คนนู้นจะเอาอย่างนี้ คนนี้ก็จะเอาอย่างนู้น ทำไมคุณพี่ไม่ลองไปคุยกันให้ดีก่อน คนเป็นลูกน้องก็ลำบากแย่เลยทีนี้ จะปรับตามคนนู้นคนนี้ก็ไม่เอา ปรับตามคนนี้คนนู้นก็ไม่ยอม แบบนี้งานก็คงไม่เสร็จในเร็ววันนี้หรอก
แค่เจ้านายคนเดียวก็ปวดหัวจะแย่อยู่แล้ว นี่ต้องมารับมือกับเจ้านายคนที่สองสามสี่อีก หัวหมุนแน่นอนงานนี้ เพราะแต่ละคนก็คงสั่งงานของตัวเองกันแบบรัวๆ แถมบางงานก็ดันสั่งชนกันอีก หรือบางโปรเจ็กต์ซึ่งต้องทำงานร่วมกันทั้งหมด คราวนี้แหละ ปรับแก้ตามเจ้านายคนนู้นคนนี้มือเป็นระวิงแน่เลย
สำหรับบางบริษัท อาจมีโครงสร้างองค์กรแบบมีหัวหน้างานหลายคนในทีมเดียวกัน เพื่อเข้ามาช่วยการทำงานในด้านต่างๆ ให้ดีขึ้น ทว่าอีกมุมหนึ่ง ในฐานะลูกน้อง การมีหัวหน้าหลายคน ก็อาจเพิ่มความท้าทายในการทำงานของเราได้ด้วยเช่นกัน ถ้าเป็นเช่นนี้ เราพอจะมีวิธีรับมือกับการทำงานภายใต้สถานการณ์แบบนี้ได้บ้างไหม
เพราะสองหัวดีกว่าหัวเดียว
แม้การทำงานร่วมกับเจ้านายหลายๆ คน จะมาพร้อมความปวดหัวไม่น้อย โดยเฉพาะตอนประสานงานหรือตอนดำเนินงาน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ทั้งหมดเสียทีเดียวว่า บางครั้งการมีหลายหัว ก็อาจดีกว่ามีแค่หัวเดียว
สำหรับบางงานหรือโปรเจ็กต์ใหม่ๆ ที่มีความยากและท้าทาย ผู้ดูแลโปรเจ็กต์ดังกล่าว ก็อาจอยากให้มีคนคอยช่วยดูหลายๆ จุด พร้อมกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาภายหลัง การแต่งตั้งหัวหน้าทีมขึ้นมามากกว่าหนึ่งคน อาจเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ กับสถานการณ์ในลักษณะนี้ โดยงานศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพและผลลัพธ์ของการมีเจ้านายหลายคน จาก Miami University และ Drexel University พบว่า การมีผู้นำหลายคน สามารถส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้ดีมากยิ่งขึ้น แถมยังช่วยเพิ่มความคิดเห็นหรือไอเดียต่างๆ ให้หลากหลายมากขึ้นเช่นกัน
หากมองในมุมมองของผู้ดูแลโปรเจ็กต์ เมื่อมอบหมายให้คนใดคนหนึ่งต้องรับผิดชอบกับงานสุดหินคนเดียว ก็คงจะดูใจร้ายไปเสียหน่อย ซึ่งอาจเป็นการดีกว่า ถ้าเขามีคนคอยช่วยคิดและซัพพอร์ตบางมุมได้ เพราะจากงานศึกษาดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นว่า การมีหลายหัวตอนทำงาน เป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อต้องแก้ปัญหาหรือตัดสินใจบางอย่าง เนื่องจากการมีมุมมองที่หลากหลาย จะช่วยให้ทีมสามารถประมวลผลข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อีกทั้ง เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน แล้วจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติหรือตัดสินใจจากหัวหน้าทีม แล้วดันมีเจ้านายคนใดคนหนึ่งไม่อยู่ เราก็ยังมีเจ้านายอีกคนที่สามรถประสานงานด้วยได้ ซึ่งเราอาจให้เขาตัดสินใจแทนอีกคนได้เช่นกัน เนื่องจากพวกเขาต่างก็มีอำนาจในระดับเท่าๆ กัน
เพราะฉะนั้นแล้ว ในมุมหนึ่งการมีเจ้านายหลายคน สามารถช่วยร่นระยะเวลาในการทำงานให้เร็วขึ้นได้ ยิ่งในสถานการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อน การมีมุมมองทางความคิดหลากหลายอาจช่วยให้ทีมเข้าใจถึงปัญหาอันซับซ้อนได้ดีกว่าเดิม หนำซ้ำยังนำไปสู่การตัดสินใจและประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นด้วย
แต่มากคน ก็มากความ
ถึงการมีหัวหน้าหลายคน จะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมในบางมุม ทว่าในมุมมองของลูกน้อง ก็อาจมองได้เช่นกันว่า การต้องทำงานกับหัวหน้าหลายคนพร้อมกัน คงเป็นเรื่องชวนปวดหัวไม่น้อยเลย เพราะบางครั้งยิ่งมากคน ก็ยิ่งมากความ
โดย โรเบิร์ต ซัตตัน (Robert Sutton) และ อดัม แกรนท์ (Adam Grant) สองศาสตร์จารย์จาก Stanford University และ University of Pennsylvania ตามลำกับ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้เขียนงานเกี่ยวกับหัวหน้าในรูปแบบต่างๆ ได้นำเสนอให้เห็นว่า การมีหัวหน้าหลายคนทำให้เกิดความท้าทายในการทำงานมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งในแง่ของ ภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น ความขัดแย้งของข้อมูลจากหัวหน้าแต่ละคน รวมถึงปัญหาเรื่องความภักดีต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งถ้าหากแสดงออกมาเกินไป ก็อาจส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานของเราได้
ในบางครั้ง เมื่อมีหัวหน้ามากกว่าหนึ่งคน อาจเกิดปัญหาการทับซ้อนกันเองระหว่างบทบาทหน้าที่ของพวกเขา ลองคิดดูว่า พอเรากำลังเริ่มทำงานตามคำสั่งของหัวหน้าคนแรก ในอีกไม่กี่วันถัดมา หัวหน้าอีกคนดันเดินมาดูแล้วบอกให้เราปรับตรงนี้ แก้ตรงนั้น ตัวเราก็คงเหงื่อตกคิดแล้วคิดอีก จะแก้ตามคำสั่งเขาดีไหม ถ้าแก้ไปแล้ว หัวหน้าคนแรกผู้เป็นคนสั่งงานจะว่ายังไงกันนะ
การต้องมาคอยคิดอยู่ตลอดว่า เราต้องเชื่อฟังใครดี หรือควรทำตามคำแนะนำใครมากกว่ากัน คงทำให้การทำงานของเราไม่ราบรื่นเท่าไหร่นัก ซึ่งงานศึกษาเกี่ยวกับมุมมองต่อการมีเจ้านายหลายคน ของ Drexel University ก็ได้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของการมีเจ้านายหลายคนเอาไว้เช่นเดียวกัน โดยการมีผู้นำมากกว่าหนึ่งคน อาจนำไปสู่ความซับซ้อนในการทำงานที่เพิ่มมากขึ้นได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพวกเขาไม่ได้ถูกกำหนดบทบาทหรือแบ่งหน้าที่กันเอาไว้อย่างชัดเจน
เมื่อบทบาทของหัวหน้าแต่ละคนมีความคลุมเครือหรือทับซ้อนกันอยู่ บางทีเราในฐานะลูกน้อง ก็อาจไม่รู้รายละเอียดยิบย่อยทั้งหมดว่า ใครต้องรับผิดชอบส่วนไหนหรือจัดการอะไร จนอาจนำไปสู่ความสับสนเวลาต้องประสานงาน ทำให้ทีมอาจทำงานยากมากขึ้น
เพราะในท้ายสุดแล้ว สิ่งที่ได้รับผลกระทบจากความยุ่งยากและวุ่นวายในการทำงานมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นประสิทธิภาพการทำงานของคนในทีม ตลอดจนผลลัพธ์ของงานนั่นเอง
แล้วจะรับมือยังไง เมื่อต้องทำงานกับเจ้านายหลายคนดีนะ?
แม้จะไม่ชอบการต้องทำงานภายใต้เจ้านายหลายคน ทว่าจะให้คนทำงานอย่างเราลุกขึ้นมาปรับผังองค์กรด้วยตนเองก็คงไม่ใช่อยู่แล้ว เพราะเราไม่ใช่ผู้บริหาร ที่มีอำนาจในการขยับตำแหน่งคนนู้น หรือปรับเปลี่ยนตำแหน่งคนนี้
ดังนั้น ถ้าหนุ่มสาวออฟฟิศคนไหนรู้สึกว่างานของตนเองดูท้าทายหรือยุ่งยากมากขึ้น เมื่อต้องทำงานกับเจ้านายมากกว่าหนึ่งคน งั้นเราลองมาดูคำแนะนำจาก โรเบิร์ต ซัตตัน (Robert Sutton) และ อดัม แกรนต์ (Adam Grant) ถึงวิธีรับมือต่อสถานการณ์ดังกล่าวกัน
- ใครกันนะ ที่มีอำนาจมากกว่ากัน เมื่อไม่รู้ว่าจะต้องเชื่อฟังใครมากกว่ากันล่ะก็ เราอาจลองกางแผนผังโครงสร้างองค์กรขึ้นมาดูกันเลยว่า หัวหน้าคนไหนมีอำนาจมากกว่ากัน โดยเราอาจพิจารณาจากหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับตัวเราเป็นหลักก็ได้ว่า ใครจะต้องเป็นคนประเมินเรา หรือถ้าอยากจะเลื่อนขั้นไวๆ เราต้องเข้าหาใครมากกว่ากัน ถ้ากังวลว่าควรจะเชื่อใครมากกว่ากัน ลองดูว่าแท้จริงอำนาจใครสูงกว่ากัน ใครที่เป็นคนประเมินเรา หรือใครมีส่วนเกี่ยวกับการเลื่อนขั้น ให้เข้าหาคนนั้นมากกว่าแทน
- ทำงานให้พวกเขาดูไปเลย เมื่อมีหัวหน้าหลายคน เราก็อาจต้องเผชิญกับความเห็นที่แตกต่างกันจากหัวหน้าแต่ละคน พอถึงเวลาจะส่งงาน ก็ไม่ตรงใจคนใดคนหนึ่งอีก เพราะเราดันไปแก้งานตามอีกคนมากไป เพราะฉะนั้นแล้ว ทำงานแบบเปิดเผยไปเลยดีกว่า ด้วยการทำงานผ่านเอกสารที่แชร์ได้ให้หัวหน้าทั้งหมดเห็นว่า แต่ละส่วนนั้น เราปรับหรือแก้ไขตามคำแนะนำจากหัวหน้าคนไหนบ้าง เมื่อเกิดปัญหาต้องปรับอะไรขึ้นมา จะได้มีหลักฐานชัดเจน
- คุณพี่ไปคุยกันเองก่อนไหม เมื่อการทำงานเริ่มส่อให้เห็นถึงเมฆหมอกปัญหา ที่กำลังเคลื่อนตัวเข้ามาจากการต้องทำงานภายใต้หัวหน้าหลายคน เราอาจลองเชิญพวกเขาทั้งหลายมาพูดคุยถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น โดยอาจเลือกเป็นช่วงหลังการประชุมทีม เพื่อแจ้งให้พวกเขารู้ว่าเรากำลังเจอกับอะไรอยู่ แต่ต้องไม่ลืมแสดงออกด้วยท่าทีที่สุภาพ ไม่ก้าวร้าวเกินไปด้วยล่ะ พวกเขาจะได้หาทางแก้ไขปัญหากันต่อไป
- จัดลำดับความสำคัญของงานให้ดี เมื่อเจ้านายไม่คุยกันเอง คนลำบากเลยดันเป็นคนทำงานอย่างเราแทน ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็คงต้องขอย้อนกลับไปพิจารณาตำแหน่งหรือบทบาทหน้าที่ของพวกเขาแต่ละคนตามวิธีแรก แล้วลองเอากลับมาลำดับการทำงานของตนเองดูว่า เราควรทำให้ใครก่อน แล้วค่อยทำให้ใครทีหลังดี ซึ่งนี้ยังเป็นการช่วยพัฒนาทักษะการตัดสินใจของเราในที่ทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้นด้วย
แม้การมีเจ้านายหลายคนอาจมีแง่มุมที่สามารถซัพพอร์ตการทำงานได้ดีขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า บางครั้งอาจมีจุดที่ทำให้เราปวดหัวได้ด้วยเหมือนกัน ในฐานะคนกลาง เราอาจลองทำในส่วนที่เราสามารถทำได้ดู เพื่อไม่ให้ดูก้าวก่ายมากเกินไป จนอาจส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานของเรา
อ้างอิงจาก