3 ปีก่อน เขายังเป็นเพียงนักการเมืองโนเนม ก่อนจะสร้างชื่อเสียงในเวทีสภาจากลีลาการอภิปราย ทั้งเรื่อง IO ของกองทัพและวัคซีนโควิด-19
ถึงตอนนี้เขากำลังจะเจอกับบททดสอบครั้งใหม่บนเส้นทางการเมือง
ต้นปี 2565 ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ ตัดสินใจลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เพื่อมาเตรียมตัวลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ท่ามกลางฟีดแบ็กที่หลากหลาย ทั้งให้กำลังใจและชื่นชม แต่จำนวนไม่น้อยต่างผิดหวัง แม้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้า ก.ก.จะออกมายืนยันว่า เหตุที่เลือกเขาลงแข่งขันเพราะมี DNA ของพรรคมากที่สุด จึงไว้วางใจให้มาทำหน้าที่ดูแลคน กทม.
นับแต่เปิดตัว วิโรจน์ก็ลงพื้นที่หาเสียงต่อเนื่องด้วยสโลแกน ‘พร้อมชนเพื่อคนกรุงเทพฯ’ และเปิดตัวนโยบายที่เน้นพัฒนา กทม.ให้เป็นเมืองแห่งสวัสดิการ เมืองที่ประชาชนเป็นใหญ่ และเมืองที่ทุกคนจะอาศัยได้อย่างเป็นสุข
The MATTER ไปนั่งคุยกับวิโรจน์ ณ ที่ทำการ ก.ก. ย่านหัวหมาก เพื่อไถ่ถามถึงความพร้อม สิ่งที่เขาจะทำเป็นลำดับแรกๆ และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีทั้งบวกและลบ ณ จุดที่เพิ่งเริ่มออกตัว
เหตุผลที่แคนดิเดตชื่อวิโรจน์
วิโรจน์กล่าวถึงเสียงวิพากษ์หลัง ก.ก.เปิดตัวเขาเป็นแคนดิเดตชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2565 ว่า ก็ต้องรับฟังความเห็น เสียงวิจารณ์ของประชาชน แต่ยืนยันว่าการจะมาเป็นแคนดิเดตของพรรคไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกระบวนการคัดสรรของ ก.ก.เริ่มจากทำนโยบายก่อน แล้วค่อยหาตัวบุคคลมาขับเคลื่อน
“เราเชื่อว่านโยบายที่สวยหรูยังไงก็ตาม มันไปไม่ได้ ถ้าไม่มีวิถีในการขับเคลื่อน ซึ่งส่วนนี้ราคิดถึง DNA ความเป็นอนาคตใหม่ ที่สืบทอดมาถึงก้าวไกล”
แล้ว DNA ที่ว่าเป็นอย่างไร?
วิโรจน์อธิบายเพิ่มว่า คือการพร้อมทะลุโจทย์ ไม่จำนนต่อข้อจำกัด และปล่อยให้ประชาชนรับสภาพไปตามยถากรรม อีกส่วนคือเขาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยต้องสำนึกไว้เสมอว่าคน กทม. เป็น ‘เจ้านาย’ ส่วนผู้ว่าฯ จะเป็นผุ้ที่มาคอย ‘รับใช้’
พอพรรคได้นโยบายและวิถีในการขับเคลื่อนแล้ว ถึงค่อยมาหาตัวบุคคลที่เหมาะสม ซึ่งวิโรจน์ก็เป็นหนึ่งในผู้เสนอตัว เพราะตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. เป็นหนึ่งในเป้าหมายนับแต่ตัดสินใจมาลงเล่นการเมือง
‘พร้อมชน’ เพื่อเจ้านายที่ชื่อว่า คน กทม.
จากสโลแกนเปิดตัว พร้อมชนเพื่อคน กทม. ..ที่ถูกนำไปตั้งคำถามว่า จะไปชนกับใคร?
วิโรจน์ชี้แจงว่า คำว่าชนของเรา ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปทะเลาะ ไปมีเรื่อง แต่เราไม่หวั่นไหวกับอำนาจที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม นี่คือการชนของเรา
อีกข้อความหนึ่งที่วิโรจน์ย้ำอยู่ตลอด คือการวางตัวเองเป็นลูกน้อง ที่ต้องเข้ามารับใช้เจ้านายอย่างคน กทม. ซึ่งทุกการเลือกตั้ง คือโอกาสแห่งการเปลี่ยนแปลง นอกจากเปลี่ยนแปลงผู้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ อีกหนึ่งสิ่งที่ ก.ก.คิดจะเปลี่ยน และทำสำเร็จแล้วคือการ ‘ปักธง’ ทางความคิดให้คน กทม. เข้าใจว่าพวกเขาคือเจ้านาย เจ้าของเมือง ไม่ใช่พนักงานที่รอผู้ว่าฯ มาดูแล
“แต่ต้องยอมรับว่า 7-8 ปีที่ผ่านมา คน กทม. รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้อยู่อาศัย เราต้องฟื้นความรู้สึกว่าคน กทม. เป็นคนตัวใหญ่ เป็นเจ้าของเมืองทุกตารางนิ้ว นี่คือการปักธงความคิด ปักธงว่าเราจะไม่ยอมรับการรีดไถอีกต่อไป ทั้งที่ทุกคนก็รู้ว่ามันมีอยู่จริง แล้วพยายามจะยอมรับให้ได้ ซึ่งมันไม่ใช่
“กทม. มักจะผลักให้คนอาศัยรับภาระ คอยระวังจนระแวงไปหมด ทุกครั้งที่เราล้มลงบนฟุตบาท แทนที่เราจะโทษว่า ทำไมเมืองถึงไม่ทำฟุตบาทให้เรียบให้ดี ก็กลับมาโทษตัวเองว่าเดินไม่ดี พ่อแม่ก็จะบอกลูกๆ ว่าต้องหลบฝาท่อนะ เดี๋ยวจะร่วงตกท่อ คือต้องถามว่า เมืองอะไรที่มันผลักภาระการระวังทั้งหมดให้กับคน กทม. ได้ถึงขนาดนั้น”
แม้ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. จะมีอำนาจจำกัด แต่วิโรจน์ก็บอกว่า ถ้าเขาเป็นผู้ว่าฯ ก็จะประสานหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อทะลุข้อจำกัดดังกล่าว
“ที่ผ่านมาราวกับว่าผู้ว่าฯ จะพึงพอใจกับอำนาจที่จำกัดด้วยซ้ำ เพราะเวลาบอกว่า ไม่มีอำนาจมันเหมือนกับตัดจบ แล้วก็เป็นเหตุผลในการปัดความรับผิดชอบ แต่นั่นคือการลอยแพคน กทม. ให้ยอมจำนนกับปัญหา ใครทนไม่ได้ก็ต้องควักกระเป๋าสตางค์จ่ายเอง ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เรายอมไม่ได้”
นโยบายเด่นของผู้สมัครก้าวไกล
เราถามว่า แคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. แต่ละคนก็มักจะพูดถึงนโยบายแก้ไขปัญหา กทม. ซ้ำๆ กัน เช่น คุณภาพชีวิตที่ดี ขนส่งสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้ เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มความปลอดภัยในชีวิต ฯลฯ แล้วผู้สมัครจาก ก.ก. จะต่างจากคนอื่นๆ อย่างไร?
วิโรจน์ตอบ โดยยกตัวอย่างนโยบายแรกๆ ที่เขาจะทำ ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.
1. ทลายข้อจำกัดอำนาจผู้ว่าฯ กทม. เขายกตัวอย่างกรณีลอกท่อเพื่อป้องกันเหตุน้ำท่วม ซึ่งมีกฎหมายที่ขัดแย้งกันระหว่างข้อบัญญัติของ กทม. กับกฎหมายที่ดิน ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ลำบากใจที่จะเข้าไปปฏิบัติงาน ถ้าเขาได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะส่งเรื่องไปยังสภา กทม. หรือสภาผู้แทนราษฎร ให้แก้ไขกฎหมาย ไม่ใช่ปล่อยให้ปัญหายืดยาวออกไป โดยอ้างว่าไม่มีอำนาจ
2. กระจายงบกลางให้ประชาชน เขาบอกว่า กทม. มีงบกลางเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ซึ่งมีอยู่ราว 7,000 ล้านบาท แต่พอมาปีปัจจุบันกลับเพิ่มเป็นกว่า 14,000 ล้านบาท ซึ่งตัวผู้ว่าฯ กทม. แม้จะมีอำนาจบริหารจัดการงบประมาณ แต่ไม่ได้อยู่ในจุดที่จะเข้าใจและมองเห็นทุกปัญหาของประชาชนอย่างถ่องแท้ ทำให้หลายครั้งงบกลางที่มีอยู่มากมาย กลับถูกนำไปใช้ไม่ตรงจุด เช่น ไปสร้างคลองต่างๆ หากเขาได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะกระจายงบกลางก้อนนี้ออกไปให้ทั้ง 50 เขตๆ ละ 60-80 ล้านบาท แล้วให้ ส.ก. ผอ.เขต และประชาชนในพื้นที่ร่วมกันบริหารจัดการงบก้อนนี้ ตามหลักการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (participatory budgeting) เพื่อให้นำไปแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ซึ่งจะตัดปัญหาคอร์รัปชั่นออกไป เพราะแต่ละเขตจะตรวจสอบกันเอง
3. สร้างเมืองแห่งสวัสดิการ ซึ่งต่อเนื่องจากการกระจายงบ โดยวิโรจน์ย้ำว่า กทม. ไม่ใช่แค่ตึกหรือวิวทิวทัศน์สวยๆ แต่คือผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมือง เป้าหมายของเขาคือ “สร้างเมืองที่เป็นมิตร มีสวัสดิการที่เหมาะสม” ทั้งในแง่ของความเป็นอยู่ทั่วไป สุขภาพ ขนส่งสาธารณะ ฯลฯ เพราะการยกระดับคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของประชาชน จะเป็นโดมิโนที่ไปกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชนขึ้นทันที ทั้งนี้ กทม.จะสามารถเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้อีกราว 10,000 ล้านบาท ที่เพียงพอจะนำไปให้เป็นเงินอุดหนุนกับคนแก่ เด็ก และผู้พิการ นอกจากนี้ จะสนับสนุนให้ชานเมือง กทม. มีขนส่งมวลชนระดับรอง เช่น รถบัสขนาดเล็ก เพื่อป้อนคนไปยังรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ซึ่งจะต้องแก้ปัญหาค่าโดยสารให้ทุกคนเข้าถึงได้
“ณ วันนี้ คน กทม. ไม่ได้ต้องการผู้ว่าฯ ที่สร้างรถไฟฟ้าได้ ไม่ต้องมาคุยเลยว่า ฉันจะสร้างรถไฟฟ้ากี่เส้นกี่สาย ไม่ใช่ แต่ต้องการผู้ว่าฯ ที่ทำให้คน กทม. สามารถขึ้นรถไฟฟ้าได้ต่างหาก”
คือตัวอย่าง 3 นโยบายแรกที่ผู้ว่าฯ วิโรจน์จะทำ หากชนะการเลือกตั้ง
แล้วทำไมเขาต้องเลือกคุณ?
‘ประสบการณ์’ คือคำถามที่ต้องเจอแน่ๆ เมื่ออาสาตัวมาเป็นผู้บริหารเมืองกรุงนี้ เพราะแม้วิโรจน์จะเคยทำงานระดับผู้บริหารในบริษัทร้านหนังสือยักษ์ใหญ่ของประเทศมาก่อน แต่สเกลของงานก็ต่างกับบริหารเมืองที่มีคนอยู่ระหว่าง 8-10 ล้านคน หรือประสบการณ์ทางการเมือง ก็เคยเป็น ส.ส.มาแค่สมัยเดียว
แล้วเขาจะเอาอยู่ไหม?
วิโรจน์ตอบอย่างมั่นใจว่า เขาพร้อมจะรับหน้าที่นี้และพร้อมจะทำงานร่วมกับข้าราชการน้ำดีเพื่อพัฒนา กทม. ให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น
“ผมมองว่า กทม. เป็นนิติบุคคลขนาดใหญ่ เป็นหมู่บ้านที่ใหญ่มาก ส่วนตัวเราเองเป็นลูกน้อง เป็นผู้จัดการที่ต้องเก็บรายละเอียดและแก้ทุกปัญหาที่เจ้านายเจอ โดยอาศัยกลไกข้าราชการน้ำดีใน กทม. ที่มีอยู่จำนวนมากให้มาคอยช่วย โดยพวกเขาเหล่านั้นต้องมีโอกาสเติบโตอย่างมีศักดิ์ศรีและได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ขณะเดียวกันก็ต้องกำจัดระบบอุปถัมภ์และระบบส่วยไปพร้อมๆ กัน”
สำหรับวิธีแก้ปัญหาส่วย วิโรจน์ตอบโดยถามกลับว่า “เคยได้ยินคำว่าส่งนายไหม” และอธิบายเพิ่มว่า ถ้าไม่ต้องส่งนาย ท้ายโต๊ะก็ไม่ต้องเก็บ หากหัวไม่ส่ายหายไม่กระดิก ปัญหาก็จะทุเลาลงไปกว่า 50% นอกจากนี้ เขาและทีมของ ก.ก. ยังพัฒนาแพล็ตฟอร์มให้ร้องเรียนปัญหาเข้ามา ทั้งเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ความไม่เป็นธรรมที่ได้รับ ฯลฯ (เตรียมเปิดตัวเร็วๆ นี้) ซึ่งจะทำให้ กทม.ทำงานได้โปร่งใสยิ่งขึ้น เป็น open government
“เราคุ้นชินกับการเลือก ‘หัวหน้า’ แต่การเลือกตั้ง จะผู้ว่าฯ กทม. ก็ดี หรือ ส.ส. ก็ดี เราเลือก ‘ลูกจ้าง’ ที่เข้าไปกินเงินเดือนจากภาษีของประชาชน ผมพยายามวางตัวเองให้ถูกต้องแบบนี้ตั้งแต่แรก ดังนั้นเวลาที่ผมโดนวิจารณ์ ก็ไม่เคยนึกโกรธ และเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะถูกหัวหน้าเรียกไปดุ แล้วผมก็จะพยายามบอกกับทีมงานของ ก.ก. แบบนี้ว่า เราเป็นแค่คนตัวเล็กที่กำลังทำงานใหญ่”
แพ้หรือชนะไม่สำคัญ ขอให้ได้ลุ้นจนนาทีสุดท้าย
ผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรนั้นยังไม่มีใครรู้ได้ แม้ตัววิโรจน์จะเชื่อว่าว่าเขาจะชนะได้ แต่สุดท้ายผู้ที่มีอำนาจตัดสินคือประชาชน
แต่ระหว่างทาง ตัวแทนจาก ก.ก. ยืนยันว่า จะทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อพิสูจน์ตัวเอง และทำให้แมตช์การแข่งขันครั้งนี้สมศักดิ์ศรีมากที่สุด
“หลายคนคงรู้ว่า ผมเป็น The Kop (คำเรียกแฟนทีมฟุตบอลลิเวอร์พูลของอังกฤษ) ผมเชื่อว่าปาฏิหาริย์ที่อิสตันบูลจะเกิดขึ้นได้ (นัดชิงชนะเลิศ การแข่งขันฟุตบอลรายการยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีกในปี 2548 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองอิสตันบูลของตุรกี ทีมลิเวอร์พูลพลิกกลับมาชนะคู่แข่งได้ ทั้งๆ ที่ถูกนำ 0-3) ถ้าเรามัวแต่มองสกอร์บอร์ดตลอดเวลา เราจะเล่นได้อย่างมีประสิทธิภาพไหม ไม่เลย เราแค่เล่นตามแผนของเรา เชื่อมั่นในทีมของเรา
“ผมไม่รู้หรอกว่า ปลายทางจะชนะได้หรือเปล่า แต่ผมจะทำให้แฟนบอลที่ดูอยู่ อยู่ดูผมจนครบ 90 นาที ไม่กลับบ้านก่อน ทำให้เขารู้สึกว่านี่คือแมตช์ที่สมศักดิ์ศรีที่วิโรจน์และทีมของเขาทำเต็มที่”
เราถามทิ้งท้ายว่า หากเทียบกับแคนดิเดตคนอื่นๆ ถือว่าตัวเองเป็นรองแค่ไหน
วิโรจน์ตอบว่า ตอบไม่ได้ แต่ยอมรับว่าเปิดตัวช้า และถึงจะเป็นรอง ก็จะเล่นด้วยหัวใจที่ห้าวหาญ
“ชนะหรือเปล่า ไม่สำคัญเท่าหัวใจที่เชื่อว่าเราชนะได้ คุณต้องลงสนามด้วยความรู้สึกว่าเราชนะได้ ผมบอกคณะกรรมการบริหาร ก.ก. ไปว่า ถ้าลงสนาม ผมจะทำเต็มที่ จะแพ้หรือชนะ ไม่รู้ แต่แฟนบอลต้องอยู่ในสนามครบเวลา นี่คือคอนเซ็ปต์ในการสู้”
และนี่คือตัวตนของวิโรจน์ หนึ่งในผู้อาสามาทำงานให้คน กทม. ในตำแหน่งผู้ว่าฯ ที่จะทำตัวเป็นลูกน้อง เป็นผู้รับใช้ ไม่ใช่เจ้านาย