พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ที่ลงสมัครชิงเก้าอี้ตัวเดิมอีกครั้ง มักจะยกจุดเด่นของตัวเองว่า เคยทำงานมาแล้ว หลังได้รับแต่งตั้งด้วยมาตรา 44 ให้มาบริหาร กทม. เป็นเวลา 5 ปีเศษ จึงขอโอกาสกลับมาสานต่องานที่เริ่มไว้แล้ว ไม่ต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่กับผู้สมัครรายอื่นๆ
“นโยบายคนอื่นๆ อาจจะดี ..แต่ผมเคยทำมาแล้ว” คือสิ่งที่ พล.ต.อ.อัศวินกล่าวไว้กับ The MATTER
เคยทำมาแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงไม่เถียง แต่ถามว่าที่ทำมาแล้วน่ะดีไหม ควรจะให้ “ไปต่อ” หรือเปล่า คือสิ่งที่หลายๆ คนพูดกัน
หนึ่งในข้อมูลที่อาจช่วยประกอบการตัดสินใจ คือรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) เพื่อ ‘ประเมินผลงานผู้ว่าฯ อัศวิน และข้อเสนอแนะสำหรับผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่’ จำนวน 33 หน้ากระดาษ ที่วิพากษ์นโยบายการพัฒนา กทม. ของ พล.ต.อ.อัศวิน ใน 9 ด้าน ทั้ง
- การวางผังเมือง
- การจราจรและความปลอดภัย
- การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
- การจัดการขยะมูลฝอย
- การเพิ่มพื้นที่สีเขียว
- การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย
- การส่งเสริมทักษะเพื่อการประกอบอาชีพ
- การศึกษา
- การรักษาพยาบาล
แต่ด้านที่เราคิดว่ามีข้อมูลน่าสนใจที่สุด คือ ‘การเพิ่มพื้นที่สีเขียว’ ซึ่ง พล.ต.อ.อัศวินประกาศอยู่เสมอว่า สมัยเป็นผู้ว่าฯ กทม. ได้เพิ่มพื้นที่สีเขียวจากเฉลี่ย 4.92 ตร.ม.ต่อคน ไปเป็นเฉลี่ย 7.32 ตร.ม.ต่อคน ใกล้เคียงกับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่าควรมีขั้นต่ออย่างน้อย 9 ตร.ม.ต่อคน
แต่ในรายงานฉบับนี้ แย้งว่า “การคำนวณพื้นที่สีเขียวของ กทม. น่าจะสูงเกินกว่าความเป็นจริง” เพราะตามนิยามของ WHO พื้นที่สีเขียวที่จะนับ ต้องเป็นที่ๆ คนเข้าไปพักผ่อนหย่อนใจได้ และกระจายตัวในระยะเดินเท้า 300-500 เมตร
แต่พื้นที่สีเขียวของ กทม. นับรวมเกาะกลางถนน สวนหย่อมที่ตั้งอยู่ตามทางแยกหรือหัวถนน ที่คนเข้าถึงได้ยาก, รวมถึงเอาจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์ (ไม่รวมประชากรแฝง) มาเป็นตัวหาร, ระยะทางเฉลี่ยที่คน กทม. เดินเท้าเข้าถึงได้คือ 4.5 กิโลเมตร และใน 50 เขตของ กทม. มีถึง 23 เขต ซึ่งไม่มีพื้นสีเขียวที่ไม่มีมาตรฐานเข้าไปใช้งานได้จริง เช่น เขตบางนา เชตวังทองหลาง เขตวัฒนา – โดยพื้นที่สีเขียวใน กทม. ที่คนเข้าถึงได้ตามนิยามของ WHO น่าจะเหลืออยู่เพียง 2.30 ตร.ม.ต่อคน เท่านั้น
รายงานฉบับนี้ ยังพูดถึงเมกะโปรเจ็กต์เพิ่มพื้นทีสีเขียวอย่างโครงการปรับปรุงสวนลุมพินีในวาระครบรอบ 100 ปี และโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรีว่า ไม่ได้มีวงเงินค่าใช้จ่ายที่ 1,000 ล้านบาท และ 980 ล้านบาทตามลำดับ โดยอ้างอิงรายงานข่าวจากสำนักข่าวอิศราที่ระบุว่า จะมีการสร้างโครงการเกี่ยวเนื่อง ทำให้งบรวมในการทำสวนทั้ง 2 แห่ง เพิ่มเป็น 5,356 ล้านบาท จนเหลืองบสำหรับเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตอื่นๆ รวมกันเพียง 20 ล้านบาทเท่านั้น
- ดูรายงานดังกล่าวฉบับเต็มได้ที่: https://tdri.or.th/2022/04/bangkok-governor-monitoring-policy-report/
#BKK65 #Brief #เลือกตั้งผู้ว่ากทม #อัศวิน #TheMATTER