ผู้คนทั่วโลกกำลังคิดเหมือนกัน ว่าการทำอะไรซ้ำๆอยู่ตลอดเวลา ไม่น่าจะทำให้เรามองวิกฤตที่กำลังเผชิญอย่างเชื่อมโยงได้ ทั้งความหิวโหย ความยากจน โรคอุบัติใหม่ ตลอดจนวิกฤตทรัพยากร เราอาจใช้กระบวนทัศน์เดิมเพื่อแก้ปัญหา แต่มันก็คงเหมือนเดินย่ำอยู่กับที่อันผิดวิสัยธรรมชาติของมนุษย์ไปอยู่เสียหน่อย
ปรากฏการณ์ “ตื่น” ของนวัตกรรมเพื่อสังคม เปิดโอกาสความเป็นไปได้เพื่อเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของแต่ละประเทศ นวัตกรรมหลายชิ้นตอบโจทย์โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนมโหฬาร แต่กลับสามารถเปลี่ยนความเชื่อเดิมๆที่เรามีต่อตัวเองและสังคมได้ บางโครงการมาจากรั้วมหาวิทยาลัย องค์กร หรือบางครั้งก็มาจากคนทั่วไปที่อยู่กับปัญหามาตลอดชีวิตนี่แหละ
โลกเราจะน่าอยู่ขึ้นขนาดไหนหาก 8 นวัตกรรมเหล่านี้สามารถเติมเต็มรอยแยกที่เกิดขึ้นในสังคมโลกที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ
ดาวเทียมชี้พิกัดความยากจน
การที่เราจะสามารถมองเห็นความจนของผู้คนอาจจะต้องมองจากมุมสูง! สหประชาชาติ (UN) ตั้งเป้าไว้ว่า การจะแก้ปัญหาประเทศที่ยากจนระดับสาหัส ให้ทุเลาลงภายในปี 2030 ได้นั้น เราต้องรู้ก่อนว่า จุดไหนบนเปลือกโลกที่มีคนจนมากเป็นพิเศษ และมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จู่ๆ จะเข้าไปสำรวจความจนในพื้นที่อันห่างไกล เพราะมันใช้ทรัพยากรและเวลาค่อนข้างสูง อีกทั้งยังแฝงอันตรายอยู่ไม่น้อยหากเราจะเอากำลังคนฝ่าเข้าไปเก็บข้อมูล
ดังนั้นอาจต้องยกหน้าที่สำคัญนี้ให้ดาวเทียม (Satellite) ที่ติดตั้งระบบซอฟต์แวร์ในการคาดการณ์ความยากจนในแต่ละพื้นที่ ผลงานของ Marshall Burke จากมหาวิทยาลัย Stanford ที่พัฒนาให้ซอฟต์แวร์เรียนรู้ด้วยตัวเองจากสภาพภูมิประเทศทั้งกลางวันและกลางคืน โดยที่ผ่านมาดาวเทียมเรียนรู้พื้นที่ประเทศในแถบแอฟริกาแล้ว 5 ประเทศ สามารถจำแนกระดับความยากจนได้จากโครงสร้างพื้นฐานอย่างเช่น สภาพถนน ขนาดชุมชนเมือง และพื้นที่ทำเกษตรกรรม
เมื่อดาวเทียมเรียนรู้ได้สมบูรณ์ มันจะสามารถบอกได้ว่า พื้นที่ไหนน่าเป็นห่วงจากปัญหาความยากจนเป็นพิเศษ ข้อมูลดังกล่าวจะถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อให้รัฐบาลและองค์กรเอกชนสามารถนำไปวางแผนช่วยเหลือระยะยาวได้ และก่อให้เกิดนโยบายใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนได้อีกด้วย
โซเชียลเน็ตเวิร์ค ‘เป็นกันเอง’ จากชาวไร่เพื่อชาวไร่
ไม่มีใครทำสวนอย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป แม้แต่เกษตรกรในประเทศอินเดียที่ห่างไกลจากพื้นฐานความรู้ด้านกสิกรรม ยังมีการอัพเดทเรื่องราวต่างๆอยู่ตลอดเวลา จะดีกว่าไหม หากพวกเขามีพื้นที่ร่วมกันในการแชร์ความรู้เรื่องราวบนท้องนา และสามารถเป็นผู้เล่าเรื่องตัวเอง ถ่ายทำวิดีโอ และอัพโหลดได้อย่างง่ายดาย
แรงบันดาลใจนี้จึงเป็นที่มาของโซเชียลเน็ตเวิร์คเพื่อเกษตรกร โดยหนุ่มน้อยสัญชาติอินเดีย Rikin Gandhi ก่อตั้งชุมชน Digitalgreen.org ขึ้นมา เพื่อเป็นช่องทางหลักที่เกษตรกรรายย่อยจากประเทศที่มีรายได้ต่ำ อย่าง อินเดีย เอธิโอเปีย ได้นำความรู้จากเกษตรกรจริงๆ มาใช้ (bottom-up approach) โดยมีทีมวิดีโอถ่ายทำคลิปความยาว 8 – 10 นาทีจากพื้นที่ที่พวกเขาเชี่ยวชาญ โดยปราศจากกำแพงทางเพศและอคติ เกษตรกรหญิงที่ถูกกีดกันก็จะสามารถเรียนรู้กลยุทธ์ใหม่ๆได้โดยไม่มีการแบ่งชนชั้น
Digitalgreen.org มีพาร์ทเนอร์ร่วมกว่า 20 องค์กรจาก 9 รัฐในอินเดีย และขยายผลไปยังเอธิโอเปีย อัฟกานิสถาน กาน่า ไนเจอร์ และแทนซาเนีย โดยมีเกษตรกรเป็นผู้ผลิตเนื้อหาถึง 13,592 ราย
Nubrix อิฐจากกระดาษ เพื่อคนยากไร้
นักประดิษฐ์หนุ่มอายุ 21 ปีชาวแอฟริกาใต้ ทำสิ่งที่ดูย้อนแย้งเมื่อแรกเห็น “อิฐจากกระดาษ” หากพวกเขาเคยฟังนิทานเรื่อง หมูสามตัว คงไม่มีใครกล้าคิดของพวกนี้ เพราะใครกันจะสร้างบ้านด้วยกระดาษ แต่ Elijah Djan ยืนยันว่า อิฐกระดาษในชื่อ Nubrix มีความทนทานราวอิฐจริงๆ และที่สำคัญมันมีราคาถูกกว่า เพราะวัสดุที่นำมาผลิต คือกระดาษเหลือใช้ที่ไม่มีใครต้องการและสุดท้ายมันก็กลายเป็นขยะ
Nubrix ตอบโจทย์ปัญหา 2 ข้อใหญ่ๆที่ผู้คนในแอฟริกาต้องเผชิญ แม้แอฟริกาจะเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง แต่ผู้คนกลับขาดแคลนที่อยู่อาศัยชนิดถาวร มีคน 1.9 ล้านคนต้องนอนในกระท่อมที่สร้างอย่างลวกๆ จะพังแหล่ไม่พังแหล่ และอีกประเด็นคือ ขยะปริมาณมากที่ถูกทิ้งอย่างไร้ประโยชน์กว่า 108 ล้านตัน แต่กลับสามารถนำมารีไซเคิลได้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
อิฐ Nubrix ทำจากขยะกระดาษนำมาอัดกันแน่น มีความทนทานรับน้ำหนักได้ 10 เมกะปาสกาล และไม่ไหม้ไฟ สามารถตากแดดตากฝนเป็นเดือนๆโดยยังคงรูปก้อนอิฐเอาไว้ได้
กระดูกแตกไม่ต้องตกใจ แค่ ‘ปริ้นท์’ ใหม่ไฉไลกว่า!
ในอนาคตอันใกล้ คุณอาจไม่ต้องหมดหวัง เมื่อกระดูกที่อุดมไปด้วยแคลเซียมเกิดแตกหักขึ้นมา เพราะแพทย์สามารถสั่งพิมพ์กระดูกชุดใหม่จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ด้วยวัสดุ ‘Hyperelastic bone’ กระดูกเสมือนที่มีคุณสมบัติของยาง ทำงานได้ดีเหมือนกระดูกจริง ซึ่งผ่านการทดลองในหนูและลิง ก็ล้วนประสบความสำเร็จดี
นักวิศวกรรมชีวการแพทย์กำลังตื่นเต้นกันใหญ่ เพราะกระดูกหยุ่นๆ นี้จะทำให้คนไข้ฟื้นตัวเร็วขึ้น ลดเวลาการรักษาที่มักใช้เวลานาน ค่าใช้จ่ายสูง เมื่อประสบอุบัติเหตุขาหัก กะโหลกแตก หรือมะเร็งร้ายเล่นงานมวลกระดูก
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Northwestern พัฒนา Hyperelastic bone จากองค์ประกอบของ ‘ไฮดรอกซีแอปาไทต์’ (Hydroxyapatite) สารองค์ประกอบใช้ทดแทนกระดูก ซึ่งพบได้ตามธรรมชาติในกระดูกและฟันของพวกเรา มาผสมกับ ‘พอลิคาโพรแล็กโตน’ (Polycaprolactone) ฉีดให้ขึ้นรูปทรงตามที่ออกแบบในคอมพิวเตอร์ เราจะได้กระดูกที่มีความแข็งแรงและยืดหยุ่นในเวลาเดียวกัน แพทย์สามารถ X-Ray ชิ้นกระดูกที่แตกหักและทำมันขึ้นใหม่ภายในวันเดียว
ทีมวิจัยทดลองในกระดูกสันหลังหนู พบว่าภายใน 8 สัปดาห์ มีหลอดเลือดเติบโตในร่องที่พรุนของกระดูก แสดงว่าร่างกายสิ่งมีชีวิตตอบรับกับกระดูกเสมือนชิ้นใหม่
และในเคสที่ 2 ทีมทดลองซ่อมแซมกะโหลกที่แตกเป็นแผลฉกรรจ์ของลิงแม็กแคก ภายใน 4 สัปดาห์ มันก็หายปกติ ไม่ได้มีผลข้างเคียงใดๆ เลย ทั้งจากอาการแพ้ ติดเชื้อ หรือสัญญาณที่ร่างกายปฏิเสธชิ้นส่วนใหม่ก็ไม่ปรากฏ ความก้าวหน้าเชิงวัสดุนี้จะทำให้สิ่งมีชีวิตมีโอกาสครั้งที่ 2 และได้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง
‘แคปซูลกาแฟ’พลาสติกชีวภาพ ย่อยสลายได้ ไม่เป็นภาระโลก
‘ชาวกาแฟนั้นแคร์โลก’ ปัจจุบันผู้คนให้ความสำคัญต่อการดื่มกาแฟที่พัฒนาจากถุงกาแฟร้านอาแป๊ะ สู่นวัตกรรมชงกาแฟที่ล้ำสมัยขึ้น ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคอันเร่งรีบ “แคปซูลกาแฟ” จึงเป็นของยอดฮิต มักใช้ร่วมกับเครื่องทำกาแฟแคปซูลตามบ้านขนาดเล็ก โดยมีแคปซูลกาแฟซึ่งทำมาจากพลาสติกและอะลูมิเนียมเป็นตัวบรรจุกาแฟเพื่อใช้กับเครื่องฯ แต่ขณะชงนั้นแคปซูลกาแฟจะถูกแรงดันและน้ำร้อนทำลายจนไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก ซึ่งก่อให้เกิดขยะจำนวนมาก ล่าสุดที่ปรึกษาชั้นนำของสหรัฐอเมริการายงานว่าในปี 2016 ปีเดียว ทั่วโลกบริโภคแคปซูลกาแฟมากถึง 48,000,000,000 ล้านแคปซูล
“BioPBS” นวัตกรรมสีเขียว จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการแก้ปัญหาขยะจำนวนมากนี้ โดยบริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด (PTTMCC) บริษัทร่วมทุนในกลุ่ม ปตท. ได้นำพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติไปผลิตเป็นแคปซูลกาแฟที่สามารถทนแรงกระแทกได้สูงขึ้น สามารถทนอุณหภูมิสูงของไอน้ำในขั้นตอนการชงกาแฟได้ และผ่านมาตรฐานการสัมผัสอาหารของทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น รวมถึงสามารถย่อยสลายได้ที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียสเมื่อฝังดิน ซึ่งจะกลายเป็นน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ และดิน โดยไม่ต้องพึ่งพาโรงย่อยสลาย นับว่าเป็นเรื่องดีที่เราได้ดื่มกาแฟและยังมีส่วนช่วยลดภาระของโลกลงอีกด้วย ”
กระดาษวินิจฉัยโรคที่ถูกเหลือเชื่อ
ในแอฟริกามีโรคที่น่าหนักใจไล่ตั้งแต่ไทฟอยด์ไปจนถึงอีโบลา ซึ่งล้วนมีสัญญาณเป็นอาการไข้ขึ้นสูง ถึงจะมีศูนย์บริการสาธารณสุขในชุมชน แต่การจะตรวจเลือดใครสักคนก็อาจจะต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์กว่าจะรู้ผล มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ยุ่งยาก หมอก็ทำอะไรมากไม่ได้ นอกจากจ่ายยาปฏิชีวนะไปงั้นๆ แบบสุ่มเดาอาการ
นักวิจัยจำต้องลงแรงในการออกแบบกระบวนการวินิจฉัยโรคที่สะดวก รู้ผลรวดเร็วแม่นยำ และมีราคาถูกจนมันสามารถอยู่ในกระเป๋าติดตัวทุกคนได้ โดยทั้งหมดต้องทำความเข้าใจง่าย อ่านวิธีใช้ไม่กี่บรรทัดแล้วทำตามได้เลย (คล้ายแผ่นทดสอบการตั้งครรภ์) มันจึงเป็นความท้าทายไม่น้อย สำหรับนวัตกรรมที่จะมาตอบโจทย์นี้
กระดาษแผ่นบางๆ มักจะถูกพูดถึงมากที่สุด โดยไอเดียคือกระดาษเป็นแผ่นเล็กๆ ที่ฉาบด้วยฟิลเตอร์ตรวจจับและกั้นจุลินทรีย์ก่อโรคออกจากเม็ดเลือดแดง ปล่อยให้พลาสมาไหลผ่านไปยังกระดาษชั้นล่างสุด ซึ่งมีเอนไซม์ที่ทำปฏิกิริยากับจุลินทรีย์ก่อโรค และแสดงออกเป็นสีๆ สามารถอ่านค่าและสังเกตได้ง่ายๆ ว่าคุณกำลังป่วยเป็นโรคร้ายหรือเปล่า? โดยไม่ต้องมีความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์
ศาสตราจารย์ George Whitesides จากมหาวิทยาลัย Harvard พัฒนากระดาษวินิจฉัยโรครุ่นแรก โดยใช้ประโยชน์จากกรดนิวคลีอิก (Nucleic acid) ให้สามารถตรวจกับโรคอีโบลา ไข้เหลือง ไข้เด็งกี แบบแม่นยำ ราคาถูก และรวดเร็ว จนทำให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วย และแพทย์ในพื้นที่ขาดแคลนได้อย่างทั่วถึง
โซล่าเซลล์ลอยน้ำ ประหยัดที่ ไม่ง้อแผ่นดิน
ระบบโซล่าเซลล์แบบติดตั้งลอยน้ำ (Floating PV) กำลังเป็นที่นิยมในญี่ปุ่น จีน และยุโรป มันไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่บนบกมากเหมือนแต่ก่อน สามารถลอยน้ำได้ เคลื่อนย้ายสะดวก และใช้เวลาติดตั้งน้อยกว่าชนิดถาวรบนพื้นดิน แผงโซล่าเซลล์ที่ลอยอยู่บนน้ำให้ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้ามากกว่าบนบก วัสดุส่วนใหญ่ที่ใช้ก็มักเป็นมิตรกับสัตว์น้ำและพืช ไม่ก่อมลพิษแก่แหล่งน้ำ โซล่าเซลล์แบบติดตั้งลอยน้ำจึงเป็นทางเลือกอันโดดเด่นสำหรับชุมชนที่ไม่ต้องสูญเสียพื้นที่บนดินในการติดตั้งโซล่าเซลล์
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทน จึงดำเนิน “โครงการอนุรักษ์ ดิน น้ำ ป่า และพลังงานทดแทน ตามศาสตร์พระราชา” ส่งมอบระบบโซล่าเซลล์แบบติดตั้งลอยน้ำขนาด 2.48 กิโลวัตต์ ให้แก่ชุมชนต้นแบบในพื้นที่ต่างๆ 4 ภูมิภาค ทั่วประเทศ โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้รวม 111,965 หน่วย/ปี และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 66.21 ตันต่อปี นับเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานจากธรรมชาติให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ต่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร
พลังสะอาดกระตุ้นให้คนในชุมชนร่วมเป็นเจ้าของพลังงานร่วมกันและดูแลทรัพย์สินส่วนรวม ต้องทำให้คนยั่งยืนก่อน ความมั่นคงทางพลังงานถึงจะตามมา
รถยนต์ไร้คนขับ ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ
ในอีก 10 ปีข้างหน้า กองทัพรถยนต์ไร้คนขับพลังงานไฟฟ้า (Electric Self-Driving Car) จะวิ่งตามท้องถนนจนเป็นเรื่องปกติ ที่สำคัญรถเหล่านี้ไม่มีใครเป็นเจ้าของ รถมลภาวะต่ำวิ่งเข้ามารับคุณ ส่งถึงที่หมาย แล้วจากไปรับผู้โดยสารคนอื่นต่อ พวกมันอาจมีขนาดตั้งแต่ 2 ที่นั่งจนถึงขนาด 20 ที่นั่ง โดยที่ไม่ต้องหาเงินดาวน์ ผ่อนส่งให้ปวดหัว การครอบครองรถเป็นของส่วนตัวจะเป็นสิ่งที่ล้าหลังในอนาคต
จากรายงานของ Bloomberg New Energy Finance เมืองหลวงที่มีประชากรหนาแน่นอย่าง เซี่ยงไฮ้ ลอนดอน สิงคโปร์จะเป็นเมืองหลวงแห่งอนาคตที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกจากรถยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ ทั้ง GDP ที่ทะยานสูงขึ้น และรายจ่ายของประชากรที่ลดลง
การคมนาคมรูปแบบใหม่นี้จะทำให้การวางผังเมืองใช้สอยพื้นที่ได้ชาญฉลาดขึ้น เพราะคุณไม่จำเป็นต้องสร้างลานจอดรถทุกตึก รถเพียงมารับแล้วจากไป เมื่อถึงเวลาตรวจสภาพ รถก็จะแล่นเข้าอู่ผู้ให้บริการอย่างอัตโนมัติ และเป็นไปได้ว่า ค่าบริการโดยสารรถยนต์ไร้คนขับอาจมี “ราคาถูกกว่า” รถที่มีมนุษย์ขับถึง 30 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
บริษัทนวัตกรรมเจ้าใหญ่ต่างลงมาเล่นในสนามนี้อย่างคึกคัก เช่น Uber Google และ Tesla จนคาดการณ์ได้ว่าอุตสาหกรรมและการให้บริการคมนาคมไร้คนขับจะเป็นจุดหมายสำคัญแห่งยุคสมัย ที่คุณไม่จำเป็นต้องครอบครองทรัพยากรไว้เพียงตัวคนเดียว แต่เป็นการแชร์จนให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้กับสังคม
อ้างอิงข้อมูล
Digital Green
Electric Vehicle Outlook 2017
Hyperelastic Bone – University of Rhode Island
Nubrix Innovations | Global Innovation Exchange
LOW-COST DIAGNOSTICS AND TOOLS FOR GLOBAL HEALTH
Combining satellite imagery and machine learning to predict poverty
https://www.researchgate.net/profile/Neal_Jean/
http://www.ele.uri.edu/Courses/bme281/F16/1_RileyT.pdf
http://gmwgroup.harvard.edu/research/index.php?page=24
https://www.globalinnovationexchange.org/innovations/nubrix
Illustration by Waragorn Keeranan