ในช่วงนี้ที่อะไรๆ มันก็ดูตึงไปเสียหมด ทั้งบรรยากาศรอบข้างและสภาพสังคมที่ไม่เอื้ออำนวยให้เรายิ้มออกได้ รวมไปถึงบนโลกอินเทอร์เน็ต ที่มีบรรยากาศไม่ต่างกับโลกความจริง ช่วงนี้หลายคนเลยรู้สึกถึงความหดหู่กับปัญหา โกรธเกรี้ยวกับความเฮงซวย สิ่งเหล่านั้นไม่ผิดอะไร เราสามารถรู้สึกได้อย่างที่เราต้องการ แต่ถ้าหากความรู้สึกเหล่านั้นเริ่มรุมเร้าเรามากเกินไป ด้วยข้อมูลมหาศาลบนโลกอินเทอร์เน็ต หนึ่งโพสต์ หนึ่งคอนเทนต์ ที่เลื่อนผ่านตาเราไป อาจทำให้เรามีความรู้สึกที่เอ่อล้นจนเกินไป นี่ยังไม่รวมกับการใช้หน้าจอในเวลางานอีก เรากำลังอยู่กับหน้าจอนานเกินไปหรือเปล่านะ?
ด้วยความจำเป็นของสถานการณ์ ทำให้เรายังคงต้องตามข่าวสารอยู่เสมอ ไม่อาจละทิ้งข้อมูลเหล่านั้นเพียงเพราะมันไม่เป็นดั่งใจ จนเรารู้สึก Information Overload อยู่บ้าง พอถึงเวลาทำงานที่เราก็ยังคงต้องใช้โลกอินเทอร์เน็ตในการติดต่อสื่อสารกัน ค้นหาข้อมูล ใช้ทำงานในทุกวันๆ สายตาคู่นี้ของเราจึงจดจ้องอยู่กับจอสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวนอนบ้าง แนวตั้งบ้างนี้ จนแทบไม่ได้มีเวลาพักผ่อนสายตาจากจอ ซึ่งหมายความว่าเราจะไม่มีเวลาพักผ่อนความคิดเช่นเดียวกับสายตา
เรายังคงต้องติดตามข่าวอย่างสม่ำเสมอ ยังคงต้องจดจ้องหน้าจอเพื่อนทำงานในทุกวัน การละทิ้งจอแล้วออกไปสูดอากาศ เดินย่ำในพื้นที่สีเขียว สัมผัสโลกจริงที่จับต้องได้ กลายเป็นเรื่องไกลตัวที่เป็นจริงได้ยากกว่าแต่ก่อนมากนัก ยิ่งเราใช้เวลากับการติดตามข่าวบนหน้าจอเท่าไหร่ เรายิ่งใช้เวลาในชีวิตจริงของเราไปกับมันด้วย หากเราจมลงไปในทะเลข่าวสารแบบลืมดูวันเวลา อาจทำให้เราเหลือเวลาที่ใช้ในชีวิตของเราน้อยลงไปด้วย
โลกของการทำงาน เดิมที หลายคนต้องเผชิญกับปัญหาข้อมูลที่มากเกินไปนี้เช่นกัน พนักงานในสหราชอาณาจักรกว่า 65.2% บอกว่าพวกเขาได้รับผลกระทบในแง่ลบ จากขั้นตอนการทำงานที่มีข้อมูลมากเกินไป การมีข้อมูลจำนวนมหาศาล จึงไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป เราต้องใช้เวลาในการคัดกรองข้อมูล ตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านั้น และหาคำตอบให้กับตัวเอง แค่นี้ก็รู้สึกว่าต้องใช้พลังงานมากเหลือเกิน ความร้ายกาจของ Information Overload นั้น ไม่ได้กระทบแค่ในชีวิตส่วนตัวในการไถนิวส์ฟีดทั่วไปเท่านั้น แต่ยังลามมาถึงชั่วโมงการทำงานของเราด้วยเช่นกัน
ยิ่งในช่วงนี้ที่เราไม่อาจเลี่ยงการรับข้อมูลจากทั้งชีวิตประจำวันและการทำงาน หากไม่อยากให้เราเองต้องแบกความรู้สึกที่มากเกินไปของการติดตามข่าวในช่วงนี้ มาลองลดการใช้หน้าจอลงกันดูไหม? แม้จะไม่ได้อยู่กับหน้าจอนานเท่าเดิม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะกลายเป็นคนที่ออฟฟิศติดต่อไม่ได้ เราก็ยังคงทำงานได้เหมือนเดิม แม้จะไม่ได้เอาสายตาไว้บนหน้าจอนานเท่าเดิมก็ตาม
เรายังคงเข้าออกงานตามเวลาเดิม
เพราะการทำงานที่บ้านนั้น ทำให้เส้นแบ่งของชีวิตส่วนตัวและการทำงานละลายกลายเป็นเส้นเบลอๆ ที่เราเองนี่แหละมักจะหยิบมันมาใช้ปนกันไปหมด วันก่อนทั้งวันอาจกลายเป็นวันแห่งการพักผ่อนที่เราไม่ยอมแตะงานเลยแม้แต่น้อย อีกวันอาจกลายเป็นวันที่เราต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำแทน จนเรารู้สึกว่า การทำงานที่บ้านนั้นมันจัดการได้ยากกว่าการเดินเข้าออฟฟิศ
หากกำลังรู้สึกแบบนั้น ไม่ต้องกังวลไป เพราะอาการนี้ไม่ได้เป็นแค่คุณคนเดียว ยังมีคนทำงานอีกมากที่ไม่อาจจัดการเวลาให้เป็นดั่งใจ จนคุณภาพชีวิตในช่วงทำงานที่บ้านของหลายคนเป็นอันต้องพังลง เราเลยอยากให้ทุกคนพึงระลึกไว้เสมอว่า แม้เราจะทำงานที่บ้าน แต่เราก็ยังสามารถมีเวลาเข้าออกงานตามปกติได้ เรายังสามารถคิดเรื่องงานตอนเดินเข้าออฟฟิศ และปิดสวิชต์งานทั้งหมดเมื่อถึงเวลาเลิกงานได้เหมือนเดิม
โดยเริ่มจากการจัดตารางชีวิตให้เราเอง มานั่งทำงานในเวลาปกติ มีเวลาพักกินข้าวกลางวันอย่างเคย และที่สำคัญ เราต้องมีเวลาออกจากงานให้เป็นไปตามเวลาปกติ ไม่ว่างานจะเสร็จหรือไม่เสร็จ อย่าฝืนตัวเองนั่งทำต่อจนเลยเวลา และกลายเป็นความเคยชินว่า เราสามารถนั่งทำงานต่อได้มากเท่าที่ต้องการ เพราะเราอยู่ที่บ้านนี่นา จนหน้าจอกลายมาเป็นวิวเดียวที่เราได้เห็นในช่วงทำงานที่บ้านนี้
ใช้เวลาไปกับงานบ้านให้มาก
ไม่ว่าก่อนหน้านี้ที่เรายังเข้าออฟฟิศกันตามปกติ หรือตอนนี้ที่เราย้ายออฟฟิศมาไว้ที่บ้าน การจัดการงานบ้านก็ยังคงเป็นภารกิจที่ติดตัวเราเสมอมา กองผ้าในตะกร้าที่รอลงถังซักผ้า ต้นไม้ชิกๆ ที่ซื้อมาตอนกักตัวรอบที่แล้ว ก็ยังคงรอให้เรารดน้ำและพาออกไปสัมผัสแสงแดด จานในอ่าง คราบสกปรกบนโต๊ะกินข้าว อีกหลายเรื่องเล็กน้อยที่สะสมกันจนกลายเป็นภารกิจที่เรียกว่า งานบ้าน รอให้เราลุกไปทำ
หากเรามีสิ่งเหล่านี้ที่ต้องจัดการ อย่าละเลยมันไป เพราะรู้สึกว่าเราอยู่บ้านตลอดและสามารถทำมันเมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อเสร็จจากงานออฟฟิศแล้ว หากได้แบ่งเวลาให้กับงานบ้าน จะช่วยให้เรารู้สึกว่าพื้นที่นี้ของเรา ยังคงเป็นบ้านเหมือนเดิม ไม่ใช่พื้นที่นั่งทำงานจนกลายเป็นออฟฟิศแห่งที่สอง นอกจากจะช่วยด้านความรู้สึก ให้บ้านยังคงเป็นบ้านแล้ว ยังเป็นการแบ่งเวลาให้เรามีกิจกรรมที่ได้ใช้ร่างกายของเรา จัดการสิ่งต่างๆ รอบตัวจริง เผื่อลดทอนช่วงเวลาที่จะอยู่กับหน้าจอให้น้อยลง
ใช้เทคโนโลยีมาจำกัดเทคโนโลยี
หากการอยู่กับหน้าจอนานเกินไป ทำให้เราเกิดความรู้สึกหนักหน่วงกับข้อมูลที่แบกไว้เต็มบ่า ในวันที่ความเครียดมาเคาะประตูง่ายเพียงปลายนิ้ว อย่าปล่อยให้เราต้องจมอยู่กับมันมากจนเกินไป ลองมาใช้เทคโนโลยีในมือให้เป็นประโยชน์ อย่างแอปพลิเคชั่นที่ช่วยจำกัดการเข้าถึงหน้าจอ หรือที่เรารู้จักในชื่อเล่นอย่าง แอปฯ ล็อกหน้าจอ
สิ่งนี้อาจช่วยให้เราอยู่กับหน้าจอน้อยลง โดยเฉพาะนอกเวลางาน ที่เราเข้าใจดีกว่า หลายคนก็อยากติดตามข่าวสารให้เท่าทัน ว่าช่วงที่เราหายไปทำงานมานั้น เกิดอะไรขึ้นบ้าง เรายังสามารถอ่านข่าว ติดตามสถานการณ์ได้ตามปกติ แต่ลองจำกัดเวลาให้กับตัวเองว่าเท่านี้พอแล้วนะ หลังจากนั้นใช้แอปฯ เข้าช่วย อาจเป็นช่วงก่อนนอน ช่วงเวลาที่เราลุกไปทำกิจกรรมอื่นๆ ให้เราลองใช้เวลาไปกับอย่างอื่นที่ไม่ใช่หน้าจอดูบ้าง เพราะข่าวสารเหล่านั้น หากมันเป็นประเด็นสำคัญ มันจะถูกพูดถึงซ้ำๆ และยังไม่หายไปไหนแน่นอน
การรับรู้ข้อมูลข่าวสารในช่วงเวลานี้ แม้เป็นเรื่องจำเป็น แต่เราเองก็ต้องระลึกไว้เสมอว่า เรารับรู้ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อให้รู้เท่าทันสถานการณ์ หากความเป็นไปบนนิวส์ฟีดทำให้เรารู้สึกว่าโลกนี้มันหนักอึ้ง อาจเป็นสัญญาณที่สะกิดให้เรารู้แล้วว่า เราอาจจะต้องห่างออกมาและรับข้อมูลเท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับสุขภาพใจของเราเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก