นอกจากชื่อฉัน มีสิ่งอื่นอีกไหม ที่ซ่อนอยู่ในป้ายหาเสียงนี้อยู่ (อ่านแบบใส่ทำนอง)
วันเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ขยับใกล้ขึ้นทุกที และเราได้เห็นป้ายหาเสียงมากมายติดอยู่แทบทุกหนทุกแห่ง แต่นอกจากสื่อว่าตัวเองเป็นผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แล้ว พวกเขาซ่อนนัยยะอะไรไว้ในนั้นอีกไหมนะ?
“ป้ายโฆษณาหาเสียงไม่ต่างกับโฆษณาชวนเชื่อ เพราะมันบอกข้อมูลแค่ครึ่งเดียว ไม่ได้บอกทั้งหมด ทุกคนจึงสร้างภาพลักษณ์ตัวเองขึ้น เลือกภาพที่ดีที่สุด คำพูดที่ดีที่สุดมาใส่ในป้ายหาเสียง” คือคำอธิบายถึงป้ายหาเสียงของ วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในฤดูกาลเลือกตั้งแบบนี้ เราชวนนักวิชาการสื่อสารมาวิเคราะห์ท่าทาง สีสัน เสื้อผ้าที่ผู้สมัครเลือกใช้ในป้ายหาเสียง มันกำลังบอกอะไรกับเราบ้าง มันตอกย้ำภาพลักษณ์ของผู้สมัครคนไหนและอย่างไร และมีอันไหนไหมที่คาดว่าน่าจะตรงจริตคน กทม. มากที่สุด
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
สำหรับผู้สมัครที่ได้รับหมายเลข 8 คนนี้ วิไลวรรณมองว่าสีที่เขาเลือกใช้คือ ‘สีเขียว’ ซึ่งสอดคล้องไปกับนโยบาย ‘เมืองน่าอยู่ สำหรับทุกคน’ และภาพแบลคกราวน์ที่มักเลือกใช้รูปต้นไม้ ทำให้เห็นว่าเขาให้ความสำคัญกับป่าในเมือง (Urban Forest) คล้ายๆ กับเมืองในประเทศสิงคโปร์ที่มีป่าแซมอยู่ เมืองที่ดีต้องมีระบบนิเวศที่ดี และต้องมีความสะอาด
ทั้งนี้ วิไลวรรณมองว่านัยยะที่ซ่อนอยู่ในสีและแบลคกราวน์ทั้งหมดนี้ อาจถูกใจชนชั้นกลางของกรุงเทพฯ มากกว่าชนชั้นรากหญ้า ซึ่งยังไม่มีความพร้อมในเรื่องปัจจัยสี่นัก
สำหรับภาพที่ชัชชาติเลือกใช้ หากมองให้ดีจะเห็นว่าเขาอยู่ในชุดเสื้อยืดสีดำ และในภาพกราฟิกที่ทีมงานวาดให้เขา จะเป็นตัวเขาในชุดสีดำ คู่กับรองเท้าวิ่ง สะท้อนว่าเป็นคนกระฉับกระเฉง คล่องตัว เบาสบาย พร้อมลงไปลุยกับปัญหาใหญ่ในกรุงเทพฯ เช่น น้ำท่วม
อาจารย์จากคณะวารสารศาสตร์ยังเสริมว่า ข้อความ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ซึ่งปรากฎบนเสื้อผู้สมัครยิ่งเป็นตอกย้ำภาพลักษณ์ของผู้สมัครคนนี้ว่าเป็นคนเน้นทำงาน หลีกเลี่ยงการเล่นการเมือง ซึ่งแง่หนึ่งอาจถูกใจคนกรุงเทพฯ ก็ได้
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
ผ่านสายของวิไลวรรณ ภาพในแผ่นป้ายหาเสียงของวิโรจน์เป็นรูปฉีกยิ้ม ยิงฟัน สะท้อนถึงความเป็นคนเปิดเผย โปร่งใส
และสำหรับ ‘สีส้ม’ ที่เลือกใช้ เข้าใจไม่ยากว่าเป็นสีของพรรคก้าวไกล นอกจากนี้ เสื้อเชิ้ตสีขาวที่สวมใส่ในภาพ บวกกับปากกาสีแดงและน้ำเงินที่เหน็บอยู่ที่กระเป๋าเสื้อ ทำให้นึกถึงภาพลักษณ์ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ดังนั้น ผู้สมัครคนนี้ไม่ต้องการเน้นที่ตัวบุคคล แต่หนึ่งเสียงที่มอบให้เขาหมายถึงได้พรรคและแนวคิดของก้าวไกลทั้งกระบวนมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.
วิไลวรรณยังชี้อีกว่า การที่ผู้สมัครเบอร์หนึ่งจงใจมาถึงสถานที่สมัครผู้ว่าฯ กทม. ด้วยรถเมล์ และหมั่นติดป้ายหาเสียงไว้หลังรถตุ๊กตุ๊ก หรือรถเข็นผลไม้ สะท้อนว่าพวกเขาต้องการสื่อว่าตนคำนึงถึงคนรากหญ้า ตอกย้ำข้อความ “เมืองคนเท่ากัน” ที่ชูเป็นนโยบาย เช่นเดียวกับข้อความ “หมกเวลาซุกปัญหาไว้ใต้พรม” ซึ่งสะท้อนแนวคิดแก้ปัญหาที่โครงสร้างของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งแตกต่างกับผู้สมัครคนอื่นๆ
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
สำหรับเจ้าของฉายาลูกศิษย์สายตรงไอไสตน์ สุชัชวีร์ ผู้สมัครเบอร์ 4 เลือกใช้ ‘สีฟ้า’ ซึ่งวิไลวรรณตั้งข้อสังเกตว่า มันไม่ใช่สีฟ้าเฉดเดียวทั้งหมด และยังสีอื่นแซมอยู่ด้วย เช่น สีส้ม สะท้อนว่าตัวเองเป็นผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่อีกแง่หนึ่ง ยังคงอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนเอาไว้ ไม่ใช่แสดงว่าเป็นคนของพรรคล้วนๆ
สำหรับเส้นขวางด้านหลัง วิไลวรรณมองว่าสะท้อนถึงความรวดเร็ว ความเปลี่ยนแปลง และเทคโนโลยี ซึ่งสอดรับกับแนวคิดและจริตของชนชั้นกลาง
สำหรับการแต่งกายของ ‘เอ้’ เขาสวมเสื้อคอกลมแล้วทับด้วยสูทแสดงถึงความเป็นกันเอง ไม่ได้สูงส่งจนเอื้อมไม่ถึง แต่ขณะเดียวกันยังคงภาพลักษณ์ของผู้บริหารระดับสูงไว้อยู่ ซึ่งวิไลวรรณเสริมว่า สุชัชวีร์เป็นคนที่ภาพลักษณ์ดีอยู่แล้ว มีความเป็นคนรุ่นใหม่ ทันสมัย และขณะเดียวกันก็คุ้นเคยกับการทำงานกับสื่อ เพราะเคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมาก่อน
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
เรียกได้ว่าเป็นบิ๊กเนมที่เปิดตัวคนเกือบท้ายสุด โดยอดีตผู้ว่าฯ กทม. คนนี้เลือกใช้สีเหลืองและสีน้ำเงิน ซึ่งในบริบทของสังคมและการเมืองไทยได้ว่าสถาบันหลักของชาติ
สำหรับในภาพที่ปรากฎอยู่บนแผ่นป้ายหาเสียง อดีตผู้ว่าฯ กทม. ใช้สายตามองตรง คล้ายมองไปที่อนาคตข้างหน้าของ กทม. นอกจากนี้ บางป้ายยังไม่มียศ พล.ต.อ. นำอยู่หน้าชื่อ ซึ่งสะท้อนว่าเขาต้องการตอกย้ำภาพลักษณ์สมัยเป็นผู้ว่าฯ กทม. และพยายามลดภาพลักษณ์สมัยเป็นตำรวจ ซึ่งขณะนี้เป็นอาชีพที่ประชาชนมีความแคลงใจ
วิไลวรรณมองคำว่า ‘กรุงเทพฯ ต้องไปต่อ’ แปลว่า เขาเคยนำกรุงเทพฯ มาถึงจุดหนึ่งแล้ว และขออาสาเป็นคนพากรุงเทพฯ ไปข้างหน้าต่อไป ให้การทำงานมันต่อเนื่อง ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงผู้นำให้วุ่นวาย ซึ่งเป็นทั้งดาบสองคม อาจสร้างข้อได้เปรียบหรือเสียเปรียบให้เขาก็ได้ ซึ่งนัยยะข้อความนี้ยังคล้ายกับ “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่” ของพรรคพลังประชารัฐ
“อัศวินได้เปรียบกว่าผู้สมัครทุกคน เพราะเคยทำงานมาก่อน แล้วคอนเซ็ปต์นี้ (เลือกคนเดิม) มันมีคนซื้ออยู่แล้ว ซึ่งมันมีทั้งผลดี-เสียของแนวทางนี้อยู่” นักวิชาการสื่อสารกล่าว
สกลธี ภัททิยกุล
สำหรับผู้สมัครหมายเลข 3 อดีตแกนนำ กปปส. และอดีตรองผู้ว่า กทม. วิไลวรรณมองว่าเลือกใช้สีสันหลากสีในภาพ มีทั้งสีเขียว สีเหลือง และสีดำ ซึ่งกลับเป็นแง่ลบ เพราะทำให้สารที่ต้องการสื่อไม่ชัดเจน
สำหรับท่าทางของอดีตขุนศึก กปปส. เขานั่งอยู่บนเก้าอี้ไม้ พร้อมยกกำปั้นขึ้นมาหนึ่งข้าง แสดงถึงความมั่นใจพร้อมลุยกับปัญหาในกรุงเทพฯ สอดคล้องกับข้อความ “ทำทันธี”
อย่างไรก็ตาม วิไลวรรณกลับมองว่าท่าทางและข้อความกลับไปขัดกับเครื่องแต่งกายของเขา เพราะเขาเลือกสวมเสื้อเชิ้ตเขียว สูทดำ กางเกงแสลค รองเท้าหนังขัดมัน รวมถึงทาปากแดง ซึ่งมันทำให้เขาดูเป็นผู้บริหารที่เตรียมถ่าย “รายงานประจำปี (Annual Report)” มากกว่า มีความเป็นผู้บริหารที่แต่งตัวเนี๊ยบ นั่งทำงานในออฟฟิศมากกว่าคนที่พร้อมลงไปทำงานจริง
รสนา โตสิตระกูล
สำหรับรสนา ผู้สมัค ‘อิสระตัวจริง’ ยังไม่มีป้ายหาเสียงในโลกออฟไลน์ให้เห็น เราเลยนำป้ายหาเสียงที่เขาใช้ในวันรับสมัครผู้ว่าฯ กทม. มาวิเคราะห์
วิไลวรรณมองว่า รสนา เลือกใช้สีน้ำตาล ซึ่งคล้ายกับสีของผืนดิน หรือหมายถึงว่าเธอเป็นคนติดดิน มาจากชนชั้นรากหญ้า พร้อมทำเพื่อแผ่นดิน
ขณะที่ข้อความบนป้ายของเธอก็น่าสนใจ สำหรับข้อความ ‘ต้องหยุดโกง’ วิไลวรรณมองว่าเธอให้ความสำคัญกับปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังการเมืองไทยมานาน แต่ขณะเดียวกันประเด็นนี้อาจไม่สื่อสารถึงคนรุ่นใหม่มากนัก ขณะที่นโยบายของเธอบางข้อสื่อสารกับชนชั้นกลางโดยเฉพาะ เช่น ลดค่าโดยสารบีทีเอสเหลือไม่เกิน 20 บาท รวมถึงการตั้งกองทุนหลังคาบ้านโซลาร์ เซลล์
วิไลวรรณยังตั้งข้อสังเกตข้อความ ‘ผู้สมัครอิสระตัวจริง’ เป็นการยืนยันความอิสระและปลอดการเมืองของตัวเอง แต่ขณะเดียวกัน วิไลวรรณตั้งข้อสังเกตว่า แปลว่ามีใครบางคนเป็นผู้สมัครอิสระตัวปลอมหรือเปล่า?
ไม่มีภาพลักษณ์ใดที่ถูกใจเสมอไป
นักวิชาการสื่อสารจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชี้ว่า ป้ายหาเสียงไม่ต่างอะไรจากโฆษณาชวนเชื่อ เพราะมันบอกความจริงไม่หมด และจงใจเผยแต่ด้านดีๆ ของผู้สมัครออกมา ดังนั้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในรอบนี้ทุกคนควรศึกษาข้อมูลของผู้สมัครให้ครบถ้วนรอบด้าน เพราะนี่เป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งแรกในรอบ 6 ปี
“ตอนนี้สิทธิลงคะแนนของทุกคนมีค่ามากๆ ควรตรวจสอบกลับไปที่ประวัติของผู้สมัคร คู่ไปกับนโยบายของผู้สมัคร” วิไลวรรณกล่าว
The MATTER ถามเธอต่อว่าในฐานะนักสื่อสาร เธอมองเห็นความเหมือนในแง่ภาพลักษณ์ของอดีตผู้ว่าฯ กทม. คนก่อนๆ ไหม มีแบบไหนที่เป็นสูตรสำเร็จที่ถูกใจคน กทม. ไหม เธอกล่าวว่า มันขึ้นอยู่กับจังหวะ เวลา และบริบทของสังคมขณะนั้น และที่สำคัญ กทม. หักปากกาเซียนมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว
“ถามว่ามันมีสูตรสำเร็จในการสร้างภาพลักษณ์ของผู้ว่า กทม. ไหม ซึ่งถ้าเราย้อนกลับไปดูครั้งที่ผู้สมัครได้คะแนนเสียงถล่มทลายคือสมัย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่ขายความจนของตัวเอง เอาฝาเข่ง ตะกร้ามาทำป้ายหาเสียง บวกกับคาแรคเตอร์ ‘สมถะ’ และ ‘มหาห้าขัน’ ตอนนั้นมันตรงจริตคนกรุงเทพฯ ที่ไม่อยากได้คนทุจริต แต่ถ้าย้อนกลับไปดูผู้ว่าฯ กทม. 2-3 คนที่ผ่านมา จะเห็นว่าเป็นอีกแบบ”
“ดังนั้น ตัวชี้เป็นชี้ตายในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ คนกลุ่มไหนจะออกมาใช้สิทธิมากที่สุด และต้องไม่ลืมว่า กลุ่มเด็กรุ่นใหม่มีจำนวนมากขึ้น และพวกเขาเริ่มเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง เช่น ในจุฬาลงกรณ์ที่มีความเป็นชนชั้น คนรุ่นใหม่ก็เข้าไปพยายามล้มระบบเดิมหลายๆ อย่าง”
“ดังนั้น ภาพตรงนี้มันสะท้อนคลื่นอะไรบางอย่าง เช่นเดียวกับเลือกตั้งครั้งนี้ ว่าอาจมีการหักปากกาเซียนอีกครั้ง” นักวิชาการสื่อสารทิ้งท้าย
Illustrator By Waragorn Keeranan