ได้ฟังเพลงดีๆ เพลงเจ๋งๆ บางทีก็เกิดอยากได้ อยากมี อยากเป็นเจ้าของบทเพลงขึ้นมาบ้าง แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงนี่สิ
ไม่พูดพร่ำทำเพลง เพราะเรามี 11 เทคนิคจากคนแต่งเพลงมาให้ ทั้งศิลปินมืออาชีพ อินดี้ และมือใหม่ เลือกเอาไปใช้ได้เลยจ้า
เมย์-ชูชีวา ชีพชล
“แล้วแต่เพลงเลย บางเพลงแต่งจากชีวิตจริง บางเพลงเขียนเนื้อแค่ให้เข้ากับเมโลดี้ ก็ใช้จินตนาการเอา หรือบางเพลงเราเริ่มแต่งจากบรรยากาศรอบๆ ณ ขณะนั้น แต่ละเพลงก็มาไม่เหมือนกัน บางเพลงเมย์แต่งเมโลดี้กับเนื้อร้องก่อน เป็นอคูสติกแล้วเอามาทำ บางเพลงในวงก็ขึ้นดนตรี และคอร์ดมาก่อน เราค่อยเอามาเขียน
“เช่นเพลง Why can’t you see ก็แต่งจากบรรยากาศวันนั้น อากาศมันอึมครึม เรานั่งกินขนมอยู่กับเพื่อนที่ oldtown hostel แล้วรู้สึกเหงามาก ก็เลยฮัมขึ้นมาเป็นประโยคแรกว่า Looking for the sun when the sky is cloudy แล้วที่เหลือ เราเอามาเขียนต่อ”
Phum Viphurit
“เทคนิคของผมคือการแต่งเพลงอยู่ตลอดเวลา หมายความว่าผมไม่ได้ใช้วิธีใดวิธีหนึ่งในการแต่งเพลง ส่วนมากเวลาทำอะไรบางอย่างอยู่แล้วมีไอเดียผุดขึ้นมา ทำนอง หรือเนื้อร้อง ก็จะพุ่งไปที่คอม ใช้ Photobooth อัดวิดีโอตัวเองเอาไว้ และฮัมเพลงที่อยู่ในหัวออกมา จากนั้นไอเดียแรกก็จะกลายเป็นเพลง หรือถ้ามันใช้ไม่ได้ก็ trash ไป กุญแจสำคัญในการแต่งเพลงของผมคือ เปิดรับ และ flexible อยู่เสมอ เพราะคุณไม่มีวันรู้ว่าเมื่อไหร่ที่ไอเดียจะป๊อบขึ้นมาในหัวอีก
“โดยปกติแล้วทั้ง 9 เพลงของผมจะใช้วิธีการแต่งแบบที่ว่าไป อย่างเพลง Run ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังเรื่อง Moonrise Kingdom ของ Wes Anderson’s attitude ที่ไม่มีความกังวลใจและรักที่บริสุทธิ์ของเด็กสองคนทำให้เราจินตนาการถึงชีวิตของตัวเองที่ไร้ซึ่งกังวลใดๆ ชีวิตที่เสรี ไม่มีความทรงจำอะไรตามหลอกหลอน จากนั้นเนื้อเพลงค่อยตามมา แล้วจูนกีต้าร์เป็น drop-d สุดท้าย กลายมาเป็นเพลง new year’s resolution ของผม ซึ่งก็คือเพลง ‘Run’ นี่แหละครับ”
แม็กซ์ เจนมานะ
“เทคนิคคือเริ่มจากฟีลก่อน เอาอารมณ์ไปลงกับเมโลดี้และการเรียบเรียงครับ ซึ่งคร่าวๆ ก็พอบอกได้ว่าจะพูดถึงเรื่องอะไรอารมณ์ประมาณไหน แล้วก็หาคอนเทนต์ที่คิดว่าใช่มาผูก แล้วก็เกลาให้ทั้งเพลงพูดแค่เรื่องเดียว
“อย่างเพลงดารา (ที่เพิ่งปล่อย 555) ก็เริ่มต้นด้วยอารมณ์เหงาๆ ที่เปียโน ตอนนั้นเป็นฟีลที่ใช่ พอได้เมโลดี้แล้วเราก็นึกถึงเรื่องที่จะเขียนซึ่งมันค่อนข้างชัดเจนว่าจะไปทางไหน แล้วก็เริ่มเขียนท่อนฮุคก่อนให้แข็งแรงที่สุด แล้วก็ค่อยๆ ลามไปจนเรียบเรียงเสร็จทั้งเพลงครับ”
ซุง – กิดาการ ฉัตรแก้วมณี
“สำหรับผมการแต่งเพลงคือโอกาสในการเล่าเรื่องหรือความรู้สึกส่วนตัว บางเรื่องบางความรู้สึกมันก็ยากที่จะพูดหรือยากที่จะฟัง แต่เมื่อผมเปลี่ยนมันเป็นบทเพลง มันง่ายขึ้น ง่ายต่อการถูกยอมรับ ง่ายต่อการถูกเข้าใจ แรกเริ่มผมแค่เขียนเพลงเพื่อระบายสิ่งแย่ๆ ในใจออกมา มันเหมือนการได้ renovate จิตใจ แต่เมื่อเพลงเหล่านั้นถูกฟัง ผมพบว่าไม่ใช่ผมคนเดียวที่เผชิญกับเรื่องราวแบบนั้น กลับกัน ผมได้รู้ว่ายังมีคนที่เศร้ากว่าผม มาระบายเรื่องราวส่วนตัวของเขาให้ฟังหลังจากได้ฟังเพลงของผม ทั้งมาพูดคุยส่วนตัวหรือการคอมเมนต์ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก สุดท้ายแล้วเมื่อผมจริงใจกับเพลงและไม่โกหกตัวเอง การเขียนเพลงจะเป็นมากกว่าแค่การระบาย แต่การเขียนเพลงยังเป็นการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้สึก มันไม่ใช่การสื่อสารทางเดียวอีกต่อไป และดนตรีก็ถูกสร้างมาเพื่อการนั้น
“เพลงท่อนที่ใช้เทคนิคที่ยกตัวอย่างไปข้างต้นก็คือเพลงความรัก “แต่บางคราทิ่มแทงข้างใน เหมือนฉันเป็นเพียงเม็ดทราย ไม่มีความสำคัญ ยิ่งทุ่มเทมากมายเท่าไหร่ ยิ่งพ่ายแพ้ให้กับน้ำตา” ”
www.youtube.com/watch?v=cQYXJyeqKBM
เจม – นนทพัทธ์ บุญพัฒน์
“ส่วนมากจะแต่งคอร์ด ทำนอง และเนื้อพร้อมกัน จากเครื่องดนตรีที่ถนัดก็คือกีตาร์ ซึ่งจะแยกไอเดียและความรู้สึกออกจากกัน เช่น ตอนนี้เราฟังเพลงเพลงหนึ่งเยอะๆ ก็จะถูกเก็บเป็นวัตถุดิบหรือไอเดียแนวทางที่เราอยากจะทำ แต่ถ้าความรู้สึกก็จะเป็นอีกส่วนที่ทำให้เกิดเนื้อเพลงซึ่งเราก็ต้องแยกมันออกมาให้ไปในทิศทางที่ควรจะไปให้ได้ โดยในแต่ละท่อนจะถูกมาร์กไว้ในกระดาษขณะที่แต่งแล้ว ว่าในท่อนไหนเราจะสื่ออะไรหรืออยากพูดอะไร จะสรุปท่อนไหน แต่โดยรวมไอเดียควรจะเป็นหน้าที่ของทุกคนในวงมากกว่า ซึ่งส่วนใหญ่มันจะถูกแชร์ออกมาในมุมมองที่กว้างกว่าการมองในมุมของเราเอง
“อย่างการแต่งเพลงเพลง ‘นิทรา’ ท่อน “ความจริงที่ใครไม่เคยต้องการ ความฝันที่ใครต่างฝัน” เราแบ่งเทคนิคออกเป็น 2 ส่วนเหมือนที่พูดมาในข้างต้น ก็คือ 1 ‘ไอเดีย’ ในเพลงท่อนนี้คือตอนเราแต่งคือมันออกมาไวมากเหมือนมันเป็นท่อน Pre Chorus ที่สั้นๆ แต่ได้ใจความ เราเล่นคอร์ดแค่สองคอร์ดทั้งเพลง แค่มีการสลับที่อยู่ไปมาของสองคอร์ดนี้ไปเรื่อยๆ ในแต่ละท่อน พอเราแต่งท่อน Verse เสร็จก็เหมือนคอร์ดสองคอร์ดนี้พาเราไหลไปสู่จุดๆ นึงที่มันสมควรจะมาถึงกิมมิคที่น่าจดจำ ซึ่งเราบอกตัวเองได้เลยว่าแค่นี้แหละพอแล้วดีแล้ว เราร้องออกมาเนื้อนี้เลยโดยไม่ต้องคิดอะไรให้ยุ่งยากคงเหมือนกับคนที่พูดมีกาลเทศะพูดออกมาแล้วใช่ ไม่ต่างกับเนื้อเพลงที่ถูกดึงออกมาจากคอร์ดและทำนองที่มีอยู่ในตอนนั้น
“2.’อารมณ์’ ในตอนนั้นคือความรู้สึกท้อ สิ่งที่เราตั้งใจจะพูดออกมาก็คือตอนนั้นเรามีความรู้สึกถูกตีกรอบทางความคิดด้วย จึงทำให้เกิดความน้อยใจในศักยภาพทางความคิดและการแสดงออกและการใช้ชีวิตในสังคม ซึ่งผลลัพท์มันคือเหนื่อยแหละ ทำให้รู้ท้อเล็กๆ บวกกับช่วงนั้นพี่ตึ๋ง (อัศจรรย์จักรวาล) เพิ่งเสีย ทำให้ทุกอย่างรอบข้างดาวน์ลงไปหมด เนื้อหาส่วนใหญ่ในเพลงนี้เลยออกไปในทางสับสน อยากหยุดพัก และไม่อยากพบเจอการแข่งขันอะไรในตัวของเราอีกเลย
เฉลิมพล สูงศักดิ์
“ผมมักจะนึกเป็นซีเควนซ์หนังมาก่อน ว่ามีตัวละคร ใคร กำลังทำอะไร และตัวละครนั้นมีบุคลิกยังไง เช่นในเพลงโพลารอยด์ เพลงเซนเซย์ หรือล่าสุดเพลงแฟนคลับ ผมสนใจเรื่องการดำเนินเรื่องของตัวละครในเพลง ว่า อยู่ในสถานการณ์ไหน และความคิดเป็นอย่างไร”
จี – จีรพัฒน์ ยอดนิล
“(ขอออกตัวก่อนเลยว่าเราเป็นเพียงคนชอบแต่งเพลงที่ตอนนี้ทุกเพลงของเรายังอยู่ในกระบวนการรอเผยแพร่) ทุกเพลงของเราจะต้องเริ่มต้นจาก ‘ช่วงเวลา’ หรือ ‘เหตุการณ์’ ที่มาประทับใจก่อนเสมอ โชคดีของเราคือเป็นคนที่บิลด์ให้อินกับอารมณ์ต่าง ๆ ได้ง่ายมาก แต่เพลงมันก็ต้องเบสออนมาจากเราจริง ๆ ด้วยนะ เช่น วันหนึ่งเราได้เดินผ่านร้านแว่นแล้วเห็นผู้ชายคนนึงกำลังลองแว่นตาอันใหม่ทั้ง ๆ ที่แว่นเก่าของตัวเองก็ยังสวมอยู่บนใบหน้า เราก็จะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของการ ‘ตัดใจ’ ที่น่าเศร้าจัง แล้วเราก็จะพยายามบิลด์ให้ความอินอยู่ในระดับจุดที่มากพอจนเรารู้สึกว่าอยากจะเอาไปเขียนออกมาเป็นเพลงจริง ๆ (ทุกเพลงมักจะมาจากการเริ่มเขียนเนื้อเพลงมาโดด ๆ ก่อนแล้วจึงค่อยไปเติมเมโลดี้กับทำนองทีหลัง)
“ตั้งแต่นาทีแรกจนนาทีสุดท้ายของเพลงจะต้องอยู่บนรากฐานของตรรกะความเป็นเหตุเป็นผลอีกที ใคร ทำอะไร ที่ไหน กับใคร ? จะเป็น Mind Mapping ที่อยู่ในหัวของเราตลอดทั้งเพลง แต่! ข้อแม้ของเราคือเราจะไม่เป็นตัวละครหลักของเรื่องนี้ แต่เราจะอยู่ในโซนของผู้เล่าแทนเพราะกลัวที่จะต้องเอาความรู้สึกของตัวเองไปผูกแน่นไว้กับเพลงที่แต่ง ดังนั้นในทุกครั้งเราจึงสร้าง ‘ผู้หญิง’ คนนึงเพื่อให้เธอมาเดินอยู่ในเรื่องที่ต้องเจอแทนเรา (ทุกเพลงจะเป็นผู้หญิงเสมอซึ่งเราเชื่อว่ามันน่าจะแสดงถึงความอ่อนแอภายในจิตใจของเราเอง)
“อย่างเพลง ‘ในวันที่เธอหม่นหมอง’ เพลงใหม่ที่เราแต่งแต่ยังไม่ได้ปล่อยกับ Pray ก็จะมีท่อนที่ว่า “อีกครั้งที่ชั้นจ้องมองดูเธอ อีกครั้งที่เธออยู่ตรงนั้น และชั้นคงต้องวอนเธออีกที” ก็จะเห็นว่ามันให้ความรู้สึกที่เป็นจริตผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และความเบสออนของมันก็อยู่ตรงที่เราแต่งเพลงนี้ขึ้นจากการเฝ้ามองดูท้องฟ้าในวันที่ไม่สดใสโดยเราเอาไปเล่าใหม่เป็น ‘เพื่อน’ สองคนที่หวังดีต่อกัน และเมื่อมีใครคนใดคนนึงเกิดเศร้าหมองอีกคนก็พร้อมที่จะอยู่เคียงข้างกันเสมอนั่นเอง”
นัท-จตุรพัฒน์ สุรชาติ
“ส่วนมากเวลาผมแต่งเพลง จะแต่งทำนองก่อนครับ แต่งเป็นภาษาต่างดาวเลย แล้วค่อยใส่เนื้อเพลงเข้าไป เนื้อหาส่วนใหญ่ก็มาจากพวกเรื่องราวที่เราเจอในชีวิตประจำวันครับ มีทั้งของคนอื่นบ้าง ของเราเองบ้าง มันขึ้นอยู่กับว่า ผมอินกับเหตุการณ์นั้นๆ มากแค่ไหนครับ เพราะเวลาเราถ่ายทอดมันจะได้รู้สึกไปกับเรื่องนั้นด้วยครับ
“อย่างเช่นเพลง ‘คืนนี้’ ผมก็แต่งทำนองก่อนครับ พอเราได้ทำนองคร่าวๆ กับอารมณ์เพลงแล้วค่อยใส่เนื้อหาเข้าไปครับ ซึ่งก็เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงกับตัวผมเอง ความรู้สึกมันเลยอินเวลาถ่ายทอดออกมา”
Supagorn
“ส่วนใหญ่อยู่ดีๆ จะมีเมโลดี้ลอยเข้ามาในหัวเรา จากนั้นเราจะฮัมเมโลดี้ไปเรื่อยๆ ไม่ให้มันลืม บางครั้งก็จะรีบอัดใส่โทรศัพท์ไว้ทันทีถึงแม้จะมีแค่ท่อนเดียวที่นึกออก หรืออีกวิธีก็จะคลำคอกีต้าร์หาคอร์ดไปเรื่อยๆ แล้วมันจะมีโน้ตบางตัววิ้งเข้ามาในรูหู เราก็เล่นเรื่อยๆ จนกว่ามันจะจำได้ หลังจากนั้นเราจะยัดเนื้อเพลงภาษาอังกฤษมั่วๆ ลงไปก่อน ก่อนที่จะแปลงเนื้อที่เหมาะสมให้เป็นภาษาไทยลงในทำนองที่เตรียมไว้ซึ่งบางทีเนื้อเพลงมันเป็นเรื่องที่ต้องคิดตลอดเวลา บางทีก็โผล่มาตอนขับรถ โผล่มาตอนนเข้าห้องน้ำ เราก็ต้องรีบหยิบโทรศัพท์มาพิมพ์เก็บไว้ ไม่งั้นมันจะหลุดหายไปเลยทันที
“ส่วนพาร์ทของดนตรีเราจะเล่นหลายๆ รอบ อัดใส่ไว้ในโทรศัพท์ลองฟังแล้วฟังอีก จนกว่ามันจะนึกอะไรใหม่ๆ ได้ และลงตัวที่สุด”
https://www.fungjai.com/artists/supagorn/musics/vague_2
BALLA
“ถ้าง่ายคือ ควรเล่นเครื่องดนตรีอะไรสักอย่างให้ได้ก่อน กีตาร์ ขลุ่ย อะไรก็ได้ เพราะเครื่องดนตรีจะเป็นตัวไกด์ไลน์ ไม่ต้องเก่งก็ได้ แต่ให้เล่นให้ได้ ส่วนเนื้อร้อง อยู่ที่แนวดนตรีว่าเราชอบแบบไหน เช่น แนวสดใส เหรือพลงเศร้า อาจแต่งเพลงที่มีอารมณ์ด้านใดด้านหนึ่งสุดๆ และอยากระบาย ไม่ว่าเศร้าสุด หรือสุขสุด เพราะการแต่งเพลงมันต้องอิน ถึงจะออกมาดี หรืออีกวิธีคือแต่งเพลงตอนที่ไม่กังวลอะไร มันก็จะออกมาดีเช่นกัน
“เราเป็นติวเตอร์ และอยู่กับเด็กเยอะ เลยได้เห็นว่าเด็กสมัยนี้ชอบส่งสัญญาณกันไม่ชัดเจนต่อหน้า แต่ลับหลังส่งสติกเกอร์ไลน์ ตอนนี้โจทย์ของสังคมมันคือส่งสัญญาณกันไม่ชัด เราก็เลยแต่งเพลง ‘ส่งสัญญาณ’ ออกมา ก็ศึกษาการแต่งเพลงอื่นๆ เช่นเพลงของโฟร์มด มีคำซ้ำเยอะๆ ละลายๆ เดอะทอย แร็ปเร็วๆ แปลกๆ คนก็จะจำได้ อย่างเพลงเราก็จะมีคำซ้ำ เช่น ส่งสัญญาณๆๆๆ”
วิรชา ดาวฉาย
“เราเลือก ‘ความ’ จากเรื่องจริง เพราะมันมีความทรงจำสมบูรณ์และความรู้สึกเอ่อล้น นั่นทำให้การเขียนในแต่ละครั้ง มีความหมายต่อเรามากไปกว่าการเขียนงานสักชิ้น แล้วจึงเริ่มลงปากกาเป็น ‘คำ’ อย่างมากมาย บางท่อนมีเป็น 10 ตัวเลือก เราทดทุกสัมผัสที่อาจเป็นไปได้ ลองสลับสับเปลี่ยนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก่อนตัดสินใจเลือกคำที่ดีที่สุดลงไป มันคือเล่าด้วยความรู้สึก และลงมือเขียนด้วยความคิด”