แม้ว่าแต่ละคนจะมีสไตล์การทำงานที่ชอบเป็นของตัวเอง แต่ด้วยตำแหน่ง รูปแบบการทำงานในองค์กร อาจทำให้ต้องสละสไตล์ที่ชื่นชอบนั้น ไปทำในสิ่งที่ไม่ถนัด อย่างเช่นการทำงานร่วมกับผู้อื่น ฟังดูเป็นเรื่องปกตินี่นา เราไม่สามารถนั่งทำงานเงียบๆ ในมุมห้องตลอดไปได้หรอก เราก็ต้องทำงานร่วมกับผู้อื่นในสักขั้นตอนอยู่แล้ว แต่การทำงานร่วมกับผู้อื่นเป็นเวลานาน อาจทำให้เรารู้เกิดความกังวลได้เช่นกัน ไม่ว่าเราจะชอบทำงานเดี่ยวหรือทำงานเป็นทีมก็ตาม
จริงๆ แล้วมันก็ค่อนข้างเข้าใจง่าย ที่การทำงานคนเดียวนั้นจะสร้างความลำบากใจให้เราน้อยกว่า เพราะเราสามารถจัดการทุกอย่างให้อยู่ในสายตาของเรา เมื่อเกิดข้อผิดพลาดอะไรขึ้น เราสามารถจัดการได้อยู่หมัดด้วยตัวเอง แต่พอต้องทำงานเป็นทีมแล้ว เราก็ต้องค่อยๆ เดินไปพร้อมกัน รับฟังความคิดเห็นและปรับให้อยู่ในทิศทางเดียวกัน การทำงานแบบเป็นทีมทำให้งานหนึ่งชิ้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราเพียงคนเดียวอีกต่อไป ต้องรอฟังความคิดเห็นร่วมกัน ไอเดียร่วมกัน วิธีการทำงานที่ทุกคนโอเคกับมัน ไปจนสุดขั้นตอนการทำงาน การทำงานแบบเป็นทีมจึงมีโอกาสให้เราเกิดความกังวลมากกว่า
ร็อบ ครอส (Rob Cross) ศาสตราจารย์จาก Babson College เจ้าของผลงานการเขียน Beyond Collaboration Overload ที่อ้างอิงจากงานวิจัยของเขา ได้กล่าวถึงการทำงานร่วมกันที่มากเกินไป อาจสร้างความกังวลให้กับเราได้ ซึ่งการทำงานร่วมกันที่ว่านั้น ไม่ได้หมายถึงแค่การประชุมที่บ่อยเกินไป แต่ยังรวมถึงอีเมล การพูดคุยกัน ระดมไอเดียกัน แบบไม่รู้จบ สิ่งเหล่านี้ก็สร้างความรู้สึกที่ ‘มากเกินไป’ ได้เช่นกัน ทีนี้ เมื่อการทำงานร่วมกันมันเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้คงเป็นการรู้เท่าทันความกังวลของเราเอง ว่าเมื่อเข้ามาทำงานร่วมกับผู้อื่นแล้ว เรามีความกังวลอะไรอยู่ข้างในกันแน่
เรากำลังกังวลมากเกินไปหรือเปล่า? มาดูกันว่าการทำงานร่วมกับผู้อื่นนั้น อาจสร้างความกังวลอะไรให้เราและเราจะหาทางออกให้กับเรื่องนี้อย่างไรได้บ้าง
ความกังวลจากความต้องการช่วยเหลือผู้อื่น (มากเกินไป)
การทำงานร่วมกัน ช่วยเหลือกัน ฟังดูเป็นเรื่องดีไม่ใช่หรอ? แต่อะไรที่มากเกินไป ก็ไม่ใช่เรื่องดีทั้งนั้น รวมถึงความต้องการที่จะช่วยเหลือผู้อื่นมากเกินไปนี้ด้วย เพราะนั่นหมายความว่า เราอาจจะต้องแบกรับเอาความกังวลของผู้อื่นมาเป็นของตัวเอง อาจเพราะเราเสพติดความพึงพอใจเวลาได้ช่วยเหลือผู้อื่น (มากกว่าความต้องการที่จะอยากช่วยเหลือเขาจริงๆ) และนั่นอาจทำให้ภาพลักษณ์ของเรากลายเป็น Yes Man ที่ได้แต่ตอบรับทุกความต้องการของคนอื่น จนไม่รู้จักปฏิเสธไปด้วย
รับมืออย่างไรดี? : อยู่ดีๆ จะบอกให้เลิกช่วยเหลือผู้อื่นก็ฟังดูใจร้ายไปเสียหน่อย เอาเป็นว่า ก่อนอื่นเราต้องปรับมุมมองของเรา ให้เน้นไปที่ความต้องการแก้ปัญหาให้ผู้อื่น หรือช่วยกันแก้ปัญหาเพื่อเห็นแก่ส่วนรวม เน้นไปที่ผลลัพธ์ของมัน ว่ามันจะช่วยให้งานที่ทำร่วมกันดำเนินต่อไปได้ มากกว่าความรู้สึกพึงพอใจที่ได้ช่วย ช่วยเพราะได้รับคำชื่นชม
ความกังวลจากความต้องการเป็นที่จดจำว่าฉันคือคนเก่ง
หลายคนอาจชื่นชอบที่จะได้รับการยอมรับในแวดวงการทำงาน ว่าฉันคือคนเก่ง ฉันคือผู้เชี่ยวชาญ เลยเอาแต่ยึดไอเดียของตัวเอง วิธีการของตัวเอง ว่าดีที่สุด เพราะฉันเชี่ยวชาญที่สุด จนอาจทำให้เกิดปัญหาในการทำงานได้ อย่างการแสดงความเชี่ยวชาญว่าฉันเก่งด้านนี้นะ ใช้วิธีของฉันสิ ยึดไอเดียของฉันสิ จนกลายเป็นว่า การทำงานร่วมกันนั้น เราใช้คนอื่นเป็นเพียงเครื่องมือที่ขับเคลื่อนไอเดียของเราเท่านั้น จนลืมไปว่า เราไม่สามารถใช้วิธีเดิมๆ ความรู้ชุดเดิมของเราไปได้ตลอด
รับมืออย่างไรดี? : การได้รับการยอมรับเป็นเรื่องดี แต่เราไม่อาจยึดติดว่าสิ่งนั้นเป็นรางวัลชิ้นโบว์แดง จนไม่มูฟออนไปไหน ตราบใดที่เรายังต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น เราต้องรับฟังความคิดเห็น อัปเดตความรู้และวิธีการทำงานใหม่ๆ และไม่ยึดติดว่าเรานั้นดีกว่า เก่งกว่า คนอื่นในทีม จนเอาแต่ปัดตกความคิดของคนอื่นไปเสียหมด
ความกังวลว่าจะกลายเป็นคนที่ไม่ได้เรื่อง
ถือว่าเป็นขั้วตรงข้ามกับข้อที่แล้วโดยสิ้นเชิง พอต้องทำงานกลุ่ม แต่ละคนก็จะได้งานที่ได้รับมอบหมายต่างกัน แต่ละคนมีหน้าที่เป็นของตนเอง อาจจะเป็นทั้งเรื่องที่เราถนัดหรือไม่ถนัด อาจกังวลกับเรื่องการสื่อสาร การเสนอไอเดีย อะไรก็ตามที่เราไม่เคยต้องทำในตอนที่ทำงานเดี่ยว พอขยับขยายมาทำหน้าที่อื่นในงานกลุ่ม ที่ผลงานของแต่ละคนจะต้องอยู่ในสายตาของคนในกลุ่มด้วย อาจทำให้เรารู้สึกกลัวที่จะรั้งท้าย กลัวจะทำออกมาได้ไม่ดีใจสายตาคนอื่น จนเป็นความรู้สึกกังวลที่มากเกินไป
รับมืออย่างไรดี? : หากได้รับหน้าที่หรืองานไหนมา แล้วรู้สึกว่ามันไม่เหมาะกับเรา หรือเราไม่อาจรับมือไหวได้ อย่ารับไว้ทั้งที่รู้ว่าเราทำไม่ได้ เพียงเพราะกลัวว่าจะกลายเป็นคนที่ทำผลงานได้ไม่ดี เรามีสิทธิ์ที่จะต่อรองหรือปฏิเสธงานใดๆ ก็ตาม ที่เรารู้ว่าเราทำไม่ได้ แล้วต่อรองเป็นหน้าที่อื่น งานอื่น ที่เราสามารถทำได้แทนจะดีกว่า
ความกังวลจากความต้องการจะจัดการเพียงลำพัง
หากเคยทำงานคนเดียวจนชิน พอต้องมาทำงานเป็นทีมอาจกลายเป็นเรื่องที่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพราะงานทุกขั้นตอนที่เคยอยู่ในมือเรานั้น ต้องเปิดรับให้ผู้อื่นมีส่วนในการทำงานร่วมกัน แสดงความคิดเห็น ไอเดีย จนเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่วิธีการทำงานที่เราถนัดเอาเสียเลย และพาลให้เราปลีกตัวเองออกมาจากส่วนรวมไปเสียดื้อๆ การปลีกตัวออกมาที่ว่านั้น ไม่ใช่การเดินออกมาจากที่ประชุมกลางคัน หรือการไปนั่งทำงานเงียบๆ คนเดียวที่มุมห้อง แต่หมายถึงการไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ขาดการติดต่อ จนแทบจะไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำงานของทีม
รับมืออย่างไรดี? : หากการทำงานร่วมกับผู้อื่นสำหรับเรา มันช่างเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าหากเราเอาแต่จัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง จะเรียกว่าการทำงานเป็นทีมได้ยังไงล่ะ ลองเริ่มต้นด้วยการรับฟังฟีดแบคงานในมือของเราจากคนในทีมดู ว่างานที่ต้องเอาไปประกอบกันในส่วนของเรานี้ มันโอเคหรือยัง แล้วค่อยๆ พัฒนาไปสู่การทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต
ความกังวลจากความกลัวที่จะพลาดอะไรไป (FOMO)
ประชุมรอบนี้เราพลาดอะไรไปหรือเปล่านะ? เขาพูดคุยเรื่องอะไรกันอยู่ ทำไมเราไม่คุ้นเลย? มีโปรเจ็กต์ใหม่ หรืออะไรเจ๋งๆ ที่เราพลาดไปหรือเปล่า? ความกังวลสารพัดที่กลัวว่าเรานั้นจะพลาดข่าวสารหรือพลาดโอกาสอะไรไป อาจทำให้เราเกิดความกังวลจนเกินเหตุ ว่าเรานั้นต้องรู้ทุกเรื่อง ทันทุกเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลา จนเรารู้สึกกระหายที่จะต้องรับรู้ข้อมูลทุกอย่าง จนอาจเกิด Information Overload ได้
รับมืออย่างไรดี? : ถ้าเราเป็นคนที่ชอบจะทันทุกเหตุการณ์ ไม่ใช่เรื่องแย่ เราสามารถติดตามข่าวสารในทีมได้เท่าที่ต้องการ ตราบใดที่มันยังอยู่ในขอบเขตของงานและไม่ใช่เรื่องราวส่วนตัวของผู้อื่น
อาจมีความกังในรูปแบบอื่นๆ อีกมาก แต่สิ่งสำคัญคือ เราต้องรู้ต้นตอของปัญหา ว่าการทำงานกลุ่มที่เรารู้สึกไม่ราบรื่นกับมันนั้น เกิดจากอะไร ปัญหาของมันนั้นอยู่ที่เราหรืออยู่ที่ใคร จับจุดให้ถูกและค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละจุด
อ้างอิงข้อมูลจาก