กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในสังคมตอนนี้ หลังธุรกิจขายตรงของบริษัทชื่อดัง ดิไอคอนกรุ๊ป (The iCON GROUP) ถูกกล่าวหาอาจเป็นธุรกิจแชร์ลูกโซ่ เนื่องจากมีผู้เสียหายจำนวนมากออกมาเรียกร้องว่า ถูกหลอกลวงให้ซื้อสินค้าจำนวนมากเพื่อนำไปขายต่อ แต่สินค้ากลับขายไม่ได้ ทำให้ธุรกิจดังกล่าวถูกระบุว่า ไม่เน้นขายสินค้าแต่เน้นหาคนให้ร่วมลงทุนเสียมากกว่า
แต่ที่ทำให้เรื่องนี้เป็นที่พูดถึงเป็นวงกว้าง เนื่องจากมีนักแสดงชื่อดังหลายคนเป็นพรีเซนเตอร์ และบางคนยังมีตำแหน่งในบริษัท แม้ว่าผู้บริหารจะออกมาปฏิเสธก็ตาม The MATTER จึงขอสรุปเรื่องราวตั้งแต่ผู้เสียหายเริ่มออกมาร้องเรียนความเป็นธรรม จวบจนที่ตำรวจกำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อออกหมายจับผู้ที่มีส่วนกระทำผิดในนามของบริษัท ‘ดิไอคอน’ ให้ทุกคนอ่านกัน
1. ย้อนไปเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ผู้เสียหายจำนวนมากร้องเรียนไปยังเพจหนึ่งโดยอ้างว่า ถูกธุรกิจออนไลน์ชื่อดังเจ้าหนึ่งหลอกให้ลงทุนธุรกิจขายตรง พร้อมชักชวนให้ซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์อาหาร และเสริมความงาม
นอกจากนี้บริษัทยังอ้างอีกว่า หากเข้ามาเป็นสมาชิกจะสามารถนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่าย และจะได้ยอดขายจำนวนมาก แต่ปรากฏว่าผู้เสียหายขายสินค้าไม่ได้ผลกำไรตามคำชักชวน รวมถึงยังเสียเงินค่ายิงแอดโฆษณารายเดือนละ 5,000-8,000 บาท
2. ไม่กี่วันถัดมา (7 ตุลาคม) เจ้าของเพจที่รับเรื่องร้องเรียน โพสต์ข้อความว่า กำลังเตรียมหลักฐานเพื่อแฉบริษัทดังกล่าว พร้อมกับระบุว่า เหล่าแม่ข่ายของบริษัทนี้เริ่มข่มขู่คนที่ออกมาพูดเรื่องนี้
3. ต่อมาผู้ที่ติดตามประเด็นนี้ เริ่มขุดคุ้ยข้อมูลของคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบุคคลที่มีชื่อเสียงที่ปรากฏอยู่ในคลิปและภาพของบริษัทดังกล่าว อาทิ กันต์ กันตถาวร, มิน–พีชญา วัฒนามนตรี, แซม–ยุรนันท์ ภมรมนตรี และ บอย–ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ จนเกิดกระแสเรียกร้องให้คนเหล่านี้ออกมาชี้แจง
4. แซม ยุรนันท์ ถือเป็นดาราคนแรก ที่ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ซึ่งเขายืนยันว่าไม่ได้เป็นทั้งพรีเซนเตอร์หรือผู้บริหาร และไม่เคยได้รับส่วนแบ่งใดๆ จากยอดขาย
ขณะที่ รัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือ CEO ของธุรกิจที่เป็นกำลังประเด็น โพสต์ชี้แจงประมาณว่า เขาดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ดังนั้นจึงขอโอกาสพิสูจน์ตนเอง หากทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาจริง ก็ยอมรับโทษ
5. ระหว่างเรื่องราวดำเนินไป ทั้งผู้เสียหายและสังคมต่างวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่ว่าธุรกิจนี้เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่หรือไม่ เพราะหลายคนเผยว่า ขณะเรียนคอร์สการขายสินค้าออนไลน์ ก็จะถูกชักชวนให้สมัครเป็นสมาชิก ซึ่งค่าสมัครมีมูลค่าตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักแสนบาท
และยังเสนอให้ร่วมลงทุนเพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า อีกทั้งยังให้ไปหาสมาชิกมาเรียนเพิ่ม เพื่อโอกาสในการได้รับตำแหน่งระดับสูง ซึ่งจะได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ มากมาย
อย่างไรก็ดี ผู้เสียหายหลายคนระบุถึงเหตุผลที่เชื่อมั่นบริษัทว่า ส่วนหนึ่งเพราะมีดารานักแสดงและพิธีกรชื่อดัง เป็นพรีเซนเตอร์ ไม่ก็ดำรงตำแหน่งระดับผู้อำนวยการในบริษัท
6. เมื่อวานนี้ (10 ตุลาคม) บอย ปกรณ์ ออกมาระบุว่า เขาเป็นเพียงพรีเซนเตอร์เท่านั้น และไม่ได้รับส่วนแบ่งจากยอดขาย ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับ แซม ยุรนันท์
ขณะที่ กันต์ กันตถาวร ประกาศยุติบทบาทพิธีกรทุกรายการ จนกว่าเรื่องราวจะมีความชัดเจน เขาพร้อมที่จะเข้ากระบวนการยุติธรรม และให้ข้อมูลกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
7. ในวันเดียวกัน ผู้เสียหายที่เข้าร่วมลงทุนกับบริษัทกว่า 80 คน เดินทางไปมอบหลักฐานให้กับพนักงานสอบสวน ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
หนึ่งในผู้เสียหาย เล่าว่า ลงทุนไปทั้งสิ้น 2 ครั้ง สมัครเป็นดีลเลอร์ ในราคา 25,000 บาท กับสินค้าประเภทกาแฟ และลงทุนในฐานะพาสเนอร์โดยเสียค่าดำเนินการกว่า 400,000 บาท แต่ไม่เคยได้รับผลตอบแทนกลับมา
8. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า เจ้าของบริษัทที่ถูกกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดธุรกิจขายตรง แชร์ลูกโซ่ หลอกให้ร่วมลงทุน รวมทั้งความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะผู้ถูกกล่าวหาว่าชักชวนให้เครดิตแบ่งเป็นระดับชั้นเครือข่าย
เขาเสริมว่า ขณะนี้มูลค่าความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 31 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีความผิดจริงก็จะเข้าสู่ขั้นตอนออกหมายเรียก และเข้าสู่ขั้นตอนออกหมายจับ
9. ทั้งนี้ จากการตรวจสอบกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พบว่า บริษัทดังกล่าวจดทะเบียนประกอบธุรกิจ ‘ตลาดแบบตรง’ เพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทอาหาร จำนวน 1 รายการ คือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
10. จิติภัทร์ บุญสม ผู้อำนวยการ สคบ. ชี้ว่า การจดทะเบียนทำ ‘ธุรกิจแบบตรง’ ต่างจาก ‘ธุรกิจขายตรง’ ที่จะมีลูกทีมช่วยขาย ขณะที่ธุรกิจแบบตรงจะเน้นใช้สื่อเป็นตัวขาย
ซึ่งผู้ซื้ออาจเป็นทั้งผู้บริโภค หรือผู้ประกอบธุรกิจร่วมก็ได้ ทำให้ธุรกิจลักษณะนี้จะมีรายได้หลักจาก ‘ส่วนแบ่ง’ ที่เกิดจากการซื้อสินค้าจำนวนมาก ดังนั้นจึงเน้นย้ำเสมอว่ายิ่งซื้อมาก ต้นทุนก็จะยิ่งถูก
11. ล่าสุดวันนี้ (11 ตุลาคม) เมื่อเวลา 14.00 น. มิน–พีชญา วัฒนามนตรี นักแสดงชื่อดัง ที่มีชื่อเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ในบริษัทดังกล่าว แถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงว่า เธอขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียหาย และชี้แจงว่าตนเองเป็นแค่พรีเซนเตอร์ และผู้รับจ้างในฐานะผู้บริหารจัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร หรือพีอาร์ แต่ที่ถูกเรียกว่า ‘บอสมิน’ เป็นเพียงการให้เกียรติ
12. โดยทนายของพีชญา ยืนยันว่าเธอเป็นเพียงผู้รับจ้างในฐานะพรีเซนเตอร์ และพีอาร์ แต่ไม่ใช่ลูกจ้าง ซึ่งพีชญาพูดปิดท้ายว่า “พร้อมเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หลังมีข่าวก็อยากรู้ความจริงเหมือนกับทุกคน ได้คุยกับพอลว่าจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร แต่ผ่านมา 3-4 วันบริษัทเลือกที่จะเงียบ จึงออกมาแถลงข่าว”
13. ขณะเดียวกันนั้น พล.ต.อ.อุเทน นุ้ยพิน รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากมีการเปิดปฏิบัติการร่วมกันเข้าตรวจค้นโกดังของบริษัท พบว่า มีผลิตภัณฑ์เพียง 15 รายการ แต่รายได้บางปีของบริษัทไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท
นอกจากนี้ ยังส่งสมุดบัญชีธนาคาร จำนวนกว่า 120 บัญชี ให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อดูเส้นทางการเงินของกลุ่มลูกข่ายดาวน์ไลน์ ดารานักแสดง และผู้บริหารว่าเข้าข่ายการฟอกเงินหรือไม่ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวอีกว่า ตอนนี้กำลังรวบรวมหลักฐาน และภายใน 48 ชั่วโมงจะมีการออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน
อ้างอิงจาก