กวาดสายตามองหางานที่ใช่ แต่คุ้นๆ ว่าตำแหน่งตรงหน้านี้ เปิดรับเมื่อหลายเดือนที่แล้ว นับนิ้วไปมา เผลอๆ จะเกินหนึ่งไตรมาสแล้วด้วยซ้ำ ยังไม่ได้คนอีกหรอ จะว่าไป บริษัทนี้ก็เปิดรับหลายตำแหน่ง แถมยังเปิดอยู่เรื่อยๆ รับเยอะขนาดนี้ คนก่อนๆ ออกไปไหนพร้อมกันหมดนะ แล้วคนที่สมัครไปล่ะ จะไม่มีเลยหรอ กลิ่นไม่ชอบมาพากลโชยมาแต่ไกล บรรยากาศรอบตัวเริ่มจะเงียบเชียบผิดปกติ หรือว่า เราจะเจอ Ghost Jobs เข้าให้แล้ว!
เกือบจะกลายเป็นเรื่องลึกลับแต่กลับมาได้ เพราะ ‘Ghost Jobs’ ที่กำลังเจอนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องสยองจนต้องต่อสายหาพี่แจ็คแต่อย่างใด แต่เป็นความตั้งใจของหลายบริษัทต่างหากล่ะ
Ghost Jobs เป็นตำแหน่งที่อุปโลกน์ขึ้นมา โดยไม่ต้องการคนมาทำงานจริง อาจเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่จะเปิดเพื่อจูงใจให้คนเข้ามาสมัครงานในบริษัท แต่พอมีคนสมัครจริง กลับเงียบหายด้วยความตั้งใจ ไม่ใช่เพราะคุณสมบัติของผู้สมัครไม่ผ่าน หรือในขั้นตอนของการสัมภาษณ์ กลับโน้มน้าวให้ทำตำแหน่งอื่น และไม่ว่าจะได้คนทำงานไปแล้วหรือไม่ก็ตาม ตำแหน่งนั้นก็ยังคงเปิดรับอยู่ตลอดเวลา งานที่ว่านี้จึงได้ชื่อเรียกเล่นๆ ว่า ‘ตำแหน่งผี’ ที่ลึกลับและไม่มีอยู่จริงนั่นเอง
ตำแหน่งผีเหล่านี้ ยิ่งระบาดหนักในช่วงที่โลกของการทำงานต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตด้านแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น Great resignation หรือ Quiet quitting ที่เกิดการย้ายงาน ออกจากงาน จำนวนมาก แล้วบริษัทเหล่านี้จะเปิด Ghost Jobs ไปทำไม ตำแหน่งผีจะช่วยบริษัทได้ยังไงบ้าง?
ผลการสำรวจจาก Clarify Capital บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินในนิวยอร์ก เผยตัวเลขในเรื่องนี้ กว่า 50% ของนายจ้างที่เปิดรับตำแหน่งใดไว้นานๆ นั่นก็เพราะอยากให้มีผู้สมัครคุณสมบัติปังๆ เข้ามาสมัครเรื่อยๆ อีก 43% บอกว่า เอาไว้โชว์ว่าบริษัทเนี่ย ยังมีความมั่นคงแม้อยู่ในช่วงที่สังคมเกิดภาวะวิกฤตต่างๆ บริษัทยังคงยืนหยัดและรับคนเข้ามาทำง่ายเรื่อยๆ ไม่ได้เตรียมตัวเจ๊งแต่อย่างใด แถมยังช่วยเสริมภาพลักษณ์ว่าบริษัทเติบโตไว ขยายทีมอยู่เรื่อยๆ อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีเหตุผลทางด้านทรัพยากรบุคคล ที่ทำให้บริษัทหลายแห่งเลือกเปิดตำแหน่งผีเอาไว้ลอยๆ มานาน เพราะตำแหน่งเหล่านี้ ทำให้ฝ่ายบุคคล สามารถประเมินความสามารถ คุณสมบัติของพนักงานที่มีอยู่และพนักงานที่สมัครเข้ามาใหม่ได้เสมอ เมื่อมีตัวเลือกที่น่าสนใจกว่าถึงเวลาที่จะดึงตัวคนใหม่มาเสริมทัพ
หากเป็นเหตุผลที่ว่ามาข้างต้น ก็ดูเหมือนจะไม่มีพิษไม่มีภัยอะไรใช่ไหม แต่ตำแหน่งผีนี้ก็มีช่องโหว่บางอย่างที่ทำให้เกิดคดีคอรัปชั่นระดับประเทศมาแล้ว ฌากส์ เรอเน ชีรัก (Jacques René Chirac) อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่ได้รับการยกย่องเป็นรัฐบุรุษ แต่ในตอนที่เขาลงจากเก้าอี้นั้น กลับจากลาไปทั้งที่มีข้อกล่าวหาทุจริต และหนึ่งในนั้นเกี่ยวข้องกับตำแหน่งผี โดยเขาถูกกล่าวหาว่าเปิดตำแหน่งผีในศาลาว่าการเทศบาลนครปารีส โดยไม่มีบุคคลากรมาทำงานนั้นจริงๆ แต่กลับเอาเงินค่าจ้างตำแหน่งผีเหล่านั้น ไปใช้เพื่อประโยชน์อื่นๆ นั่นเอง
แต่หากเป็นตำแหน่งผีในงานทั่วไป อาจน่ากลัวแค่ชื่อ แต่ไม่ได้ส่งผลเสียอะไรกับเราอย่างที่คิด แต่ถ้าใครอยากสมัครแล้วได้ทำงานตรงกับที่อยากทำ ไม่ถูกโน้มน้าวไปทำงานอื่นที่ไม่ได้สนใจ หรือไม่อยากรอเก้อกับงานที่ไม่มีจริง ติดต่อไปมีแต่เงียบหาย งั้นเรามีวิธีสังเกตตำแหน่งผีง่ายๆ ดังนี้
- สังเกตวันที่เริ่มต้นรับสมัคร ลองมองหาวันที่โพสต์สิ่งนี้ เพื่อประเมินว่างานนี้เปิดรับมานานแค่ไหน จริงๆ ก็ไม่มีตัวเลขตายตัวว่าต้องกี่เดือนถึงจะกลายเป็นตำแหน่งผี ทาง Business Insider ได้วางไว้คร่าวๆ ว่า 90 วันก็เริ่มน่าสงสัยแล้ว อย่าลืมว่ายิ่งนานวัน คนก็ยิ่งเห็นโพสต์มากเท่านั้น แต่กลับยังเปิดรับสมัครอยู่เสมอไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน ก็เริ่มน่าสงสัยแล้วว่าตำแหน่งที่ว่านั้นมีจริงไหม
- เช็กว่าเปิดรับตำแหน่งนี้จริงกับทางบริษัท บางครั้งงานที่เราเห็น อาจเป็นกลยุทธของทีม HR ที่ต้องการให้เห็นว่าบริษัทมั่นคงและเติบโตอยู่เสมอ หรือบางทีก็แค่ลืมลบโพสต์หลังได้คนแล้ว หากเราเป็นหนึ่งในคนที่สนใจตำแหน่งนั้นจริงๆ สามารถเช็กตำแหน่งที่เปิดรับในบริษัทได้ว่ามีตำแหน่งว่างตรงกันหรือไม่ ผ่านทางเว็บไซต์หรือติดต่อบริษัทโดยตรง
- สังเกตจาก Social Media ของบริษัท อาจจะต้องเลื่อนหานานหน่อย แต่เราก็สามารถมองหาสัญญาณว่าบริษัทนี้กำลังมองหาคนทำงานจริงหรือเปล่าได้เหมือนกัน หากเป็นตำแหน่งที่ต้องการคนจริงๆ อาจมีการอัปเดตอยู่เสมอว่าตอนนี้ยังรับอยู่ หรือตำแหน่งไม่ว่างแล้ว เพื่อประกอบการตัดสินใจของเราด้วย
หากไม่อยากโดนตำแหน่งผีหลอก ลองสังเกตดีๆ ก่อนสมัครกันล่ะ จะได้ไม่เสียเวลาและโอกาสไปกับงานที่เขาไม่ได้ต้องการเราแต่แรก
อ้างอิงจาก