ใบสมัครงาน ตำแหน่ง…ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร…
ชื่อ-นามสกุล : สกลธี ภัททิยกุล
สังกัด : อิสระ
อายุ : 44 ปี
อาชีพ : อดีต กปปส. อดีตรองผู้ว่าฯ กทม.
สโลแกน : กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ได้ (กทmore)
สิ่งที่จะทำหากเป็นผู้ว่าฯ : 6 นโยบายสร้างกรุงเทพฯ เป็น Happy & Healthy City
แม้จะมองว่าคนไม่เลือกผู้ว่าฯ จากนโยบาย หากเป็น ‘การแสดงตัวตน’ ที่มีอิทธิพลมากกว่ากับการตัดสินใจของประชาชน
แต่จากการเปิดตัวนโยบายของ ‘สกลธี ภัททิยกุล’ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 3 อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. เจ้าของสโลแกน ‘กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ได้’ ก็จะพบว่า นโยบายแต่ละข้อฟังดูล้ำไม่เบา
สังเกตดูคร่าวๆ จะพบว่ามีทั้งการใช้ AI เข้ามาช่วยจัดการจราจรและควบคุมกล้อง CCTV, ยกระดับศูนย์สาธารณสุขให้เป็นสมาร์ตคลินิกด้วยระบบ ‘telemedicine’, ติดตั้ง ‘Smart pole’ ที่ให้บริการทั้งไฟส่องสว่าง, CCTV, Wifi และเป็นเครื่องวัด PM2.5, พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลด้วย ‘Quantum infrastructure’ และอีกมากมาย
The MATTER สรุปนโยบายด้านต่างๆ ที่ ‘สกลธี’ เสนอว่าจะทำหากได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม. มาให้แล้ว
จากการแถลงเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2565 สกลธีประกาศนโยบายหลัก 6 ด้าน ภายใต้เป้าหมายของการทำให้ กทม. เป็น ‘เมืองแห่งความสุข’ (Happy & Healthy City) โดยเชื่อว่าจะสามารถผลักดันทั้ง 6 ด้าน คือ (1) ขนส่งสาธารณะ “ล้อ ราง เรือ” (2) การสาธารณสุข (3) การศึกษา (4) สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ระบายน้ำ และผังเมือง (5) ระบบบริหารจัดการ (6) เศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว ให้ “ดีกว่านี้ได้”
- ขนส่งสาธารณะ “ล้อ ราง เรือ” นโยบายที่โดดเด่นในด้านนี้คือการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ ทั้งการใช้ AI จัดการจราจร ปล่อยรถให้สัมพันธ์กันในแต่ละแยก เดินเรือ EV ในคลองต่างๆ เช่น คลองแสนแสบ คลองลาดพร้าว และคลองเปรมประชากร จะมีการผลักดันระบบ feeder ทั่วกรุง และจะเน้นการบังคับใช้กฎหมาย ให้การดูแลเรื่องการห้ามจอดรถมาอยู่ในอำนาจ กทม. ขณะที่รถไฟฟ้าก็เสนอว่าจะสร้าง 2 สาย คือ สายสีเทา (วัชรพล-ทองหล่อ) และสายสีเงิน (บางนา-สุวรรณภูมิ)
- การสาธารณสุข สกลธีเสนอให้ยกระดับศูนย์สาธารณสุข 60 แห่งให้เป็นสมาร์ตคลินิกด้วยระบบ ‘telemedicine’ เพิ่ม เพิ่มจำนวนศูนย์สาธารณสุขให้ครอบคลุม กทม. และยกระดับโรงพยาบาลในสังกัด กทม. 11 แห่ง ให้เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง พร้อมกับนำระบบ home monitoring มาใช้ในการดูแลผู้สูงวัย รวมถึงจะลงดูแลกลุ่มเปราะบางเชิงรุก
- การศึกษา นโยบายหลักๆ คือการปรับมาตรฐานให้มีโรงเรียนดีใกล้บ้านอย่างเท่าเทียมกัน และยกระดับโรงเรียนให้เป็นสองภาษา พร้อมกับสร้างโรงเรียนผสมเฉพาะทาง รวมถึงการพัฒนาหลักสูตร พัฒนาคุณภาพอาหารให้มีโภชนาการครบ รับประทานฟรี ขณะที่ในทางด้านบุคลากร ก็จะช่วยลดภาระครู และยกระดับให้ครูมีคุณภาพ
- สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ระบายน้ำ และผังเมือง ในส่วนนี้ สกลธีเสนอว่าจะทำอยู่หลายอย่าง นโยบายที่น่าสนใจคือการติดตั้ง ‘Smart pole’ ที่จะทำหน้าที่เป็นทั้งแหล่งปล่อย Wifi, ไฟส่องสว่าง, กล้อง CCTV และเครื่องวัด PM2.5 มีการเพิ่มกล้อง CCTV ที่ควบคุมผ่าน AI และจะเพิ่มสถานีดับเพลิง เพื่อให้ถึงที่เกิดเหตุใน 10 นาที ส่วนพื้นที่สีเขียว จะเสนอให้สร้างสวน 50 เขต 50 สวน สร้างหลังคาสีเขียว และปรับปรุงพื้นที่อย่างบึงหนองบอนให้เป็นสวนกีฬาทางน้ำ อีกนโยบายหนึ่งที่สำคัญคือ การคุมเข้มความเป็นระเบียบเรียบร้อย จัดการมอเตอร์ไซค์บนทางเท้า และหาบเร่-แผงลอย
- ระบบบริหารจัดการ พัฒนาด้วยการจัดทำระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล กทม. (Bangkok Digital Infrastructure System) แยกย่อยเป็นด้านต่างๆ อาทิ การใช้ ‘quantum computing’ และ ‘blockchain’ เข้ามาทำให้ระบบมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ จัดการฐานข้อมูลและเชื่อมโยงข้อมูลของ กทม. ผ่านระบบคลาวด์ จัดทำ ‘Bangkok Super App’ เพื่อให้บริการที่เกี่ยวข้องกับ กทม. และจัดแพลตฟอร์มการทำงานของข้าราชการให้สอดคล้องกับการบริการ
- เศรษฐกิจ สังคม และท่องเที่ยว นโยบายที่สกลธีชูคือ จะจัดให้มีถนนคนเดิน 50 เขต และจัดงาน Event เทศกาลสำคัญ พร้อมๆ กับจัดการสตรีทฟู้ดไม่ให้กระทบคนเดินเท้า รวมถึงจะมีการสนับสนุนสร้างอาชีพให้คนพิการ และจัดให้มีโรงเรียนฝึกอาชีพที่ทันสมัย
หากสกลธี ‘ทำทันที’ (หรือ ‘ทำทันธี’ ตามกิมมิกของเขาที่ชอบเล่นคำอยู่เสมอ) ดังที่เขาโฆษณา เขาก็บอกว่าจะสามารถทำทุกอย่างที่เสนอมาทั้งหมดนี้ได้สำเร็จภายใน 4 ปี หรือทันครบวาระของผู้ว่าฯ กทม. พอดี
ขึ้นอยู่กับว่าชาว กทม. จะไว้วางใจให้โอกาสผู้สมัครเบอร์ 3 เข้ามาลงมือทำงานจริงหรือไม่ – จากเดิมที่เขาเคยโอดว่าไม่ได้ทำงานอย่างเต็มที่ในฐานะรองผู้ว่าฯ เพราะได้แต่ทำในสิ่งที่ผู้ว่าฯ มอบหมายเท่านั้น จนไม่สามารถทำให้ กทม. “ดีกว่านี้ได้” อย่างที่ตั้งใจ