ผลงานตลอด 5 ปี 5 เดือน 5 วัน ในฐานะผู้ว่าฯ แม้จะมีที่มาจากการแต่งตั้ง แต่ก็ทำให้เขามั่นใจว่าประชาชนชาว กทม. จะให้เขาได้ ‘ไปต่อ’ ผ่านการเลือกตั้ง
‘พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง’ ผู้สมัครอิสระ เปิดโอกาสให้ The MATTER ไปนั่งซักถามหลายข้อสงสัยก่อนเข้าสู่ช่วงหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ ที่เขาเองก็พยายามตอบด้วยท่าทีง่ายๆ สบายๆ แบบ ‘คุณลุงใจดี’
แต่ก่อนที่คำถามแรกจะเริ่มต้น เราแอบเห็นว่าเขากำลังนั่งอ่านสคริปต์สรุปสารพัด keyword สำคัญที่จะใช้ในการหาเสียง มีทั้งเรื่องผลงานในอดีตและนโยบายที่จะทำ จึงถามไปว่าต้องเตรียมตัวมาน้อยขนาดไหนก่อนการลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่ง พล.ต.อ.อัศวินตอบว่า “ไม่มีอะไรมากหรอก ก็แค่เตรียมตัวไว้” ก่อนจะยอมรับภายหลังว่า การหาเสียงหรือปราศรัยไม่ใช่สิ่งที่เขาถนัดนัก
เมื่อเครื่องบันทึกเสียงดิจิทัลเริ่มทำงาน บทสนทนาหลากหลายประเด็นก็เริ่มต้นขึ้น ทั้งที่มาที่ไปกลุ่มรักษ์กรุงเทพที่จะมาช่วเขาในสนามเลือกตั้ง กทม. รอบนี้, การลงสมัครในนามอิสระ แทนที่จะอยู่ใต้สังกัดพรรคใหญ่, เสียงวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นต่างๆ และเหตุผลอะไรที่คนกรุงควรจะให้คุณได้ไปต่อในฐานะผู้ว่าฯ กทม. อีกสมัย
ตัดสินใจเมื่อไรว่าจะลงสมัครเป็นผู้ว่าฯ อีกรอบ
ทีแรกไม่ได้คิดว่าจะลงสมัคร เพราะมีน้องคนหนึ่ง คือ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา เป็นตำรวจรุ่นน้อง เคยอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่กองปราบ ตอนเขาขึ้นเป็นสารวัตร ผมเป็นผู้การอยู่ หลังจากเขาเกษียณเมื่อปี 2563 ก็มาคุยหารือว่า “พี่ ทิศทางจะเป็นยังไง” ผมก็ถามว่า ทำไม เขาก็บอกว่า “ถ้าผมอยากเล่นการเมืองท้องถิ่น เพราะการเมืองใหญ่ยังเป็นไม่ได้” เพราะติดล็อก 2 ปี จากที่เขาเป็น ส.ว. (โดยตำแหน่ง ในฐานะ ผบ.ตร.) ที่จะมาครบเดือน ก.ย.2565 ผมก็บอกว่า ถ้ามีอะไรที่พี่สนับสนุนได้ก็บอกมา ถ้าพ้นวาระอาจจะช่วยหาเสียงก็ได้นะ
พอปลายปี 2564 เขาก็มาบอกอีกทีว่าจะไม่ลงแล้ว ผมก็ถามว่าทำไม เขาบอกว่า เพราะมีเหตุผลความจำเป็น แล้วก็บอกว่า “พี่ลงสิ ผมหลีกทางให้พี่ดีกว่า” ผมก็ตอบว่า พี่ยังไม่ได้คิดเลย แต่เหตุผลความจำเป็นนั้นคืออะไร เราก็ไม่ได้ถามนะ เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว เลยถึงคิวที่เราจะต้องสานงานต่อให้มันจบ
คือก่อนหน้านั้น ยังไม่ตัดสินใจว่าจะลงหรือไม่ลง
คิดว่าไม่ลงแล้ว เพราะตั้งแต่เกษียณจากการเป็นตำรวจ เป็นรองผู้ว่าฯ กทม. เป็นผู้ว่าฯ กทม. ทำงานมาทั้งชีวิต ยังไม่ได้ไปไหนเลย ก็อยากจะเปิดโอกาสให้คนที่มีความตั้งใจและมุ่งมั่นเข้ามาทำงานเป็นผู้ว่าฯ
กลุ่ม ‘รักษ์กรุงเทพ’ เป็นใครมาจากไหน ทำไมคุณอัศวินถึงจะร่วมทีมเลือกตั้ง กทม. ครั้งนี้กับคนกลุ่มนี้
เริ่มต้นมาจาก ‘ชมรมคนรักคลองฝั่งธน’ แถวคลองบางกอกใหญ่ คลองบางหลวง แถววัดเวฬุราชิณ ก็ไปดูคลองโน้นคลองนี้ ก็ชวนเราไปด้วย เพราะเห็นว่าสนใจเรื่องการพัฒนาคูคลอง ตอนหลังก็มีคนจากฝั่ง กทม. มาบอกว่า คนฝั่งนี้ก็รักคลองเหมือนกัน ก็รวมกันเป็น ‘ชมรมคนรักคลอง’ ตอนหลังก็มาเปลี่ยนชื่ออีกทีเป็น ‘รักษ์กรุงเทพ’ ซึ่งสมาชิกเขามีเป็นหมื่น เขาก็มาชักชวนให้ลงสมัคร อยากให้ผมสานงานต่อนะ เนี่ยแหละเป็นที่มา มาตัดสินใจปลายๆ ปี 2564 นี้เอง
ในการหาเสียงผู้ว่าฯ กทม. คุณจักรทิพย์จะมาช่วยแค่ไหน
เขาก็คงจะไปการเมืองใหญ่แล้วล่ะ ก็ไปช่วยหาเสียงกับบางพรรคแล้ว แต่ก็คุยกันอยู่
กลุ่มรักษ์กรุงเทพเกี่ยวกับคุณธรรมนัส (พรหมเผ่า) มากแค่ไหน ขออนุญาตถามตรงๆ
คุณธรรมนัสเป็นคนพะเยา ส่วนกลุ่มรักษ์กรุงเทพ เป็นคน กทม.
แต่คุณสุชัย (พงษ์เพียรชอบ) เลขาธิการกลุ่มรักษ์กรุงเทพ ทำงานใกล้ชิดคุณธรรมนัส
เป็นผู้สมัคร ส.ก. เขาเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็กๆ
คุณธรรมนัสไม่มีพื้นฐานใน กทม. พูดง่ายๆ คือไม่มีเสียงใน กทม.หรอก เขาเป็น ส.ส.พะเยา น้องเขาก็เป็น ส.ส.พะเยา
แต่ถ้ามีคนสงสัยเรื่องแหล่งทุนที่จะใช้ในการหาเสียงว่ามาจากไหน ทั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่กำหนดว่าไม่เกิน 49 ล้านบาท กับ ส.ก. เขตละราวๆ 1 ล้านบาท จะชี้แจงอย่างไร
ส.ก. เขาก็ของใครของมัน คงจะไปหากันเอง ส่วนของผมก็มีคนช่วยออกค่าป้ายค่าโน่นนี่นั่นให้ แต่ก็จะคิดเป็นเงินในการหาเสียง และคงใช้ไม่ถึง 49 ล้านบาทหรอก
ทำไมคุณอัศวินไม่ลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
คือตัวตนผม อาจจะพูดได้เต็มปากว่า อัศวินก็คืออัศวิน การที่จะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ผมคิดว่าผู้ว่าฯ กทม. มันเป็นพ่อบ้านที่จะต้องคอยดูแลทุกเรื่องเลย ทุกอย่างใน กทม. เราต้องดูแลทั้งหมด ไม่ว่าจะการเจ็บไข้ได้ป่วย การศึกษาเล่าเรียน ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็คือตั้งแต่สากกะเบือยังเรือดำน้ำเลย ต้องรับผิดชอบทั้งหมด เพราะฉะนั้นมันเป็นการบ้าน เราเหมือนเป็นพ่อบ้านต้องดูแลลูกบ้านให้ดี
ถ้าผมไปสังกัดพรรคการเมือง จะทำอะไรต้องห่วงหน้าพะวงหลังว่า พรรคจะว่าอย่างไร แต่ถ้าลงอิสระ ก็ไม่ต้องพะวง ดูแค่ว่าประชาชนจะว่าอย่างไร คือวัตถุประสงค์ของเราต้องการดูแลทุกข์สุขของประชาชน ฉะนั้นเราก็เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง แพ้ชนะไม่เป็นไร แต่เราเป็นตัวของตัวเอง
คือตั้งใจลงอิสระอยู่แล้ว เพื่อจะได้ทำงานเต็มที่ โดยไม่ติดกรอบของพรรค
ใช่
เรื่องนโยบายพรรค สมมติผมอยากจะทำโรงพยาบาล ถ้าพรรคบอกว่า ไม่เอา มันก็จะไม่เป็นเอกเทศ ผมต้องการเป็นเอกเทศของตัวเอง เวลาตัดสินใจอะไรโดยมีประชาชนมาร่วมกันคิด
แต่คุณอัศวินเองก็ถูกตั้งโดยกลุ่มทหารที่ตอนนี้ไปอยู่กับ พปชร. เวลาจะมาลงอิสระต้องไปแจ้งเขาก่อนไหม
คงไม่ต้องแจ้ง ตอนที่ลาออก เขาก็มาถามแค่ จะลาออกไปไหม เราก็บอกว่า จะลาออกมารับเลือกตั้ง เขาก็ถามว่าพรรคอะไรล่ะ ผมก็บอกว่า “ผมไม่มีพรรคหรอกครับ ผมมีแต่พวก”
บางคนก็มองว่า ผมน่าจะมีท่านนายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) หรือ พปชร. หนุนหรือไม่ ประชาชนมีสิทธิสงสัย แต่ตอนนี้เขาคลายสงสัยได้ทั้งหมดแล้ว เพราะถ้าผมสมัครอิสระ แล้วถ้าไม่ส่ง ส.ก. ก็อาจจะมองว่าแอบอิงกับพรรคใดหรือเปล่า แต่นี่เรามี ส.ก. ของตัวเองด้วยในนามกลุ่มรักษ์กรุงเทพ ก็ต้องไปแข่งกับทุกพรรคที่เขาส่ง ส.ก. ฉะนั้นคนก็จะมาบอกไม่ได้ว่ามีพรรคอะไรหนุนหลังหรือเปล่า เพราะเราก็ส่งคนไปแข่งกับเขา ระบอบประชาธิปไตยไง มันต้องแข่งกัน เป็นความสวยงามของระบอบประชาธิปไตย
การเป็นผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้งจากมาตรา 44 เป็นสิ่งที่เจ็บปวดไหม และถ้าปลดล็อกได้เป็นผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง จะทำให้ทำอะไรได้ง่ายขึ้นหรือเปล่า
จริงๆ ที่ออกมาตรา 44 มา เขาก็ให้ผมมาช่วยทำงาน ไม่ได้บังคับว่าต้องทำ 1 2 3 4 ยืนยันว่า คสช.ไม่ได้บังคับอะไรผมเลย แต่เหตุผลที่ตั้งผม เพราะช่วงนั้นผมเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. มี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ กทม. บังเอิญคุณชายสุขุมพันธุ์ถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็จะเหลือรองผู้ว่าฯ กทม. 4 คน ซึ่งผมเป็นหนึ่งในนั้น แล้วบังเอิญเกิดเหตุรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต วันที่ 13 ต.ค.2559 จะตัองมีคนมาดูแลประชาชนที่เข้ามาเคารพสักการะพระบรมศพ ที่มีคนมาเป็นแสนในแต่ละวัน เขาก็ต้องหาคนที่มาดูแลตรงนี้และประสานได้ บังเอิญผมประสานตำรวจ ทหาร และกระทรวงกรมต่างๆ ได้ เพราะผมเคยเป็น ผบช.น. ผู้การกองปราบ และมีรุ่นพี่รุ่นน้องตำรวจทหารที่รู้จักกันเยอะแยะ เขาก็เลยเลือกผม ไม่ใช่ว่ามีเส้นใหญ่อะไร แต่เขาต้องการให้มาดูแลงานพระราชพิธีพระบรมศพของรัชกาลที่ 9 ให้มันลุล่วงไปได้ด้วยดี
เวลาสื่อบอกว่า คุณอัศวินเป็นผู้ว่าฯ แต่งตั้งๆๆๆ มันกระทบใจไหม
ไม่ เพราะเป็นสิ่งที่ผมภูมิใจมากที่สุดในชีวิตที่ได้ส่งเสด็จรัชกาลที่ 9 สู่สวรรคาลัย เป็นบุญของผมที่ได้ส่งเสร็จ ร.9 และได้รับ ร.10
ตลอดการเป็นผู้ว่าฯ กทม. นอกจากเรื่องนี้ ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่คุณอัศวินภูมิใจอีกหรือไม่
ก็มีเรื่องงาน ต้องบอกแบบนี้ว่างานของผู้ว่าฯ กทม.หลายๆ สมัยก่อนหน้านี้ ทุกคนต่างมีนโยบายที่ดีทั้งนั้น แต่มันไม่เคยนำไปสู่การปฏิบัติ หรือมีก็น้อยมาก ผมตั้งปณิธานกับตัวเองไว้เลยว่า หนึ่ง ผมเป็นนักปฏิบัติ สอง ผมเป็นนักประสาน ผมก็เป็นคนปฏิบัติได้จริงตั้งแต่เป็นตำรวจแล้ว และเป็นนักประสาน เราประสานได้ทุกหน่วย แม้กระทั่งปัจจุบัน ผมประสานได้ทั้ง 20 กระทรวง ตอนยังเป็นผู้ว่าฯ กทม. ภาครัฐ ภาคเอกชน ไม่ว่าจะไฟฟ้า ประปา กสทช. อะไรๆ เราประสานได้ไหม
ผมทำจริง คนจริง รู้จริง และเห็นผลจริง เราทำงานคนเดียวไม่ได้เลยนะ ใน กทม. ภารกิจมันเยอะแยะไปหมดเลย งานมันสับสนไปหมดเลย
สาม เราเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของคนที่อยากมาช่วยเราคิด ช่วยเราทำ หรือมาติติงนำเสนอ เราฟังหมดเลย
ผมทำมาเยอะเลย ไม่ว่าจะเรื่องคูคลอง ขยายโรงพยาบาล แม้กระทั่งการฉีดวัคซีนโควิด ผมก็เป็นคนคิดที่ประสานกับสภาหอการค้าไทย เปิดจุดฉีดวัคซีนโควิด 25 จุด ทำให้ฉีดได้อย่างรวดเร็ว เพราะช่วงนั้นมันไม่มีจุดฉีด ฉีดกันไม่ทัน ทำโรงพยาบาลสนาม ทำจุดพักคอย เตียงสีเหลือง สีเขียว สีแดง ผมก็เป็นคนเริ่มทำ อาศัยว่ารู้จักคนเยอะ ผมก็ไปชวนทุกภาคส่วนให้มาร่วมมือกัน คนละไม้คนละมือ ก็บริหารจัดการไป ขยายโรงพยาบาล 4 มุมเมือง เพิ่มศูนย์สาธารณสุข เพิ่มค่าอาหารเด็กนักเรียน รู้หรือเปล่าค่าอาหารเด็กนักเรียนไทย ได้วันละ 20 กว่าบาท/คน/วัน ตั้งแต่อนุบาลถึง ป.6 ทั่วประเทศเลยนะ กทม.ก็ได้เหมือนเขา ผมก็ไปขอเพิ่ม เอาเงิน กทม.ไปเพิ่มอีก 20 บาท/คน/วัน เพราะเด็กนักเรียนกว่า 300,000 คนที่เรียนในโรงเรียนสังกัดโรงเรียน กทม. กว่า 437 แห่ง เป็นลูกคนจนทั้งนั้น เราก็สามารถโอกาสให้เขา เพราะถ้าปากไม่หิว ท้องได้อิ่ม เขาจะได้มีมันสมองได้ไปคิดเรื่องเรียนได้
การพัฒนาคูคลอง น่าจะจำได้ว่า คลองหลอดสมัยก่อนคนมาค้าขายกันเต็ม วันก่อนผมก็ไปคุยกับผู้เกี่ยวข้องหาที่อยู่ให้กับคนริมคลอง ใช้เวลาอยู่ 7 เดือน กระทั่งคลองสวยอย่างปัจจุบัน แล้วก็มาทำคลองโอ่งอ่าง ซึ่งเมื่อก่อนเป็นสะพานเหล็กที่ขายของเล่น เดี๋ยวนี้ก็สวยงามแล้ว พี่น้องที่ส่วนใหญ่เป็นคนจีนจะได้มาทำค้าขาย ก่อนโควิดคนแน่นเลย แล้วก็มาทำคลองช่องนนทรี คลองลาดพร้าว คลองแสนแสบ คลองสุดท้ายที่อยู่ก่อนลาออก คือคลองผดุงกรุงเกษม แล้วก็มีเรือไฟฟ้าเข้าไปวิ่ง เป็นเรือไฟฟ้าแห่งแรกในไทยที่วิ่งในคลอง
เพิ่มสวนสาธารณะใหญ่ๆ ให้ 7 แห่ง เนี่ยไปดูเถอะ สวนเบญจกิติ คนไปวันละ 4,000-5,000 คน สวยมาก แล้วก็ปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ กทม. ผมปลูกไป 1.5 ล้านต้นแล้ว และชายทะเลบางขุนเทียนที่ถูกรุกล้ำมากว่า 3,000 ไร่ โดนน้ำทะเลกัดเซาะ ผมไปทำมูลนิธิปลูกป่าในใจคนตามศาสตร์ของพระราชา ไม่ได้ใช้งบประมาณเลย หาเอกชนมาทำ ระหว่างปี 2561-2564 ได้พื้นที่ป่าชายเลนมา 230-240 ไร่ แล้วจะค่อยๆ ปลูกไปเรื่อยๆ ผมยังทำสะพานความยาว 3 กิโลเมตรเศษๆ จากริมตลิ่งให้คนเดิน
ฟังคุณอัศวินเล่าสรุปๆ มาก็จะเห็นว่าทำอะไรตั้งเยอะแยะ แต่คนก็ชอบแซวว่าเป็นผู้ว่าฯ แห่งสายน้ำ ยกคลองโอ่งอ่าง คลองช่องนนทรี สารพัดคลองขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ เรารู้สึกยังไง
ผมว่าดีนะ คลองโอ่งอ่างได้รางวัลระดับโลกนะ ส่วนคลองช่องนนทรีก็สวยนะ แต่มันยังไม่เสร็จ เสร็จแค่บางช่วง ผมว่ามันจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่เลย และคลองผดุงฯ เรือก็เป็นพลังงานไฟฟ้า เสียงก็ไม่มี กลิ่นก็ไม่มี ผมค่อนข้างพอใจนะ แล้วเราก็ทำอีกหลายๆ คลอง
ไมได้โกรธ ดีด้วยซ้ำที่มีคนพูดถึง
ผมว่าดี มันได้รางวัล ไม่ใช่แค่ในประเทศ แต่ได้รางวัลระดับโลก
เอาเรื่องคลองนี่ก็ดี ใน กทม. มีจำนวนคลองอยู่ 1,682 คลอง มีทั้งคลองขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ เมื่อก่อนมันสกปรก ส่งกลิ่นเน่าเหม็น เราก็ลอกคูคลองไปบ้าง ที่มันตื้นเขินก็ขุดลอกให้น้ำไหล นอกจากเพิ่มการระบายน้ำ ยังจะเพิ่มความสวยงาม เพิ่มการท่องเที่ยว
คือเราต้องยอมรับว่า สมัยก่อนการสัญจรทางน้ำมันสำคัญมาก เพราะยังไม่มีรถรา การขนส่ง ค้าขาย ก็ใช้เรือ น้ำมันคือชีวิต มนุษย์ในโลกนี้ถ้าไม่มีน้ำมันอยู่ไม่ได้นะ ขาดอาหาร 7 วันยังอยู่ได้ ขาดน้ำ 2 วันอยู่ไม่ได้แล้ว ดังนั้นวิถีชีวิตคนกับน้ำมันอยู่ใกล้กันตั้งแต่โบร่ำโบราณ ผมก็อยากจะให้คนกับน้ำมาเข้ากันเหมือนเดิม ความสวยงามของคลอง ไม่ใช่สวยงามอย่างเดียว หรือช่วยระบายน้ำ ยังฟื้นวิถีชีวิตและสร้างเศรษฐกิจให้กับชุมชนที่อยู่ริมคลองต่างๆ กทม.มีคลองเยอะมาก ที่เขาเรียกกันว่า เวนิสตะวันออก
คุณอัศวินประกาศ 8 นโยบายที่จะ ‘ไปต่อ’ อะไรคือเรื่องแรกๆ ที่อยากจะไปต่อ
การรักษาพยาบาล การศึกษา การสัญจรทางน้ำ การเชื่อมระบบจราจรล้อ ราง เรือ ทำให้ กทม. เป็นเมืองดิจิทัล การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การจราจรทางบกทำยังไงไม่ให้ติดขัด เพิ่มคุณภาพชีวิต ทั้งหมดต้องไปต่อ ผมเรียกง่ายๆ ว่า ไป 8 ต่อละกัน
แต่สำคัญที่สุดผมสรุปเป็น 1.ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน 2.ความสงบสุข 3.คุณภาพชีวิตที่ดีของคนในกรุงเทพ พูดง่ายๆ คือความปลอดภัย ความสงบสุข และคุณภาพชีวิตที่ดี ถ้าทำได้ 3 อย่างนี้ ผมว่า กทม. จะดีกว่านี้เยอะแยะเลย
มองย้อนกลับไปสมัยเป็นผู้ว่าฯ กทม. 5 ปีเศษ มีอะไรที่อยากทำแล้วยังไม่ได้ทำ หรือถ้าย้อนเวลาได้ จะไม่ทำสิ่งนั้นๆ อีก
ที่ยังทำไม่จบ คือการหยุดน้ำท่วมต่างๆ สมัยก่อนมีจุดน้ำท่วมซ้ำซากใน กทม. 50 กว่าจุด ต่อมาเหลือ 24 จุด เราแก้ไขไปแล้ว 15 จุด เหลือ 9 จุด เนี่ยอยากจะทำตรงนี้ให้หมดไปให้ได้ ถามว่า 5 ปีทำไม่พอหรอ มันไม่พอหรอก เพราะ 30 ปีก่อนหน้านี้ก็ยังทำไม่ได้เลย ผมไม่ได้ว่าใครหรอกนะ แต่อยากจะทำต่อ
การรักษาพยาบาลอยากจะให้มันดีขึ้น ชีวิตของเด็กเมืองกรุง จริงๆ แล้วลูกคน กทม. ที่มาเรียนโรงเรียนสังกัด กทม. เป็นคนจนทั้งนั้นเลย แม้กระทั่งลูกคนต่างด้าวก็มาเรียน เพราะเราส่งเสริม แล้วผมยังทำโรงเรียนอาชีพให้อีก 11 แห่ง หลักสูตรระยะสั้น รู้ไหมเหลือเชื่อเลยว่า โรงเรียนตัดขนสุนัขโด่งดังมาก หรือหลักสูตรอีกๆ เรามี 4-5 หลักสูตร ค่าเล่าเรียนร้อยเดียว เพราะเราต้องการสร้างอาชีพให้กับประชาชน
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในชีวิตหรือเปล่าที่ลงการเมือง มีอะไรที่เราไม่ชิน และต้องมาปรับตัว
ผมไม่ชินอยู่เรื่องเดียว คือการหาเสียงเลือกตั้ง แต่ถ้าการทำงานหรือการปฏิบัติ ผมไม่แพ้คนที่มาจากการเลือกตั้งเลย ผมยืนยัน
ผมยืนยันได้เต็มปากว่า การทำหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม. ผมทำไม่น้อยกว่าคนที่มาจากการเลือกตั้งเลย อันนี้ยืนยันด้วยเกียรติเลยว่า ผมทำไม่น้อยกว่าใครแน่ แต่ผมสู้เขาไม่ได้อย่างเดียวคือ ผมไม่เคยลงเลือกตั้ง แต่พอมาลงเลือกตั้ง เราก็ต้องสู้ ผมสู้มาทั้งชีวิต
คือเรามาจากคนรากหญ้า ผมไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด ชีวิตผมสู้มาทั้งชีวิต ถ้าเป็นชาวนาต้องบอกว่า “หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน” ผมทำได้ทุกอย่าง ยกเว้นแต่ทำให้เขามาเลือกตั้งผม ไม่รู้จะทำได้หรือเปล่า เท่านั้นเอง
ผมไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดมาทั้งชีวิต พรรคประชาธิปัตย์หรือ พปชร. ก็ไม่เคยเป็น จริงๆ เขาก็ทาบทามผมเยอะแยะไปหมด ผมก็บอกว่า อยากจะเป็นตัวของตัวเอง อิสระจริงๆ โดยไม่มีใครมาครอบงำ แต่ถ้าพรรคใดจะช่วยหาเสียงให้ผม ผมไม่ได้ขัดข้อง ก็ดีใจ
ที่บอกว่าไม่ถนัดการหาเสียงหรือการปราศรัย เริ่มทำได้หรือยัง
ก็ยังเคอะๆ เขินๆ อยู่ เราไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ แต่ถ้าใครถามก็บอกด้วยว่า เลือกเขาเถอะ เขาทำเยอะนะ (ยิ้ม ชูมือ 6 นิ้ว) นึกอะไรไม่ออก ก็คิดถึงอัศวินแล้วเลือกเบอร์ 6
วางยุทธศาสตร์ในการหาเสียงยังไง เข้าใจผู้สมัครแต่ละคนคงจะบอกว่า หาเสียงกับคนทุกเจน ทุกพื้นที่ แต่คุณอัศวินจะมีจุดเน้นยังไง
คนที่มีสิทธิเลือกตั้ง ผมไม่เคยแยกหญิง-ชาย แยกวัย แยกอายุ แต่พี่น้องประชาชนคงจะแบ่งกันเอง ผมฟังจากที่เขาพูดกันว่า คนรุ่นใหม่ 18-25 ปี 25-40 ปี อะไรแบบนี้ ผมต้องพยายามทำความเข้าใจให้มากที่สุดกับคนรุ่นใหม่ที่ไฟแรง มีความรู้ความสามารถเยอะ ตอนนี้เด็กๆ คนรุ่นใหม่เขาก็มาช่วยเราเยอะมาก แม้กระทั่งผู้พิการก็มาช่วยเรา ตอนที่ผมเปิดตัวนโยบายก็ไปกัน ผมก็บอกว่า มาช่วยกันเถอะ ไม่ได้ช่วยผมนะ มาช่วย กทม. ช่วยกันพัฒนา
ผมไม่ต้องการให้แบ่งกันว่า คนนี้คนหนุ่มคนสาว คนวัยทำงาน คนมีประสบการณ์เยอะ ผมต้องการให้เกิดการ balance คนสูงอายุก็มีประสบการณ์ คนวัยทำงานก็อยู่ในวัยของเขา คนรุ่นใหม่ก็กำลังจะมีความคิดที่หลากหลาย อยากจะช่วยพัฒนา อยากจะให้จูนเข้าหากัน แล้วจะนำพา กทม.ไปได้ด้วยดี
ผมเปิดกว้าง อย่างที่บอก ผมเป็นนักปฏิบัติ เป็นนักประสาน และเปิดกว้างทางความคิด รับความผิดทุกอย่าง แล้วมาช่วยกันทำ ช่วยกันคิด เพื่อนำ กทม. ไปสู่จุดที่ดีที่สุด ผมจะเอาคนพวกนี้มาช่วยกันบริหาร ไม่ใช่แค่ช่วยคิดอย่างเดียว ส่วนหนึ่งจะมาช่วยกันทำงานเลย
เคยประกาศว่า จะให้ผู้บริหาร กทม. ส่วนหนึ่งมาจากคนรุ่นใหม่
ในผู้บริหาร กทม. 18 คน จะแบ่ง 3 ส่วน คนมีประสบการณ์ มีความเก๋า 6 คน คนวัยกลางๆ 6 คน และคนรุ่นใหม่ 6 คน
การเลือกตั้งครั้งนี้ หลายคนไปโฟกัสกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก หรือ first time voter ราว 6-7 แสนคน คุณอัศวินจะดึงให้เขามาลงคะแนนให้ยังไง
เนี่ยคนรุ่นใหม่ที่มาอยู่กับเรา (ในชื่อกลุ่ม ‘คน ลุย เมือง’) ก็จะมาช่วยดึง first time voter ชักชวนกันมา เพราะเราเปิดกว้างให้เขา
คนรุ่นใหม่ เขาจะโหวตให้ใครก็แล้วแต่ แต่เขาจะได้ร่วมบริหารไหม แต่ถ้าเขาโหวตให้อัศวิน จะได้ร่วมกันบริหาร
เขาจะได้ไม่ได้แสดงความเห็นอย่างเดียว แต่มาร่วมปฏิบัติด้วย นโยบายดีหมดทุกคน แต่การปฏิบัติ สมมติว่า voter รุ่นใหม่ 6-7 แสนคน เขาจะได้มาบริหารไหม เขาได้แต่โหวต แต่ถ้าโหวตให้ผม ผมจะได้ดึงมาเป็นผู้ร่วมบริหารด้วย จะได้มาร่วมทำ
อันนี้คือจุดแตกต่างของเรา
ใช่ คือผมไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองนี่ จึงไม่ต้องไปคอยฟังว่า เอาคนโน้นคนนี้นะ เพราะเขามีอุปการะคุณ ไม่ต้อง ผมจะเอาคนที่มาช่วยผมคิด เพราะผมเป็นเอกเทศทางความคิด
คุณอัศวินเคยทำงานเป็นผู้ว่าฯ กทม. มาแล้ว เรื่องนี้ถือเป็นข้อได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เพราะหลายอาจจะคิดว่า เคยทำมาแล้ว ได้ประมาณนี้ ลองคนใหม่ดีไหม
มันเป็นความคิดที่หลากหลาย ต่างคนต่างคิด ทุกคนก็คิดกันได้ บางคนอาจจะมองว่าเคยทำงานมาแล้วไม่เห็นได้เรื่องเลย บางคนอาจจะมองว่าเขาทำงานมาแล้วจะได้ต่อยอด มันแล้วแต่คนจะคิด อยู่ที่พี่น้องประชาชนจะตัดสินใจ ตัวเลือกเยอะเลย แต่ถ้าคิดอะไรไม่ออกก็เลือกอัศวิน เบอร์ 6 จบ (ยิ้ม)
ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะได้เป็นต่อหรือไม่ก็ตาม วางเส้นทางการเมืองไว้อย่างไร
ถ้าได้เป็นก็ไม่ต้องวางอะไร ก็มาทำงานต่ออีก 1 ครั้ง 4 ปี จากนั้นก็ฝาก กทม.ไว้กับคนรุ่นใหม่ คนที่มาทำงานกับผม เขาก็เอาไปทำต่อ เพราะถ้าได้เป็นถึงปี 2569 พวกนี้จะได้สะสมประสบการณ์ เหมือนมวย ซ้อมมา ถ้าไม่เคยชกเลย อยู่แต่ข้างเวที แต่ถ้าเขามาอยู่กับผม เขาซ้อมมาเต็มที่ ก็ได้ขึ้นเวทีชกจริง 4 ปี พอผมเลิกไป เขาก็อาจจะขึ้นมาทดแทนได้เลย เหมือนกับนักมวยที่เคยชกมาแล้ว ทำจริงมาแล้ว
ถ้าจะมีคนเลือกคุณอัศวิน คิดว่าจะเลือกจากจุดแข็งอะไร
หนึ่ง นโยบาย ชีวิตคน กทม. ต้องปลอดภัย เกิดความสงบสุข คุณภาพชีวิตต้องดีขึ้น สอง สิ่งที่ผมทำมาแล้วมันจับต้องได้ (ทุบอก) ผมเคยเป็นผู้ปฏิบัติมาแล้ว ผมเป็นคนพูดจริง ทำจริง เห็นผลได้จริง
แต่ถ้าไปเลือกคนอื่น เขาอาจจะนโยบายดี แต่ทุกคนไม่เคยมีประสบการณ์มาเลย ไม่ได้บอกว่า เขาไม่ดีนะ แต่เขายังไม่เคยทำ แต่ผมเคยทำมาแล้ว
สมมติเป็นการปลูกบ้านมาแล้ว 1 หลัง ผมก็เทพื้นล่าง ปลูกเสาแล้ว เหลือแค่ทำบันไดกับหลังคา เหมือนถ้าปลูกบ้านมี 10 ขั้นตอน ผมก็ทำมา 5 ขั้นตอน พอเลือกผมปั๊บ ก็จะทำ 6 7 8 9 10 เลยภายใน 4 ปี แต่คนอื่นต้องมาตอกเสาเข็มก่อน ไม่ต้องเริ่มใหม่เลย
ตอนแถลงลาออก คุณอัศวินให้คะแนนการทำงานในฐานะผู้ว่าฯ กทม. แค่ห้าเต็มสิบ จนถูกวิจารณ์ว่าคะแนนคาบเส้น เกือบไม่ผ่าน ถ้าให้คะแนนตัวเองอีกทีจะให้เท่าไร
ก็ยังคิดว่า ผมทำมาเยอะแล้วนะ ลองไปย้อนดูผู้ว่าฯ กทม. 20-30 ปีย้อนหลัง มีใครเคยผ่านสักขั้นมาไหม ไปเปิดดูได้เลย แต่ผมของมาต่อได้เลย ไม่ต้องมา 1 2 3 4 5 แต่ 6 7 8 9 10 ได้เลย
ถ้าพูดแบบนี้จะถูกต้องไหม “คุณอัศวินเป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่ทำงานมากที่สุด นับแต่มีมา”
ก็คงไม่ถึงขนาดนั้น แต่ผมยืนยันว่า สิ่งที่คิด นโยบายต่างๆ ผมนำไปสู่การปฏิบัติทั้งหมด คือบางคนคิด แต่ยังไม่ได้ลงไปสู่การปฏิบัติ ถ้าคิดแล้วไม่ได้ทำ คิดว่ามันจะไปได้ไหม
สมมติมีคนคิดมา 200 นโยบาย จะทำได้จริงไหม
ผมไม่รู้เขา แต่ต้องคิดว่า แต่ละนโยบายจะใช้เวลาเท่าไร 4 ปี มันราวๆ 1,500 วัน ก็ไม่รู้ว่า 200 นโยบาย จะใช้เวลานโยบายละกี่วัน ผมไม่ทราบ ต้องไปถามเขา แต่ผมเนี่ยทำต่อ มันไม่ต้องเริ่มใหม่ นโยบายผมมีแค่ 3 อย่าง