เชื่อว่าหลายคนในนี้รู้จักเว็บไซต์ Change.org เป็นอย่างดี ในฐานะเว็บไซต์ที่รวบรวมแคมเปญรณรงค์ประเด็นทางสังคมต่างๆ ที่พวกเราต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง แพลตฟอร์มของ Change.org มีผู้ใช้จากกว่า 196 ประเทศทั่วโลก ในประเทศไทยเราเองก็เป็นที่รู้จักจากหลายๆ เหตุการณ์ด้วยกัน หลายครั้งแคมเปญรณรงค์จาก Change.org เองก็ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน จนเกิดการนำเสนอและต่อยอดในประเด็นนั้นๆ ต่อไป
ตัวอย่างประเด็นดังๆ ที่ Change.org เข้ามามีบทบาทก็เช่น ประเด็นเขื่อนแม่วงก์ ประเด็นต่อต้านซิงเกิลเกตเวย์ (รอบที่แล้ว) ประเด็นน้องคาร์เมน ประเด็นพ.ร.บ.คู่ชีวิต ประเด็นการสอบสวนคดีนักท่องเที่ยวเกาะเต่า ประเด็นยกเลิกการสอบ U-NET ประเด็นการติดตามระบบตั๋วร่วมระหว่าง BTS และ MRT ฯลฯ
เราเรียกร้องกันหลายเรื่องมากจริงๆ บนเว็บไซต์ Change.org นี้ ที่ลงชื่อไปก็มาก แต่ก็เข้าใจว่าหลายคนไม่ได้ติดตามผลต่อหลังการลงชื่อไปแล้ว แน่นอนว่าบางประเด็นก็ยังคงต้องต่อสู้เรียกร้องกันต่อเนื่อง เหมือนกับว่าเสียงที่เราแสดงออกไปไม่ได้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าถึงลงชื่อไปก็เท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว มีหลายเรื่องมากที่ได้รับชัยชนะแล้วเรียบร้อย ในบางครั้งการลงชื่อไม่ใช่แค่การแสดงออก แต่ยังเป็นหนึ่งในกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่มีพลังด้วยเช่นกัน
The MATTER ติดต่อไปยังทีมงาน Change.org โดยทีมงานให้ความเห็นต่อความสำคัญของการส่งเสียงว่า
“การรณรงค์ในโลกออนไลน์ผ่าน Change.org ไม่ได้มีความหมายอยู่ที่แค่การลงชื่อ แต่เป็นคือการต่อยอดเพื่อสร้างความเคลื่อนไหวในสังคม เกิดเป็น dialogue รวบรวมเสียงของคนธรรมดาที่ออกมา ‘จุดประเด็น’ ‘ตั้งคำถาม’ ‘เรียกร้อง’ ‘ร้องเรียน’ ในเรื่องที่ตัวเองสนใจ และกระทบกับพวกเขาโดยตรง
ปรากฎการณ์พลังเสียงของคนในลักษณะนี้ หากมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะดังขึ้นจนผู้มีอำนาจตัดสินใจหันมารับฟัง และขณะเดียวกันก็ทำให้ทุกคนที่ร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงเชื่อมั่นในพลังของตัวเองและสังคม เพราะแต่ละคนไม่ได้ต่อสู้อยู่ตัวคนเดียว แต่มีเพื่อนอีกตั้งหลายคน (ที่อาจไม่รู้จักกันเลยก็ได้) คอยสนับสนุนอยู่
คนไทยอาจถูกปลูกฝังให้ว่านอนสอนง่าย จนในบางครั้งอาจลืมไปว่าคนทุกคนมีพลัง มีสิทธิ ในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น เพราะฉะนั้น อย่าคิดว่าเสียงของตัวเองไม่มีความหมาย ลงชื่อไปก็ช่วยอะไรไม่ได้
อยากให้คิดว่า กระบวนการหรือความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับการลงชื่อเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจสะดุ้ง (แบบว่าอยู่เฉยไม่ได้) เหมือนร้านค้า/ห้างร้านยังต้องฟังลูกค้า รัฐบาลยังต้องฟังเสียงของประชาชน เพราะหลายๆ เรื่อง บน Change.org สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้คนในสังคมเกิดอาการตื่นตัว”
เอาล่ะ เรารู้ว่าหลายคนก็ยังนอยด์ๆ ไม่หายกับประเด็นว่าลงชื่อเสร็จแล้วจะทำอะไรได้ เราเลยรวบรวมบางส่วนของแคมเปญในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จจาก Change.org มาให้ดูกัน ว่ากระทั่งในสังคมที่ดูเหมือนจะไม่ฟังเสียงเล็กเสียงน้อยของประชาชนแบบนี้ แต่ในบางกรณีเสียงเล็กเสียงน้อยของพวกเรามันก็มีคนรับฟัง และนำไปปรับใช้จริงเหมือนกันนะ
อ่านจบแล้ว ใครเริ่มจะมีความหวังกับการแสดงออก เราก็มีแคมเปญ #ไม่ค้านผ่านแน่ #ร่วมลงชื่อพรบคอมวันสุดท้าย มาให้ช่วยกันอีกแรง ที่ https://www.change.org/p/สนช-หยุด-single-gateway-หยุดกฎหมายล้วงข้อมูลส่วนบุคคล
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมกรณีร่วมลงชื่อต่อต้านพ.ร.บ.คอมฯ
https://www.facebook.com/thematterco/photos/a.1735876059961122.1073741831.1721313428084052/1814398335442227/?type=3&theater
หยุด พ.ร.บ. จีเอ็มโอ ก่อนซ้ำเติมเกษตรกรไทยให้ตายคาแผ่นดินเกิด
แคมเปญนี้เป็นความพยายามระงับการผ่านร่างพ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ พ.ร.บ. จีเอ็มโอ (GMO) ที่ผ่านมติครม. เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2558 ไปรอการพิจารณาจาก สนช. ต่อไป
โดยคุณอชิตศักดิ์ พรชวรณวิชญ์ เจ้าของแคมเปญได้ให้เหตุผลไว้ว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีประเด็นสำคัญ 9 ประการที่ละเลยและเพิกเฉยต่อสังคม คือ
1. ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ยึดหลักความปลอดภัยไว้ก่อน (Pre-Cautionary Principle)
2. ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้คำนึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม
3. ร่างกฎหมายฉบับนี้โดยหลักการคือการเปิดเสรีจีเอ็มโอ
4. ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้บังคับให้ต้องทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
5. ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้บังคับให้การขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมต้องทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ
6. ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้กำหนดผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดจากจีเอ็มโอในบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม
7. ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่มีบทคุ้มครองเกษตรกรที่พืชผลถูกจีเอ็มโอปนเปื้อน
8. ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ระบุหลักประกันทางการเงินกรณีเกิดความเสียหายจากจีเอ็มโอ
9. ร่างกฎหมายฉบับนี้ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างรุนแรง
การรณรงค์นี้มีผู้ร่ววมสนับสนุน 20,045 คน และในที่สุดวันที่ 15 ธันวาคม 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้สั่งยกเลิกการพิจารณาร่างพ.ร.บ. จีเอ็มโอ ไป โดยให้เหตุผลว่าเพราะประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วย และเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่มีความจำเป็นต้องบังคับใช้ยกเว้นกรณีที่เกิดภัยพิบัติที่ส่งผลร้ายแรงต่อการเกษตรเท่านั้น
ขอให้วาฬบรูด้าเป็นสัตว์สงวน
ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) สร้างแคมเปญนี้ขึ้นเพื่อขอความสนับสนุนในการผลักดันให้วาฬบรูด้า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณอ่าวไทย ปัจจุบันมีเหลือเพียง 50 ตัว ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 16 ของประเทศไทย เพื่อให้มีมาตรการต่างๆ ในการช่วยเหลือ ดูแล และอนุรักษ์วาฬ หลังจากประเทศไทยไม่ได้ประกาศสัตว์สงวนมานานกว่า 20 ปี หลังจากประกาศพะยูนเป็นสัตว์สงวนไปเมื่อปีพ.ศ.2535
แคมเปญรณรงค์เพื่อวาฬบรูด้า มีผู้สนับสนุน 38,801 คน ภายในระยะเวลา 4 เดือน จากเป้าหมายเดิมเพียง 10,000 คน และในที่สุดวาฬบรูด้าก็ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์สงวนอย่างเป็นทางการ
ขอให้ตั้งคณะกรรมการควบคุมราคารพ.เอกชน
ระบบสาธารณสุขของบ้านเรายังมีอะไรๆ ให้ตั้งคำถามเพื่อพัฒนากันอีกเยอะ หนึ่งในนั้นก่อนหน้านี้ที่มีการเรียกร้องก็คือความสมเหตุสมผลของราคาในการเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชน แม้จะมีข้อโต้แย้งว่าเราเลือกจะไม่เข้าโรงพยาบาลเอกชนก็ได้ แต่ในกรณีฉุกเฉินบางครั้งมันก็อาจเลี่ยงไม่ได้อยู่ดี การจะมีเกณฑ์อะไรบางอย่างเพื่อปกป้องสิทธิทั้งในฐานะของผู้ป่วยและผู้บริโภคก็เป็นเรื่องจำเป็น
คุณปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา คือผู้เริ่มการรณรงค์ครั้งนี้ โดยท้ายที่สุดแคมเปญนี้ก็ได้รับชัยชนะด้วยจำนวนผู้สนับสนุน 35,601 คน โดยหลังจากนั้นกระทรวงสาธารณสุขได้แก้พ.ร.บ.สถานพยาบาล ให้เพิ่มตัวแทนประชาชน 1 คนเข้าไปในฐานะคณะกรรมการสถานพยาบาล มีอำนาจทางกฎหมายในการพิจารณาเรื่องค่ารักษา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง
กสทช. ลงโทษช่อง GMM25 กรณีละคร Club Friday เพื่อนรักเพื่อนร้าย นำเสนอฉากข่มขืนออกทีวี
กรณีละครเรื่อง ‘Club Friday To be Continued ตอน เพื่อนรักเพื่อนร้าย’ ที่ออกอากาศในวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 มีฉากข่มขืนในละคร โดยที่จัดประเภทรายการเป็นรายการทั่วไป สำหรับผู้ชมทุกวัย คุณฐณะวัฒน์ ณ รังษี ได้สร้างแคมเปญเพื่อเรียกร้องให้ทาง กสทช. มีบทลงโทษ และเพื่อให้ทางสถานีโทรทัศน์แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม
ด้วยเสียงจากผู้สนับสนุน 3,323 คน ท้ายที่สุด กสทช. ได้สั่งปรับช่อง GMM25 จากกรณีดังกล่าว 50,000 บาท ซึ่งพิจารณาแล้วว่าผิดมาตรา 37 พ.ร.บ. กสทช.
ที่จอดรถคนพิการเพื่อคนพิการ
คุณ Marina NW เจ้าของแคมเปญนี้ ได้เรียกร้องในประเด็นที่จอดรถคนพิการในสนามบินสุวรรณภูมิ เพราะไม่ได้รับความสะดวกสบายจากการใช้งานจริง จากการเป็นคนพิการที่ไม่สามารถเข้าใช้ที่จอดรถคนพิการได้ เพราะมีรถคันอื่นจอดอยู่โดยที่ไม่ได้คนพิการแต่อย่างใด
มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแคมเปญนี้ 35,507 คน และได้ส่งคำร้องนี้ไปยังผู้บริหารท่าอากาศยานไทย รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ณ ขณะนั้น หลังจากเวลาผ่านไปครึ่งปีนับจากวันที่เริ่มรณรงค์ ก็มีการจัดการกับเรื่องนี้อย่างเข้มงวดขึ้น โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลบริเวณที่จอดรถคนพิการเป็นพิเศษ ไม่ปล่อยให้มีการแย่งที่จอดรถคนพิการอีกต่อไป
อยากให้ขอนแก่นมีรถขนส่งมวลชนวิ่งจากสนามบินเข้ามาในเมือง
อีกหนึ่งคำเรียกร้องจากคุณ Sidhipongse Somsook ที่ส่งคำร้องไปยังอบจ.ขอนแก่น เทศกาลนครขอนแก่น และผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้มีรถขนส่งมวลชนวิ่งในเส้นทางระหว่างตัวเมืองกับสนามบิน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ไม่มีรถส่วนบุคคล
ด้วยจำนวนผู้สนับสนุน 1,020 คน ในที่สุดกรมการขนส่งทางบก สำนักงานขนส่งจังหวัดขอนแก่น ท่าอากาศยานจังหวัดขอนแก่น ก็ร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่น เห็นชอบในการเพิ่มเส้นทางเดินรถดังกล่าว