งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ใครหลายๆ คน จะได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่งของประเทศไทย ซึ่งเป็นราชประเพณีที่ทำกันมาแต่โบราณ
เนื่องในโอกาสที่คนไทยทุกคนได้ร่วมเป็นสักขีพยาน ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 The MATTER ขอรวบรวม 10 เรื่องที่น่ารู้ในพิธีครั้งนี้ ทั้งในส่วนของความสำคัญและรายละเอียดต่างๆ มาให้ได้รับรู้กัน
1,พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกในรอบ 69 ปี
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งก่อนนั้น คือพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ในครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกในรอบ 69 ปี
2.พระปฐมบรมราชโองการของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10
พระปฐมบรมราชโองการ ที่พระราชทานโดยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 นับเป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไทยเฝ้ารอฟัง โดยพระปฐมบรมราชโองการนั้น มีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 9
พระปฐมบรมราชโองการของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 มีเนื้อความว่า
“เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”
3.เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์
เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชา พราหมณ์ผู้ทำพิธีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นเครื่องแสดงว่าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินถูกต้องสมบูรณ์แล้ว มีทั้งหมด 5 อย่าง ประกอบด้วย
- พระมหาพิชัยมงกุฎ: พระมหามงกุฎทำด้วยทองคำลงยาประดับเพชรเม็ดใหญ่ เมื่อสวมมงกุฎแล้วถือว่าดำรงตำแหน่งโดยสมบูรณ์
- พระแสงขรรค์ชัยศรี: แสดงถึงพระราชศาตราวุธประจำพระมหากษัตริย์
- ธารพระกร: ทำด้วยไม้ชัยพฤษ์ปิดทอง หัวและสันเป็นเหล็กคร่ำลายทอง ลักษณะเหมือนไม้เท้า
- พระวาลวิชนี: พัดวาลวีชนีทำด้วยใบตาลปิดทองทั้ง 2 ด้าน ด้ามและเครื่องประกอบทำด้วยทองคำลงยา ส่วนพระแส้ทำด้วยขนจามรี มีด้ามเป็นแก้ว แสดงถึงพระราชภารกิจที่คอยปัดเป่าความทุกข์ บำรุงความสุขให้ไพร่ฟ้าประชาชน
- ฉลองพระบาท: ฉลองพระบาทเชิงงอนนี้ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามแบบอินเดียโบราณ มีที่มาจากเกือกแก้ว
4.พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร
พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ถือเป็นฉัตรสูงสุดสำหรับพระมหากษัตริย์ มีลักษณะเป็นฉัตรผ้าขาว 9 ชั้น มีระบาย 3 ชั้น ขลิบทอง แผ่ลวด และมียอด ใช้ปักหรือแขวนเหนือพระราชอาสน์พระราชบัลลังก์ ตามธรรมเนียมแต่โบราณ หากยังไม่เปลี่ยนรัชกาลจะไม่ลดพระมหาเศวตฉัตรลงเด็ดขาด เว้นแต่มีเหตุจำเป็น ดังนั้นช่วงเวลาเดียวที่จะมีการลดพระมหาเศวตฉัตรลงมาซ่อมแซมและเปลี่ยนผ้าหุ้มคือเมื่อมีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเท่านั้น นอกจากนี้ยังเป็นราชกกุธภัณฑ์ของพระมหากษัตริย์ที่สำคัญที่สุด พอๆ กับมงกุฎของทางฝั่งยุโรป แสดงพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับบรมราชาภิเษกแล้ว
5.พระนามเต็มของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10
พระราชพิธีในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ และมีพระนามเต็มว่า
“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณมหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”
ส่วนพระบรมราชินี มีพระนามเต็มว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี”
6.สถาปนาพระฐานันดรศักดิ์ 10 พระองค์
ในงานพระราชพิธี วันที่ 5 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ รวม 10 พระองค์
สำหรับพระบรมวงศ์ที่ได้รับสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์ ประกอบด้วย
- พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ออกพระปรมาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร”
- สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ออกพระนามาภิไธยว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง”
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ออกพระนามาภิไธยว่า “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี”
- สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ออกพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน ขัตติยราชนารี”
- พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ออกพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี”
- พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ออกพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา”
- พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ออกพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร”
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ออกพระนามว่า “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ”
- พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ออกพระนามว่า “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์”
- พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ออกพระนามว่า “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ”
7.การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร
วันที่ 5 พฤษภาคม 2562 พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค โดยประทับพระราชยานพุดตานทองเสด็จฯ จากพระบรมมหาราชวังไปยังพระอารามหลวง 3 แห่ง คือ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธฯ และวัดพระเชตุพนฯ เพื่อนมัสการพระประธานและพระบรมราชสรีรางคาร โดยมีประชาชนมารอรับเสด็จตามเส้นทางอย่างเนืองแน่น
8.การเสร็จออกสีหบัญชร
ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2562 ในเวลา 16.30 น. พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 จะเสด็จออกสีหบัญชร พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท คือหน้าต่าง ของพระที่นั่งที่มีลักษณะเป็นระเบียงยื่นออกไป เป็นโอกาสที่ดีที่ประชาชนจะได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล
9.เกร็ดน่ารู้: ทำไมทีวีพูลจึงดูดเสียงพระมหาราชครูตอนถวายมนตร์
คมกริช อุ่ยเต็กเข่ง อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจดูดเสียงช่วงที่พระมหาราชครูสวด “เวทเปิดประตูศิวาลัยไกรลาส” บางครั้งเรียกว่า “สรรเสริญไกรลาส”, “เปิดประตูศิวาลัยไกรลาส” ที่จริงบทนี้แม้เรียกว่าเวท แต่ไม่ใช่พระเวทจริงๆ ตามความหมายของศาสนาฮินดู แต่นิยมนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก สำหรับพราหมณ์สยาม คือเป็นมนตร์อัญเชิญพระเป็นเจ้าได้ แลใช้กับพระมหากษัตริย์เท่านั้น จึงปกปิดไม่ให้คนทั่วไปได้ยินได้ฟัง
10.เกร็ดน่ารู้: ไก่และแมวในพระราชพิธี
ในพิธีเฉลิมราชมณเฑียร วันที่ 4 พฤษภาคม 2562 พระมหากษัตริย์จะเสด็จขึ้นประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เหมือนการทำพิธีขึ้นบ้านใหม่ โดยมีการเชิญเครื่องราชูปโภคและสิ่งมงคล รวมถึงสัตว์อย่างวิฬาร์หรือแมวไทย พันธุ์วิเชียรมาศ และไก่ขาว เข้าพิธีด้วย
โดยแมวถือเป็นสัตว์ที่นำโชคลาภ ความร่มเย็นเป็นสุข เชื่อว่าสามารถขับไล่ภูตผีปีศาจและสิ่งชั่วร้ายเพราะสามารถมองเห็นในเวลากลางคืน ความเชื่อที่ว่าแมวมีเก้าชีวิต สื่อถึงความยั่งยืนสถาพรและเป็นอมตะ
ส่วนไก่ขาวนั้นถือเป็นสัตว์เลี้ยงสารพัดประโยชน์ ทั้งสามารถบอกเวลาและออกไข่ ในความเชื่อของชาวจีนถือว่า ไก่ขาวสามารถขับไล่สิ่งชั่วร้ายได้
นี่คือเรื่องน่ารู้ 10 ข้อ จากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของในหลวงรัชกาลที่ 10
อ้างอิงข้อมูลจาก
– แฟนเพจ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒
– เว็บไซต์พระลาน
– เว็บไซต์บีบีซีไทย
– สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3