พวกเราคือวงดนตรีบลูส์ผู้หิวโหย
คุณจะหิวแน่นอนถ้ามาเข้ามาร่วมเล่นกับวงของเรา
ไม่คิดหรือว่าเพลงของพวกเรานั้นเพราะพริ้งยิ่ง
พวกเราคือวงดนตรีบลูส์ผู้หิวโหย
พวกคุณกินข้าวกันอิ่มแล้วใช่ไหมเล่า
เราอยากจะลงไปกินข้าวกับพวกคุณบ้าง
เพราะงี้ล่ะ พวกเราถึงได้ชื่อวงว่า H.M. บลูส์ถอดความจาก เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 5 H.M. Blues ทำนองประพันธ์โดย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คำร้องแต่งโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ของพวกเราทรงมีพระปรีชาสามารถในเรื่องดนตรี พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เพลงไว้ถึง 48 เพลง ทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง และคำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง ถึง 5 เพลง คือ ‘Echo’ , ‘Still on My Mind’, ‘Old-Fashioned Melody’, ‘No Moon’ และ ‘Dream Island’ นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขึ้นเพื่อใส่ในคำร้องที่มีผู้ประพันธ์ไว้แล้ว คือ ความฝันอันสูงสุด, เราสู้ และ รัก เป็นอาทิ
จุดเริ่มต้น ‘อัครศิลปิน’
ทำไมพระองค์ถึงชื่นชอบในทางดนตรี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในบทความ ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาดนตรี’ เอาไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่ยังดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิรา ตอนพระชนมายุ 13 พรรษา โดยเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่พระองค์ทำการศึกษา เป็นแอคคอร์เดียน แต่พระองค์ทรง ‘ไม่ติด’ กับเครื่องดนตรีดังกล่าว จนกระทั่ง พระองค์อายุล่วงเข้า 14-15 พรรษา ในหลวงทรงอยากเรียนแตร แต่พระราชชนนีเห็นว่าต้องใช้แรงมาก จึงยังไม่อนุญาตให้เรียน แต่ให้ครูชาวฝรั่งเศสนาม เวย์เบรชท์ (Weybrecht) มาสอนวิชา แซกโซโฟน ที่ประชาชนจดจำได้ในภายหลังนั่นเอง
หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงนำ คลาริเนต อันเป็นเครื่องดนตรีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงศึกษากับครูท่านเดียวกันมาทรงเป่า และได้รับการแนะนำจากครูไม่กี่ครั้ง จากนั้นก็ทรงฝึกทรัมเป็ตจากครูท่านเดิม ซึ่งถือว่าเป็นความพิเศษ เนื่องจากตามปกติแล้วนักดนตรีเครื่องเป่าลมไม้ มักจะไม่ข้ามไลน์ไปเล่นเครื่องเป่าทองเหลือง ส่วนเครื่องดนตรีจำพวกอื่นอย่าง เปียโน, กีตาร์, ขลุ่ย และ ไวโอลิน สมเด็จพระเทพฯ ทรงนิพนธ์ไว้ว่าเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นไม่บ่อย อาศัยพื้นฐานจากแซกโซโฟนและเรียนรู้ด้วยตัวเอง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงฝึกฝนเครื่องดนตรีต่างๆ จนชำนาญ ส่วนแนวเพลงที่พระองค์สนใจก็คือ ดนตรีแจ๊ส ในสไตล์ Dixieland หรือ Hot Jazz อันเป็นสไตล์การเล่นเพลงที่พัฒนามาจากเพลงแนวบลูส์ แต่จะออกมาในสไตล์ที่สนุกสนานเหมาะกับการเต้นรำมากขึ้น และท่านทรงนิยมนักดนตรีอย่าง Duke Ellington Count Banc ซึ่งความชื่นชอบของพระองค์นั้นก็เกิดมาจากเครื่องดนตรีที่พระองค์ฝึกฝนมาเป็นรากฐานนั่นเอง
ความสามารถในการทรงดนตรีแจ๊สของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งที่ถือได้ว่าเป็นการแสดงให้โลกได้จดจำพระอัจริยภาพทางด้านดนตรี คงไม่พ้นเมื่อครั้งที่พระองค์ได้ร่วมทรงดนตรีกับ Benny Goodman ผู้ได้รับฉายา ‘ราชาแห่งเพลงสวิง (King Of Swing) ซึ่ง Benny เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ผมมั่นใจว่าหากพระองค์ไม่ได้ทรงตำแหน่งกษัตริย์อย่างที่เป็นอยู่นี้ พระองค์จะต้องประสบความสำเร็จในฐานะหัวหน้าวงดนตรี (สายแจ๊ส/สวิง) แน่นอน”
เกร็ดเกี่ยวกับเพลงพระราชนิพนธ์
ในพระนิพนธ์ ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาดนตรี’ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ยังทรงบอกเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสอนให้ผู้อื่นได้เล่นเครื่องดนตรีต่างๆ อย่างเช่น สมเด็จพระเทพฯ ก็ได้เรียนวิชาเป่าแตรจากในหลวง และทรงสอนแซกโซโฟนให้กับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ รวมถึงทรงสอนคนใกล้ชิดให้เล่นดนตรีจนคล่องแคล่ว
ส่วนการพระราชนิพนธ์เพลง เริ่มต้นขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก้าวเข้าสู่วัยหนุ่ม เมื่อครั้งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ ได้เข้าเฝ้าและเสนอความเห็นให้ทั้งรัชกาลที่ 8 และ รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรีได้ลองนิพนธ์เพลงด้วยตนเอง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง แสงเทียน เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกในเดือนเมษายน พ.ศ. 2489 โดยให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ เป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้องภาษาไทย ส่วนเนื้อร้องภาษาอังกฤษได้ รองศาสตราจารย์สดใส พันธุโกมล มาแต่งให้ภายหลัง
เนื้อหาของเพลง แสงเทียน ในฉบับภาษาไทยนั้น เล่าเรื่องราวของชีวิตอนิจจังเทียบเคียงกับเทียนที่ละลายลงไปทีละน้อย เนื้อหาอันสวยงามนี้ทำให้ ร.ศ. สดใส เกิดความกดดันจนไม่กล้าแต่งเนื้อเพลงให้สวยงามและเทียบเคียงกับฉบับภาษาไทย ก่อนที่ท่านจะได้พบว่าเพลง H.M. Blues กับ ชะตาชีวิต ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์อีกเพลงหนึ่งที่มีเนื้ออังกฤษกับเนื้อไทยที่ต่างกันอย่างมาก ร.ศ. สดใส จึงแต่งเนื้อเพลงใหม่ ว่าด้วยความรักของหญิงสาวที่รอคอยคนรัก ด้วยการจ้องมองไปยังแสงเทียน
การแต่งเพลงที่มีเนื้อหาแตกต่างกันไปในแต่ละเวอร์ชั่นนั้นไม่แปลกนัก เพราะเพลงพระราชนิพนธ์หลายๆ เพลง อย่างเพลง H.M. Blues ที่ถอดความไว้ข้างต้นนั้น ก็มีเนื้อหาสนุกสนาน และที่มาที่ไปก็มีความสนุกสนานแฝงอยู่เช่นกัน
ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ผู้แต่งเนื้อไทยเพลง H.M. Blues เล่าว่า เมื่อครั้งวันเฉลิมพระชนมพรรษา 20 พรรษา ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ขึ้นในวันเสาร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2490 ในงานฉลอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดนตรีร่วมกับวงกระป๋อง ที่ตำหนักวิลล่าวัฒนา เมืองโลซานน์ ในงานมีการเล่นเพลง H.M. Blues ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ใหม่ในตอนนั้น โดยเพลงนี้ ในหลวงได้รับแรงบันดาลจากงานเลี้ยงฉลองต่างๆ เพราะตามงานเลี้ยง คนที่เต้นรำกับคนร่วมงานได้กินข้าวกินเหล้ากันอย่างเต็มที่ แต่นักดนตรีที่ต้องบรรเลงเพลงสร้างบรรยากาศแก่งานต่างต้องหิวโหย ไม่มีโอกาสจะรับประทานอะไรเหมือนคนส่วนใหญ่ในงาน
ด้วยเหตุนี้ H.M. Blues จึงย่อมาจาก Hungry Men’s Blues หาใช่ His Majesty Blues ไม่ และในงานนั้นพระองค์ทรงเปิดให้คนในงานทายว่า H.M. แปลว่าอะไร โดยให้บริจาคเงินเข้ากองกลางด้วย ซึ่งผลสุดท้ายไม่มีใครทายถูก
อีกเพลงหนึ่งที่สะท้อนว่าพระองค์ทรงใส่พระราชอารมณ์ขันกับความสนุกแฝงเข้าไปในบทเพลงเสมอ ก็คือเพลง Never Mind The H.M. Blues อันเป็นเพลงภาคต่อของ H.M. Blues ที่บอกเล่าว่า ตอนนี้วงบลูส์ของเราเราอิ่มแล้ว และก็เป็นอีกครั้งที่ฉบับแปลภาษาไทย ไม่ได้มีเนื้อหาเดียวกับเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษแต่อย่างใด เพราะความลื่นไหลในภาษานั้นแตกต่างก้ัน
ด้านความไหลลื่นทางภาษาในเพลงพระราชนิพนธ์นี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเพลงภาษาไทยกับภาษาอังกฤษเท่านั้น คุณเปรมิกา สุจริตกุล ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต อัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์จำนวน 27 เพลง มาแปลและเรียบเรียงใหม่เป็นภาษาฝรั่งเศส ด้วยความเห็นที่ว่า ภาษาดังกล่าวเป็นภาษาแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสามารถตรัสได้อย่างคล่องแคล่ว เนื่องจากพระองค์เคยศึกษาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก
หลังจากได้รับอนุญาตแล้ว คุณเปรมิกา ก็ได้จัดงานแสดงคอนเสิร์ตเพลงพระราชนิพนธ์ฉบับภาษาฝรั่งเศส ทั้งในประเทศไทยและในฝรั่งเศส ซึ่งในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแล้วพบว่า เพลงพระราชนิพนธ์ฉบับภาษาฝรั่งเศสนั้นถูกเรียบเรียงใหม่จนดูเซ็กซี่ขี้เล่นมากขึ้น ใกล้เคียงกับภาพลักษณ์ของคนฝรั่งเศสที่ว่ากันว่าเป็นนักรักระดับต้นๆ ของโลก
อีกคำถามหนึ่งที่ติดค้างอยู่ในใจของผู้เขียนและอีกหลายคนว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราท่านยังสดับรับฟังเพลงยุค 2000s บ้างหรือไม่ จากการเปิดเผยของ คุณบอย โกสิยพงษ์ ผ่าน Facebook Fanpage ของตัวเขาเองได้บอกเล่าว่า ครั้งหนึ่งในหลวงเคยจัดงานเลี้ยงเป็นการส่วนพระองค์ในวโรกาสครบรอบวันอภิเษกสมรส และในงานดังกล่าวก็มีการเปิดพรีเซนเทชั่นที่รวบรวมภาพคู่ของพระองค์กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในช่วงวัยต่างๆ เพลงที่เปิดคลอในพรีเซนเทชั่นตัวนั้นคือ เพลง เหมือนเคย (ขับร้องโดย คุณเศรษฐา ศิระฉายา) ซึ่งเป็นเพลงที่โด่งดังในช่วงปี 2003
ทั้งหมดทั้งปวงที่เรารวบรวมเรื่องมาเล่าต่อนี้ก็เพื่อให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ของเราทรงชื่นชอบและสนุกกับเสียงดนตรี ไม่ว่าในแง่มุมการเล่น การแต่ง รวมถึงการฟังเพลง สมกับที่พระองค์ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า ‘อัครศิลปิน’
รายนามเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
1. แสงเทียน (Candlelight Blues)
2. ยามเย็น (Love at Sundown)
3. สายฝน (Falling Rain)
4. ใกล้รุ่ง (Near Dawn)
5. ชะตาชีวิต (H.M. Blues)
6. ดวงใจกับความรัก (Never Mind the Hungry Men’s Blues)
7. มาร์ชราชวัลลภ (Royal Guards March)
8. อาทิตย์อับแสง (Blue Day)
9. เทวาพาคู่ฝัน (Dream of Love Dream of You)
10. คำหวาน (Sweet Words)
11. มหาจุฬาลงกรณ์ (Maha Chulalongkorn)
12. แก้วตาขวัญใจ (Lovelight in My Heart)
13. พรปีใหม่
14. รักคืนเรือน (Love Over Again)
15. ยามค่ำ (Twilight)
16. ยิ้มสู้ (Smiles)
17. มาร์ชธงไชยเฉลิมพล (The Colours March)
18. เมื่อโสมส่อง (I Never Dream)
19. ลมหนาว (Love in Spring)
20. ศุกร์สัญลักษณ์ (Friday Night Rag)
21. Oh I say
22. Can’t You Ever See
23. Lay Kram Goes Dixie
24. ค่ำแล้ว (Lullaby)
25. สายลม (I Think of You)
26. ไกลกังวล (When), เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย
27. แสงเดือน (Magic Beams)
28. ฝัน (Somewhere Somehow), เพลินภูพิงค์
29. มาร์ชราชนาวิกโยธิน (Royal Marines March)
30. ภิรมย์รัก (A Love Story)
31. Nature Waltz
32. The Hunter
33. Kinari Waltz
34. แผ่นดินของเรา (Alexandra)
35. พระมหามงคล
36. ยูงทอง
37. ในดวงใจนิรันดร์ (Still on My Mind)
38. เตือนใจ (Old-Fashioned Melody)
39. ไร้เดือน (No Moon), ไร้จันทร์
40. เกาะในฝัน (Dream Island)
41. แว่ว (Echo)
42. เกษตรศาสตร์
43. ความฝันอันสูงสุด (The Impossible Dream)
44. เราสู้
45. เรา-เหล่าราบ ๒๑ (We-Infantry Regiment 21)
46. Blues for Uthit
47. รัก
48. เมนูไข่
อ้างอิงข้อมูลจาก
สารคดีสำหรับโปรโมทอัลบั้มเพลง H.M. Blues
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
Boyd Kosiyabong Facebook Fanpage