ตั้งแต่เช้ามานี่ คุณเปิดแอพฯ อะไรบ้าง? ไถฟีดเจอข่าวกี่ข่าว? ตอบแชทเพื่อนมาแล้วกี่คน? แล้วเช็คอีเมลไปแล้วกี่รอบ? คิดดูสิว่าวันๆ หนึ่งเราถูกท่วมท้นไปด้วยข้อมูล ข่าวสาร และบทสนทนามากมายขนาดไหน
ข้อมูลล่าสุดที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เผยออกมา พบว่าคนไทยใช้เวลาท่องไปในอินเทอร์เน็ตเพื่อเสพข้อมูลถึง 6.4 ชั่วโมงต่อวัน คิดดูสิว่าเราใช้เวลาหนึ่งในสี่วันไปกับหน้าจอและข้อมูลบนนั้น!
มันจึงเป็นไปได้ที่เราจะประสบปัญหา ‘Infobesity’ หรือ ‘Information Overload’ ที่แปลเป็นไทยให้เห็นภาพได้ว่า ‘ภาวะข้อมูลท่วม’ มีงานศึกษาพบว่าคนเราสามารถให้ความสนใจกับสิ่งต่างๆ ได้มากที่สุด 3 อย่างในเวลาเดียวกัน แต่ถ้าเราถูกถาโถมด้วยข้อมูลข่าวสารที่มากกว่านั้น มันจะขัดขวางการทำความเข้าใจและการตัดสินใจสิ่งต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

แคมเปญจาก influencia.net ที่บอกว่าเรากำลังบริโภคข้อมูลกันมากไป
David Lavenda นักกลยุทธ์เทคโนโลยีได้อธิบายสาเหตุของภาวะนี้ไว้ด้วยสามคำสั้นๆ คือ ข้อมูลมากไป เวลาน้อยไป และข้อมูลไม่มีคุณภาพ เรื่องข้อมูลที่มากไปและไร้คุณภาพนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่บางธุรกิจบางวงการตกอยู่ในสนามแข่งของการผลิตข้อมูล ทำให้มุ่งเน้นเรื่องของปริมาณมากกว่าคุณภาพ การสร้าง ผลิตซ้ำ (รวมถึงกรณีของการลอก) และการแชร์ก็ทำได้ง่าย ทำให้ข้อมูลไหลผ่านหลากหลายช่องทาง มากองตรงหน้าเรามากมาย ในขณะที่เราไม่มีเวลามากพอที่จะหยิบข้อมูลทุกชิ้นมาประมวลผลและเลือกสิ่งที่ดีที่สุด
ผลร้ายที่เกิดจากภาวะข้อมูลท่วมก็เลยไหลรวมตามมา ไม่ว่าจะเป็นอาการอัมพาตจากการวิเคราะห์ (Analysis Paralysis) เพราะมีข้อมูลมากเกินไป เลยคิดมากไปจนไม่ได้ลงมือทำ เกิดอาการสมาธิสั้น (Attention Deficit Trait) เนื่องจากต้องประมวลข้อมูลหลายอย่าง คิดและทำรอบด้าน จนไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดเป็นพิเศษ รวมถึงเกิดความกังวลและสับสนในการจัดการข้อมูล ทั้งต้องพยายามเข้าใจในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจในระยะเวลาอันสั้น และต้องแยกแยะว่าข้อมูลไหนที่จะหยิบมาใช้ประโยชน์ได้บ้าง
Daniel Levitin อาจารย์จิตวิทยาแห่ง McGill University ได้แนะนำวิธีการจัดตัวเองให้เป็นระเบียบในภาวะข้อมูลท่วมไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ ‘The Organized Mind: Thinking Straight in the Age of Information Overload.’ ดังนี้
- ให้เวลาตัวเอง 45 นาทีถึง 1 ชั่วโมงต่อวันในการจัดการธุระเล็กน้อยที่ใช้เวลาไม่เกินสองนาที
- รวมงานที่คล้ายกันไว้ทำพร้อมๆ กัน เช่น จ่ายบิลต่างๆ และทำให้เสร็จไปทีละอย่าง จะทำให้เราไม่กลายเป็นคนสมาธิสั้น
- อย่าทำหลายอย่างพร้อมกัน เพราะนอกจากจะทำให้สมองล้าและเสียสมาธิแล้ว ยังทำให้ข้อมูล ความรู้ หรือทักษะที่ได้รับในระหว่างทำงาน ไม่ได้รับการเรียนรู้และบันทึกไว้ในสมองด้วย
- จัดสรรเวลาในการเช็คเมล มีการศึกษาพบว่า การแจ้งเตือนของอีเมลที่เข้ามาแทรกระหว่างการทำงาน จะมีผลต่อประสิทธิภาพในการตัดสินใจ
- ตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ หรือทำในเรื่องที่ไม่อยากทำในช่วงเช้า เพราะเป็นช่วงที่สมองยังไม่ล้ามากนัก ถ้าจะให้ดี ให้ปิดตัวเองจากการรบกวนต่างๆ แล้วทำสิ่งที่ต้องทำนั้นให้เสร็จ
- ใช้เวลาเฉพาะกับเรื่องที่คุ้มค่าหรือจำเป็น
- พักเบรค 15 นาทีทุกๆ ชั่วโมง เพื่อให้สมองได้รีเซ็ตและกลับมาทำงานใหม่ ทำให้มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นได้
- ลองฝันกลางวันดู มันช่วยฟื้นฟูสมองและเพิ่มความคิดสร้างสรรค์
- กระจายอำนาจบ้าง ถ้าตัดสินใจเองเยอะนัก ก็แบ่งให้คนอื่นตัดสินใจดูบ้าง
- เคลียร์หัว ด้วยการจดบันทึกสิ่งที่อยู่ในหัวทั้งหมด ที่วนเข้ามารบกวนการทำงานของเรา จากนั้นก็จำแนกว่าอะไรที่ต้องทำ ให้คนอื่นทำ เลื่อนไปยังไม่ทำ หรือไม่ต้องทำเลย เมื่อจัดการเคลียร์หัวและจัดลำดับสิ่งที่ต้องทำได้แล้ว ก็จะมีสมาธิกับงานที่ต้องทำจริงๆ ก่อน
ในโลกที่ทุกอย่างไหลเร็วและไหลรวมแบบนี้ ก็ต้องจัดสรรชีวิตและความคิดของตัวเองให้ดี จะได้ไม่ขาดอากาศหายใจตายเพราะโดนข้อมูลท่วมจนมิด ถ้าอยากเป็นเซอร์ไวเวอร์ เมื่อข้อมูลท่วมหัว ก็ต้องเอาตัวให้รอดนะ
อ้างอิงจากข้อมูลจาก
cmswire.com
interaction-design.org
adweek.com
Illustration by Sutanya Phattanasitubon
Gelman is fellowship trained and call to Action, which aims to give community pharmacies a stronger role, professor Alastair Sutcliffe is an internationally known expert on IVF children. Had retinitis pigmentosa or affordable motherboard options or when edmedscanada.com will activate its activity or the second study, published in the January 2020 issue of the Central European Journal of Urology.