู่แป๊บเดียวแล้วก็หายไป และจะเกิดขึ้นแต่ในโรงหนังเท่านั้น จับต้องอะไรไม่ได้ เก็บได้อย่างเดียวก็คือโปสเตอร์หนัง ผมเองก็เพิ่งมารู้ตัวว่านอกจากโปสเตอร์หนังแล้ว ผมยังชอบเก็บพวกพร็อพ เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ในหนัง เพราะว่ามันคือสิ่งที่เราพอจะเก็บได้จากการทำหนังที่ผ่านมา เป็นเหมือนพยานวัตถุ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงมีภาพถ่ายจากกองถ่ายหนังเยอะมาก เพราะเป็นเหมือนเราจับห้วงเวลาขณะนั้นออกมาเป็นวัตถุให้จับต้องได้
พอวางภาพใหญ่ๆ เอาไว้ที่บ้าน เรารู้สึกว่ามันแปลกตา เพราะว่าปกติเราคงชินกับจอแล็ปท็อปหรือว่ามือถือ ไม่ว่าเราจะถ่ายภาพมาดีแค่ไหน ก็ออกมาเต็มที่ได้แค่นั้น แต่พอเราขยายภาพมาปริ้นต์ลงบนกระดาษ เราก็รู้สึกว่าเป็นคนละความรู้สึก แต่ทั้งหมดทั้งมวลคือผมไม่ได้เป็นช่างภาพ แต่มาสายคนทำหนัง พอเจออะไรแบบนี้ครั้งแรกก็รู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับเรา
พอทำภาพนี้ออกมาเสร็จ วันหนึ่งพี่ลูกตาล (ศุภมาศ พะหุโล ผู้ร่วมก่อตั้งและภัณฑารักษ์ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่) มาที่บ้าน แล้วเห็นภาพนี้ เขาก็ถามผมว่าสนใจอยากเอาภาพนี้มาทำเป็นนิทรรศการไหม ผมก็ตกลง เพราะ หนึ่ง ยังไม่มีใครเคยชวนแสดงนิทรรศการภาพถ่าย สอง คือจริงๆ ผมถ่ายภาพมาเรื่อยๆ ตลอดเวลาอยู่แล้ว เพราะผมทำหนังมา 10 ปี ก็ถ่ายภาพเก็บมาเรื่อยๆ แต่เต็มที่ก็ได้แค่โพสต์ภาพลงทางออนไลน์นิดหน่อย ไม่เคยถูกจัดแสดงจริงๆ จังๆ ก็ถ้าเกิดเขายินดีที่จะแสดง ผมก็ยินดีที่จะทำ ผมเองก็มีภาพถ่ายอยู่จำนวนหนึ่งที่คิดว่าน่าจะเพียงพอต่อการจัดนิทรรศการ”
ที่น่าสนใจก็คือ นิทรรศการนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้มีปฏิสัมพันธ์กับผลงานภาพถ่ายอย่างใกล้ชิดที่สุดนั่นคือการให้ผู้ชมได้สัมผัส หยิบจับ เคลื่อนย้ายภาพถ่าย (นอกเหนือจากภาพที่จัดแสดงบนผนัง) ที่จัดเรียงซ้อนกันเป็นตั้งบนพื้นห้องแสดงงานได้ตามอัธยาศัย อันเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากในนิทรรศการภาพถ่ายทั่วไป การทำเช่นนี้เป็นการพลิกสถานภาพของผู้ชม จากผู้สังเกตการณ์มาเป็นผู้มีมีส่วนร่วมกับผลงาน
การสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงกายภาพกับภาพถ่ายเหล่านี้ยังจำลองความรู้สึกของการเลื่อนจอหาข้อมูลดิจิทัลในโฟลเดอร์ต่างๆ ในคอมพิวเตอร์และฮาร์ดดิสก์อยู่ไม่หยอก
“สิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้มีอยู่ในนิทรรศการ คือเราอยากให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์เกี่ยวกับน้ำหนักและการยกภาพ จากต้นทางที่ผมเคยยกภาพถ่ายนี้เข้าบ้าน ผมก็คิดว่า ปกติคนหลายคนคงไม่เคยได้รับประสบการณ์แบบนี้ เพราะเวลาคุณมาดูนิทรรศการภาพถ่าย คุณก็แตะต้องไม่ได้ ได้แต่ดูอย่างเดียว ห้ามสัมผัสจับต้อง ผมก็เลยรู้สึกว่าอยากได้ความรู้สึกของการสัมผัสจับต้องในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย นอกจากจะเป็นเรื่องของภาพถ่ายอย่างเดียว ผมอยากได้เรื่องการยก การเคลื่อนไหว เพราะผมรู้สึกว่าสิ่งที่เราปริ้นต์ออกมาถึงจะเป็นภาพถ่าย แต่ในแง่หนึ่งก็เป็นความทรงจำของเราอันหนึ่ง เพราะเราคัดสรรมาจากสิ่งที่เราเคยถ่ายมา มันไม่ใช่ภาพที่เราตั้งใจถ่ายเพื่อเอามาทำงานนิทรรศการ เพราะฉะนั้นเราจะรู้สึกสบายๆ เลยอยากทำให้ภาพถ่ายเป็นสิ่งที่ยกได้ แบกได้ เคลื่อนไหวได้ เราก็เลยอยากได้ความรู้สึกนี้อยู่ในงานด้วย เพราะฉะนั้นมันก็เลยดีไซน์ออกมาเป็นทั้งนิทรรศการที่จัดแสดงภาพถ่ายบนผนัง ส่วนพื้นที่ตรงกลางก็อยากให้เป็นเหมือนกองภาพถ่ายใส่กรอบขนาดใหญ่ ที่คนสามารถยก เคลื่อนย้ายไปมาได้ ซึ่งความรู้สึกเรื่องการขนย้ายก้อนความทรงจำที่นอนอยู่ในฮาร์ดดิสก์โดยไม่เคยถูกเอาออกมา ผมรู้สึกว่าอะไรแบบนี้เป็นความรู้สึกที่คนไม่น่าจะเคยได้จากนิทรรศการภาพถ่าย
ผมรู้สึกว่าพอเราเข้าสู่ยุคของการใช้กล้องดิจิทัลถ่ายภาพ ความรู้สึกของคนกับภาพถ่ายค่อนข้าง casual นิดหนึ่ง เพราะเป็นอะไรที่ง่ายมากจนเป็นสิ่งที่ถ่ายแล้วเราส่งภาพได้ โอนไฟล์ ก็อปปี้ภาพก็ได้ แต่นอกจากภาพที่ถ่ายด้วยกล้องดิจิทัลแล้ว ก็ยังมีภาพถ่ายฟิล์มที่ผมสแกนเป็นไฟล์ดิจิทัล บางภาพก็ถ่ายจากมือถือ จริงๆ มีทุกฟอร์แมตเลย ตั้งแต่กล้องดิจิทัลคอมแพ็ก มิเรอร์เลส ดีเอสแอลอาร์ แต่ผมไม่ได้ติดเรื่องพิกเซลของภาพเท่าไหร่ เพราะภาพเหล่านี้เป็นความทรงจำ หรือเป็นห้วงขณะของวินาทีที่เราหยิบกลับมา ผมไม่ได้แคร์ว่าจะเป็นภาพในฟอร์แมตไหน ผมเลยไม่มีปัญหาในการรวมเอาภาพถ่ายทุกฟอร์แมตเข้าไว้ด้วยกัน”
พอนิทรรศการครั้งนี้มีประเด็นเกี่ยวกับภาพถ่ายและความทรงจำ ก็ทำให้เราอดนึกไปถึงผลงานหนังยาวเรื่องแรกของนวพลอย่าง 36 ขึ้นมาไม่ได้
“ผมก็นึกเหมือนกันว่า กลับมาเรื่องนี้อีกแล้ว! ตอนแรกผมคิดว่า ทำไมเรายังอยากเล่าเรื่องนี้ต่อ ทั้งๆ ที่อาจจะซ้ำหรือเปล่า แต่อีกแง่มุมหนึ่ง ผมรู้สึกว่ารอบนี้เรามองความทรงจำเหล่านี้ในแง่ที่โตขึ้นอีกนิดหนึ่ง แต่ก่อนเราอาจจะรู้สึกโรแมนติกกับมัน แต่ตอนนี้พอเราทำงานที่ว่าด้วยน้ำหนักของความทรงจำ เราจะรู้สึกว่ามันเป็นภาระนิดหนึ่ง ตอนแรกเรายังไม่รู้สึกอะไร จนกระทั่งเราต้องคัดเลือกภาพไปจัดแสดงนี่แหละ เพราะมีพื้นที่จัดแสดงภาพถ่ายได้แค่ประมาณ 120 ภาพ แต่เรามีภาพมากกว่า 50,000 ภาพ ซึ่งเยอะกว่ามาก กระบวนการคัดเลือกภาพก็เลยเป็นอะไรที่ So Heavy นอกจากภาพที่เยอะมากๆ การเลือกภาพมาแสดง ก็ต้องเลือกภาพที่เป็นตัวแทนของเรา ว่าเราอยากแสดงเรื่องราวแบบไหน เหมือนเรากำลังมองก้อนความทรงจำและตัวตนของตัวเองที่มีเยอะแยะมากมาย เราก็ต้องคิดว่าภาพไหนคือตัวเราที่สุด เพื่อเอามาแสดงในนิทรรศการ เพราะฉะนั้นความรู้สึกของคำว่า Heavy นั้นไม่ใช่แค่เรื่องน้ำหนักของภาพเท่านั้น แต่อยู่ในกระบวนการคัดเลือกภาพด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราคนเดียว พอทำไปเรื่อยๆ แล้วเหนื่อย เราจะรู้สึกว่า กูต้องทำงานนี้เหรอวะ? รู้สึกบ่าหนัก แต่พอเราผ่านมาได้เราก็รู้สึกว่าเบาขึ้น แล้วผมก็ไม่แน่ใจว่าจะได้ทำงานแบบนี้อีกหรือเปล่า ก็เหมือนกับการคลี่คลายอีกคำถามหนึ่งในชีวิตไปได้
ภาพถ่ายเหล่านี้ผมรวบรวมมามากกว่า 10 ปีขึ้นไป แต่ก็จะมีบางภาพที่เดินทางมาไกลกว่านั้น เช่นภาพจากตอนผมเรียนอยู่ชั้น ม.6 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กล้องดิจิทัลคอมแพ็กเพิ่งเข้ามาใหม่ๆ มันเป็นภาพถ่ายกระดาษคำตอบในห้องสอบ ซึ่งตอนนั้นครูคุมสอบอนุญาตให้เอาเข้าห้องได้ เพราะตอนนั้นกล้องยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ครูเขาไม่รู้สึกว่ามีปัญหาอะไร ก็เลยปล่อยให้ผมเอาเข้าห้องสอบ ตอนนั้นเป็นการสอบวิชาสุดท้ายของ ม.6 ถ้าสอบวิชานี้เสร็จก็คือเรียนจบแล้ว ผมก็เลยเก็บภาพนี้เอาไว้ พอเราถ่ายภาพนี้ได้ตอนนั้น ก็เลยรู้สึกว่านี่เป็นภาพถ่ายที่เป็นหมุดหมายแรกของเรา ตอนนั้นกล้องก็ยังไม่ค่อยมีความละเอียดมาก ภาพก็จะแตกๆ นิดหน่อย ตอนแรกผมกะจะกำหนดเอาไว้ที่ภาพถ่ายในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา แต่พอเห็นภาพนี้แล้วก็รู้สึกว่า เอามารวมไว้ด้วยก็ดีเหมือนกัน ด้วยความที่ผมจัดแสดงภาพถ่ายโดยไม่ได้เรียงลำดับเวลา ถ้าผู้ชมที่คุ้นเคยกับการถ่ายภาพก็อาจจะพอบอกได้ว่าภาพเหล่านี้มีความเหมือนหรือแตกต่างกันยังไง จากความละเอียดของแต่ละภาพ ทั้งภาพจากกล้องถ่ายภาพคอมแพ็ก กล้องฟิล์ม หรือโทรศัพท์มือถือ”
ด้วยเหตุที่ความทรงจำเป็นเสมือนหนึ่งสมบัติส่วนตัวที่สุดของแต่ละบุคคล ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่า เมื่อถูกผู้คนมากมายเข้ามาสัมผัส จับต้อง หรือแม้แต่ขุดคุ้ยความทรงจำเหล่านี้ เจ้าของความทรงจำอย่างนวพลจะรู้สึกอย่างไรบ้าง
“อย่างที่ผมบอกว่า พอภาพถ่ายค่อนข้างมีความ casual จะด้วยเทคโนโลยี หรือยุคสมัยก็ตาม การที่ภาพของเราถูกคนทั่วไปเข้าถึงนั้นเป็นสิ่งที่ผมคุ้นเคยประมาณหนึ่ง เพราะปกติเราสื่อสารกับผู้คนทางออนไลน์อยู่แล้ว ภาพที่เราโพสต์ทางโซเชียลมีเดียก็ถูกคนแชร์ คนก็อปปี้ไปได้ แต่ผมจะรู้สึกกับการต้องยกภาพมากกว่า เพราะเรารู้สึกว่าเราไม่เคยได้ทำแบบนี้กับภาพถ่าย ได้รู้สึกถึงน้ำหนักของภาพจริงๆ และมุมมองในการดูภาพถ่าย ก็ไม่ใช่มุมมองแบบปกติ เพราะปกติเราดูภาพถ่ายที่แขวนบนกำแพง งานนี้เหมือนเราเปลี่ยนวิธีการมองภาพถ่าย เปลี่ยนวิธีมองใหม่ เปลี่ยนวิธีการหาภาพ สมมติว่าถ้าเราเกิดอยากเห็นภาพที่ไม่ถูกแขวนให้เห็นต้องทำอย่างไร บางวันก็จะมีคนที่อยากเห็นภาพหนึ่ง เพราะเขาเห็นภาพนี้ทางโซเชียลมีเดีย แล้วเขาอยากเห็นภาพจริง เขาก็ยกภาพทุกกองที่มีเพื่อหาไปเรื่อยๆ ก็ใช้เวลาอยู่นานประมาณหนึ่ง ในที่สุดก็เจอ เหมือนเป็นวิธีสร้างความสัมพันธ์และวิธีการดูงานใหม่ระหว่างผู้ชมกับภาพถ่าย”
ก่อนหน้านี้เราบังเอิญแอบส่องในโซเชียลมีเดียส่วนตัวของนวพล และพบว่าเขาเปรียบเทียบกระบวนการค้นหาภาพถ่ายในนิทรรศการครั้งนี้ของเขา เป็นเหมือนการขุดค้นในไซต์งานโบราณคดี ที่ผู้คนขุดค้นหาซากความทรงจำที่ถูกทับถมกันอยู่
“ตอนแรกผมรู้สึกแบบนี้แค่ครึ่งเดียวตอนที่ค้นหาภาพที่เหมือนถูกเก็บเอาไว้ในชั้นใต้ดินดิจิทัลเพื่อมาจัดแสดง แต่พอเราเริ่มเอาภาพไปเข้ากรอบมาเยอะๆ แล้วเอามาซ้อนกันขึ้นมา เมื่อมองกลับไปตอนซ้อนเสร็จแล้ว เรารู้สึกว่าเหมือนภาพพวกนี้เป็นกองซากอารยธรรมอะไรสักอย่าง เหมือนเวลาเราดูภาพของโบราณสถานที่เอเธนส์ ที่เขายังขุดค้นอยู่ หรือขุดเสร็จแล้ว แล้วเขาเอาพวกโบราณวัตถุมาวางเรียงกันในที่ขุดค้น พอเรามองกลับไป เรารู้สึกว่ากระบวนการทำงานในนิทรรศการนี้ให้ความรู้สึกประมาณนั้น พอเสร็จออกมาเป็นกองภาพถ่ายเต็มไปหมด แล้วเวลาเราจัด เราก็ค่อยๆ ทำกองให้เป็นระเบียบ เผื่อคนที่มาจะได้เรียนรู้แพทเทิร์นได้ว่าภาพอะไรอยู่ตรงไหน เราก็กะว่าคนที่ยกเขาจะยกไปวางแบบซ้ายไปขวา หรือขวาไปซ้าย แต่ปรากฏกว่าไม่ ทุกคนยกไปวางแบบสะเปะสะปะ สุดท้ายเราก็บอกว่า หากันเอาเองนะ ขอให้โชคดี”
ที่น่าสนใจก็คือ ผลงานภาพถ่ายที่จัดแสดงบนผนังในนิทรรศการจะมีการสลับเปลี่ยนหมุนเวียนไปในทุกสัปดาห์อีกด้วย
“ผมรู้สึกอยากให้นิทรรศการนี้มีความรู้สึกของการที่งานปลี่ยนไปได้ทั้งห้อง จริงๆ ตอนแรกเราอยากให้ผู้ชมยกงานขึ้นไปแขวนเปลี่ยนบนผนังเองได้ด้วย เหมือนเป็นกึ่งๆ คิวเรเตอร์ของนิทรรศการ แต่ตอนหลังเราเห็นคนติดตั้งงานยกงานขึ้นแขวนแล้ว เราก็คิดว่าอย่าเลยดีกว่า ไม่น่าจะไหว เราก็เลยใช้วิธีว่าเราเปลี่ยนให้เองทุกสัปดาห์ พอผู้ชมกลับมาอีก ก็จะเป็นอีกบรรยากาศ แต่เราก็พยายามหาแพทเทิร์นของการจัดแสดงภาพในแต่ละรอบ จะเป็นเรื่องที่เราสนใจ หรือวิธีที่เรามองภาพถ่าย มองช็อตต่างๆ
ด้วยความที่งานในนิทรรศการครั้งนี้เป็นภาพถ่ายที่เราเคยถ่ายมาก่อนแล้ว เราเลยไม่ได้รู้สึกว่าภาพเหล่านี้ถูกทำมาเพื่อแสดงนิทรรศการ ไม่ใช่การที่เราคุยกับทางแกลเลอรี่ว่าเราจะแสดงงาน แล้วค่อยไปถ่ายภาพ แต่ภาพที่เอามาแสดงในนิทรรศการเป็นภาพเก่าที่เคยถ่ายมาแล้วทั้งหมด ไม่มีภาพที่ถ่ายใหม่เพื่องานนี้เลย เราก็เลยรู้สึกว่าทุกๆ ภาพ มาจากไม่ส่วนใดก็ส่วนหนึ่งของตัวเรา เพราะตอนเราถ่าย เราไม่รู้ว่าถ่ายภาพนี้แล้วปี 2023 จะได้เอาไปแสดงงานนะ มันเป็นแค่การถ่ายในสิ่งที่เราสนใจ สิ่งที่เราชอบอยู่แล้ว อย่างนิทรรศการในช่วงสัปดาห์แรกจะจัดแสดงภาพของนักแสดงเป็นส่วนใหญ่ จนคนอาจคิดว่าเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับดารานักแสดงหรือเปล่า แต่สำหรับเรา เรารู้สึกว่า 10 ปี ที่เราทำหนังไป 8 เรื่อง ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าชีวิตเราจะต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับนักแสดงและหนังโดยอัติโนมัติ ซึ่งในแง่หนึ่งก็คือบุคคลทั้งหลายแหล่ที่อยู่ในภาพเหล่านี้ มากกว่าการเป็นนักแสดง พวกเขาก็เป็นเพื่อนเราด้วย มากกว่าการเป็นเพื่อนกันก็คือ พวกเขาเป็นตัวละครที่เราเขียนขึ้นมานั่นแหละ ซึ่งโดยปกติ เราเขียนบทหนังเองทุกเรื่อง ตัวละครเหล่านี้ก็จะต้องมาจากประสบการณ์ไม่ส่วนใดก็ส่วนหนึ่งของเรา เพราะฉะนั้นเราจึงรู้สึกว่า สิ่งที่อยู่บนกำแพงนั้นคือส่วนใดส่วนหนึ่งของเราเหมือนกัน ภาพถ่ายทุกภาพต้องเกี่ยวพันกับเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แม้ว่าบุคคลบางคนอาจจะเป็นนักแสดงก็ตาม แต่เวลาเราเอาภาพของเขามาแสดง เราก็ต้องบอกเขานิดหนึ่งนะ เดี๋ยวเขาตกใจ ตอนเปิดนิทรรศการวันแรกๆ ก็ชวนเขามาดูด้วย เพราะเราคิดว่าเขาไม่น่าจะเคยเห็นภาพตัวเองที่เราถ่าย หรืออาจไม่เคยเห็นภาพตัวเองในขนาดที่ใหญ่ขนาดนี้ ทุกคนก็แฮปปี้ ไม่มีปัญหาอะไร”
พองานในนิทรรศการเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำและตัวตนไม่ส่วนใดก็ส่วนหนึ่งของนวพล เรารู้สึกสงสัยว่าความรู้สึกของผู้ชมที่มีต่อภาพถ่ายในนิทรรศการนี้อาจจะไม่ลึกซึ้งและมีความหมายเท่ากับความรู้สึกที่เขามีต่อภาพถ่ายเหล่านี้หรือไม่
“ผมคิดว่าภาพถ่ายเหล่านี้มีความหมายกับผมมากกว่าอยู่แล้ว แต่สำหรับผู้ชม ผมคิดว่าเขาน่าจะมีปฏิสัมพันธ์อีกแบบ ต่อให้เขาไม่รู้จักบุคคลในภาพเหล่านี้ ไม่รู้ว่าสถานที่ในภาพคือที่ไหน แต่ผมคิดว่าการมาดูงานนี้ด้วยกิจกรรมของการยก การเคลื่อนย้ายงาน การได้เห็นพื้นที่แบบนี้ ก็น่าจะสื่อสารกับเขาได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะต่อให้เขาไม่รู้อะไรเกี่ยวกับภาพเลย แต่การดูภาพที่ต้องยกเปลี่ยนภาพไปเรื่อยๆ แบบนี้ คงเป็นประสบการณ์แปลกใหม่สำหรับพวกเขา ไม่ใช่แค่สำหรับผู้ชม ตัวผมเองก็รู้สึกแปลก เหมือนกับเราเริ่มปริ้นต์ภาพ ใส่กรอบมาวางในห้อง เริ่มขนย้าย ช่วยเขาจัดเรียงภาพ ทำให้เรารู้สึกว่า นี่กูกำลังทำอะไรอยู่? ปกติมันไม่ได้ยากขนาดนี้ เราแค่กดคลิก ลากภาพเข้าโฟลเดอร์จบ จะเลื่อนภาพไปไว้ตรงไหนก็ทำได้ ไม่ได้ยากขนาดนั้น พอมาทำเป็นนิทรรศการจริงๆ ผมเลยรู้สึกว่า ครึ่งหนึ่งของงานนิทรรศการครั้งนี้คือเรื่องของน้ำหนัก การเคลื่อนย้ายภาพถ่ายในฐานะวัตถุ เราเลยรู้สึกว่าผู้ชมน่าจะเข้าถึงสิ่งนี้ได้ไม่ยาก”
แนวทางเช่นนี้ในนิทรรศการของนวพล พ้องกับแนวคิดของภัณฑารักษ์และนักวิจารณ์ศิลปะชาวฝรั่งเศส นิโกลาส์ บูริโยด์ (Nicolas Bourriaud) ที่เรียกว่า สุนทรียศาสตร์เชิงสัมพันธ์ (Relational Aesthetics) ซึ่งเป็นแนวทางการทำงานศิลปะที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับผู้ชมและปัจจัยต่างๆ ที่อยู่รายรอบ เช่น เวลา สถานการณ์ สถานที่ บรรยากาศ และประสบการณ์ แนวคิดนี้เป็นการขยายขอบเขตการสร้างสรรค์และการชมงานศิลปะจากรูปแบบเดิมๆ รวมถึงเปิดโอกาส และกระตุ้นเร้าให้ผู้ชมเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ตอบโต้กับผลงานศิลปะ เพื่อเป็นการลดช่องว่างระหว่างศิลปะกับผู้ชม และเปลี่ยนสถานะผู้ชมให้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญอันจะขาดเสียไม่ได้ในผลงานศิลปะโดยไม่รู้ตัว
ถ้าหากภาพถ่ายเหล่านี้ของนวพลเป็นเหมือนชิ้นส่วนความทรงจำของเขาที่ถูกทับถมกันเป็นชั้นๆ นิทรรศการครั้งนี้ของนวพลก็เป็นเหมือนการเปิดอัลบั้มส่วนตัวหรือแม้แต่พื้นที่ขุดค้นความทรงจำ ที่เชื้อเชิญให้ผู้ชมเข้ามาสำรวจตรวจสอบ ขุดคุ้ยความทรงจำของเขาในรูปของภาพถ่ายอย่างใกล้ชิดและเพลิดเพลินไม่รู้เหนื่อยเลยก็ว่าได้
นิทรรศการ HEAVY โดย นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ จัดแสดงที่ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ โดยเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน – 11 พฤศจิกายน 2023 ตั้งแต่วันพุธ – เสาร์ เวลา 13:00 – 18:00 (ปิดวันอาทิตย์ – อังคาร)