ในเวทีเสวนาของสภาองค์กรของผู้บริโภค หัวข้อ “รถไฟฟ้าต้องถูกลง ทุกคนต้องขึ้นได้ ผู้ว่าฯ กทม.ช่วยได้หรือไม่” ปรากฎว่า 4 แคนดิเดตที่เข้าร่วมเวที ทั้งรสนา โตสิตระกูล (อิสระ), ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (อิสระ), วิโรจน์ ลักขณาอดิศร (พรรคก้าวไกล) และสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (พรรคประชาธิปัตย์) ต่างแสดงจุดยืนร่วมกันคัดค้านที่จะให้ต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับ BTS ที่จะหมดอายุในปี 2572 ไปอีก 30 ปี เพื่อแลกกับการใช้หนี้
ทั้งนี้ ปัจจุบันเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ
- ส่วนหลัก หมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-ตากสิน ซึ่ง BTS เป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง จะมีอายุสัญญาสัมปทานถึงปี 2572 แต่ กทม.ไปจ้างเดินรถจนถึงปี 2585
- ส่วนต่อขยาย 1 คือตากสิน-บางหว้า และอ่อนนุช-แบริ่ง กทม.เป็นผู้ลงทุน และได้จ้าง BTS เดินทางถึงปี 2585
- ส่วนต่อขยาย 2 คือหมอชิต-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ รฟม.เป็นผู้ลงทุน โดย กทม.จ้าง BTS เดินรถถึงปี 2585 เช่นกัน
โดยปัจจุบัน กทม.เป็นหนี้กับ BTS กว่า 3.7 หมื่นล้านบาท และอาจเป็นหนี้ที่ รฟม.โอนมาให้อีกกว่า 6.5 หมื่นล้านบาท รวมกว่า 1 แสนล้านบาท
ชัชชาติ กล่าวว่า ควรชะลอการต่ออายุสัญญาสัมปทานออกไปก่อน เพราะกลไกการพิจารณามาจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2562 โดยคนไม่กี่คน แต่จะมีคนผลกระทบถึงคนอีก 1 เจนเนอเรชั่นเลย หากจะพิจารณาควรใช้กลไกตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน สำหรับปัญหาเรื่องหนี้สินควรจะใช้วิธีเจรจา และต้องเปิดเผยข้อมูลในสัญญาจ้างเดินรถถึงปี 2585 รวมถึงสัญญาที่จะพิจารณาต่ออายุสัมปทานกับ BTS ถึงปี 2602 ให้สาธารณชนได้รับทราบด้วย
รสนา บอกว่า หากต่อสัญญาสัมปทานกับ BTS ไปอีก 30 ปี จนถึงปี 2602 รถไฟฟ้าสายสีเขียวก็จะเป็น ‘จรเข้ขวางคลอง’ ที่จะขัดขวางไม่ให้ระบบตั๋วร่วมเกิดขึ้นได้ และยังต้องเสีย ‘ค่าแรกเข้า’ เวลาเปลี่ยนรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ ส่วนตัวจึงเห็นว่าควรยกให้ รฟม. มาบริหารจัดการ โดยให้มีตัวแทนผู้ว่าฯ กทม.เข้าไปร่วม เพื่อทำให้เกิดระบบตั๋วร่วมที่ราคาค่าโดยสารย่อมเยาว์ที่สุด เพื่อให้คนจนเข้าถึงระบบรางได้ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาอื่นๆ ทั้งการจราจรและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5
วิโรจน์ ระบุว่า เท่าที่ลองสืบดู ในร่างสัญญาต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับ BTS อีก 30 ปีไปจนถึงปี 2602 ไม่มีระบุเงื่อนไขเรื่อง ‘ตั๋วร่วม’ ซึ่งจะทำให้เกิดการเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน และปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพงจะไม่มีทางแก้ไขได้เลย จากนี้ไปการเจรจาเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ผู้ว่าฯ กทม.ต้องไปมีส่วนร่วมด้วย ไม่ใช่ยอมจำนน และเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบทุกขั้นตอน ทั้งนี้ ควรจะนำเงินไปสนับสนุนการเดินทางอื่นๆ เช่น รถเมล์ด้วย
สุชัชวีร์ เสนอให้ออกพันธบัตร อาจใช้ชื่อ Bangkok Infrastructure Fund โดยให้ดอกเบี้ยสัก 3% เพื่อนำเงินไปใช้หนี้กับ BTS ส่วนตัวเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากการคิดไม่จบของกระทรวงคมนาคม เพราะการก่อสร้างรถไฟฟ้าควรจะเป็นสวัสดิการ รัฐควรจะจ่ายให้ทั้งหมด แต่กลับมีการโยนภาระมาให้กับ กทม. แต่สำหรับข้อเสนอให้โอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปให้ รฟม.ตนไม่เห็นด้วย เพราะทั่วโลกตอนนี้เน้นการกระจายอำนาจ ไม่ใช่ว่าพอมีปัญหาอะไร กทม.กลับจะโยนไปที่ส่วนกลาง
สำหรับคำถามเรื่องราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เหมาะสม ผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.แต่ละคนให้ตัวเลขที่แตกต่างกันไปตามแต่ฐานคิด ชัชชาติระบุที่ตัวเลข 25-30 บาท แต่ต้องปรับตามอัตราเงินเฟ้อ, รสนาระบุถึงตัวเลข 40-45 บาท แต่เป็นการขึ้นรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ทุกสาย, วิโรจน์บอกว่า 25 บาทตลอดสายเป็นไปได้ แต่ต้องบอกที่มาของเงินที่ กทม.จะนำไปใช้อุดหนุนด้วย ส่วนสุชัชวีร์คำนวณว่า น่าจะไม่เกิน 20% ของค่าแรงขั้นต่ำ คือไป-กลับไม่เกิน 60 บาท โดยเที่ยวละ 20-25 บาท พอมีความเป็นไปได้
– ดูคลิปงานเสวนาดังกล่าว: https://www.facebook.com/tccthailand/videos/682638746504880
#Brief #TheMATTER