ในเอกสารเก่าจากหอหลวงที่เรียกกันว่า ‘คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม’ ซึ่งเป็นเอกสารยุคปลายกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นราวรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 หรือที่คุ้นกันมากกว่าในพระนามของ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2275-2301) มีข้อความระบุถึง ‘งานพระเมรุ’ ส่วนหนึ่งในงานพระบรมศพเอาไว้ว่า
“…ระหว่างระธา (ระธา หรือระทา คือ หอสูงประดับดอกไม้ไฟนานาชนิด) มีโรงระบำ 15 โรง หน้าระธาใหญ่มีเสาไม้สามต่อ 12 ต้น เสาต่ายลวด (คือ เสาสำหรับกายกรรมไต่ลวด) 4 ต้น เสาหกคะเมนเท้าชี้ฟ้า 4 ต้น เสายืนรำแพน 4 ต้น รวมเปน 12 ต้น หน้าเสาไม้สามต่อมีไม้ลอยลวด เลอลวดลังกา มีคมดาบค้อนนอนหอกดาบ ลอดบ่วงเพลิง กะอั้วแทงควาย กุลาตีไม้ โมงครุมารเล่นอีกหลายอย่างต่างๆ แลมี โขน หุ่น งิ้ว ละคร สิ่งละสองโรง ละครชาตรี เทพทอง มอญรำ เพลงปรบไก่ เสภา เล่านิยายอย่างละโรง พระเมรุเอกมีอาการดังกล่าวมาแล้วนั้น…”
พูดง่ายๆ ว่า ในงานพระเมรุ ต้องมีการ ‘มหรสพ’ หรืองาน ‘รื่นเริง’ ประกอบเป็นเหมือนกับ ‘เครื่องยศ’ อยู่ด้วย
ที่สำคัญคือข้อความตอนนี้ พรรณนาถึง ‘พระเมรุเอก’ ซึ่งเป็นพระเมรุชั้นสูงกว่าพระเมรุโท และพระเมรุตรี จึงนับว่าเป็นพระเมรุชั้นสูงที่สุด แน่นอนว่าเป็นพระเมรุที่ใช้สำหรับพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ
ส่วนที่เรียกเอกสารชิ้นนี้ว่า ‘คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม’ เป็นเพราะภายในมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชพิธีลงสรงเจ้าฟ้า และพิธีโสกันต์เจ้าฟ้า ของเจ้าฟ้าอุทุมพรบวรราชกุมาร ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์หนึ่งในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ต่อมาพระราชโอรสพระองค์นี้ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา ทรงพระนามว่า ‘สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร’ (ครองราชย์ พ.ศ. 2301) แต่ครองราชย์อยู่เพียงเดือนเศษก็สละราชสมบัติ แล้วผนวชอยู่ที่วัดประดู่ทรงธรรม จึงเรียกเอกสารชิ้นนี้ว่า เป็นคำให้การของ ‘ขุนหลวง’ ผู้ผนวชที่ ‘วัดประดู่ทรงธรรม’ ซึ่งในหลายๆ โอกาสก็มีการเรียกพระองค์ว่า ‘ขุนหลวงหาวัด’ ด้วยเช่นกัน
เอกสารอีกชิ้นหนึ่ง เรียกกันว่า ‘คำให้การขุนหลวงหาวัด’ เป็นเอกสารที่แปลมาจากภาษามอญ (ซึ่งก็แน่นอนด้วยว่า เพราะมีข้อสันนิษฐานว่า สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรทรงให้การด้วยพระองค์เอง เมื่อทรงถูกกวาดต้อนไปยังพม่าเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาแตก จึงเรียกเอกสารชิ้นนี้ว่าเป็นคำให้การของ ขุนหลวงหาวัด) ก็มีข้อความเรื่องการมหรสพในงานพระเมรุ เช่นเดียวกับในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ผิดจากกันไปเพียงไม่กี่ตัวอักษรเท่านั้น
แต่ไม่ว่าพระเจ้าอุทุมพรจะทรงเป็นผู้ให้การในเอกสารชิ้นนี้หรือไม่ก็ตาม ก็คงจะไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่า งานพระเมรุในสมัยปลายอยุธยานั้น มีการมหรสพเริงรื่นอยู่แล้ว?
การมหรสพในงานพระเมรุยังคงมีต่อเนื่องมาจนในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งก็มีการมหรสพแตกต่างกันไปตามแต่ละยุคสมัย ดังปรากฏหลักฐานอยู่มากทั้งในเอกสารราชการ และงานวรรณกรรม
งานวิจัยบางชิ้นได้ทำการศึกษาข้อมูลเรื่องมหรสพต่างๆ ในเอกสารที่ว่าถึงงานพระเมรุเหล่านี้ แล้วได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า มหรสพต่างๆ ในงานพระเมรุนั้น มักจะเป็นการมหรสพของชาวบ้านสามัญชน มากกว่ามหรสพของราชสำนัก ประชาชนที่ไปร่วมงานพระเมรุ จึงควรจะรู้สึกสนุกสนานและบันเทิง มากกว่าที่จะไปชมความงดงามของศิลปะการร้องอย่างหลวง ท่ารำอันวิจิตร หรือเครื่องแต่งกายตัวละครอันประณีต
ตัวอย่างเช่น ในดาวเรืองกลอนสวด มีการกล่าวถึง ผู้คนที่ไปดู ระบำมอญ ในงานพระเมรุ ที่ ‘รำร่ากรีดกราย แยกท่าขาอ่อน ล่อนจ้อนใจหาย’ เสียจน ‘เจ้าเจ๊กจีนใหม่ อดรนทนไม่ได้ น้ำลายไหลออกมา’ เช่นเดียวกับอีกตอนที่ว่า ‘ปรบไก่ใส่อึง เสียงด่าแม่มึง แจ้วจ้าฮาลั่น พระรถเมรี ถึงที่สวนขวัญ กินเหล้าเท่านั้น ควรหรือเมามาย’ ในขณะที่มะโนราคำกาพย์ มีข้อความระบุว่า ‘เทบทองสองคน ดูดีชอบกน ถือพัดคอเอียง หญิงแก้กับชาย แยบคายบ่ายเบี่ยง ปรายเปรียบเรียบเรียง ลดเลี้ยวเกี้ยวพาน’ เป็นต้น
งานพระเมรุ เป็นส่วนหนึ่งของงานพระบรมศพ ดังนั้นในประเพณีไทยสยามแต่ดั้งเดิม พิธีบรมศพจึงไม่ได้มีแต่ส่วนที่เศร้าโศกแต่ถ่ายเดียว ที่เป็นอย่างนี้มีคำอธิบายอยู่ใน ‘โคลงถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิพระเจ้าหลวง’ ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กับเจ้าจอมมารดาพุ่ม) ดังความที่ว่า
“พลเมืองทั้งหนุ่มเถ้า (คือ เฒ่า) ปานกลาง
แต่งสกนธ์กายางค์ ย่างเยื้อง
มาเมิลมะหุสพางค์ สมโภช ไซ้นา
รมเยศเจตนาเปลื้อง ปลิดเศร้าใจเกษม”
พูดง่ายๆ อีกทีว่า การมหรสพรื่นเริงต่างๆ งานพระเมรุ หรืองานพระบรมศพ มีเจตนา (อย่างน้อยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ก็ทรงเข้าใจและอธิบายเอาไว้อย่างนั้น) เพื่อ ‘ปลิดเศร้าใจเกษม’ คือให้ประชาราษฎร์คลายทุกข์โศก และเบิกบานใจ นั่นเอง
หมายเหตุจากกองบก.
บทความนี้มิได้ลงเพื่อต้องการให้เกิดความแตกแยกใดๆ และเข้าใจถึงบริบทไทยในปัจจุบันว่าอยู่ในช่วงเวลาแห่งความโทมนัสยิ่ง หากแต่เป็นเพียงการแสดงให้เห็นถึงธรรมเนียมและวิถีประเพณีของอดีตเท่านั้น ว่างานเริงรื่นบางประการ มีเพื่อให้ประชาราษฎร์คลายทุกข์โศก และดำเนินชีวิต เพื่อทำงาน พัฒนาประเทศชาติต่อไปได้ หากทำด้วยความเหมาะสมต่อกาล