ว่าด้วยนักร้องเสียงเพี้ยน ก่อนอื่นต้องให้ความเป็นธรรมว่าหลายครั้งกิจกรรมหรือทักษะต่างๆ เช่น การร้องเพลง เล่นกีฬา หรือวาดรูป เป็นกิจกรรมที่เรามักทำไปด้วยใจรัก แต่หลายครั้งทักษะเหล่านี้ก็มีเงื่อนไขในตัวของมันเองจริงๆ ทั้งดีและแย่ ภาพจำชัดๆ ก็คือตัวละคร ‘ไจแอนท์’ ในการ์ตูนโดเรมอนที่รักการร้องเพลง แต่ดันร้องได้ไม่ดีจนเดือดร้อนชาวบ้านที่ถูกลากให้มานั่งฟัง ซึ่งเหมือนเป็นการทรมานใจไปหลายนาที
ในบางพื้นที่ ภาพการแสดงสุดแย่ก็ส่งผลเป็นวงกว้าง เช่น ในเวทีประกวดใหญ่ๆ รอบออดิชั่น บางคนก็เข้าใจได้แม้จะร้องเพลงแย่ แต่อาการที่มาประกวดนั่นคือความมั่นใจในทักษะของตัวเองเป็นอย่างยิ่ง
ประเด็นเรื่องทักษะเป็นเรื่องยาก โลกเรานี้มักจะมีคนที่ประเมินทักษะของตัวเองอย่างมั่นใจ แต่ความสามารถอาจจะไปไม่ถึงที่ตัวเองรับรู้ อีกพวกคือไม่มั่นใจเลย คิดว่าตัวเองทำไม่ดีและทำไม่ได้สักที สำหรับการร้องเพลงก็ค่อนข้างมีความซับซ้อน แรกๆ อาจต้องให้ความเป็นธรรมต่อการร้องเพลงในฐานะสันทนาการและในฐานะกิจกรรมที่สร้างความสุขให้ตัวเอง แต่จะดีกว่าไหมถ้าเรามีความสุขแล้ว คนอื่นก็ควรมีความสุขไปด้วย ดังนั้นจึงวนกลับมาเรื่องที่ว่า ควรทำอย่างไร เราถึงจะประเมินทักษะที่มีอยู่ของตัวเองได้อย่างแม่นยำมากขึ้น และเมื่อเข้าใจในจุดนี้แล้ว พื้นที่เพื่อการพัฒนาก็จะมีต่อไปได้
การร้องเพลงเป็นเรื่องซับซ้อน
เบื้องต้นที่สุด การร้องเพลงถือเป็นทักษะอย่างหนึ่ง และในความเป็นทักษะนี้ก็เลยมีหลายเงื่อนไขเข้ามาเกี่ยวข้อง บางคนมีพรสวรรค์ ทักษะการร้องเพลงจึงสัมพันธ์กับบางพื้นที่ เช่น ศักยภาพในการฟัง อย่างความแม่นยำของอวัยวะฟังเสียงคือหู ไปจนการออกเสียง และไปจนถึงการทำงานของสมองที่ต้องทำงานร่วมกัน
นักวิจัยจากศูนย์ศึกษาสมอง ดนตรี และเสียง (Brain, Music and Sound Research) ชี้ให้เห็นว่าการร้องเพลงให้ดี คือการที่เราสามารถจับคู่ระหว่างโน้ตกับเสียงของตัวเราเองได้อย่างถูกต้อง และเราต้องทำการหาวิธีที่จะเปล่งเสียงในตัวโน้ตเหล่านั้น ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าการร้องเพลงให้ตรงคีย์หรือให้ทันตามจังหวะเป็นการทำงานที่สลับซับซ้อนมาก เพราะเราต้องใช้หู ใช้สมาธิ และใช้สติ รวมถึงคิดเรื่องคำร้อง การควบคุมกระบังลม ซึ่งไม่นับเรื่องอารมณ์ร่วม ท่าทีการขยับร่างกาย และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงแบบที่เรามักได้ยินบนรายการชิงช้าสวรรค์
ด้วยความที่การร้องเพลงเป็นเรื่องยาก คนส่วนใหญ่จึงมักคิดว่าตัวเองร้องเพลงไม่ได้ ในจุดนี้เองเราต้องเข้าใจว่าการร้องเพลงจริงๆ ถือเป็นกิจกรรมที่ดีต่อใจผู้ส่งเสียงร้อง โดยมีงานวิจัยระบุว่าการร้องเพลงช่วยทำให้ความเครียดลดลง กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ไปจนถึงทำให้เราทนทานต่อความเจ็บปวดได้มากขึ้น
ในทางกลับกันเราเองในฐานะนักร้องมือสมัครเล่น การร้องเพลงได้ไม่ดีก็อาจเป็นเรื่องธรรมดา มีงานศึกษาเกี่ยวกับทักษะการร้องเพลง 5 งานที่ศึกษาแล้วพบว่า คนครึ่งต่อครึ่ง (40-62%) ที่ไม่ได้เป็นนักดนตรีหรือฝึกฝนการร้องเพลง เช่น การฝึกกล้ามเนื้อ หรืออื่นๆ มานั้นมักไม่สามารถเปล่งเสียงให้ถูกพิทช์ (Pitch) ได้ โดยสาเหตุก็มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอวัยวะออกเสียงได้ไม่ดีพอ หรือไม่สามารถฟังและจับระดับเสียงได้ ซึ่งสิ่งที่ยากคือการฟังเสียงเปียโน เสียงเครื่องดนตรี ไปจนถึงเสียงของนักร้องที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น เพศและวัยที่ต่างกัน เพราะไม่สามารถจับได้ว่าเสียงเสียงนั้นอยู่ในระดับใด และเสียงของเราต้องร้องระดับไหนถึงจะเข้ากับระดับเสียงเหล่านั้นแบบไม่หลงคีย์
โลกเรานี้มักจะมีคนที่ประเมินทักษะของตัวเองอย่างมั่นใจ
แต่ความสามารถอาจจะไปไม่ถึงที่ตัวเองรับรู้
มั่นใจแค่ไหนขึ้นอยู่ที่การประเมินทักษะ
ประเด็นเรื่องทักษะ โดยเฉพาะในการร้องเพลงบางส่วนก็วนเวียนเป็นงูกินหาง ในแง่นี้ความมั่นใจในทักษะของตัวเองนั้นสำคัญพอๆ กับตัวทักษะเองคือ โดยทั่วไป คนเรามักจะคิดว่าตัวเองร้องเพลงได้ไม่ดี เมื่อไม่มั่นใจก็จะทำให้ร้องเพลงแย่ลงด้วย แต่อีกเรื่องคือพอรู้สึกว่าร้องเพลงได้แย่แล้วก็จะไม่ร้องเพลง ทำให้ไม่ได้ฝึกฝนทักษะ หรืออีกด้านคือถ้ามั่นใจเกินไปว่าตัวเองร้องเพลงดี แม้จะร้องได้ไม่ดีไปเรื่อยๆ ก็เป็นการทรมานผู้ฟัง แถมทักษะก็ไม่ได้รับการแก้ไขปรับปรุง
ดังนั้น ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องตรงนี้อาจเป็นประเด็นที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งอาจเกี่ยวกับทักษะอื่นๆ ในชีวิตคือการที่เราสามารถประเมินทักษะของตัวเองได้อย่างเหมาะสม เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจและการพัฒนาตัวเองต่อไป แต่แน่นอนว่าประเด็นเรื่องการจะรู้ว่าทักษะทักษะหนึ่งของเราอยู่ในระดับไหนก็ถือว่ายากแล้ว บางพื้นที่อาจจะมีระบบต่างๆ หรือมีเงื่อนไขที่ทำให้เราประเมินทักษะได้ชัดเจนขึ้น เช่น ภาษา คือการนำไปพูดและไปใช้จริงแล้วได้เรื่องได้ราว มีการสอบวัดระดับ ทำให้เราสามารถรู้ว่าจะไปทางไหนต่อได้
สำหรับทักษะประเภทกึ่งสันทนาการที่เราพูดถึงซึ่งคือการร้องเพลงก็เลยยิ่งยาก กระบวนการประเมินสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะสิ่งที่กลับมาสู่ตัวเรา เป็นสิ่งที่เราประเมินผิดอยู่บ่อยๆ หลายครั้งก็เป็นการประเมินอย่างเหมารวม เช่น เราอาจจะทำได้ดีในบางส่วน อย่างการเล่นกีฬาเก่งเป็นบางประเภทแล้วรู้สึกว่าเรานี่มันเป็นนักกีฬาจริงๆ
นักจิตวิทยาเองก็ระบุว่าเป็นเรื่องธรรมดามาก เพราะบางครั้งเราเองได้รับฟีดแบ็กจากเพื่อนๆ หรือคนรอบข้างที่มักจะคลุมเครือ ไม่ว่าจะด้วยมารยาททางสังคม การแอบให้กำลังใจกันด้วยการชื่นชม หรือคนที่รับฟังนั้นไม่รู้เรื่องในสิ่งสิ่งนั้น ประสบการณ์ทั้งหมดเหล่านี้ทำให้เราเองมองสิ่งที่ตัวเราทำไม่ชัดเจน เช่น การทำข้อสอบแล้วผลออกมาแย่ทั้งๆ ที่เราเองก็คิดว่าทำได้
อันที่จริงการประเมินทักษะของตัวเองจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก ยิ่งเป็นสังคมไทยที่เน้นการรักษาหน้า และไม่ค่อยมีวัฒนธรรมการวิจารณ์ที่เป็นแค่วิจารณ์เรื่องทั่วไป ก็ทำให้อาจจะไม่ชัดเจนเด็ดขาดพอแล้ว และการย้อนกลับมาวิจารณ์ตัวเองแบบแม่นยำและเป็นธรรมจึงยิ่งเป็นเรื่องยาก การจะประเมินสิ่งต่างๆ ให้ดี การเข้าใจความซับซ้อนของการประเมินและอคติที่เราอาจกำลังมีอยู่ก็อาจเป็นจุดเริ่มที่ดี เพราะเราจะมองเห็นรายละเอียดในทักษะนั้นเรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็น่าจะนำไปสู่ความเข้าใจและการประเมินตัวเองที่ดีขึ้นได้
รายละเอียดจึงเป็นอีกสิ่งที่ค่อนข้างสำคัญ ทักษะต่างๆ ต่างมีรายละเอียดในตัวมันเอง เหมือนกับวงแหวนทักษะหรือการค่อยๆ ต่อตัวต่อชิ้นเล็กขึ้นไปจนเราเก่งกาจในสิ่งนั้นแบบภาพใหญ่ขึ้น การบอกว่าตัวเองเก่งและอธิบายได้ว่าเก่งอย่างไร เก่งเรื่องอะไร วางเกณฑ์การประเมินทักษะที่เหมาะสม ทำให้แนวคิดเรื่องความเก่งในทักษะนั้นๆ ที่เคยเป็นแค่ภาพรวม มีทิศทาง จับต้องได้ รวมถึงมีช่องทางในการพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรม
เรื่องทักษะ การประเมินตนเอง และการพัฒนาเป็นประเด็นใหญ่ที่เราทุกคนพยายามค้นหาและเข้าใจตัวเองเพื่อพัฒนาสิ่งที่เราทำต่อไป เรื่องทักษะและความสามารถนี้ก็เกี่ยวพันตั้งแต่ทักษะที่สัมพันธ์กับการทำมาหากิน เช่น ทักษะทางอาชีพ การทำงานเป็นทีม ไปจนถึงทักษะทางสังคมอย่างความยืดหยุ่น การแก้ปัญหา และทักษะด้านความสัมพันธ์
คนเรามักจะคิดว่าตัวเองร้องเพลงได้ไม่ดี
เมื่อไม่มั่นใจก็จะทำให้ร้องเพลงแย่ลงด้วย
แล้วร้องเพลงดีทำยังไง? เมื่อปัญหาอาจอยู่ที่อคติ
กลับมาที่ทักษะที่เราเริ่มต้นมา การบูลลี่เรื่องการร้องเพลงแย่ก็นับเป็นปัญหาเหมือนกัน นอกจากการร้องเพลงจะเป็นกิจกรรมที่หลายคนรักแต่เลิกไป ก็มีงานศึกษาจากนักเรียนมัธยมในสหรัฐอเมริกาพบว่า ในช่วงมัธยมต้น มีอัตราที่เข้าเรียนวิชาหรือเรียนพิเศษที่เกี่ยวกับดนตรี โดยเมื่อใกล้เข้ามหาวิทยาลัย เหลือเด็กนักเรียนเพียง 34% ที่ยังเรียนวิชาเกี่ยวกับดนตรีอยู่ ในงานศึกษาบางส่วนก็พบว่า มีเด็กหลายคนเลิกร้องเพลงไปเพราะรู้สึกว่าตัวเองร้องเพลงไม่ได้ ฟังคีย์หลง รู้สึกอาย และเข้าใจว่าตัวเองทำสิ่งนี้ได้ไม่ดี
ในทางกลับกัน มีงานศึกษาว่าการได้ลองฝึกทักษะ รวมถึงการควบคุมอวัยวะการขับร้องจะส่งผลให้ทักษะทั้งการฟังและจับระดับเสียงทำได้ดีขึ้นได้ โดยแรกเริ่มของการร้องเพลง นักวิจัยบอกว่าเราอาจจะร้องแบบเต็มที่หรือไม่ก็เลิกไปเลย ไม่มีตรงกลางและไม่คิดเรื่องการฝึกฝน จากงานวิจัยที่บอกว่าเด็กไม่ได้รับทักษะเกี่ยวกับดนตรีต่อไป แน่นอนว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะการร้องเพลงและทักษะทางดนตรีนำไปสู่การพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งระดับไอคิว ทักษะทางกายภาพ ไปจนถึงทักษะทางสังคม
ไม่ว่าคุณจะเป็นนักร้องเสียงเพี้ยน เสียงเพราะ หรือเป็นคนรักเสียงเพลงแค่ไหน การร้องเพลงแบบที่ต้องมีผู้ฟัง การหาตรงกลางของความสุขทั้งของเราและเขาจึงจำเป็นอยู่บ้าง จุดนี้เองที่การทดลองทำความเข้าใจทักษะการร้องเพลงของตัวเองอาจเป็นการหาทางสายกลาง แม้บางครั้งการประเมินเสียงร้องของตัวเองอาจยากหน่อย เพราะพอฟังเสียงที่อัดเอาไว้ก็วิงเวียนศีรษะทุกที
ถ้าเรารักการร้องเพลงจริงก็ต้องร้องไปสู่สาธารณชนจริง การทดลองฝึกฝนที่มีงานศึกษาไปจนถึงเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ก็อาจเป็นหนทางในการสร้างสันติสุขทางหูได้ทางหนึ่ง
อ้างอิงจาก