“โดม-จารุวัฒน์ เชี่ยวอร่าม อายุ 33 ปี ยังไหวครับพี่ ยินดีครับผม”
ศิลปินอารมณ์ดีกล่าวทักทาย ปีนี้นับเป็นปีที่ 13 ในวงการบันเทิงของ ‘โดม-จารุวัฒน์’ หรือที่หลายคนรู้จักครั้งแรกในชื่อ ‘โดม The Star’ นักล่าฝันเจ้าของตำแหน่งแชมป์จาก The Star ค้นฟ้าคว้าดาว ปี 8 รายการเรียลลิตี้ประกวดร้องเพลงซึ่งเปลี่ยนเด็กหนุ่มธรรมดาให้กลายเป็นหนึ่งในศิลปินแถวหน้าของประเทศ
ในวันนั้น ภาพจำของโดมคือหนุ่มภูเก็ตวัย 20 สุภาพเรียบร้อย มีเสียงร้องอันทรงพลัง แต่ ณ วันนี้ เขามีตัวตนที่สนุกสนานมากขึ้น ยังคงหลงใหลในเสียงดนตรีเช่นเดิม ทว่าเพิ่มเติมด้วยบุคลิกช่างคุย ชอบหัวเราะ ไม่เคยพลาดที่จะยิงมุกตลกในรายการต่างๆ ที่เขารับหน้าที่พิธีกร
อย่างไรก็ดี กว่าจะมีใบหน้าแต้มยิ้มขี้เล่น เป็นกันเอง และเป็นตัวเอง ใบหน้าของโดมเคยเปื้อนน้ำตาเพราะคำครหานานาชนิด บ้างมองว่าเขาไม่คู่ควรกับตำแหน่งแชมป์ บางคนตำหนิไปยังรูปร่างหน้าตา แม้กระทั่งในวันที่เป็นศิลปินเต็มตัว เสียงก่นด่าวิพากษ์วิจารณ์ก็ยังปรากฏให้เห็น
โดมทำอย่างไรจึงก้าวผ่านวันเหล่านั้นมาได้ เคล็ดลับในการสร้างภูมิคุ้มกันให้หัวใจยิ้มได้คืออะไร และทำไมศิลปินมากความสามารถคนนี้จึงไม่เคยท้อถอยหรือปล่อยมือจากความฝัน
ขอเชิญทุกคนร่วมหาคำตอบพร้อมกันผ่านบทสัมภาษณ์จากรายการ 30 ยังจ๋อย
Rise and Fall
ทำไมถึงเป็นคำว่า ‘ยังไหวครับพี่ ยินดีครับผม’
ณ ตอนนี้ ประโยคนี้คงเป็นแท็กไลน์ประจำใจมั้ง คือถ้าเป็นก่อนหน้านี้ ตอนที่เรายังเด็ก เราจะชอบตอบว่า ‘ไหวดี้ ไหวอยู่แล้ว!’ แต่ในวัยนี้ เสียงก็จะอ่อยๆ เริ่มเหนื่อย เริ่มผ่านอะไรมาเยอะ เลยตอบเป็น ‘ยังไหวครับพี่’ แทน (หัวเราะ)
ส่วน ‘ยินดีครับผม’ คงหมายถึง ยินดีสำหรับสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต โอกาสต่างๆ ใครยื่นอะไรมาก็ยินดี อยากทำ อยากลอง ยินดีครับพี่ เป็นแบบนี้ตั้งแต่ 20 กว่าๆ จนถึงตอนนี้
ที่ว่าใครยื่นอะไรมาก็ยินดี แปลว่าโดมมักจะไม่ปัดโอกาสทิ้ง ?
ใช่ แทบจะไม่ปัดทิ้งเลย แต่หลายครั้งมันก็นำไปสู่อะไรงงๆ เช่น ขายตรง (หัวเราะ) จะมีอะไรแบบนี้โผล่เข้ามาบ้าง ซึ่งส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเราขี้เกรงใจด้วย ปฏิเสธคนไม่ค่อยเก่ง
ย้อนกลับไปตอนอายุ 29 วันที่กำลังจะก้าวเท้าเข้าสู่วัย 30 โดมรู้สึกยังไง
เราพอจะมีภาพจำจากพ่อกับแม่ ตอนเราเด็กๆ พ่อแม่อายุ 30 นิดๆ ทั้งสองคนดูมีอะไรให้รับผิดชอบเยอะ ดูเป็นผู้ใหญ่ ก็คิดว่า เดี๋ยววันหนึ่งเราต้องเป็นแบบนั้นแน่เลย แต่วันที่เราอายุ 29 เข้า 30 ทุกอย่างผ่านไปเร็วมาก แทบจะไม่รู้ตัวเลย มันกลายเป็นแค่อีกปีที่ผ่านไป ไม่ได้มีอะไรพิเศษ
มีความคาดหวังต่อวัย 30 บ้างไหม
อยากให้เป็นวัยที่ยุ่งๆ เพราะในวัย 20 เรามีทั้งช่วงที่มีงานและไม่มีงาน อยู่ในเส้นทางที่คนพูดถึง แต่ขณะเดียวกันก็มีช่วงที่คนไม่สนใจ คือคำว่า ‘Rise and Fall’ นั่นแหละ เพราะฉะนั้น ตอนก้าวเข้าวัย 30 เลยคิดว่าคงจะดีถ้าได้ยุ่ง คงดีถ้าได้เป็นเหมือนที่เราเคยเห็นพ่อกับแม่ มีงานให้ทำ มีสิ่งต่างๆ ให้รับผิดชอบดูแล
สำหรับโดม วันที่รู้สึก Fall คือวันแบบไหน
วันที่หลายสิ่งหลายอย่างไม่เป็นไปในแบบที่เราอยากให้เป็น งานที่เราคิดว่าต้องเวิร์กแน่ๆ งานที่เราทุ่มเทกับมันมากๆ บางครั้งผลลัพธ์ก็อาจจะไม่ตรงกับที่คาดหวัง เราไม่ได้แฮปปี้ขนาดนั้น เป็นวันที่ผิดหวังกับการทำงานหลายๆ อย่าง จริงๆ แล้ววันพวกนั้นก็ส่งผลต่อความมั่นใจของเราเหมือนกัน รู้สึกเหมือนตัวเองทำได้ไม่ดีพอ แต่ก็เป็นความคิดในวัยนั้นนั่นแหละ วันนี้พอมองย้อนกลับไปก็เข้าใจว่า บางอย่างก็อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา ความสำเร็จต่างๆ เกิดจากหลายองค์ประกอบ มันมีเรื่องของดวง เวลา และจังหวะด้วย (ยิ้ม)
โดมเอาตัวเองขึ้นมาจากวันที่ Fall ยังไง
ใช้เวลานั่นแหละ พอเวลาผ่านไป มีสิ่งอื่นให้โฟกัส มีฟีดแบ็กอื่นๆ เข้ามา อะไรพวกนี้ช่วยเยียวยา ช่วยให้เราก้าวผ่านวันที่ Fall มาได้
Third Time Lucky
ดูเหมือนจาก ‘โดม The Star’ วันนี้กลายมาเป็น ‘โดม-จารุวัฒน์’ เต็มตัวแล้วนะ
จริงๆ เราไม่ได้ทิ้งความเป็น The Star นะ แต่เราได้ไปลองทำอะไรหลายอย่าง ตัวตนของเรามีทั้งที่เหมือนวันนั้น และมีบางสิ่งบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป ทุกวันนี้ได้เป็นตัวเองมากขึ้น สนุกสนานมากขึ้น ใครที่ดู 4 โพดำ น่าจะพอนึกออก หรือล่าสุด พี่ดู๋-สัญญา คุณากร ที่เห็นเราเริ่มต่อปากต่อคำ เริ่มโวยวายมากขึ้น เขาก็บอกว่าดีนะ ดีที่ได้เห็นเราในเวอร์ชันที่ฉูดฉาดกว่าเดิม ไม่ได้เรียบร้อยตลอดเวลา เราก็เพิ่งเข้าใจตอนนั้นว่า เออ เราก็เปลี่ยนไปจากวันที่เป็นโดม The Star นะ เรากล้าเป็นตัวเองมากขึ้นเหมือนกันนะ
ก่อนได้เป็นแชมป์ The Star เข้าใจว่าโดมเคยประกวดร้องเพลงมาเยอะมากๆ
มันเป็นยุคที่การเข้าวงการมีเส้นทางไม่เยอะ ส่งเดโม่ เดินแถวสยามให้แมวมองได้เห็น หรืออาจจะประกวดเวทีต่างๆ ซึ่งในยุคที่เราเป็นวัยรุ่น รายการเรียลลิตี้เป็นที่นิยมมาก ก็เลยเป็นหนทางหนึ่งในการเข้าสู่วงการบันเทิง เราเองก็เป็นแฟนรายการ ชอบดู ลองไปสมัคร หาหนทางให้ตัวเองได้เข้าไปเฉียดใกล้ เราไปลองตั้งแต่ The Star 4 ตอนนั้นอายุ 15 The Star 5 ก็ไปอีก รายการอื่นๆ ก็ไป ยิ่งพอเราอยู่ชมรมดนตรี TU Folksong บรรยากาศ สิ่งแวดล้อมก็พาไป เราได้เห็นแรงบันดาลใจต่างๆ จากเพื่อนๆ พี่ๆ เยอะมาก
หลังจากถูกปฏิเสธมานับครั้งไม่ถ้วน อะไรที่ทำให้โดมยังอยากสู้ต่อ
มันคือความรู้สึกที่ว่า ถ้ายังไม่ใช่ก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวมันคงต้องมีที่อื่น หรือมันอาจจะเป็นที่นี่แหละ แต่อาจจะยังไม่ใช่ปีนี้ เราไปด้วยแรงขับเคลื่อนแบบนั้น คงเป็นเพราะความเด็กด้วย มีความตั้งใจ มุทะลุ และที่สำคัญ คือเรามองไม่เห็นว่าตัวเองจะเป็นอย่างอื่นได้ เราชอบร้องเพลง และเราเชื่อว่า ถ้าตั้งใจจริงๆ เราก็คงทำได้ สุดท้ายเราสมัคร The Star ไป 3 รอบนะกว่าจะติด
เล่าความรู้สึกในวินาทีที่รู้ว่าตัวเองได้เป็น 8 คนสุดท้ายให้ฟังหน่อย
มันเหมือนในทีวีที่เราเคยดู (หัวเราะ) ที่เราเคยเห็นเขาดีใจ ร้องไห้ กระโดดโลดเต้น เราเคยคิดนะว่า ถ้าเป็นเรา เราคงเขิน ไม่กล้าแสดงออกแบบนั้น เพราะเขามีกล้อง มีคนเยอะแยะดูอยู่ แต่กลายเป็นว่า วินาทีนั้นเราไม่เขินเลย เราอยากแสดงความดีใจร่วมกับคนที่เรารัก สรุปคือเข้าใจความรู้สึกของพี่ๆ The Star แล้วครับ (ยิ้ม)
ความรู้สึกระหว่างเส้นทางการประกวดเป็นยังไงบ้าง
มันมีส่วนที่แฮปปี้มากๆ นะ ในที่สุดเราก็ได้เห็นกับตาตัวเอง ได้ขึ้นไปเต้นในห้องนั้นที่เคยดูในทีวี หรือการแข่งขันเองก็สนุกมาก เราไม่ได้คิดว่า มันเป็นการแข่งขัน เราแค่อยากทำทุกโชว์ให้ดี ไม่อยากมีสิ่งที่ติดค้างในใจ ไม่ได้ซีเรียสกับการแข่ง ขอแค่แฮปปี้ตอนเดินลงจากเวทีก็พอ
แต่วันที่ไม่สบายใจก็มี มันมีสายตาหลายคู่จับจ้องเราอยู่ คนดู พี่ๆ สื่อมวลชน ทุกคนต่างลุ้นว่า ใครจะชนะ สมมงไหม เหมาะสมหรือเปล่า แต่ละคนมีภาพจำต่อ The Star ไม่เหมือนกัน เราเจออะไรพวกนั้นเยอะมาก ยุคนั้นไม่ใช่ยุคที่รูปร่างหน้าตาเป็นสิ่งเปิดกว้างเหมือนตอนนี้ เราโดนรับน้องเยอะมาก คอมเมนต์ต่างๆ ในพันทิป หรือกระทั่งสื่อมวลชนก็ตั้งข้อสงสัยว่า เราเหมาะสมกับตำแหน่งหรือเปล่า
เรื่องราวในวันนั้นทำงานกับใจโดมมากน้อยแค่ไหน
เยอะมาก มันตลกตรงที่ว่า ทุกปีการประกาศผลจะประกาศเปอร์เซ็นต์คะแนน ที่ 1 ได้เท่าไหร่ ที่ 2 ได้เท่าไหร่ แต่ปีนั้นไม่ประกาศ อาจจะเพราะเวลาไม่พอ ลืม หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่การไม่ประกาศก็ทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าล็อกผลหรือเปล่า บางคนบอกว่า ‘เห็นไหมล่ะ ที่ 2 ดังกว่าที่ 1’ ช่วงนั้นเราเลยสงสัยในความสามารถหรือสิ่งที่ตัวเองได้รับ เออ หรือจริงๆ มันไม่ใช่เราวะ หรือมันไม่ควรเป็นเรา กว่าจะหลุดพ้นจากความรู้สึกนั้นได้น่าจะประมาณ 4-5 ปี
โดมหลุดพ้นจากความรู้สึกพวกนั้นได้ยังไง
ส่วนหนึ่งน่าจะเพราะเรายังได้รับโอกาส เราค่อยๆ มีภูมิต้านทานต่อคำวิจารณ์ หรือการมีอยู่ของ 4 โพดำ ที่ได้ทำอะไรใหม่ๆ ทุกสัปดาห์ก็ช่วย ช่วยทั้งกำลังใจและทักษะ จนถึงตอนที่มีคอนเสิร์ต 4 โพดำ เราทำโชว์เพลง This Is Me เราเลือกเพลงนี้เอง มีการทำคลิปเล่าว่า เหตุการณ์ไหนที่ช่วยให้เราไม่แคร์คำพูดของคนอื่นอีกต่อไป ตอนนั้นเราเล่าเรื่องกระทู้หนึ่งในพันทิป เขาเขียนไว้ว่า ‘ลองคิดดูสิว่า ปกนิตยสารเหล่านี้จะดูดีขึ้นแค่ไหนถ้าไม่มีโดมอยู่บนปกด้วย’ แล้วเขาก็ทำรูปเวอร์ชันที่ลบเราออกจากปกนิตยสาร การที่เราเอาเรื่องนี้ออกมาพูด ส่วนหนึ่งก็ทำให้เราตกตะกอนว่า สิ่งนี้ส่งผลกับเรามากเหมือนกัน แต่การทำโชว์นั้น การตีความเนื้อร้องของเพลงนั้น มันปลดล็อกทุกอย่าง เราเคยเป็นคนที่เชื่อทุกอย่างที่คนอื่นพูด โชว์นั้นคือการตัดริบบิ้น หลังจากนี้ฉันจะไม่สนใจอะไรอีกแล้ว ฉันภูมิใจในตัวเองมาก
สุดท้ายเราห้ามคนอื่นไม่ได้ แต่ถ้าเราภูมิใจในตัวเอง
ถ้าเรารู้ว่า เราทำอะไรได้บ้าง เราจะไม่สนใจคำพูดของใครเลย
สิ่งที่อยากทำตลอดชีวิต
โดมรู้ตัวว่าชอบร้องเพลงตั้งแต่เมื่อไหร่
ตั้งแต่เด็กเลย คุณย่าพาไปร้านขายเทป เลิกเรียนปุ๊บ คุณย่าพาซ้อนมอเตอร์ไซค์ไป ถามเจ้าของร้านว่ามีม้วนไหนมาใหม่บ้าง ศิลปินคนไหนกำลังดังบ้าง เราไม่ได้ตามข่าวได้ง่ายๆ เหมือนยุคนี้ จริงๆ ตอนนั้นเรายังไม่รู้จักอาชีพนักร้องเลย รู้แค่ว่าชอบฟัง ชอบร้อง แต่เราดันไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าขึ้นเวที มีย่านี่แหละที่คอยผลักขึ้นไป ตอนนั้นเราก็ไม่เอานะ กลัวด้วย เขินด้วย (ยิ้ม)
ตอนไหนถึงเริ่มกล้า
ช่วงมัธยม อยู่กับเพื่อน มีกิจกรรมต่างๆ เราได้นำร้องเพลงชาติ นำสวดมนต์ ตอนนั้นก็ไม่ชอบนะ ไม่โอเคเลย จะอ้วกทุกวัน (หัวเราะ) แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็เริ่มชิน มีคนชมบ้าง เลยรู้สึกว่า เออ พอไหวว่ะ แล้วพอเข้า TU Folksong ก็ยิ่งเติมภูมิต้านทานตรงนี้ กลายเป็นคนที่กล้าแสดงออก กล้าร้องเพลง
ถามจริง ศิลปินที่ชื่อโดม-จารุวัฒน์ฝึกร้องเพลงยังไง
ช่วงมัธยม เราร้องเพลงทุกวันหลังเลิกเรียน กลับบ้านมาเปิดแผ่นคาราโอเกะร้อง ไม่ได้คิดว่าเป็นการฝึก
เราแค่ชอบ ก็เลยร้อง ไม่เคยเหนื่อยเลย
มันคงเป็นการบอกกลายๆ มั้งว่า สิ่งนี้แหละคือสิ่งที่เราจะทำไปตลอดชีวิต
มีช่วงเวลาไหนที่อยากยอมแพ้บ้างไหม
ส่วนมากคือตอนที่โดนคำพูดของคนอื่นนั่นแหละ แต่พอเวลาผ่านไปก็จะคิดได้ว่า ทำไมเราต้องยอมให้คนอื่นมาบอกเราว่า เราห้ามทำสิ่งนี้ เฮ้ย! ไม่ได้สิ ถ้าเราอยากทำจริงๆ ก็ต้องทำ
โดมแยกคำวิจารณ์ที่มีประโยชน์ออกจากคำวิจารณ์ที่ไม่มีประโยชน์ยังไง
ได้วิชานี้จากการเรียนกับ หม่อมน้อย-พันธุ์เทวนพ เทวกุล ตอนเล่นเรื่อง แผลเก่า นอกจากการแสดง หม่อมน้อยสอนเราเรื่องชีวิตด้วย เขาบอกว่า คำวิจารณ์หรือคอมเมนต์ต่างๆ มี 2 ก้อน เราแค่ต้องตั้งใจมองดีๆ มีก้อนที่เขาบอกว่าเราต้องปรับยังไง กับอีกก้อนที่เป็นอารมณ์ สองก้อนนี้ผสมกัน ขมุกขมัว แต่ถ้าเราแยกแยะได้ เอาตะแกรงไปกรอง เอาอารมณ์ออก มันก็จะเหลือแค่สิ่งที่เขาต้องการบอกแบบปราศจากอารมณ์ เมื่อก่อนอ่านแล้วเราน้อยใจ เสียใจ แต่ทุกวันนี้คือเท้าเอว แกมีสิทธิ์อะไรมาพูดกับฉันแบบนี้
ไม่ทำเสียใจกว่า
หลังได้ดูคลิปของมาม่าที่มาพร้อมแคมเปญ ‘อย่าเพิ่งท้อ วันที่รอจะมาถึง’ โดมรู้สึกยังไงบ้าง
ทุกสถานการณ์ในคลิป เรารีเลทมาก ไม่ใช่แค่เราหรอก หลายคนก็อาจจะรีเลทมันอาจจะเป็นเรื่องง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน แต่ทุกคนน่าจะเคยผ่านจุดเหล่านั้นมา เคยไม่ถูกเลือก เคยต้องห่างบ้านไกลๆ หรืออย่างข้อความที่ว่า ‘เมื่อไหร่จะมีคนมองเห็นเราบ้าง’ เราเคยรู้สึกแบบนี้ ตอนที่เป็นศิลปินแล้วก็ยังรู้สึก เมื่อไหร่คนจะมองเห็นในสิ่งที่เราทำ เราทำเต็มที่แล้วนะ ตั้งใจมากแล้วนะ แต่บางครั้งคนก็มองไม่เห็น
โดมคิดยังไงกับประโยค ‘อย่าเพิ่งท้อ วันที่รอจะมาถึง’
เห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์ มันคงจริงสำหรับเรา ถ้าเป็นแต่ก่อน เราแพ้มาหลายเวที หลายการประกวด ซึ่งถ้าเราท้อตั้งแต่ตอนที่แพ้ เราก็คงหายไปเลย ไม่ได้ร้องเพลง คงต้องไปทำอย่างอื่น หรือตอนเข้ามาทำงานในวงการก็มีเหตุการณ์มากมายที่เราท้อบ้าง เหนื่อยบ้าง แต่ถ้าเราไม่พยายามต่อ ไม่สู้ต่อ ก็คงไม่มีโดม จารุวัฒน์ในเวอร์ชันนี้เหมือนกัน
กำลังใจในวันที่อดทนรอของโดมคืออะไร
คนรอบข้าง คนเราอาจจะไม่สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวคนเดียว เพื่อน แฟน ครอบครัว หมาแมว ต่างช่วยให้เรามีกำลังใจ บางทีก็ให้แนวคิดบางอย่าง หรือเราเองก็อาจจะให้กำลังใจเขาได้ในบางวันเหมือนกัน
ถ้ามีน้องๆ กำลังท้อเหมือนที่โดมเคยท้อ พยายามเต็มที่แล้วแต่ไม่มีใครมองเห็น โดมอยากบอกน้องเหล่านี้ว่าอะไร
อยากบอกว่า ไม่ทำเสียใจกว่าทำ ต่อให้ทำแล้วเหนื่อยมาก ไม่รู้ว่าต้องทำไปถึงจุดไหน มันก็ยังไม่เสียใจเท่าการที่เราไม่ได้ทำแน่นอน ทุกวันนี้มองย้อนกลับไป ถ้าเราที่ตกรอบ The Star มา 2 รอบ ไม่กล้าไปสมัครรอบที่ 3 เราก็คงเสียใจมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะฉะนั้น ทำเถอะ ลองดู
ถ้าวันนี้มีเรื่องที่ทำให้ท้อ โดมจะบอกตัวเองว่าอะไร
ขอแค่ทำเหมือนที่ผ่านมา อดีตบอกเราแล้วว่า ตราบใดที่เรายังทำต่อไปเรื่อยๆ ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าจะมาถึง 10 ปีที่ผ่านมาเคยทำยังไง 10 ปีต่อไป เราก็คงทำแบบนั้น (ยิ้ม)