กว่าจะได้เข้ามหาวิทยาลัยไทย นักเรียนไทยต้องเผชิญปัญหาหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือปัญหาที่พวกเขาไม่ได้ก่อขึ้นมาเองเลย อย่างการเฉลยข้อสอบที่ผิดพลาดจนคะแนนลด
เกิดเสียงสะท้อนจากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ต่อระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีนี้ จากการที่พบปัญหาในระบบมากมาย และยังไม่รู้สึกมั่นใจว่าจะเกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม
เมื่อวานนี้ (23 เมษายน 2567) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ผู้ดูแลระบบคัดเลือกกลางเข้ามหาวิทยาลัย (TCAS) ออกแถลงการณ์ทางเฟซบุ๊กเพจ Mytcas.com เรื่องการแก้ไขคะแนน A-Level หลังจากประกาศผลคะแนนสอบไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน ซึ่งการแก้ไขครั้งนี้ ส่งผลให้มีทั้งผู้ที่ได้คะแนนลดลง เพิ่มขึ้น หรือเท่าเดิม ตามคำตอบที่ถูกต้องของโจทย์ข้อนั้นๆ
แต่ก่อนจะทำไปทำความเข้าใจผลกระทบที่ซับซ้อนต่อไปเป็นทอดๆ The MATTER จะพาไปทำความเข้าใจระบบการสอบเข้า TCAS เบื้องต้นก่อน
ระบบ TCAS กลางของ ทปอ. นั้น แบ่งการรับสมัครสอบเข้าเป็น 3 รอบ คือ พอร์ตฟอลิโอ โควตา และแอดมิชชัน โดยแต่ละรอบมีเกณฑ์ที่แตกต่างกัน และเปิดรับสมัครในช่วงเวลาไล่เรียงกันไปตามลำดับ โดยรอบที่ใช้คะแนน A-level มาพิจารณาด้วย คือรอบโควตา และรอบแอดมิชชัน ซึ่งจะมีการดำเนินการในช่วงประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม
การแก้ไขคะแนนจึงจะส่งผลอย่างแน่นอนกับการประมวลผลทั้งสองรอบ ประการแรก คือในการสมัครเข้าศึกษาในบางคณะ บางมหาวิทยาลัย จะมีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำในแต่ละวิชาว่าต้องได้เท่าไรจึงจะมีสิทธิสมัครได้ เช่น ในรอบแอดมิชชันที่คณะกลุ่ม กสพท (เช่น แพทยศาสตร์) กำหนดให้แต่ละวิชาต้องได้คะแนนขั้นต่ำ 30 คะแนน
ประการถัดมา คือตอนนี้มีหลายมหาวิทยาลัยที่เปิดรับสมัครและประมวลผลรอบโควตาไปแล้ว หรือนัดสอบสัมภาษณ์ไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยการใช้คะแนนที่ประกาศผิดนั้นไปประกอบการพิจารณา
จากกรณีดังกล่าง ทปอ. กล่าวถึงในช่วงท้ายของแถลงการณ์ว่า “ขอความร่วมมือทุกสถาบันฯ ที่ได้นำคะแนนเดิมไปประมวลผลแล้ว พิจารณาเยียวยาให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ด้วยความเป็นธรรมตามความเหมาะสมด้วย“
จึงทำให้เกิดข้อสงสัยในนักเรียนที่ได้คะแนนลดลงจนกลายเป็นไม่ผ่านเกณฑ์ แต่ก่อนหน้านี้ได้ยื่นสมัครไปแล้วและเหลือแค่รอประกาศผล ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับผลการสมัครของตนเองต่อไป และในทางกลับกัน คือนักเรียนที่ได้คะแนนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ กลายเป็นผ่านเกณฑ์ ก็ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปยื่นสมัครเข้ามหาวิทยาลัยต้องการ ที่เปิดรับในรอบโควตาได้แล้ว
สำหรับในรอบแอดมิชชัน ยังพบผลกระทบอื่นๆ อีก คือ.
- บางมหาวิทยาลัยคำนวณคะแนนผู้สมัครด้วยคะแนน T-Score (คะแนนมาตรฐาน) การมีผู้ที่คะแนนเพิ่ม และลด ทำให้ค่าเฉลี่ยคะแนนเปลี่ยนไป และ T-Score เปลี่ยนไปด้วย
- การยื่นสมัครรอบแอดมิชชันนั้น จะเริ่มเปิดรับในวันที่ 6 พฤษภาคม โดยนับตั้งแต่ประกาศคะแนน A-Level นักเรียนต่างก็เร่งวางแผนการจัดอันดับให้เหมาะสมแล้ว (ในรอบนี้จะให้สมัครโดยจัดอันดับคณะและมหาวิทยาลัยที่ต้องการได้สูงสุด 10 อันดับ ) แต่เมื่อคะแนนเปลี่ยนไปก็อาจต้องวางแผนใหม่ตั้งแต่แรก
- โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่คะแนนเปลี่ยนแปลง จนจากเดิมที่คะแนนผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ ก็กลายเป็นไม่ผ่านเกณฑ์และไม่สามารถสมัครได้
อย่างไรก็ดี ประเด็นคะแนนเพิ่ม-ลด นี้ ไม่ใช่กรณีเดียวที่มีผู้เรียกร้องว่า ทปอ. ทำผิดพลาดเกี่ยวกับข้อสอบ A-Level ปี 2567 โดยยังมีข้อเรียกร้องถึงข้อสอบวิชาฟิสิกส์ที่ไม่กำหนดค่าคงที่ในการคำนวณมาให้ ข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์ 2 ที่ถูกต้องข้อสงสัยว่ามีเนื้อหาเกินกว่าหลักสูตร ข้อสอบวิชาสังคมศึกษาที่คนมองว่าเนื้อหาลึกเกินไปและไม่เป็นไปตามที่ได้เรียนในโรงเรียน และอื่นๆ
โดยช่วงก่อนหน้านี้ ทปอ. มีการออกมาแถลงถึงข้อผิดพลาดของข้อสอบอยู่บ้าง ทำให้บางวิชาที่มีข้อสอบที่ผิดพลาดชัดเจนให้ข้อนั้นให้คะแนนฟรีกับผู้เข้าสอบทุกคน แต่ยังมีอีกหลายกรณีที่ยังไม่มีการออกมาตอบโต้ใดๆ
นักเรียน ติวเตอร์ และบุคคลทั่วไป ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นบนเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์เดิม) ผ่านแฮชแท็ก #Alevel67 โดยเรียกร้องให้ ทปอ. ตรวจสอบทุกอย่างโดยละเอียดอีกครั้ง และเปิดเผยข้อสอบและเฉลยทุกวิชาเพื่อความโปร่งใส รวมถึงให้ยกเลิกเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำเพราะข้อสอบมีปัญหาหลายประการและดูไม่ได้มาตรฐาน และมีการเรียกร้องเรื่องอื่นๆ อีกที่เกี่ยวข้องกับระบบการสอบเข้า เช่น เรื่องค่าใช้จ่ายในการสมัครที่มองว่าสูงเกินไป
The MATTER พูดคุยกับ ปารมี ไววงเจริญ สส. ก้าวไกล ปีกการศึกษา ซึ่งกำลังติดตามเรื่องนี้และรับข้อร้องเรียนจากนักเรียนไปดำเนินการต่อกับ ทปอ. ว่าจะดำเนินการอย่างไร และมีความเห็นต่อข้อเรียกร้องต่างๆ ยังไงบ้าง
ปารมียืนยันข้อเรียกร้องหลัก ว่า ทปอ. จะต้องเปิดเผยข้อสอบและเฉลยทันที และพิจารณายกเลิกค่าขอตรวจทานคำตอบที่มีราคาตั้งแต่ 100-300 บาท เพราะเป็นภาระของนักเรียนที่หลายคนจ่ายเงินตรวจไปแล้ว แต่หลังจากนั้นข้อสอบและเฉลยยังผิดอีก จึงควรยกเลิกค่าตรวจนี้ หรือทำให้ถูกลงที่สุดในอนาคต
นอกจากนั้น ปารมียังเสริมถึงเรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ของระบบ TCAS ที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งค่าสมัครในรอบต่างๆ และค่าสมัครสอบรายวิชาต่างๆ ซึ่งทำให้คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า มีโอกาสมากกว่า เพราะพร้อมเสียค่าใช้จ่ายในการสมัครเยอะขึ้น สมัครได้ในทุกรอบ โดยเฉพาะในรอบพอร์ตฟอลิโอที่ค่าสมัครสูง
แต่ยังดีที่ตอนนี้มีทิศทางที่ดีในเรื่องค่าสมัครรอบแอดมิชชัน ที่แต่เดิมจะมีราคาสูงสุด 900 บาท ล่าสุด ศุภมาส อิสรภักดี รัฐมนตรี กระทรวงอุดมศึกษา วิทยศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ออกมายืนยันว่าจะเร่งดำเนินการให้สมัครฟรี โดยนักเรียนไม่ต้องสำรองจ่าย ซึ่งต้องรอการยืนยันต่อไป
ประเด็นการค้นหาตัวตนของนักเรียนมัธยม เป็นอีกวาระสำคัญเช่นกัน ปารมีระบุว่านักเรียนทุกรุ่นที่สมัครสอบ มีการสมัครแบบหว่านคณะ หรือไม่รู้ว่าตัวเองควรเลือกคณะอะไร เพราะไม่รู้จักความชอบและความถนัดของตนเอง ซึ่งในประเด็นนี้ อว. ควรผลักดันร่วมกันกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
อย่างไรก็ดี จากข้อเรียกร้องของนักเรียน ติวเตอร์ และบุคคลทั่วไปบนโซเชียลมีเดีย ในเรื่อง ‘ขอให้ยกเลิกเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำ’ ปารมีบอกว่าจะต้องรับฟังความเห็นเพิ่มเติม เพราะการยกเลิกหริอไม่ยกเลิกนี้ จะส่งผลให้เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบกับนักเรียนบางกลุ่ม แต่ตนเห็นด้วยว่าข้อสอบมีปัญหามาก และควรหาทางออกให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยตนกำลังรวบรวมประเด็นปัญหาเพื่อเข้าพูดคุยกับ ทปอ. ให้ทันก่อนวันที่ 6 พฤษภาคม ที่จะมีการเปิดรับสมัครรอบแอดมิชชันเป็นวันแรก
ปารมีทิ้งท้ายโดยฝากถึงการมีส่วนร่วมของนักเรียนว่า “ถ้ารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม คิดว่าข้อสอบมันผิด ก็ขอให้แสดงออก เพียงแค่ขอให้อยู่บนหลักการและเหตุผล นี่คือการมีส่วนร่วมของนักเรียน เป็นสิทธิของเยาวชน ซึ่งผู้ใหญ่จะต้องรับฟัง“
หลังจากนี้จึงต้องติดตามต่อไปว่า แต่ละมหาวิทยาลัยจะมีประกาศหรือเคลื่อนไหวอย่างไรในประเด็นที่บางรายวิชามีคะแนนที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงปัญหาเรื้อรังอื่นๆ ในระบบการศึกษาและการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไทยที่คนมองว่ายังมีความเหลื่อมล้ำสูง ทั้วจากระบบ และค่าใช้จ่าย ทำให้ยังไม่ใช่การศึกษาที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างแท้จริง
อ้างอิงจาก