“ถ้า กทม. มีสวัสดิการที่ดีมากพอ จะลดปรากฏการณ์คนไร้บ้านไปได้มาก” เอ๋–สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา ผู้ทำงานร่วมกับคนไร้บ้านมานานกว่า 10 ปี เป็นตัวแทนกระบอกเสียงจากคนไร้บ้านเพื่อบอกกับว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ว่า สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ ความช่วยเหลือพื้นฐาน โอกาสทำงาน และสวัสดิการที่ช่วยให้คนตั้งตัว
สิทธิพลชี้ให้เห็นว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาคนไร้บ้านคือสวัสดิการที่ไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการผู้สูงอายุ สวัสดิการคนจน ทำให้กลุ่มคนบางส่วนไม่สามารถพึ่งพาตัวเอง ซึ่งการมีสวัสดิการรัฐที่ดีจะช่องอุดปัญหานี้ได้
“การเพิ่มต้นทุนให้เขามีทางเลือก มีต้นทุนไปประกอบอาชีพ ต่อยอดสร้างรายได้ต่อเนื่อง จะลดสภาพไร้บ้านไปโดยปริยาย แต่ที่ผ่านมาเราไม่มีเครื่องมือแบบนี้เลยทั้งระดับรัฐและท้องถิ่น คนไร้บ้านเลยถูกผลิตขึ้นมาจากแก่นปัญหานี้”
ถ้าจะแก้ปัญหาคนไร้บ้านใน กทม. ต้องดำเนินการ 3 อย่างไปพร้อมๆ กัน
- จัดตั้งศูนย์เพื่อให้บริการและดูแลเกี่ยวกับใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ที่อาบน้ำ ซักเสื้อผ้า อาหารที่มีคุณภาพครบ 3 มื้อ เพื่อรองรับคนไร้บ้านที่ยังไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปอยู่ในสภาพที่ช่วยเหลือตัวเองได้
- เพิ่มโอกาสการจ้างงาน สนับสนุนช่องทางทำมาหากิน
- อุดหนุนที่พักราคาถูก รวมถึงสวัสดิการบางส่วน เพื่อให้กลุ่มคนไร้บ้านที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานมีทุนตั้งตัว และเข้าถึงที่อยู่อาศัยของตัวเอง หากทำ 3 ขั้นตอนนี้ไปพร้อมกัน จะลดปรากฏการณ์คนไร้บ้านไปได้มาก แต่ที่ผ่านมา กทม. ยังไม่ให้ความสำคัญกับพวกเขามากพอ
ตลอดการทำงาน 10 ปี สิทธิพลเล่าว่าโครงการเดียวที่ กทม.ทำแล้วรู้สึกพอใช้ได้คือ ‘โครงการบ้านอิ่มใจ’ ซึ่งเป็นที่พักชั่วคราวให้เช็กอิน-เช็กเอาท์ ไม่ได้อยู่ประจำ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบได้ เพราะภาครัฐไม่ได้สนับสนุนส่วนอื่นๆ ต่อ เช่น การหางาน ทำให้ปัญหานี้กลับมาวนลูป
ประกอบกับแม้จะมีที่พำนักชั่วคราว แต่บางครั้งก็ยังไม่ตอบโจทย์คนไร้บ้านทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนไร้บ้านที่อยู่กันเป็นครอบครัว หรือ LQBTQ+ เนื่องจากที่พักที่ กทม.จัดให้แบ่งโซนหญิง-ชาย บางครั้งครอบครัวไม่สามารถนอนร่วมกันได้ ส่วนกลุ่มหลากหลายทางเพศก็จะปัญหากลั่นแกล้ง โดนละเมิด ซึ่ง กทม.ควรทำความเข้าใจ และดูแลคนไร้บ้านในระดับเดียวกับดูแลประชาชนทุกคน
“เราเคยทำวิจัยกับ อ.บุญเลิศ (บุญเลิศ วิเศษปรีชา) พบว่าสิ่งที่คนไร้บ้านอยากได้คือ space เค้าไม่ได้ต้องการนอนรวม เขาต้องการพื้นที่ส่วนตัว ห้องย่อยๆ ไม่ต้องใหญ่มาก ไม่งั้นเขาก็เลือกกลับไปนอนข้างถนนเหมือนเดิมดีกว่า เพราะมันเลือกที่ได้” สิทธิพลกล่าว
แม้บ้านอิ่มใจจะพบปัญหาการดำเนินงานอยู่บ้าง แต่ในเวลานั้นมันก็เป็นประโยชน์กับคนไร้บ้านหลายร้อยคน จนกระทั่งเดือนสิงหาคม พ.ศ.2562 (ในวาระการทำงานของพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง) กลุ่มคนไร้บ้านก็ต้องสูญเสียที่พักแห่งสำคัญนี้ไป หลังบ้านอิ่มใจโดนเวียนคืนพื้นที่ ทำให้สุดท้ายต้องปิดตัวลง
สิทธิพลฝากข้อความไปถึงผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ว่า คนไร้บ้านส่วนมากไม่ใช่คน กทม. หลักคิดของผู้ว่าจะต้องขยายตัวใหม่ ไม่ใช่ดูแลแค่คนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ใน กทม. แต่ควรดูแลคนที่อยู่ภายใต้ขอบรั้วของ กทม. ทุกคน
- ติดตามซีรีส์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ของ The MATTER ได้ที่: https://thematter.co/category/bkk65
#BKK65 #Quote #เลือกตั้งผู้ว่ากทม #คนไร้บ้าน #TheMATTER