หลายล้านปีที่แล้ว ณ พื้นที่คุณยืนอยู่อาจเป็นผืนทะเลที่มีสาหร่ายและพืชพรรณน้อยใหญ่อาศัยชุกชุม
เมื่อพวกมันตาย ซากที่เปื่อยผุพังทับถมกันจมลึกใต้ท้องมหาสมุทรเป็นเวลานานนับล้านๆ ปี ภายใต้แรงดันอันมหาศาลและความร้อนสูงจากแกนโลกเปลี่ยนโมเลกุลของสิ่งมีชีวิตจิ๋วๆ ให้เป็น “พลังงานฟอสซิล” ที่พลิกทุกชีวิตในอีกล้านๆ ปีย้อนหลัง ให้พบองค์ความรู้อันเหลือคณานับ อย่างที่ประวัติศาสตร์โลกไม่เคยจารึกไว้มาก่อน
ทุกความเจริญก้าวหน้าของสังคมมนุษย์ล้วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับความต้องการพลังงาน โดยเฉพาะ “ปิโตรเลียม” มีการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางมากที่สุดประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นวัตถุดิบพื้นฐานของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่นับวันความต้องการปิโตรเลียมเพื่อตอบสนองสังคมในอนาคตจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้นความพยายามในการเสาะแสวงหาแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมภายในประเทศทั้งบนบกและในทะเล เพื่อทดแทนการนําเข้าจากต่างประเทศจึงเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ ประเทศไทยจึงมีภารกิจเพื่อการค้นพบและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศเองหลายแหล่ง แม้ที่มีอยู่จะไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการในประเทศได้สมบูรณ์แบบนัก แต่ก็ถือว่ามีส่วนช่วยเสริมศักยภาพในการพึ่งพาพลังงานตนเอง และพัฒนาความรู้ความสามารถทางเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมปิโตรเลียมที่จะก้าวช้ากว่าประเทศอื่นๆก็ไม่ได้
เขาว่าประเทศไทย ขุดที่ไหนก็เจอ
อาจเคยได้ยินมาว่า ประเทศไทยมีแหล่งปิโตรเลียมมากมาย แต่ในความเป็นจริงภารกิจสำรวจแหล่งปิโตรเลียมเหล่านี้ต้องเผชิญกับรายละเอียดทางเทคนิคที่ซับซ้อน และไทยเองก็ไม่ได้มีปิโตรเลียมสำรองมากอย่างที่หลายคนตั้งข้อสังเกต ทรัพยากรที่เรามีอยู่ ใช้งานได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
ข้อมูล ณ ปี 2557 จากกระทรวงพลังงานเรา มีน้ำมันดิบผลิตในประเทศ 15% ส่วนอีก 85% เป็นน้ำมันดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ ไทยมีก๊าซธรรมชาติประมาณ 9 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต อยู่ในอันดับที่ 42 หรือเทียบได้เป็นร้อยละ 0.1 ของปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองทั้งหมดทั่วโลก และมีน้ำมันดิบ 440 ล้านบาร์เรล อยู่ในอันดับที่ 47 หรือเทียบได้เป็นร้อยละ 0.02 ของปริมาณสำรองทั่วโลก ซึ่งในสัดส่วนนี้ก็ถือว่าเรามีแหล่งพลังงานอยู่ค่อนข้างน้อย หากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซีย ไทยมีประชากรมากกว่าถึง 2 เท่า แต่ดันมีก๊าซธรรมชาติน้อยกว่าถึง 8 เท่า และมีน้ำมันดิบน้อยกว่าถึง 13 เท่า จึงเป็นความแตกต่างในหลายมิติที่ต้องนำมาพิจารณา เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์พลังงานไทยที่ไม่ได้มีใช้อย่างเหลือเฝือและมักเผชิญการแข็งขันระหว่างประเทศอยู่ไม่น้อยโดยมีปัจจัยจำกัด
แหล่งปิโตรเลียมต่างที่ ทำให้ปิโตรเลียมก็ต่างกันไปอีก
ไม่ใช่ทุกที่จะเจอพลังงานอู้ฟู่ ลักษณะทางธรณีวิทยาอันหลากหลายมีอิทธิพลต่อปริมาณและคุณภาพของก๊าซธรรมชาติเช่นกัน
หากให้ลองเปรียบเทียบ โดยจากข้อมูล ณ ปี 2557 จากกระทรวงพลังงานแหล่งก๊าซธรรมชาติชื่อดังของประเทศเมียนมาร์ “ยาดานา” ในใจกลางมหาสมุทรอันดามันตอนบน กับแหล่งก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย “บงกชเหนือ” ในอ่าวไทย ซึ่ง 2 แหล่งนี้มีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติสูสี ใกล้เคียงกันคือ
- ยาดานา 6.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต
- บงกชเหนือ 5.2 ล้านล้าน ลูกบาศก์ฟุต
แต่ลึกลงไปใต้ดินอันมืดมิด ชั้นหินกักเก็บของ 2 แหล่งมีกลับมีความแตกต่างกันสิ้นเชิง โดยแหล่งยาดานาเป็นชั้นหินกักเก็บที่มี “กระเปาะ” ขนาดใหญ่ แต่ละกระเปาะกักเก็บก๊าซธรรมชาติจำนวนมาก จึงต้องการแหล่งขุดเพียงแค่ 17 หลุมก็เพียงพอเพื่อนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้งาน ส่วนแหล่งบงกชเหนือกลับมีชั้นหินกักเก็บที่มีลักษณะเป็นกระเปาะขนาดเล็ก กระจายตัวห่างกัน โดยแต่ละกระเปาะมีจำนวนก๊าซไม่มากนัก จึงทำให้ไทยต้องมีหลุมผลิตมากถึง 334 หลุม
ลักษณะกระเปาะเล็กมีต้นทุนขุดที่สูงกว่า แต่หากไม่ขุดขึ้นมาใช้เลย ก็เหมือนกับละลายโอกาสในการเข้าถึงพลังงานอีกเช่นกัน
นอกจากนั้นการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมเป็นงานที่มีความท้าทายสูงมาก ใช้ทั้งเวลาและความเสี่ยงในการลงทุนทุกบาททุกสตางค์ การสำรวจปิโตรเลียม เริ่มจากหาพื้นที่ที่มีลักษณะทางธรณีเข้าข่ายว่า อาจมีแหล่งปิโตรเลียมซ่อนอยู่ในชั้นดิน และทำการขุดเจาะสำรวจบริเวณนั้นอยู่หลายครั้ง เพื่อตรวจดูว่ามีปิโตรเลียมหรือไม่
หากพบว่ามี ก็ต้องมาดูอีกว่ามีมากน้อยแค่ไหน การสำรวจแต่ละครั้งจึงใช้เวลาและเงินทุนจำนวนมาก และสุดท้ายอาจไม่พบปิโตรเลียมในแหล่งนั้นมากพอ จนไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนไป จากการสำรวจผลสัมปทานครั้งที่ผ่านๆมา มีทั้งที่ประสบผลสำเร็จดีเป็นที่น่าพอใจ และอีกไม่น้อยที่ต้องคืนสัมปทานไปโดยไม่สามารถผลิตน้ำมันได้สักหยด
เมื่อพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมได้สำเร็จ ประเทศไทยย่อมได้รับผลตอบแทนในฐานะ “เจ้าของทรัพยากร” โดยระบบสัมปทานปิ
การขุดเจาะหลุมเพื่อสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้นเป็นงานที่ท้าทายและมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนที่สูงและมีความเสี่ยงมาก เพราะหากเราขุดไปแล้วพบปริมาณน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติที่ไม่คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ การลงทุนนั้นก็สูญเปล่า แต่ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาและทันสมัยมากยิ่งขึ้น ระยะเวลาในการขุดเจาะจึงลดลง
ดังนั้นการพัฒนาขอบเขตศักยภาพเทคโนโลยีและทรัพยากรมนุษย์อย่างเป็นพลวัตร จึงเป็นสิ่งที่ทุกประเทศต้องเร่งทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ชีวิตคนแท่น ความท้าทายทุกวินาที
ไหนๆ ก็พาไปพบกับความท้าทายของภารกิจสำรวจพลังงานไทยแล้ว แต่ในภาพใหญ่ล้วนขับเคลื่อนด้วยคนตัวเล็กๆ ที่มีความสามารถและเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ “ร.ท. หัฏฐะพงศ์ อยู่สุข” นร.ทุนกระทรวงกลาโหม ผู้ศึกษาต่อในสาขา Science in Petroleum Engineering จาก Colorado School of Mines ประเทศสหรัฐอเมริกา ตำแหน่งปัจจุบัน ประจำแผนกผลิตปิโตรเลียม ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ กรมการพลังงานทหาร
จากนายร้อยหนุ่มวิศวกรรมโยธา ที่ค่อยๆผันตัวเองให้สนใจเรียนวิศวกรรมปิโตรเลียม สู่การทำหน้าที่คนแท่นเต็มตัว
ร.ท. หัฏฐะพงศ์ อยู่สุข “ตอนแรกอยู่โรงเรียนนายร้อย เรียนดึงเหล็ก บีบหิน สร้างถนน สร้างสะพาน มันเป็นสิ่งที่เราเห็นได้ทั่วไป จับต้องได้ วันหนึ่งมีทุนให้ 1 คนต่อโรงเรียน จังหวะนั้นไม่รู้อะไรคือปิโตรเลียมด้วยซ้ำ เหมือนเป็นเรื่องไกลตัวมากๆ บางคนก็พูดปิโตรเคมี บางคนพูดปิโตรเลียม บางคนบอกเจาะน้ำมัน แต่เท่าที่รู้คือ มันน่าสนใจ เป็นโอกาสในชีวิต น้อยคนในประเทศไทยที่เรียนทางด้านนี้โดยตรง ”
ชีวิตประจำวันเป็นอย่างไรบ้าง ได้ยินเสียงลือมาว่า คนทำงานด้านนี้ นอนน้อย เพราะต้องแก้ไขปัญหาอยู่ตลอด?
ร.ท. หัฏฐะพงศ์ อยู่สุข
“ตอนอยู่บนแท่นเจาะ บางวันก็ไม่ได้นอนจนถึงเช้า ขึ้นอยู่กับว่าในวันนั้นต้อง Operate อะไรบ้าง หากมีการลงอุปกรณ์สำคัญ เราก็จะนอนไม่ได้เป็นอันขาด เพราะต้องเข้าไปคุมอย่างละเอียด บางวันที่มีปัญหา ในเชิงทฤษฎีอาจจะแก้ได้ง่ายมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันไม่ง่ายอย่างงั้นเลย เพราะ เราไม่สามารถเห็นได้ว่าภายใต้ผืนดินลึกลงไปหลายพันเมตร มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือ การพึ่งข้อมูลที่ใช้อุปกรณ์มากมายหลายชนิดไปช่วยในการเก็บรวบรวมมา รวมกับการคิด วิเคราะห์เพื่อหาหนทางแก้ไขที่จะส่งผลดีที่สุด ทั้งทางด้านผลผลิตทางปิโตรเลียม และ ผลกระทบต่อธรรมชาติที่ต้องน้อยที่สุดเสมอ”
“ทุกวันตอนเช้าจึงต้องเขียน Report สรุปสำหรับการทำงาน 24 ชม. ที่ผ่านมา ว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง มีการใช้อุปกรณ์อะไรไปบ้าง ไฟฟ้าเท่าไหร่ น้ำมันเท่าไหร่ เงินเท่าไหร่ ต้องเขียนหมด มันเป็นงานที่มีรายละเอียดสูง ถ้ามีการผิดพลาดอาจส่งผลเสียมากมายในภายภาคหน้าได้”
แหล่งปิโตรเลียมในไทย คิดว่าเพียงพอต่อการอุปโภคในประเทศเราไหม?
ร.ท. หัฏฐะพงศ์ อยู่สุข
“ความคิดส่วนตัว คิดว่าน่าจะพออยู่ หากเราใช้เทคโนโลยีมาประยุกต์อย่างเหมาะสม เหมือนในกรณี แหล่งผลิตน้ำมัน S1 ของ ปตท. ที่เมื่อก่อนบริษัทต่างชาติได้ดำเนินการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่นี้ แล้วผลผลิตก็ลดลงเรื่อยๆ ตามการลดลงของแรงดันทางธรรมชาติ ซึ่งอาจจะไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์อีกต่อไป เนื่องด้วยผลผลิตที่เคยมากถึงหลายหมื่นบาร์เรลต่อวัน ลดลงมาเป็นหลักพัน ดังนั้น หลายฝ่ายก็เลิกทำไป แต่ ปตท.ก็ได้เข้ามาทดลองเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตน้ำมันดิบ อาธิ เทคนิคการอัดน้ำเข้าไปเพื่อเพอ่มแรงดันภายในชั้นหิน และกวาดน้ำมันภายในแหล่งผลิตเข้าสู่หลุมผลิต (Water flooding) ซึ่งผลลัพธ์ก็ออกมาเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก เพราะสามารถเพิ่มผลผลิตน้ำมันดิบกลับมาเป็นหลักหมื่นบาร์เรลต่อวันอีกครั้ง”
น้ำมันเป็นพลังงานมีความสำคัญทุกอย่าง เครื่องจักรกล รถยนต์ รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน สิ่งที่เราเห็นรอบตัวเรา มันก็ผลิตมาจากปิโตรเลียมที่เราขุดขึ้นมา เป็นแก๊ส เป็นยางมะตอย พลาสติก โพลีเมอร์ ต่างๆ มากมาย เพราะฉะนั้นมีความสำคัญมาก
บางคนคิดว่าถ้าเกิดน้ำมันราคาลง วิชาชีพนี้ก็ไม่น่าเรียนแล้ว แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น เพราะองค์ความรู้นี้จะมีประโยชน์ต่อเนื่อง แม้เร็วๆนี้รถยนต์จะเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้า แต่ปิโตรเลียมก็นำมาทำอย่างอื่นได้อีกมากมาย บางคนคิดว่าน้ำมันมันจะหมดโลกแล้ว เรียนจบไปก็ไม่ได้ใช้ แต่แท้จริงโอกาสใหม่ๆกำลังรอคนรุ่นใหม่ๆ ไปหาวิธีเอาพลังงานมาใช้โดยวิธีต่างๆมากกว่า”
“น้ำมันอาจจะยังไม่หมด แต่ความคิดที่จะเอามาใช้ของมนุษย์ต่างหาก ที่จะหมดก่อน และที่สำคัญคือ หมดใจ คิดว่าไปต่อไม่ได้ มันจึงสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่เราเรียนมาในฐานะวิศวกร ทำอย่างไรให้ได้น้ำมันขึ้นมา ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เหมาะสม เราอาจจะมีน้ำมันให้ใช้ต่ออีก” ร.ท. หัฏฐะพงศ์ อยู่สุข ย้ำอีกครั้งว่าเจตนารมณ์ที่ตั้งมั่นไว้ ยังคงมาถูกทางเสมอ
Illustration by Namsai Supavong