เกาหลีเหนือ-ใต้ปรองดองคืนดี เวเนซุเอลาเงินเฟ้อสูงกว่า 800,000%ทรัมป์เดือดจะสร้างกำแพงกั้นเม็กซิโกให้ได้Brexit ก็ยังเจรจาไม่เสร็จสมบูรณ์ ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกมีเหตุการณ์การเมืองให้เราได้ลุ้นตามติดกันตลอดทั้งปี
แต่ในปีเรื่องราวต่างๆ ในประเทศต่างๆ ก็เข้มข้นขึ้น มีผู้นำทั้งหน้าใหม่ๆ เข้ามา และหน้าเดิมๆ ที่ครองอำนาจอยู่ต่อ รวมไปถึงเรื่องทะเลาะเบาะแว้งที่ยังคงตีกันต่อ ให้เราได้ติดตามกันต่ออีก
ในปีนี้ แต่ละภูมิภาคมีอะไรที่ต้องน่าจับตาบ้าง การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นที่ไหน จะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง The MATTER ขออาสาพาไปดูแต่ละที่ว่ามีการเมืองอะไรที่เราควรต้องจับตา รวมถึงปีนี้ ไทยเราจะมีบทบาทอะไรในโลกด้วย
เอเชีย
ญี่ปุ่นศักราชใหม่กับการหดตัวของราชวงศ์
เรียกได้ว่าเป็นทวีปนึง ที่จะมีเหตุการณ์ร้อนแรงเกิดขึ้นในปีนี้เลยก็ว่าได้ เริ่มจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวันที่ 30 เมษายนนี้ ที่สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ จะทรงสละราชสมบัติ และถือเป็นการสิ้นสุดของยุคเฮเซซึ่งหลังจากนี้ เจ้าชาย นารุฮิโตะ รัชทายาทจะทรงเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่แทนถัดไปในอีกหนึ่งเดือนหลัง ซึ่งเมื่อพูดถึงรัชทายาทของราชวงศ์แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงจำนวนสมาชิกของราชวงศ์ที่หดตัวอย่างรวดเร็ว เพราะกฎของการสืบทอดที่ต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น รวมถึงห้ามผู้หญิงดำรงฐานันดรหลังแต่งงานกับสามัญชนด้วย ซึ่งนักวิชาการมองว่า ‘นี่เป็นปัญหาร้ายแรงในการสร้างความมั่นใจในความยั่งยืนของราชวงศ์ญี่ปุ่น’
ปีแห่งการครบรอบของจีน และความขัดแย้งกับไต้หวัน
ปีนี้ยังเป็นปีแห่งการครบรอบของจีน เพราะในปีนี้จะมีงานใหญ่ในช่วงเดือนตุลาคม คืองานครบรอบ 70 ปี ของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนที่จะมีการฉลองอย่างยิ่งใหญ่ของ การเดินขบวนทหารที่ว่าใหญ่ที่สุดอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน บริเวณจัสตุรัสเทียนอันเหมิน โดยเป็นการฉลองครั้งนี้ ถือเป็นการแสดงถึงความสำเร็จของจีนที่เป็นประเทศคอมมิวนิสต์ที่ยาวนานที่สุดในโลกและยังคงระบบนี้อยู่ แซงหน้าอดีตสหภาพโซเวียตที่ 69 ปีซึ่งนอกจากนี้ ปีนี้ยังเป็นครบรอบ 100 ปี ขบวนการเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม และครบรอบ 30 ปีของเหตุการณ์เทียนอันเหมินด้วย
นอกจากเรื่องในประเทศแล้ว เริ่มต้นปีมา จีนกับไต้หวันก็ได้แฮปปี้นิวเยียร์กันและกัน โดยการส่งข้อความแข่งกร้าว โดยปธน. สี ออกมาย้ำจุดยืนว่า จีนกับไต้หวันต้องผนึกรวมกันพร้อมขู่ว่าถ้าไต้หวันเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราช จะใช้อานุภาพทางการทหารตอบโต้ ซึ่งฝั่งไต้หวันเองก็ไม่ยอม โดยปธน.ไช่ อิงเหวินของไต้หวันก็ออกมาประกาศฉันทามติของประชาชน ว่าไม่ยอมรับ และต่อต้าน 1 ประเทศ2 ระบบและจะไม่ยอมจีนด้วย ซึ่งก็น่าติดตามต่อไปว่าสถานการณ์ที่ไม่อ่อนข้อของจีนและไต้หวันจะเป็นอย่างไรต่อไป
เลือกตั้งตัดสินเส้นทางประเทศ
ในเอเชีย ยังมีการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ที่น่าจับตามองอีกหลายประเทศ หนึ่งในนั้นคือ ‘อินเดีย’ (เมษายน-พฤษภาคม ) ที่ครั้งนี้ นายกฯ นเรนทรา โมดี ของพรรค BJP จะลงชิงตำแหน่งอีกครั้งซึ่งในครั้งนี้จะต้องต่อสู้กับ‘ราหุล คานธี’ ลูกชายของราจีฟ คานธี อดีตนายกฯ จากพรรคฝ่ายค้าน INC ด้วย
นอกจากนี้ยังมี การเลือกตั้งเกาหลีเหนือ (มีนาคม) ที่แซงเข้าคูหาก่อนหน้าเราไป การเลือกตั้งในอินโดนีเซีย (เมษายน) ที่เป็นการ re-match ของปธน.โจโก วิโดโด และนายพลปราโบโว ซูเบียนโตที่จะมาสู้กันอีกครั้ง และการเลือกตั้งในสิงคโปร์ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิมคือปี 2021
อเมริกา
การเมืองที่วุ่นวายของอเมริกา แคนดิเดตเตรียมเริ่มหาเสียงเลือกตั้ง และสงครามการค้ากับจีน
เป็นการเปิดปีใหม่ พร้อมการชัตดาวน์ของรัฐบาลที่ลากยาวมาตั้งแต่ช่วงก่อนคริสตมาสปี 2018 หลังวุฒิสภาไม่อนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณ ที่ในงบนี้ มีเงินทุนประมาณ 5.7 พันล้านดอลล่าร์ ซึ่งเป็นงบประมาณการสร้างกำแพงตามชายแดนเม็กซิโกรวมอยู่ด้วย ซึ่งทรัมป์เองก็ดูไม่ทุกข์ร้อน เพราะเขาสัมภาษณ์ว่าจะชัตดาวน์เป็นปีเลยก็ได้ แต่หนทางแก้ไขคือต้องอนุมัติงบสร้างกำแพงให้ได้! ทั้งผลจากการเลือกตั้งกลางเทอมในปีที่ผ่านมายังทำให้พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรนำโดยส.ส.แนนซี เปโลซี เป็นประธานสภา ทำให้การทำงานของทรัมป์ในปีนี้ถูกคานอำนาจแน่นอน ดูเป็นการเริ่มปีกับการเมืองสหรัฐฯ ที่ร้อนแรงเลยทีเดียว
และทั้งๆ ที่เหมือนจะเห็นทรัมป์ เพิ่งเข้าดำรงตำแหน่งไปหมาดๆ และปัญหาแทรกแซงการเลือกตั้งครั้งก่อนก็ยังไม่คลี่คลาย แต่ในปีนี้ ก็เหมือนว่าเราจะได้เห็นภาพการเริ่มแข่งขันของแคนดิเดตเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020 แล้วซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าทรัมป์น่าจะลงชิงตำแหน่งอีกสมัยส่วนทางฝั่งเดโมแครตก็มี อลิซาเบธ วอร์เรน วุฒิสมาชิกหญิงจากรัฐแมสซาชูเซ็ตส์ ที่ประกาศตัวจะลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้วด้วย จึงคาดว่าปีนี้ เราจะเริ่มเห็นความดุเดือดของแคมเปญ และผู้สมัครต่างๆ อีกครั้ง
นอกจากการเมืองในประเทศแล้ว สหรัฐฯ ยังมีปัญหาสงครามการค้ากับจีนที่ยืดเยื้อมายาวนานหลายเดือน กระทบการส่งออก นำเข้า และเศรษฐกิจโลก แต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา จีนและสหรัฐฯ ตกลงยุติปัญหานี้ชั่วคราว ซึ่งในการพูดคุยเจรจาล่าสุดของ 2 ฝ่ายมีแนวโน้มว่าได้ข้อสรุปที่ดีแม้ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดออกมา
แคนาดากับการเลือกตั้งครั้งใหม่
ในปลายปีนี้ แคนาดาเองก็จะมีการเลือกตั้งเช่นกัน (ตุลาคม) โดยผู้นำหนุ่มสุดหล่อ อย่างจัสติน ทรูโด แห่งพรรค Liberal ก็จะลงชิงตำแหน่งอีกครั้งแต่ก็มีกระแสว่าความนิยมในบ้านตัวเองของเขาตกต่ำลง โดยปีเขาต้องต่อสู้กับคู่แข่งจากพรรค Conservative แล้ว ยังมี Jagmeet Singh หัวหน้าพรรคชาวซิกซ์จากพรรค New Democratic ด้วย
ยุโรป
ครบกำหนดโบกมือลา EU ของ Brexit และ Royal’s Baby คนใหม่
ยังคงเป็นอีกปี ที่สหราชอาณาจักรเวียนวนกับเรื่องของ Brexit ซึ่งจะครบกำหนดออกจาก EU แล้วในวันที่29 มีนาคมนี้ด้วยความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งภายในวันนั้น ถ้าสหราชอาณาจักรไม่ขยายระยะเวลาเจรจากับ EU เพิ่ม ก็จำเป็นต้องบรรลุข้อตกลง 2 ประเด็นคือ 1) ข้อตกลงการถอนตัว ที่รวมถึงหนี้ของสหราชอาณาจักรที่มีต่อ EU สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในประเทศของ EU, พลเมืองใน EU ที่อาศัยในอังกฤษ และปัญหาชายแดน ไอร์แลนด์เหนือ และ 2) ความสัมพันธ์ของสหราชอาณาจักรกับ EU ในอนาคต ทั้งยังมีกระแสเรียกร้องการจัดทำประชามติรอบ 2 ของ Brexit ด้วย
ในขณะที่การเมืองไม่แน่นอน กลับมีข่าวดีของราชวงศ์อังกฤษ ที่จะได้ต้อนรับสมาชิกใหม่โดยเมแกน มาร์เคิล ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ พระชายาในเจ้าชายแฮร์รี่มีกำหนดประสูติกาลรัชทายาทองค์แรกซึ่งจะรั้งตำแหน่งรัชทายาทลำดับที่ 7 ของอังกฤษในฤดูใบไม้ผลิปีหน้า หลังมีการจัดงานพิธีเสกสมรสไปเมื่อเดือนพฤษภาคม ปีที่ผ่านมา
การก้าวลงตำแหน่งของแมร์เคิลและโฉมใหม่ของสภา EU
2019 ยังเป็นปีแรกในการเมืองเยอรมนี อังเกลา แมร์เคิลผู้นำที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับเยอรมนี ประกาศก้าวลงจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคคริสเตียนเดโมแครตของเยอรมนี หรือ CDU ที่เธอครองมา 18 ปีเต็ม แต่เธอก็จะยังเป็นนายกฯ ต่อไปจนสิ้นสุดวาระในปี 2021 ก่อนจะวางมือจากทุกตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งน่าติดตามว่าการเมือง และพรรค CDU ภายหลังยุคของแมร์เคิล จะเป็นอย่างไร และจะสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับพรรคได้ต่อไปในทิศทางไหน
ปีนี้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ของ EU ซึ่งนอกจากแมร์เคิลผู้เคยมีอำนาจอย่างมากจะลามือไปแล้ว ยังจะมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา EU (พฤษภาคม) ครั้งแรกหลังเหตุการณ์ Brexit ในเดือนพฤษภาคมนี้ ที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงผู้นำสหภาพยุโรปแทบทุกตำแหน่งเช่น ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ประธานคณะมนตรียุโรป ประธานรัฐสภายุโรป ผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป เป็นต้น ซึ่งจะมีส่วนในการกำหนดทิศทาง และนโยบายต่างๆ ใน EU ท่างกลางปัญหาอย่างผู้อพยพ การก่อการร้าย การไม่เป็นหนึ่งเดียวของ EU ที่มีการคาดการณ์ว่ามีผู้มีสิทธิลงคะแนน ที่ไม่สนใจการเลือกตั้งเพิ่มมากขึ้น มีแนวโน้มสนับสนุนพรรคการเมืองกระแสหลักน้อยลง การเพิ่มขึ้นของฝ่ายซ้ายจัด และขวาจัดมามากขึ้น รวมถึงเราจะเห็นผู้เล่นทางการเมืองใหม่ๆ มากขึ้นด้วย
อเมริกาใต้
ผู้นำใหม่ แต่บางคนหน้าเดิม
เมื่อปี 2018 หลายประเทศในอเมริกาใต้ ได้มีคิวเข้าคูหาเลือกตั้งกันปี ในปีนี้ ก็ถือเป็นวาระที่ผู้ชนะการเลือกตั้ง เข้ารับตำแหน่งกันพอดี เริ่มจากประธานาธิบดี ชาอีร์ โบลโซนาโรเจ้าของฉายา ทรัมป์-ดูแตร์เต แห่งบราซิลที่เริ่มงานในตำแหน่งนี้วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมาพอดี ซึ่งภายใน 1 สัปดาห์แรกของอดีตนายทหารแนวขวาจัดผู้นี้ ก็ได้ออกนโยบายที่จะยกเลิกการคุ้มครองสิทธิของชนพื้นเมือง สิ่งแวดล้อมและกลุ่ม LGBTQ ซะแล้ว ทั้งยังประกาศข้อเสนอแปรรูปสนามบิน และท่าเรือเป็นของเอกชน รวมถึงความตั้งใจจะยกเลิกข้อจำกัดการครอบครองปืนด้วย ซึ่งดูท่าจะเป็นปีหันขวาของบราซิล หลังจากอยู่ใต้รัฐบาลฝั่งซ้ายมาถึง 15 ปีและฝั่งเสรีนิยมในประเทศนี้คงต้องต่อสู้กับนโยบายต่างๆ ของเขาไม่น้อย
ไม่เพียงแค่บราซิล แต่เวเนซุเอลา นิโคลัส มาดูโร ประธานาธิบดีคนเดิมก็ได้เข้าสาบานตนรับตำแหน่งอีกสมัยหลังชนะการเลือกตั้ง ที่ทั่วโลกต่างไม่ยอมรับ ท่ามกลางวิกฤติเงินเฟ้อ การประท้วง และประชากรกว่า 3 ล้านที่อพยพออกนอกประเทศ ซึ่งมาดูโรเองก็ได้อวยพรปีใหม่กับประชาชนว่า ทุกอย่างจะดีขึ้น และปีนี้เป็นปีแห่งการเริ่มต้นใหม่ด้วย แต่ถึงอย่างนั้นหลังเข้ารับตำแหน่ง Lima Group หรือกลุ่มประเทศในลาตินที่ก่อตั้งเพื่อหาทางออกให้เวเนฯ ก็ออกมาประกาศไม่ยอมรับการรับตำแหน่งอีกสมัยของมาดูโร เรียกร้องให้เขาลาออกและยังมีแผนแทรกแซงทางการเงิน ระงับความร่วมมือทางทหาร และไม่ให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้าประเทศ ซึ่งดูแล้วปีใหม่และการเริ่มต้นใหม่ของมาดูโร คงไม่ง่ายอย่างที่เขาตั้งใจไว้
เลือกตั้งอาร์เจนตินา ท่ามกลางวิกฤติการเงิน
ปีนี้ ยังมีการเลือกตั้งที่น่าสนใจในภูมิภาคนี้ คือการเลือกตั้งของอาร์เจนตินา (ตุลาคม) ซึ่งแม้จะยังไม่มีการประกาศตัวผู้สมัครชิงตำแหน่ง แต่คาดว่า ปธน.เมาริซิโอ มาครี จะลงชิงสมัยที่ 2 อีกครั้ง และการเลือกตั้งอาจสะท้อนให้เห็นถึงการแบ่งแยกทางการเมือง ในขณะที่ประเทศเผชิญวิกฤติทางเศรษฐกิจ ค่าเงินเปโซอ่อนค่า เงินเฟ้อและต้องหันไปกู้เงินจาก IMF ด้วย ซึ่งรัฐบาลใหม่เองก็ถูกคาดหวังว่าจะเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้
แอฟริกา
เริ่มปีใหม่กับการรัฐประหาร
ปีที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่ทั่วโลกไม่เกิดการรัฐประหารขึ้นเลย แต่เข้าปีใหม่มานี้ ประเทศกาบองในแอฟริกา ได้มีความพยายามทำรัฐประหารขึ้นซึ่งถือเป็นรัฐประหารครั้งแรกตั้งแต่ทศวรรษ 1960 โดยกลุ่มทหารเล็กๆ ที่พยายามจะฟื้นฟูประชาธิปไตยอ้างว่า รัฐบาลพ่ายแพ้ และสถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุมแล้ว แต่ภายหลังรัฐบาลได้จับกุมทหารกลุ่มนั้น ทั้ง 2 คนในกลุ่มยังถูกประหารแล้วด้วย
แอฟริกาถือเป็นประเทศที่มีการทำรัฐประหารมากที่สุดในโลก และแม้จะเริ่มต้นปีมาด้วยการทำรัฐประหาร แต่แนวโน้มของมันกลับน้อยลงเรื่อยๆ ในแต่ละสมัย ถึงอย่างนั้นก็ไม่มั่นใจว่าปีนี้ แอฟริกาจะมีการรัฐประหารอีกหรือไม่ เพราะด้วยปัจจัยต่างๆ อย่างความยากจน และปัญหาเศรษฐกิจทำให้ทหารมักออกมายึดอำนาจ ทั้งในอดีตเมื่อมีประเทศหนึ่งทำรัฐประหารประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคก็มีแนวโน้มจะใช้วิธีนี้ตามกันด้วย
การเลือกตั้งที่ไม่ถูกคาดหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงภูมิภาค
แอฟริกาเป็นหนึ่งภูมิภาคที่จะมีจัดการเลือกตั้งในหลายประเทศ แต่ถึงอย่างนั้นด้วยปัญหาต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญกลับมองว่าการเลือกตั้งจะไม่เปลี่ยนอะไรมากนักในภูมิภาคนี้ เริ่มจากประเทศไนจีเรีย (กุมภาพันธ์) ที่มีแนวโน้มว่าช่วงการเลือกตั้งจะมีการปะทะรุนแรงในประเทศ และดูจะเป็นการแข่งขันที่สูสีที่สุดของ Muhammadu Buhari ปธน.คนปัจจุบัน กับ Atiku Abubakar รองปธน. และยังมีผู้สมัครที่น่าสนใจอย่าง แร็ปเปอร์ 2Baba ที่เป็นที่ชื่นชอบของคนรุ่นใหม่ด้วย
การเลือกตั้งอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ยังมีอีกหลายประเทศ แต่หนึ่งในนั้นคือ ประเทศแอฟริกาใต้ที่แม้ยังไม่กำหนดวันเลือกตั้งที่แน่นอนออกมา แต่ก็มีแนวโน้มฝั่งรัฐบาลจะครองอำนาจเหมือนเดิม เพราะฝ่ายค้านที่ไม่แข็งแรง และจากประวัติศาสตร์ที่กลุ่มผู้ปลดปล่อยประเทศให้ได้รับเอกราชมักจะได้ครองอำนาจยาวนาน รวมถึงประเทศอย่างเซเนกัล (กุมภาพันธ์) และนามิเบีย (ตุลาคม) ที่มีผู้เชี่ยวชาญก็คาดการณ์ว่า ฝั่งรัฐบาลเดิมจะชนะการเลือกตั้งอีกครั้งเช่นกันด้วย
ตะวันออกกลาง
ปัญหาและความขัดแย้งต่างๆ จะยังไม่สิ้นสุดในปีนี้
ดูเหมือนว่า ปัญหาและความขัดแย้งต่างๆ ในภูมิภาคนี้ จะยังไม่จบง่ายๆ ในปีนี้ และ ดูท่าสหรัฐฯ จะยังเป็นตัวเอกที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากกับหลายๆ ประเด็นด้วย เช่น สงครามกลางเมืองในซีเรีย ที่แม้จะเพิ่งประกาศถอนทหาร 2,000 นายออกไปจากพื้นที่นี้ แต่คาดว่าซีเรียจะกลายเป็นสงครามตัวแทนมากขึ้นซึ่งสหรัฐฯ จะยอมให้ตุรกีปิดกั้นอิหร่าน และกระตุ้นให้อิสราเอลเข้ามาในซีเรียมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องเผชิญหน้ากับรัสเซีย ที่คุมน่านฟ้าอยู่ด้วย
และยังมีประเด็นอื่นๆ ทั้ง
- สงครามในเยเมนที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งมาหลายปี แต่ข้อสรุป และการเจรจายุติสงครามก็ดูยังไม่เกิดขึ้นแม้การกดดันจากนานาชาติจะเพิ่มมากขึ้น
- วิกฤติอ่าวเปอร์เซียความตึงเครียดของซาอุดิอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, บาห์เรนและอียิปต์ ต่อประเทศกาตาร์ ซึ่งดูยังไม่มีทีท่าว่าจะตกลง และยุติได้
- ความสัมพันธ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ– อิหร่านที่ทรัมป์ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ และมีท่าทีคว่ำบาตรอิหร่าน
- และความขัดแย้งทางดินแดนและศาสนาของอิสราเอล และปาเลสไตน์ที่อิสราเอลได้รับการรับรองและสนับสนุนเต็มที่จากสหรัฐฯ ด้วย
IS ถูกกวาดล้างหมดแล้ว?
แม้ว่าช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทรัมป์จะประกาศชัยชนะเหนือกลุ่มก่อการร้าย IS ในซีเรียพร้อมถอนทหารออก แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็มองว่าเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า กลุ่ม IS ถูกกวาดล้างหมดแล้ว เพราะในซีเรีย และอิรัก ยังมีแนวโน้มว่าIS จะฟื้นฟูตัวเอง โดยรายงานจาก UN คาดการณ์ว่า ยังมีนักสู้ IS อีก 20,000 – 30,000 คนใน 2 ประเทศนี้ รวมไปถึงกลุ่มก่อการร้ายในเครือ IS ในแอฟริกาตะวันตกไปถึงอินโดนีเซีย ก็ยังไม่แสดงสัญญาณของการล่มสลายด้วย ทั้งนักวิชาการยังมองว่า การถอนทหารของสหรัฐฯ เพราะหวังว่าตุรกีจะจัดการกับ IS นั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้น เพราะตุรกีขาดความสามารถเข้าถึงพื้นที่ IS และเป้าหมายหลักในซีเรียของตุรกีก็เป็นชาวเคิร์ดมากกว่า IS
ไทย
อีกไกลแค่ไหน จนกว่าฉันจะใกล้เลือกตั้ง
เลื่อนเก่ง!! เปิดปีใหม่มาไม่ทันไร เห็นวันที่จะได้เลือกตั้งกันอยู่ลางๆ ก็มีประกาศออกมาว่าต้องเลื่อนเลือกตั้งอีกแล้ว ดูท่าคำยืนยันสัญญาที่ให้ไว้ ว่าจะได้เลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์นี้ จะไม่เป็นจริง ท่ามกลางกระแสต่อต้านการเลื่อนเลือกตั้งของประชาชนหลายกลุ่ม รวมไปถึงแฮชแท็ก #เลื่อนแม่มึงสิ ในโซเชียล แต่ตอนนี้ก็ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่า คิวเลือกตั้ง เข้าคูหาของเราจะกลายเป็นวันไหนทั้งพรฎ.เลือกตั้ง ที่จะมากำหนดกรอบเวลาให้เลือกตั้งใน 150 วันตามกฎหมายกำหนด ซึ่งเดิมมีกำหนดออกมาวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่ออกมาด้วย
ซึ่งแม้ปีที่ผ่านมา จะมีการปลดล็อกนักการเมืองให้ออกมาทำกิจกรรมทางการเมือง และพูดถึงนโยบายได้แล้ว แต่การหาเสียงของนักการเมืองพรรคอื่นๆ ก็ดูจะไม่ง่ายทั้งจากไทม์ไลน์วันเลือกตั้งที่ไม่แน่นอนแล้ว ในการออกไปหาเสียงในพื้นที่ต่างๆ ยังมักมีทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจมักตามติดหรือถูกยกเลิกงานปราศรัยต่างๆ ซึ่งก็น่าติดตามต่อไปว่า ในการเดินทางหาเสียงก่อนเลือกตั้งครั้งนี้ ว่าจะมีการแทรกแซงกันด้วยวิธีไหน และท่านนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชาของเรา หลังประกาศตัวเป็นนักการเมืองหน้าใหม่แล้ว จะไปอยู่พรรคไหน เดินสายอย่างไร เราอาจจะได้เห็นตำแหน่งใหม่ (หรือเดิม)ที่ชัดเจนของลุงตู่ในปีนี้กัน ท่ามกลางการจับตาและรอคำสัญญาที่ลุงเคยให้ไว้กับผู้นำหลายประเทศ
ไทยในฐานะประธานอาเซียน
ในประเทศจะได้เลือกตั้งวันไหนยังไม่รู้ แต่กับอาเซียน ปีนี้ไทยได้เป็นประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นงานใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องเตรียมพร้อมทำหน้าที่เจ้าภาพจัดการประชุมในกรอบอาเซียนทุกระดับปีนี้ โดยธีมของสำหรับการเป็นประธานของเราได้แก่ ‘ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน’ ซึ่งน่าติดตามว่า ภายใต้ธีม และการเป็นประธานในปีนี้ รัฐบาลเราจะทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหน และผลักดันประเด็นสำคัญอะไรในแต่ละการประชุมด้วย
อ้างอิงจาก