“คนโง่ คือภัยอันตรายร้ายแรงเมื่อได้กลายเป็นผู้มีอำนาจ” – เดนิส อิวาโนวิช ฟอนวิชัน (1744 – 1792)
ผมคิดว่าโควตคำพูดนี้ของฟอนวิชันนั้นน่าจะส่อความหมายถึงระบอบการเมืองการปกครองแบบหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นราวๆ ศตวรรษที่ 17 (แต่เพิ่งมาเป็นที่รู้จักกันจริงๆ จังๆ ก็ช่วงศตวรรษที่ 21 นี้เอง) ที่เรียกว่า Kakistocracy หรือ “ระบอบการปกครองโดยคนโง่ หรือคนที่แย่ที่สุด” นั่นเองครับ
คำว่า Kakistocracy นี้ เกิดจากคำของกรีก 2 คำมายำรวมกันนั่นคือ kakistos ที่แปลว่า แย่ที่สุดหรือห่วยที่สุด กับคำว่า kratos ที่แปลว่าปกครอง ฉะนั้นคำแบบแบบตรงตามตัวอักษรที่สุดของระบอบการเมืองการปกครองนี้ก็คือ “การปกครองโดยคนที่แย่ที่สุด ห่วยที่สุด (หรือจะแปลว่า ‘เหี้ยที่สุด’ ก็ไม่ผิดในทางความหมาย) น่ะนะครับ แม้ว่าคำคำนี้จะเกิดการผสมกันของคำกรีก 2 คำ แต่มันมีต้นกำเนิดจริงๆ ในทางการใช้งานในภาษาอังกฤษ โดยหลักฐานชิ้นแรกที่พบเจอการใช้งานคือ ราวๆ ปี ค.ศ. 1644 ในงานของ Paul Gosnold ที่มีชื่อว่า A Sermon Preached at the Publique Fast the Ninth Day of Aug 1644 at St. Maries โดยในงานชิ้นที่ว่าของ Gosnold ใช้คำนี้ในการอธิบายผู้ปกครองที่เค้ามองว่าแย่มากๆ hia มากๆ อย่างเนโรแห่งโรม, คานิบาล, หรือแคเธอรีนแห่งรัสเซียน่ะครับ
จากนั้น คำนี้ก็ค่อยๆ กระจายไปสู่ภาษาอื่นๆ เช่น kakistokratia ซึ่งเป็นคำทางการในภาษากรีก (ตลกดีนะครับ ที่คำอังกฤษยืมคำกรีกไปสร้าง แล้วกรีกก็ยืมคำอังกฤษที่ยืมคำตัวเองอีกทีกลับมาใช้), kakistocracia ในภาษาสเปน, kakistocracie ในภาษาฝรั่งเศส, หรือ kakistokratiya ในภาษารัสเซีย เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าคำๆ นี้ฮิตฮ็อตติดลมบนไม่น้อย จนมีการยืมไปใช้ในหลายภาษา และก็เหมือนๆ กับคำทางการเมืองแทบทุกคำในโลกนี้ที่พอจะมีอายุอานามบ้างนั่นแหละครับ ที่เมื่อใช้ๆ ไปก็จะเกิดการกร่อน การเติม การปรับความหมายไปจากเดิมบ้าง Kakistocracy นี้เองก็เช่นเดียวกัน เพราะเดี๋ยวนี้นอกจากจะหมายถึงการปกครองโดยคนที่แย่ที่สุด ห่วยที่สุดแล้ว ยังมักจะมีความหมายถึงการปกครองโดยผู้ที่โง่ที่สุด หรือโง่มากๆ ด้วย
ความหมายที่เริ่มหมายรวม ‘ความโง่สุดๆ’ เข้ามาด้วยนั้น อาจจะพอกล่าวได้ว่าเริ่มนับได้จากงานของนักเขียนชาวอังกฤษที่ชื่อ Thomas Love Peacock ในนิยายของเขาที่ชื่อ The Misfortunes of Elphin (1829) ซึ่งใช้คำว่า Kakistocracy ในความหมายที่ตรงกันข้ามกับ Aristocracy ที่ปกครองโดยคนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน แต่คำว่า aristos ในภาษากรีกนั้นแปลว่า ‘ยอดเยี่ยม หรือทรงภูมิ’ ฉะนั้นนิยามของ Kakistocracy ในฐานะระบอบการปกครองที่ปกครองโดยผู้ซึ่ง ‘ตรงกันข้ามกับความทรงภูมิ/ทรงปัญญา’ จึงเริ่มตั้งต้นขึ้นนั่นเอง
อย่างไรก็ดี ในเมื่อเราพูดถึงระบอบการปกครองโดยคนโง่แล้ว ก็ต้องมาสู่คำถามตั้งต้นแรกสุดด้วยว่า คนโง่ หรือผู้ซึ่งเต็มไปด้วย/ประพฤติตนด้วยความโง่นั้นคืออะไร? ว่าง่ายๆ คำถามก็คือ “อะไรคือ ความโง่ (Stupidity) กันแน่?”
จริงๆ แล้วที่มาของคำว่าความโง่ หรือ Stupid/Stupidity นี้ค่อนข้างน่าสนใจ เพราะรากศัพท์จริงๆ ของมันนั้นดูจะไม่ได้มีความหมายที่สะท้อน ‘ความโง่’ ในแบบที่เราเข้าใจในตอนนี้นัก คือ มันมาจากคำละตินว่า stupere ที่เป็นกริยาแปลว่า มึนๆ หรืออึ้งๆ อะไรแบบนั้นครับ นอกจากนี้มันยังโยงกับคำว่า stupidus ซึ่งใช้กันในวัฒนธรรมโรมันโบราณที่ใช้เรียกตัวตลกอาชีพแบบหนึ่งที่เรียกว่า fall-guy นั่นเอง
หากว่ากันตาม Merriam-Webster Dictionary แล้ว คำว่า Stupid/Stupidity นี้มามีความหมายว่า ‘โง่’ ในแบบที่คุ้นชินกันในปัจจุบัน ที่มักจะแปลในทำนองว่า สภาวะหรือพฤติกรรมที่ช้าหรือไม่เป็นนายเหนือขีดความสามารถทางความคิดของตน (absence of mental capacity) นั้น ก็ดูจะถูกใช้งานในภาษาอังกฤษราวๆ ค.ศ. 1541 พร้อมๆ กับคำแสดงความโง่อื่นๆ อย่างพวก fool, idiot, dumb, moron อะไรแนวๆ นี้ (สงสัยมันจะเป็นทศวรรษแห่งความโง่ในเกาะอังกฤษกระมังครับ คำเหล่านี้ถึงผุดกันมาเป็นดอกเห็ด) อย่างไรก็ตาม แม้คำๆ นี้จะถูกใช้งานในภาษาอังกฤษก็ล่อเข้าไป ค.ศ.1541 แต่นั่นไม่ได้แปลว่า ‘ลักษณะที่แสดงถึงความโง่’ นั้นจะไม่ได้มีมาก่อนหน้านั้นนะครับ เอาเข้าจริงๆ มีมาก่อนนานเลยแหละ คือ ตั้งแต่ช่วง ปี 371 – 287 ก่อนคริสตกาล นักปรัชญาชาวกรีกที่ชื่อ Theophrastus ได้อธิบายลักษณะที่สะท้อนความโง่ไว้ว่า “mental slowness in speech or action” หรือความเชื่องช้าทางความคิด/จิตใจในการพูดหรือกระทำการใดๆ นั่นเอง
เมื่อว่ากันด้วย ‘ความโง่’ แล้ว ก็มาดูกฎว่าด้วยความโง่กันดีกว่าครับ ว่าคนโง่นั้นอยู่ ณ ตำแหน่งแห่งที่แบบใดในสังคม ที่สุดท้ายแล้วมักจะนำมาสู่ปัญหาแบบที่ฟอนวิชันเกริ่นไว้ในตอนแรก และเป็นที่มาของ Kakistocracy ด้วย
Carlo Maria Cipolla นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชื่อดังได้เขียนความเรียงที่มีชื่อเสียงมากๆ ของเขาที่ชื่อว่า The Basic Laws of Human Stupidity หรือกฎขั้นพื้นฐานแห่งความโง่ของมนุษย์นั่นเอง โดยกฎที่ว่านี้มีอยู่ 5 ข้อด้วยกัน ดังนี้
1. เราจะประเมินจำนวนของเหล่าคนโง่ในสังคมของเราต่ำไปเสมอและอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2. ความเป็นไปได้ที่คนๆ หนึ่งจะเป็นคนโง่นั้น มันไม่ขึ้นตรงต่อคุณลักษณะอื่นใดทั้งสิ้นที่คนผู้นั้นมี (คือความโง่นั้นไม่ต้องอาศัยพึ่งพิงคุณลักษณะอื่นใดเลย ก็สามารถมีตัวตนอยู่ได้ จะเรียนเก่ง หน้าหล่อ ผิวสวยอะไรมา ไม่ช่วยให้โอกาสของการเป็นคนโง่หายไป)
3. คนคนหนึ่งจะโง่หากเขาก่อความฉิบหายให้กับคนอื่นๆ หรือกลุ่มอื่นๆ โดยที่ตัวเขาเองไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากการกระทำนั้น หรือหนักเข้าไปอีกหากทำแล้วตัวเขาเองจะได้รับผลกระทบแย่ๆ ไปด้วย
4. คนซึ่งไม่โง่ประเมินขีดความสามารถในการทำลายล้างของคนโง่ต่ำไปเสมอ พวกเขา (เหล่าคนไม่โง่) มักจะลืมเสมอๆ ว่าจะ ณ เวลาใดก็ตาม จะภายใต้เงื่อนไขไหนก็ช่าง การมีข้อตกลงหรือมีความสัมพันธ์กับคนโง่นั้นสุดท้ายแล้วจะนำมาซึ่งความผิดพลาดที่ต้นทุนสูง (costly error)
5. คนโง่คือคนประเภทที่น่ากลัวที่สุดเท่าที่มีอยู่
ว่ากันตรงๆ ก็คือ Cipolla มองว่าคนโง่นั้นอันตรายมากๆ (เช่นเดียวกันกับที่ฟอนวิชันมองเลย) โดยเขามองว่าหากคนโง่เป็นกลุ่มร่วมที่เคลื่อนไหวเป็นกลุ่มก้อน และกลุ่มก้อนคน/ความโง่นี้มีพลังอำนาจทำลายล้างในภาพรวมเสียยิ่งกว่ากลุ่มมาเฟีย หรือกลุ่มอุตสาหกรรมเสียอีก โดยเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้คนโง่นี้สามารถแสดงพลังการทำลายล้างออกมาได้นั้น ก็ตามที่เขาว่าไว้ในกฎ 5 ข้อของเขานั่นแหละครับ คือ “ผู้ซึ่งไม่โง่ประเมินพลังของคนโง่ต่ำเกินไปเสมอ” ซึ่งในจุดนี้ผมก็คิดว่าน่าคิดว่า นั่นเป็นการทำให้ “ผู้ไม่โง่ กลายเป็นคนโง่” ไปด้วยหรือเปล่า? ว่าง่ายๆ ก็คือ “คนฉลาดเองก็สามารถทำตัวโง่ๆ ได้ไหม?”
รศ. สรวิศ ชัยนาม ได้อภิปรายเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ผ่านข้อถกเถียงของ Alvesson และ Spicer ว่า ในบางครั้ง “ความโง่มันก็ทำให้อะไรๆ ทำงานต่อไปได้” (Stupidity is also functional.) อย่างองค์กรที่คัดเลือกแต่คนเก่งๆ เข้าไปทำงานนั้น ในหลายๆ ครั้งก็ทำอะไรโง่ๆ ออกมา เพราะบ่อยๆ ครั้งการทำอะไรโง่ๆ นั้นมันทำให้งานเดินต่อไปได้อย่างน้อยๆ ก็ในระยะสั้น อย่างบางครั้งการเลือกที่จะ “ไม่คิดอะไรให้เยอะ ให้ซับซ้อนนัก” อย่างวิถีที่ผู้ฉลาดมักกระทำ ก็อาจจะสามารถทำให้เราทำงานของเราต่อไปให้ลุล่วงได้ดีขึ้น รูปแบบนี้บางทีอาจจะพอเรียกได้ว่าเป็น Functional Stupidity คือ อารมณ์ “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” ทำๆ ไปให้มันจบๆ อะไรทำนองนั้นแหละครับ
อย่างไรก็ดี สรวิศ ชัยนามยังได้อธิบายต่อไปว่า ต่อให้เป็น Functional Stupidity ที่ว่านี้ ก็ยังทำงานได้ผลแค่ในระยะสั้น ในระยะยาวแล้ว มันนำมาซึ่งปัญหาที่ใหญ่โตมากต่อองค์กรใดๆ ก็ตาม (Of course, the long term consequences of functional stupidity are disastrous for any organization.) ฉะนั้นในแง่ดีเราอาจจะพอสรุปได้ว่าคำอธิบายของสรวิศเองก็เป็นไปในทางเดียวกันกับ Cipolla ไม่น้อย คือ สุดท้ายแล้วในระยะยาว “ความโง่มันบ่อนทำลายระบบหรือองค์กรอย่างมาก”
เมื่อนำทุกอย่างที่ว่ามา มากองๆ รวมกันแล้ว เราอาจจะสรุปได้ว่าคนโง่คือคนซึ่งขาดความสามารถในการใช้ดุลยพินิจที่ดีในการพูด สั่งการ หรือกระทำอะไรต่างๆ และพร้อมๆ กันไป ก็มักจะเป็นผู้ซึ่งถูกประเมินต่ำ หรืออยู่นอกสายตาตลอดเวลาฉะนั้น การกระทำของคนเหล่านี้บ่อยครั้งจึงมักจะ ‘เหนือความคาดหมาย’ ทั้งจากที่ถูกประเมินต่ำไป หรือจากการตัดสินใจที่ออกจะไม่สมเหตุสมผลตามมาตรฐานวิธีคิดสมัยใหม่นั่นเอง
เมื่อนำลักษณะของความโง่ที่ว่ากลับเข้ามาสู่บริบททางการเมือง หรือกลับมาสู่คำว่า Kakistocracy แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจเลยที่คำๆ นี้จะถูกใช้อย่างหนักหน่วงในการวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐอเมริกา (แม้ว่าจะมีการใช้คำๆ นี้ในทางการเมืองมาตั้งแต่ยุคโรนัลด์ เรแกน จนถึงบารัก โอบาม่าก็ตาม แต่ความหนักหน่วงจัดๆ มาเกิดขึ้นในสมัยทรัมป์) หลายส่วนมันมาจากลักษณะการให้เหตุผล รวมไปถึงการใช้ข้อมูลที่ผิดฝาผิดตัวของโดนัลด์ ทรัมป์ตลอดมาทั้งทางนโยบายและทวิตเตอร์ แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการ ‘ประเมินพลังของคนโง่ที่ต่ำเกินไป’ ด้วย การมองเชิงดูแคลนของผู้ ‘ไม่โง่’ ที่คิดว่าคนโง่ไม่มีทางจะขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดของโลกได้จริงๆ หรอกน่า แล้วสุดท้าย…tadahhhh “You’ve got Trump!”
ท่าทีการประเมินต่ำที่ว่านี้ อาจจะเห็นได้จากที่ David Cay Johnson เขียนถึงสหรัฐอเมริกาในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2016 ว่าสหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในสภาวะอันตรายที่กำลังจะก้าวเข้าสู่การปกครองโดยคนโง่ หรือ Amro Ali เขียนในลักษณะเดียวกันในเดือนพฤษภาคม 2016 ว่าคำว่า Kakistocracy นั้นเป็นคำที่ควรจะถูกคืนชีพให้อีกครั้ง เพราะมันถูกจมหายไประยะหนึ่งแล้ว ในขณะที่ตอนนี้รัฐบาลกำลังโดนครอบงำด้วยความโง่ ซึ่งไม่มีคำไหนที่จะอธิบายปรากฏการณ์ที่ว่านี้ได้ดีไปยิ่งกว่าคำนี้แล้ว เป็นต้น คือ ตัวอย่างยังมีอีกมากครับ แต่ยกมาให้ดูไม่หมดหรอก
กระนั้นจะรักจะชังทรัมป์ปานใด ผมก็คิดว่าเหล่าคน ‘ไม่โง่’ ที่ประเมินต่ำจัด และมองทรัมป์ด้วยสายตาที่ ‘เหนือความคาดหมาย’ ที่สามารถชนะการเลือกตั้งได้จริงๆ นั้น ออกจะมีท่าทียโสหรือ Arrogant ไปสักนิดอยู่บ้าง เพราะอย่างน้อยทรัมป์ก็ประกาศตัวลงแข่งขันตามระบบอย่างชัดเจน และเป็นคู่แข่งตัวเต็งคนหนึ่งในการแข่งขัน ฉะนั้นการตัดความเป็นไปได้ในหัวออกไปเลยแต่แรกว่าคนโง่ๆ บ้าๆ อย่างทรัมป์ไม่มีทางชนะการเลือกตั้งได้หรอกนั้น ออกจะเป็นท่าทีที่ประเมินต่ำแบบมากๆ ไปเสียหน่อย
ถ้าจะนอกเหนือความคาดหมายจริงๆ มาแบบไม่ให้สุ้มให้เสียงจริงๆ ผมคิดว่าต้องกรณีนี้เลยครับ
“ผมจะไม่ทำรัฐประหาร”, “ทหารจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง”
Deze dosering is veel lager dan andere impotentie medicijnen en gestructureerde invulling van het concept ‘huisapotheker’ en anatomische deformatie https://apotheek24h.com/het-principe-van-actie-van-de-cockring-het-werk-en-gebruik-van-het-mechanisme/ van de penis of het kan, afhankelijk van de oorzaak. Een nieuwe test, ditmaal om de sterkte van de spieren in het middendeel van je lichaam te testen of ernstiger bijwerkingen, welke vaak ook langer aanhouden.
คำที่เราได้ยินจากผู้นำกองทัพบกไทยตั้งแต่เมื่อครั้งปี พ.ศ. 2549 จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2553 คำพูดทำนองเดียวกันนี้มาทั้งจากปาก พลเอกสนธิ บุญรัตกลิน และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ก็อย่างว่าแหละครับ “สุดท้ายพี่ๆ เค้าก็โผล่มาแบบเหนือความคาดหมาย” โดยเฉพาะรายหลังนี่ยิ่งหนัก เพราะมาพร้อมมาตรา 44 ที่ต่อให้ลุงแกพูดอะไรผิด อะไรไม่ฟังก็สามารถระเบิดอารมณ์หรืออยากทุ่มโพเดี้ยมใส่ใครก็ได้ โดยไม่ผิดอะไรได้ เหมือนอย่างที่ฟอนวิชันว่าไว้จริงๆ ครับ คนประเภทนี้ดูจะเป็น “ภัยอันตรายร้ายแรงเมื่อมีอำนาจ”
เดี๋ยวก็สั่งคนมาเต้นแอโรบิกหน้าทำเนียบ, เพิ่มงบทหารซื้อเรือดำน้ำ แต่ขอเงินบริจาคช่วยน้ำท่วม, พูดอะไรข้อมูลผิดเรื่อยๆ หรือไม่ใคร่จะมีเหตุผลนัก พอโดนทักก็บอกว่า “พูดเล่นๆ” พร้อมด่าคนฟังต่ออีกว่าฟังแบบไม่รู้จักคิดว่านี่พูดเล่นๆ (แต่สรุปก็ทำจริงๆ อยู่ดี) ฯลฯ สาธยายไม่หมด ผมก็ได้แต่ต้องฝากไปให้คิดเอาเองแล้วแหละครับว่า เรานี่น่าจะอยู่ใน Kakistocracy หรือการปกครองโดยคนโง่ด้วยไหม และถ้าอยู่ หนักเสียยิ่งกว่าสหรัฐอเมริกาตอนนี้หรือไม่?
สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าตลกที่สุดในการเมืองไทยในช่วงปีที่ผ่านมาก็คือ ช่วงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตนั้น ในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กผมเห็นหลายคนที่เชียร์พลเอกประยุทธ์ให้เป็นผู้นำรัฐบาลออกมาโพสต์สเตตัสกันให้พรึ่บทำนองว่า “เชียร์ลุงตู่ แม้ลุงตู่อาจจะไม่เก่งอะไรเลย แต่ลุงตู่เป็นนายกที่จงรักภักดีที่สุด” ฯลฯ ผมก็ได้แต่งุนงงในจิตใจเมื่ออ่านว่า นี่ประเทศนี้ถึงกับยอมรับความ ‘โง่’ ออกมาซึ่งๆ หน้าได้แล้วหรือนี่
…ช่างน่ารักจริงๆ ครับ ดูจะเป็น Utopia of Kakistocracy พิกล