การเป็นไอดอลที่ถูกรักและยกย่องเป็นสิ่งน่ากลัวได้ด้วยหรือ?
เราหลายๆ คนอาจเห็นด้วยว่า ในฐานะสัตว์สังคม มนุษย์มีหนึ่งในความต้องการพื้นฐานคือการเป็นที่รัก การเป็นที่คนรอบตัวของเราชอบ สิ่งที่เราเป็นควรจะนำมาซึ่งความรู้สึกปลอดภัย รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียว และนำมาซึ่งการเป็นส่วนหนึ่ง เป็นปึกแผ่นกับที่ที่เรายืนอยู่ ในทางทฤษฎีมันน่าจะเป็นอย่างนั้น แต่เมื่อเรามองไปยังผู้คนที่ ‘เป็นที่รัก’ ในชีวิตจริง บ่อยครั้งแล้วมันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือเหล่าไอดอล ใครกันจะเป็นที่รักไปมากกว่าพวกเขา แฟนคลับนับล้านเอ็นดูพวกเขา บ้างถวายส่วนหนึ่งของชีวิตให้กับพวกเขา กลุ่มคนผู้ถูกวางภาพให้สมบูรณ์แบบเหล่านี้ ที่มุมปากของรอยยิ้ม มีรอยร้าวเล็กๆ ที่มองแทบไม่เห็น บ่อยครั้งผู้คนมองมันไม่เห็น จนรอยร้าวนั้น ขยายใหญ่จนใครสักคนแตกสลาย ความรักและการยกย่องที่มองยังไงก็เป็นบวก ทำให้พวกเขาเป็นอย่างนั้นได้ยังไง? เราอาจจะได้คำตอบมากขึ้นเมื่อเราได้ลองไปดูธรรมชาติของวัฒนธรรมไอดอลที่อุตสาหกรรมสร้างขึ้น และวิธีที่มันทำให้แฟนคลับบางส่วนมีวิธีการ ‘รัก’ ที่อาจข้ามเส้นไปเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่านั้น
แรกเริ่มที่สุดเราอาจต้องไปดูก่อนว่าอะไรคือวัฒนธรรมไอดอล โดยเริ่มแล้วเราจะเห็นได้ชัดว่าลักษณะการติดตามคนที่ถูกวางภาพเป็นไอดอลนั้นแตกต่างจากศิลปินรูปแบบอื่นๆ อย่างมาก ตั้งแต่วิธีการที่แฟนๆ พูดถึงพวกเขา มองพวกเขา ไปจนขอบเขตการแสดงออกของเหล่าไอดอลเอง ความแตกต่างทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่สืบทอดมาตั้งแต่ราวๆ ปี 1970 ที่ประเทศญี่ปุ่น
จุดกำเนิดของวงการไอดอลญี่ปุ่นในยุคแรกเริ่มนั้นถือกำเนิดขึ้นใกล้ๆ กับยุคที่โทรทัศน์เริ่มเข้าสู่ครัวเรือนญี่ปุ่นอย่างแพร่หลายที่พาให้ผู้คนสามารถเสพสื่อได้อย่างทั่วถึงมากกว่าเมื่อก่อน โดยไอดอลในยุคนั้นโดยมากมาจากรายการแสดงความสามารถของเด็กวัยเรียนวัยรุ่น หากจะให้สันนิษฐาน รากของหลายๆ ค่านิยมในวัฒนธรรมเกิดขึ้นที่ตรงนี้ การเดบิวต์ตั้งแต่เด็ก การนำเสนอภาพลักษณ์ ภาพจำที่ขาวสะอาดเพื่อนำเสนอผ่านโทรทัศน์ และการคงไว้ซึ่งภาพจำเหล่านั้นตลอดเวลา
ลักษณะที่จำเพาะเจาะจงของไอดอลที่ถือกำเนิดขึ้นมีมาตั้งแต่สมัยนั้นจนทุกวันนี้ คือพวกเขาผู้ไม่ได้ถูกติดตามในแง่ผลงานอย่างเดียว แต่เป็นชีวิตส่วนตัวด้วย ซึ่งนั่นรวมไปถึงวิธีการที่พวกเขาแสดงออกในการสัมภาษณ์กับสื่อ ในรายการวาไรตี้ ไปจนมุมมอง แม้แต่การเดต โดยไม่ว่าจะเป็นไอดอลสายการแสดง สายออกรายการ เล่นซีรีส์ ฯลฯ พวกเขาติดอยู่กับขอบเขตเหล่านี้มาเสมอ แล้วขอบเขตพวกนั้นมาจากไหน?
“ตั้งแต่ปี 1971 ตอนที่มินามิ ซาโอริ และอามาจิ มาริเดบิวต์ พวกเขาให้ความสำคัญกับบุคลิกภาพและตัวตนของไอดอลเป็นที่หนึ่ง” อินามะซึ ทัตซึโอะ ผู้เชี่ยวชาญสื่อร่วมสมัยญี่ปุ่นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมไอดอลญี่ปุ่นกล่าวในบทความ Show biz exploits ‘Volunteerism’ image in packaging of latest teen idol ในเว็บไซต์ Japan Times
คำพูดดังกล่าวเป็นข้อสังเกตที่ตอบคำถามเกี่ยวกับวัฒนธรรมไอดอลเป็นอย่างดี มันไม่เคยเกี่ยวกับผลงานของพวกเขา แต่เกี่ยวกับภาพลักษณ์และตัวตนที่จะถูกนำไปขายได้มาแต่ต้น เช่นนั้นแล้วการปั้นตัวตนให้เข้ากันกับกลุ่มเป้าหมายจงสำคัญมาก และบทความยังพูดต่อว่ากลุ่มเป้าหมายที่เหล่าเด็กผู้หญิงผู้ชนะรายการร้องเพลงเหล่านี้ต้องเอาใจ คือเพศตรงข้าม นั่นคือเหตุที่พวกเขาต้องบริสุทธิ์ในทุกแง่มุม ต้องสวยพิมพ์นิยม ไม่มีความรักอื่นใด นอกจากความรักต่อแฟนคลับ
คิดต่อว่า วัยรุ่นชายญี่ปุ่นใต้ปิตาธิปไตยในปี 1970 เป็นยังไง? ไอดอลแม้แต่นอกประเทศเกาะไม่ว่าจะเพศใดในแง่หนึ่งก็ยังติดอยู่กับระบบที่เกิดขึ้นในตอนนั้น เพื่อคนกลุ่มนั้น และไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากมายจนกระทั่งตอนนี้
‘ไอดอล’ คำและความหมายของนี้ ล้วนปั้นแต่งสิ่งที่มันอธิบาย คำว่าไอดอลนั้นมีน้ำหนักที่หนักอึ้งยิ่งกว่าการเป็นดาราทั่วไป เนื่องจากความหมายของมันทึกทักว่าคนนั้นจะต้องเป็นตัวอย่างของอะไรบางสิ่ง การเป็นผู้หญิงที่สมบูรณ์แบบ การเป็นลูกชายที่ไร้ที่ติ ฯลฯ และไม่ใช่แค่ในระดับพื้นฐาน แต่ไปจนถึงระดับที่เป็นแม่พิมพ์หรือ ‘แบบ’ (Form) ที่มนุษย์ควรจะไปให้ถึง ซึ่งบ่อยครั้งเหลือเกิน ที่ความคาดหวังอันหนักอึ้งนั้น ทับลงมาโดนใครก็ตามที่แบกรับมันเอาไว้
ไอดอลที่ต้องโกนหัวขอโทษแฟนคลับเมื่อถูกจับได้ว่าเดต การถูกต่อว่าเรื่องหน้าตาและรูปลักษณ์ของเราเปลี่ยนไปเนื่องจากปัจจัยแสนธรรมดาของการเป็นมนุษย์ การมีจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องที่กลุ่มเป้าหมายอาจไม่เห็นด้วย การเป็นเพศที่สังคมไม่เปิดรับนำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์และความรุนแรง ค่านิยมสังคมเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตทำให้ยากต่อการพูดถึง และอีกหลากหลายเรื่องราวที่ไอดอลต้องพบเจอ
น่าเศร้าที่เรื่องราวเหล่านี้ เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น และยังเป็นจริงจวบจนถึงตอนนี้ บางกรณีนำไปสู่สุขภาพใจที่ย่ำแย่ บางกรณีนำไปสู่ความสูญเสียที่ไม่ควรต้องเกิดขึ้น และแม้สังคมโลกจะมีเทรนด์ที่มุ่งหน้าสู่ความเปิดกว้าง แต่หลายๆ ปัจจัยกลับทำให้กรณีของเหล่าไอดอลแย่ลง
จากที่เคยอยู่ในโทรทัศน์ การมาถึงของโซเชียลมีเดียทำให้บริษัทสามารถปั้นขายหีบห่อใหม่ๆ ให้แก่เหล่าไอดอลเพื่อสร้างความแน่นแฟ้นระหว่างความสัมพันธ์รักข้างเดียวของแฟนคลับกับไอดอล (Parasocial Relationship) ความจับต้องได้ที่เพิ่มมากขึ้นผ่านการคอลไซน์ แอปแชตที่ดูเหมือนเหล่าไอดอลพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์กับไอดอลได้ตรงๆ เส้นระหว่างอาชีพและตัวตนจริงๆ ของพวกเขาอยู่ที่ตรงไหน? คนคนหนึ่งสามารถเป็นแค่ตัวของเขาเองได้หรือไม่ในงานที่เรียกร้องทุกย่างก้าวชีวิตของพวกเขา? โดยเฉพาะในโลกที่คนสามารถพูดตรงๆ ออกไปได้ว่าการจ่ายเงินคือการอนุญาตให้พวกเขามีความชอบธรรมในการเรียกร้องบางอย่างจากไอดอลของพวกเขาได้
ไอดอลยังเป็นมนุษย์อยู่หรือไม่ เมื่อตัวตนของพวกเขาผ่านการขัดเกลาและการต้องนำค่านิยมสังคมจำนวนมหาศาลมาผูกมัดเอาไว้? ไอดอลเป็นที่รักจากการเป็นตัวเขาเอง หรือเป็นที่รักจากการเป็นสิ่งที่คนอื่นๆ อยากให้พวกเขาเป็นกันแน่? นั่นเป็นคำถามที่ไม่ควรมีใครต้องมานั่งถามกับตัวเองเลยทั้งนั้น
จากทั้งหมดว่ามา นั่นแปลว่าอุตสาหกรรมทำให้ไอดอลเป็นสินค้าหรือเปล่า?
ใกล้เคียง แต่นั่นยังไม่ใช่คำตอบทั้งหมด สินค้าที่แท้จริงของอุตสาหกรรมไอดอลนั้นจับต้องยากกว่านั้น ในบทความชื่อ Idols: The Images of Desire in Japanese Consumer Capitalism โดยเจสัน คาร์ลิน (Jason Karlin) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโตเกียวผู้เชี่ยวชาญเรื่องเพศ สื่อ โซเชียลมีเดียพูดคุยเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของไอดอลญี่ปุ่นไว้อย่างน่าสนใจ สิ่งที่เขาเสนอคือไอดอลไม่ใช่เพียงสินค้า แต่ ‘ไอดอลคือภาพจำลอง’
ในบทความชิ้นนี้ คาร์ลินพาเราไปดูคำว่า ‘Image’ ทั้งในฐานะคำว่า ภาพของไอดอล เช่น โฟโต้การ์ด โฟโต้บุ๊ก วิดีโอ ฯลฯ และในฐานะภาพจำลอง หรือภาพฝัน สิ่งที่ถูกประกอบสร้างขึ้นโดยผู้มอง หรือในกรณีนี้คือโอตาคุ “ไอดอลคือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น แต่มีผลกระทบและถูกรักอย่างแท้จริง นี่ไม่ใช่การสับสนระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่ง แต่เป็นวิธีการให้คุณค่ากับเรื่องแต่งอย่างจริงจังถึงที่สุด ไอดอลจำเป็นต้อง ‘มีตัวตนอยู่จริงอย่างถึงที่สุด’ แต่ก็ต้องไร้การเปลี่ยนแปลง และอยู่นอกเหนือไปจากชีวิตประจำวันไปพร้อมๆ กัน” เขาเขียนถึงความขัดแย้งในตัวเองของภาพลักษณ์ไอดอล
ความขัดแย้งอยู่ ณ ใจกลางในทุกๆ ส่วนของไอดอล คาร์ลินเขียนว่า หนึ่งในเหตุที่ทำให้ธุรกิจของไอดอลเฟื่องฟูนั้น ก็วางอยู่บนความขัดแย้ง “ธุรกิจสร้างฝันในญี่ปุ่นคือธุรกิจที่มีเม็ดเงินสูง เนื่องจากวัตถุที่พวกเขาขาย ลูกค้าไม่อาจครอบครองได้เต็มร้อย ไร้ไคลแม็กซ์ของความเติมเต็มที่แท้จริง และพวกเขาจะติดตามจนกว่ามันจะมาถึง…ตัวตนของไอดอลแกว่งไกวอยู่ระหว่างความสมบูรณ์ที่ไม่อาจไปถึง (ความบริสุทธิ์) และวัตถุดิบที่ไม่มีวันหมด (การเติมเต็มความต้องการทางเพศ)”
จากบทความนี้และสิ่งที่เราสังเกตวัฒนธรรมไอดอลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมา เราพบว่าสินค้าที่แท้จริงของอุตสาหกรรมไอดอลนั้นไม่ใช่ตัวไอดอลเอง แต่คือความฝัน ความปรารถนาของผู้คน อาจจะหมายถึงหนทางในการหลีกหนีเรื่องราวที่กวนใจของเรา การเติมเต็มแฟนตาซีในการเป็นชายหรือหญิงที่เราอยากเป็น หรือการที่มีใครสักคน ที่การมีอยู่ของเขาบอกว่า ‘ภาพฝันของเรานั้นมีอยู่จริง’
คำถามที่ต้องถามคือ นั่นควรเป็นสิ่งที่มีใครแบกรับเอาไว้หรือไม่? ในเมื่อภาพฝันของเราทุกคนแตกต่างกันออกไป การที่ใครสักคนไม่เป็นไปตามนั้นคือความผิดของพวกเขาอย่างนั้นหรือ? และไม่ว่าการตำหนิติเตียนคนเหล่านั้นจะเกิดขึ้นเพราะด้วยความเกลียดชัง หวังดี หรือชื่นชม
แต่สิ่งที่หดหายไปกลางทางอย่างไม่ตั้งใจคือความเป็นมนุษย์ของพวกเขาใช่หรือไม่?
อ้างอิงจาก