สหรัฐฯ ถอนตัวจากสงครามในเวียดนาม สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ที่นั่งในสหประชาชาติ (United Nations) แทนสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) จับมือกับ เหมา เจ๋อตง (Mao Zedong) ในช่วงฟื้นฟูความสัมพันธ์ (Rapprochement)
เหล่านี้คือบรรยากาศการเมืองโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ภายใต้สงครามเย็น ในช่วงต้นและกลางทศวรรษ 1970
ทำให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นต้องพิจารณาการปรับความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งมีพรรคคอมมิวนิสต์จีนปกครองอยู่เสียใหม่ จากเดิมที่รัฐบาลภายใต้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ จอมพลถนอม กิตติขจร ในทศวรรษ 1950-1960 มีท่าทีต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ อย่างแข็งขัน จนถูกเรียกในวงวิชาการว่าเป็น ‘ยุคอเมริกัน’ (American Era)
จนนำมาสู่การปรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนให้เป็นปกติ (normalization) กลายเป็นการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต โดยการลงนามแถลงการณ์ร่วม ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ระหว่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับ โจว เอินไหล (Zhou Enlai) นายกรัฐมนตรีของไทยและจีนขณะนั้น เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1975
จนถึงวันนี้ รัฐบาลไทยและจีนเตรียมเฉลิมฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 50 ปี ในปี 2025
The MATTER ชวนแกะรอยเหตุการณ์ที่นำไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ ที่ประกอบด้วยเหตุการณ์อย่างการลงนามร่วมกันระหว่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กับ โจว เอินไหล รวมถึงการพบและจับมือกันของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ และ ‘ประธานเหมา’ ด้วย
ก่อนจะสถาปนาความสัมพันธ์
โจทย์ใหญ่ขณะนั้นคือการเมืองโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
กรกฎาคม 1969 ระหว่างทัวร์เยือนหลายประเทศในเอเชีย ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ริชาร์ด นิกสัน ประกาศหลักการ ‘ลัทธินิกสัน’ (Nixon Doctrine) ที่เกาะกวม ใจความหลักคือ สหรัฐฯ จะไม่ส่งทหารช่วยเหลือพันธมิตรอย่างเต็มรูปแบบอีกต่อไป แต่จะเน้นช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและอาวุธยุทโธปกรณ์แทน
ลัทธินิกสันนี้ยิ่งถูกตอกย้ำในเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน เมื่อประธานาธิบดีนิกสันประกาศนโยบาย ‘การทำให้เป็นของเวียดนาม’ (Vietnamization) หรือก็คือ ทำให้สงครามเวียดนามเป็นเรื่องของเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้เอง โดยสหรัฐฯ ค่อยๆ ลดบทบาท และถอนกำลังออกไปในที่สุด
เรื่องเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อไทย ตรงที่ขาดกำลังสำคัญอย่างสหรัฐฯ ในการต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์
ขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีน (PRC) ก็เริ่มที่จะกลับมามีความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (United Nations General Assembly) ที่มีข้อมติที่ 1668 เมื่อปี 1971 โดยให้สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็น ‘ผู้แทนที่ชอบธรรมเพียงหนึ่งเดียว’ ในสหประชาชาติ แทนที่สาธารณรัฐจีน หรือไต้หวัน
เตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย นักการทูตและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งในช่วงเวลานั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองเอเชียตะวันออก กรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ เคยเล่าบนเวที ภาพยนตร์สนทนา ‘45 ปี คึกฤทธิ์เยือนจีน’ จัดโดยหอภาพยนตร์ ระบุว่า หากใครติดตามสถานการณ์ในสงครามเวียดนาม ย่อมทราบว่า ทุกอย่างจะต้องเปลี่ยนแปลงไปแล้ว
อย่างไรก็ดี ในขณะนั้น รัฐบาลไทยยังคงสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ภายหลังวันเสียงปืนแตก เมื่อปี 1965 หรือ พ.ศ. 2508 และไทยเองก็ยังคงมีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 53 ที่ลงนามโดยจอมพลสฤษดิ์ ห้ามนำเข้าหรือขายสินค้าที่มาจาก ‘ประเทศจีนคอมมิวนิสต์’ ตั้งแต่ปี 1959 หรือ พ.ศ. 2502
เตชเล่าว่า สงครามในตะวันออกกลางทำให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงอย่างมาก จนทำให้ไทยต้องหาผู้ผลิตทดแทน ซึ่งไทยแก้ปัญหาด้วยการหันมาซื้อจากจีน เหตุการณ์นี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ทำให้รัฐบาล โดยมี พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว และไปเจรจาขอซื้อมันดิบจากจีนได้ 30,000 ตัน ในราคามิตรภาพ เมื่อปี 1973
หลังจากนั้น ไทยเริ่มพัฒนาความสัมพันธ์กับจีนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังเน้นในแง่วัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนทางกีฬา โดยที่การดำเนินงานเพื่อปรับความสัมพันธ์ให้เป็นปกติ (normalization) ระหว่างไทยกับจีน เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 1973 แต่ก็ยังไม่แล้วเสร็จ
ปัจจัยสำคัญคือ รัฐบาลที่นำโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในฐานะนายกรัฐมนตรี จากพรรคกิจสังคม ซึ่งประกาศในการหาเสียงเลือกตั้งอย่างชัดเจนว่าต้องการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน
“คุณต้องมีการตัดสินใจทางการเมือง” เตชเล่าในหนังสือ Thai Diplomacy: In Conversation With Tej Bunnag “คุณไม่สามารถปล่อยให้การปรับความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นเรื่องของข้าราชการได้ เพราะข้าราชการไม่ว่าจะพลเรือนหรือทหาร มีวิธีทำให้การตัดสินใจล่าช้าออกไป ถ้าไม่มีคำสั่งจากด้านบน”
เตชเล่าในหนังสือเล่มเดียวกันว่า เหตุการณ์สุดท้ายที่เป็นจุดพลิกผัน คือการกู้เรือบรรทุกสินค้าอเมริกัน ‘เอสเอส มายาเกซ’ (SS Mayaguez) ซึ่งถูกยึดไปโดยกองกำลังเขมรแดง
ในกรณีดังกล่าว กองทัพไทยอนุญาตให้กองทัพสหรัฐฯ ใช้ท่าเรือสัตหีบเป็นฐานทัพในการกู้เรือโดยไม่ได้ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทำให้ อานันท์ ปันยารชุน เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ถูกเรียกตัวกลับมาเพื่อปรึกษารือ ซึ่งต่อมา พลตรีชาติชายในฐานะ รมว.กต. ก็ได้มอบหมายให้อานันท์เป็นหัวหน้าคณะเจรจาขั้นสุดท้าย ในการปรับความสัมพันธ์กับจีน
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เยือนจีน
วันที่ 30 มิถุนายน 1975 คณะผู้แทนไทย นำโดยนายกฯ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง ประเทศจีนเป็นครั้งแรก เพื่อเตรียมสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน เตช ซึ่งเป็นนักการทูตที่ร่วมอยู่ในคณะนี้ เล่าว่า น่าจะเป็นเที่ยวบินแรกที่บินตรงจากกรุงเทพฯ ถึงปักกิ่ง โดยบินผ่านเวียดนามเหนือด้วย
มุ่งหน้าจากสนามบินเข้าสู่กรุงปักกิ่ง เตชเล่าว่า ขณะนั้นอยู่ในระยะสุดท้ายของการปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural Revolution) ทุกคนถูกบังคับใส่เสื้อเหมือนๆ กัน ไม่มีรถรา มีเพียงรถทางการกับรถทหารเท่านั้น คืนวันที่ 30 มิถุนายน ทางฝ่ายจีนเตรียมงานเลี้ยงต้อนรับฝ่ายไทย โดยมี เติ้ง เสี่ยวผิง (Deng Xiaoping) รองนายกรัฐมนตรีของจีนในขณะนั้น เป็นเจ้าภาพต้อนรับ
“ทางฝ่ายไทยเรา สำหรับงานเลี้ยงคืนวันนั้น เราก็ขนเบียร์สิงห์ ขนแม่โขง ไปเลี้ยง แล้วก็ขนทุเรียนไปเลี้ยงด้วย แต่ทางฝ่ายจีนเขาไม่ยอมปอกทุเรียนมาเลี้ยงในคืนวันนั้น เพราะทุเรียนเป็นของร้อน จะไม่เข้ากันกับสุราที่เขาเลี้ยง สมัยก่อนยังมีการชนแก้ว ใช้เหล้าขาว ‘เหมาไถ’ (Maotai) กันมากมาย” เตชเล่าบนเวทีภาพยนตร์เสวนา
ภายในงานดังกล่าว มีการกล่าวสุนทรพจน์โดยรองนายกฯ เติ้ง และนายกฯ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ด้วย ซึ่งเตชตั้งข้อสังเกตว่า คำปราศรัยของเติ้งเน้นหนักในการเป็นคำปราศรัยทางการเมือง ประณามฝ่ายจักรวรรดินิยม ที่แม้ไม่ได้เอ่ยชื่อตรงๆ แต่ก็ย่อมหมายถึงสหรัฐฯ
ขณะที่คำปราศรัยของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ที่ได้เตรียมไป ก็เป็นการพูดแบบ “ภาษาดอกไม้ ภาษาการทูต” โดยทางฝ่ายไทยไม่ทราบมาก่อนว่า เติ้งจะพูดในลักษณะการเมืองอย่างมากขณะนั้น “ก็ดีที่เราก็ได้ฟังว่าทัศนคติของจีนต่อเหตุการณ์ในโลกขณะนั้นเป็นอย่างไร” เขากล่าว
จนกระทั่งวันที่ 1 กรกฎาคม 1975 ที่ทำเนียบจงหนานไห่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ร่วมกับ โจว เอินไหล นายกฯ ของจีน ซึ่งแม้จะป่วยหนัก แต่ก็ยืนยันว่าต้องมาด้วยตนเอง ก็ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วม สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีนอย่างเป็นทางการ
แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวได้สะสางประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เคยเป็นอุปสรรคต่อการสถาปนาความสัมพันธ์แทบทุกประเด็น เรื่องแรกคือความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งข้อ 2 ของแถลงการณ์ร่วมระบุว่า ระบบการปกครองของแต่ละประเทศเป็นเรื่องภายใน จะต้องไม่มีการแทรกแซงจากภายนอก
อีกประเด็นคือเรื่องสัญชาติของคนเชื้อสายจีนในไทย ซึ่งรัฐบาลจีนประกาศในข้อ 8 ของแถลงการณ์ร่วมว่า จะไม่ยอมรับการถือ 2 สัญชาติ เท่ากับว่า คนเชื้อสายจีนที่ถือสัญชาติไทยแล้ว จะต้องละทิ้งสัญชาติจีนโดยอัตโนมัติ ข้อสรุปดังกล่าวจึงเป็นที่พอใจแก่ฝ่ายไทย
ภายหลังการลงนาม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ยังมีโอกาสได้เข้าพบกับ เหมา เจ๋อตง ด้วย เตชเล่าว่า การเข้าพบไม่ได้อยู่ในกำหนดการ และมีการแจ้งอย่างกะทันหัน เนื่องจากเหมาชราอย่างมาก แพทย์ต้องประเมินว่าสามารถรับแขกได้หรือไม่
การพบปะกันคราวนั้นยังคงเป็นที่กล่าวขานจนถึงปัจจุบัน อานันท์ ปันยารชุน อ้างอิงหนังสือ 35 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน พ.ศ. 2518-2553 โดย จุลชีพ ชินวรรโณ ซึ่งบันทึกบทสนทนาครั้งนั้นเอาไว้ว่า เหมาได้ทักทายว่า “ท่านนายกฯ มาหาคอมมิวนิสต์อย่างข้าพเจ้า ไม่รู้สึกกลัวหรือ”
“หามิได้ ข้าพเจ้าเลื่อมใสท่านประธานเหมามานานแล้ว ข้าพเจ้ามิใช่คอมมิวนิสต์ แต่ข้าพเจ้ามาหาเพื่อน” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ตอบ
ในตอนท้าย เหมากล่าวด้วยว่า ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง อีกไม่นานก็จะตาย จึงทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กล่าวว่า “อย่าพูดเช่นนี้เลย โลกมนุษย์มิอาจขาดผู้ร้ายหมายเลขหนึ่งอย่างท่านได้” ทำให้ ‘ประธานเหมา’ หัวเราะลั่น
“เป็นการพลิกนโยบายครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็ว่าได้” สุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนชึ่งได้ร่วมคณะของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เดินทางไปจีนในครั้งนั้นด้วย กล่าวไว้บนเวทีภาพยนตร์สนทนาเดียวกันของหอภาพยนตร์
“งานส่วนนี้เป็นงานประวัติศาสตร์จริงๆ ผมก็ดีใจที่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณอานันท์ และคุณเตช บันทึกเอาไว้ว่า ช่วงนั้น กระบวนการตัดสินใจไม่ง่าย ตอนนี้เราอาจจะมองไม่ออกหรอกว่ามันจะยากเย็นอะไร แต่ขณะนั้น การที่ประเทศไทยจะไปเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน มีจุดละเอียดอ่อนหลายด้าน รวมทั้งฝ่ายความมั่นคงของเราด้วย” สุทธิชัยให้ความเห็น
50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน
“จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” การเปิดความสัมพันธ์ในปี 1975 ถือเป็นการตอกย้ำคำกล่าวทางการทูตข้างต้น ซึ่งต่อมาก็ถูกใช้อย่างกว้างขวางทั้งโดยฝ่ายไทยและจีน
บทความ Blood Is Thicker Than Water: A History of the Diplomatic Discourse “China and Thailand Are Brothers” โดย Kornphanat Tungkeunkunt and Kanya Phuphakdi ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Asian Perspective โดย Johns Hopkins University Press ชี้ว่า คำกล่าวในลักษณะนี้มีมาตั้งแต่ก่อนการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตแล้ว แต่ในระยะหลังถูกใช้โดยรัฐบาลของทั้งสองเป็นพื้นฐานคำอธิบายให้กับประชาชน ต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ เพื่อตอกย้ำความลึกซึ้งของความสัมพันธ์ไทย-จีน
ในปัจจุบัน เราก็ยังคงเห็นคำกล่าวในลักษณะนี้อยู่
ปี 2025 จะเป็นปีที่ครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ ซึ่งเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้จัดงานเปิดตัวตราสัญลักษณ์ 50 ปีความสัมพันธ์ฯ ทำให้เราได้เห็นการแสดงท่าทีระหว่างทั้งสอง ในลักษณะที่ตอกย้ำถึงมิตรภาพและความเป็นพี่น้องแบบเดียวกับที่กล่าวมาข้างต้น
มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในงานว่า “ไทยกับประเทศจีนก็ได้เดินทางเคียงคู่กัน มีความร่วมมือกันมาโดยตลอด 50 ปี ต่างฝ่ายต่างเสริมสร้างมิตรภาพในทุกๆ ระดับ ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านปัญหา ผ่านความยากลำบาก ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มาโดยตลอด ต่างฝ่ายต่างสนับสนุนให้เกิดความเจริญก้าวหน้าระหว่างกัน และได้มีความร่วมมือในด้านต่างๆ บนพื้นฐานของความเข้าใจ และการเคารพซึ่งกันและกัน รวมทั้งนำมาซึ่งผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างทั้ง 2 ประเทศ
“ความสัมพันธ์ที่ได้กล่าวมา แนบแน่น และเปรียบเสมือนดังเป็นผู้ใกล้ชิด หรือเป็นญาติสนิท สมดังคำกล่าว ที่พูดกันเสมอมาว่า จีนไทย ใช่อื่นไกล เป็นพี่น้องกัน”
เช่นเดียวกับ อู๋ จื้ออู่ (Wu Zhiwu) อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ในวาระครบรอบ 50 ปีว่า “อยากเชิญชวนให้ประชาชน หน่วยงานต่างๆ มาร่วมกับเรา มาเฉลิมฉลอง โอกาสที่สำคัญระหว่างประเทศของเราทั้งสอง
“เพื่อจะได้ให้มิตรภาพอันดีระหว่างเราทั้ง 2 ที่สืบทอดมาจากโบราณกาลนับพันปีนั้น สามารถที่จะเกิดผลประโยชน์ที่แท้จริงให้กับประชาชนของเราทั้งสอง ในปัจจุบัน และนำไปสู่อนาคตที่ดีกว่านี้”