หลายวันมานี้มีประเด็นเรื่องแชร์ลูกโซ่ของบริษัทชื่อดัง ที่ทุกคนในสังคมต่างติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะสเกลความเสียหาย ณ ตอนนี้มากกว่า 600 ล้านบาทแล้ว และที่สำคัญไปกว่านั้นที่ไปที่มาของเรื่องดังกล่าว ยังถูกโยงเข้ากับพิธีกรและนักแสดงที่มีชื่อเสียง หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน ที่มีบทบาทตรวสอบ แต่ก็มีข่าวว่ารับผลประโยชน์จากขบวนการนี้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี ตัวเลขเงินที่บ่งบอกถึงความเสียหายล้วนมาจากผู้คน ที่ตั้งใจลงทุนในธุรกิจด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งต้องการยกระดับฐานะ หรือนำเงินเก็บมาต่อยอด ทั้งนี้ไม่ว่าจะด้วยแรงจูงใจอะไรก็ตาม แต่คนเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ได้รับผลกระทบที่ต้องการความเป็นธรรม
The MATTER จึงทำการรวบรวมเสียงจาก ‘ผู้เสียหาย’ จากธุรกิจที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับใครก็ตามที่อาจตกเป็นเหยื่อในอนาคต
เล่าก่อนว่า ‘แชร์ลูกโซ่’ เป็นการหลอกลวงให้เหยื่อสมัครเป็นสมาชิกร่วมลงทุน ในธุรกิจที่คล้ายคลึงกับการทำธุรกิจแบบขายตรง–ที่เน้นจำหน่ายสินค้าคุณภาพ ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่แชร์ลูกโซ่มักจะให้ความสำคัญกับการโน้มน้าวชักจูงคนหน้าใหม่ ให้เข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจ ที่หน้าฉากไม่ได้เป็นไปตามที่อวดอ้าง
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจหลอกลวงประชาชนเช่นนี้ ไม่เคยหายหน้าหายตาไปจากสังคมไทยเลย นับตั้งแต่ แชร์แม่ชม้อย ปี 2527, แชร์แม่มณี ปี 2562, Forex-3D ปี 2562 และ ดิไอคอนกรุ๊ป (The iCon Group) ธุรกิจที่ต่างสร้างมูลค่าความเสียหายมหาศาล จนถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ เพราะมีผู้เสียหายตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักหมื่น
การขาดทุนที่มาจากการโดนโกง
“ผมลงทุนในตลาดหุ้น แต่ขาดทุน” เอก (นามสมมติ) ผู้เสียหายจาก Forex-3D ให้สัมภาษณ์กับรายการคุยตามข่าว เมื่อ 22 สิงหาคม 2565
เขาเล่าต่อว่า หลังจากนั้นมีคนใกล้ตัวพูดชักชวนว่า ตอนนี้มีการลงทุนอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน จึงตัดสินใจเริ่มลงทุนไป 2 แสนบาท หลังจากนั้นถูกเสนอให้เพิ่มทุนอีก 3 แสนบาท เท่ากับลงทุนไปทั้งหมด 2 งวด รวมเป็นเงิน 5 แสนบาท
“แต่เริ่มได้กลิ่นไม่ปกติเพราะถอนเงินไม่ได้ แม้ผลกำไรจะตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดขั้นต่ำในการถอนเงินก็ตาม ขณะที่คนอื่นสามารถถอนกำไรหรือแม้แต่ทุนออกมาได้ ซึ่งถือว่าไม่ปกติสำหรับนักลงทุน”
ทั้งนี้สาเหตุที่เอกตัดสินใจลงทุน เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวระบุว่า ‘ลงทุนหลักแสนแต่ได้กำไร 5 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน’ โดยสำหรับเขาแล้วคิดว่าเป็นไปได้ เพราะผลตอบแทนไม่ได้ดูเกินจริงจนเกินไป ในตลาดทุนปกติก็มีโอกาสทำได้
เขาย้ำว่า “เริ่มแรกก่อนที่จะลงทุนก็มีการหาข้อมูลก่อน เพราะกลัวว่าเป็นการแชร์ลูกโซ่ แต่ตอนนั้นไม่เจอข้อมูลด้านลบ นอกจากนี้ทางธุรกิจยังมีตึกออฟฟิศ มีการจดทะเบียนที่กรมการค้าภายใน และหน้าเว็บไซต์ก็ทำน่าเชื่อถือ”
ท้ายที่สุดเอกให้ความเห็นต่อผู้ที่โทษเหยื่อต่อกรณีนี้ว่า การเทรดมีทั้งได้และเสีย การลงทุนมีโอกาสที่จะขาดทุนซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ผู้เสียหายเจอ คือ ‘การขาดทุนที่มาจากการโดนโกง’
ต่อมาผู้เสียหายจาก Forex-3D อีกหนึ่งคน ที่ออกมาให้สัมภาษณ์กับรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2022 คือ ไบร์ท–วชิรวิชญ์ ชีวอารี นักแสดงและนักร้อง
“ที่เริ่มลงทุน Forex-3D เพราะคนรอบตัวเล่นกันหมด จึงขอเงินแม่มา 5 หมื่นลงทุน และก็ได้ผลตอบแทนจริงๆ ตอนนั้นรู้สึกว่า ‘มันคือการลงทุน เป็นการออมเพื่ออนาคต’ เงินจากการทำงานเอามาลงตรงนี้ทั้งหมด รวมถึงเงินเก็บของครอบครัวที่มีอยู่ 7 แสนกว่าบาทด้วย แต่ครั้งนี้ไม่ได้กำไรตามที่คาดไว้”
ทั้งนี้ วชิรวิชญ์ยอมรับว่าตอนนั้นรู้สึกเครียดเป็นอย่างมาก เพราะเงินที่ลงทุนมาจากครอบครัว ซึ่งช่วงแรกที่มีข่าวออกมาว่าธุรกิจนี้เป็นแชร์ลูกโซ่ เขายังติดต่อพูดคุยกับ อภิรักษ์ โกฎธิ ซีอีโอ Forex-3D อยู่ตลอด
“ด้วยความที่รู้กันมานานจึงเชื่อใจ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เงินคืน กว่าจะรู้ว่าโดนโกงก็ช้ากว่าทุกคนไปแล้ว” วชิรวิชญ์ กล่าวปิดท้าย
ธุรกิจดังกล่าวใช้โมเดลเทรดเดอร์ ที่มีการสร้างแพลตฟอร์มขึ้นใหม่ สำหรับซื้อขายหรือ เทรดเงินตราต่างประเทศ ซึ่งผู้ลงทุนจะเห็นอัตราการขึ้นลงของกำไร ผ่านหน้าจอแบบเรียลไทม์ อย่างไรก็ตาม Forex-3D สร้างความเสียหายมากกว่า 2,400 ล้านบาท ประเมินจากจำนวนผู้เสียหายกว่า 9 พันคน
โปร์ไฟล์ดี จึงเชื่อใจ
ในปีเดียวกันนั้น ประเด็นที่ร้อนแรงไม่แพ้กันคือ คดีแม่มณี ธุรกิจแชร์และออมทอง ที่หลอกลวงประชาชนกว่า 2,500 คน เสียหายมากกว่า 1,300 ล้านบาท โดยผู้เสียหายบางรายออกมาพูดถึงผลกระทบที่ได้รับ ในรายการโหนกระแส เมื่อ 28 ตุลาคม 2562
ผู้เสียหายนามว่า แนน เริ่มต้นกล่าวว่า “เสียเงินไป 3.2 ล้าน เริ่มแรกเราเห็นเขา (เจ้าของแชร์แม่มณี) ขายเสื้อผ้าลูก ไม่ใช่คนรวยแต่ภายใน 5-6 เดือน เขารวยมาก มีการจ้างดารา แบรนด์เครื่องสำอาง ทำรายการ”
ดังนั้นเธอจึงเริ่มลงทุนกับแชร์มณี ช่วงแรกเริ่มต้นที่ 1 พันบาท หลังจากก็ทยอยโอนวันละแสนสองแสน โดยได้รับเงินคืนทั้งต้นทั้งดอก แต่เดือนสุดท้ายที่เธอคิดจะลงทุน เธอกลับไม่ได้รับเงินตามที่ตกลงกันไว้
“เราไปแจ้งความเลย เพราะเขาบอกว่าเงินในธนาคารถูกอายัดไป 500 ล้านบาท จนเหลือ 0 บาท จึงเอาเงินออกมาให้ไม่ได้”
ขณะที่ นดา ครูผู้ช่วยในสถาบันแห่งหนึ่ง เปิดใจว่า ลงทุนเป็นครั้งที่ 2 ไม่คิดว่าจะโดนหลอก เพราะเดิมทีรู้จักกันผ่านเฟซบุ๊ก และยังเคยเรียนสถาบันเดียวกัน “เป็นเพื่อนในเฟซบุ๊ก เขาจะโพสต์รีวิวให้ดูเสมอ เราถึงตัดสินใจไปลงทุน”
นอกจากนี้ ผู้เสียหายอีกคน กร (นามสมมติ) ระบุถึงสาเหตุที่ลงทุนกับแม่มณีว่า “เขาไม่ได้บอกว่าจะเอาเงินนี้ไปทำอะไร แต่โปรไฟล์โคตรดี โปรไฟล์ดีมาก ผมก็ว่าน่าจะเป็นโปรไฟล์ด้วยที่ทำให้เราเชื่อ และเขายังเป็นคนของสังคมด้วย อีกอย่างก็มีเห็นถ่ายรูปดารา เปิดตัวแบรนด์อะไรพวกนี้ ก็คิดว่าโอเค”
ดารานักแสดงสร้างความน่าเชื่อถือ
สุดท้ายเป็นเสียงจากผู้เสียหาย ‘ดิไอคอนกรุ๊ป’ ที่ขณะนี้สังคมต่างให้ความสนใจ เพราะบุคคลน่าเชื่อถือหลายคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้ และมากไปกว่านั้นผู้เสียหายส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ที่โดนหว่านล้อมจนนำเงินเก็บ เงินจากการกู้ยืม มาลงทุนเพื่อที่จะมีอาชีพ มีรายได้ หรือมีเงินใช้หลังเกษียณ
แป๋ว ผู้พิการที่ถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการทำคลิปโปรโมทธุรกิจ ระบุผ่านรายการโหนกระแส เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่ผ่านมาว่า ตนเองเป็นพิการโรคโปลิโอ มีรายได้จากการตัดเย็บเสื้อผ้า แต่พอเกิดการระบาดของ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจไม่ดี เธอก็ได้รับผลกระทบไปด้วย
ทั้งนี้เธอเห็นโฆษณา คอร์สเรียน 299 บาท ผ่านเฟซบุ๊ก เธอสนใจจึงโอนเงินค่าเรียน 600 บาท รวมกับของพี่ชายไปด้วย เพราะตนเองนั่งวิลแชร์ ไม่สะดวกเดินทางไปเพียงลำพัง ซึ่งความตั้งใจของแป๋ว คือ การเรียนรู้เทคนิคการเล่น TikTok เพื่อต่อยอดการทำเสื้อผ้า แต่ผ่านไป 2-3 ชั่วโมง เริ่มมีเนื้อหาในเชิงชวนลงทุนตั้งแต่ 2,500 บาท โชว์ยอดรายได้จำนวนมาก ทำให้เธอเกิดความสนใจ เพราะฝันอยากมีธุรกิจที่ลงทุนครั้งเดียว
“เราอยากมีธุรกิจ โทรไปขอยืมพี่สาวแสนกว่าบาท โกหกว่าจะเอามาซื้อผ้าไปขาย หมดเลย ของตัวเองที่เก็บไว้ก็ไม่พอ เหตุที่กล้าลงทุนเพราะเห็นบอสแซม บอสกันต์ บอสมีน และบอสพอล พูดบนเวที”
ขณะที่ หล้า น้องสาวนิคม หนึ่งในลูกข่ายดิไอคอนกรุ๊ปที่เสียชีวิต เนื่องจากเครียดเพราะขายสินค้าไม่ได้ กล่าวในรายการโหนกระแส เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ว่า พี่ชายนำเงินราว 2 แสนบาท ซึ่งเป็นเงินเก็บของแม่อายุ 70 กว่าปี ไปลงทุนกับดิไอคอน โดยเธอไม่มั่นใจว่าพี่ชายเสียเงินไปก่อนหน้านี้จำนวนเท่าไหร่ แต่เธอคิดว่าเงินทุกจำนวนที่พี่ชายเสียไปเพราะอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น
“ตอนนั้นเข้าใจว่าสถานการณ์ของเขา (พี่ชาย) ตอนนั้น คงเหมือนคุณพอล ณ ขณะนี้เพราะไม่ไหว ไปต่อไม่ได้ จากคนที่เคยมีเงินเก็บก็เป็นหนี้ และนำเงินของแม่ไปอีก” หล้า กล่าว
หญิง เล่าต่อว่า “เข้ามาช่วงโควิด อยากทำออนไลน์…พอเข้าไปทำแต่ไม่ยิงแอดก็โดนสกัดออกจากกลุ่ม เพราะว่านอกลู่นอกทาง ทำไม่เหมือนชาวบ้าน แต่สิ่งที่ผิดปกติคือของมันขายไม่ได้ เราก็ไปบอกทีมกลายเป็นว่าเราถูกถีบออกจากทุกห้องเลย”
เธอพูดด้วยเสียงสั่นคลอนว่า เธอไม่เหลืออะไรเลย ไม่มีใครคุยด้วย 2 ปีแล้ว และการเข้าร่วมลงทุนในครั้งนี้ ทำให้เธอเสียทั้งความสัมพันธ์และเครดิต
ทำไมแชร์ลูกโซ่ยังมีในสังคมไทย?
ในมุมของนักวิเคราะห์ด้านธุรกิจและนักการตลาดกล่าวถึงสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ธุรกิจหลอกลวงประชาชนไม่หมดไปจากสังคม เช่น ผู้คนยังต้องการการยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นทางสังคม การเงิน และอำนาจ เป็นจุดที่ทำให้กระบวนการแชร์ลูกโซ่นำมาหลอกล่อให้เหยื่อเข้ามาติดกับได้
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องบทลงโทษที่ยังคุ้มกับความเสี่ยง เพราะจำนวนความผิดที่ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษสูงถึงพันปี แต่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 กำหนดให้โทษสูงสุดไม่เกิน 20 ปีเท่านั้น และเมื่อจำคุกจริง กลไกการจองจำยังเกิดการลดหลั่นลงไปตามกระบวนการ
ถึงแม้ว่าการระมัดระวังการตกเป็นเหยื่อของธุรกิจที่หลอกลวง อาจเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องพยายามทำรู้เท่าทัน แต่ธุรกิจเหล่านี้มีการพัฒนากลโกงอยู่ตลอดเวลา จนบางครั้งยากที่จะรู้เท่าทัน ฉะนั้นจึงมีคำถามที่ต้องพูดคุยกันต่อไป ทั้งเรื่องมาตรการหยุดยั้งธุรกิจประเภทนี้ไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ รวมถึงวิธีการอื่นๆ ที่สังคมไทยจะป้องกันปัญหาเช่นนี้ต่อไปในอนาคต