“หยุดยาวนี้ไปไหนจ๊ะ”
“ยังไม่มีแพลนเลยค่ะ”
“ส่วนพี่จะไปยุโรปสักสองสัปดาห์น่ะ บ้านเรามันร้อนเนอะ หนีร้อนหน่อยดีกว่า คิดว่าคงไปกันทั้งบ้านเลยต้องจองเฟิร์สคลาส พ่อแม่แก่แล้วนั่งนานกลัวแกเมื่อย วุ่นวายไปหมดเลยทีนี้ นี่ยังเตรียมเสื้อผ้ากันไม่ครบเลย คิดว่าคงเอาใบเล็กไปแล้วไปซื้อที่นู่นเอา มันขี้เกียจแบกเนอะ ใช่ไหมล่ะ ยังไงเดี๋ยวพี่มาอัปเดตเรื่อยๆ ละกัน เผื่อหนูอยากได้อะไร ค่าหิ้วกันเอง”
“อ่อเคค่า”
หลายคนคงเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้กันมาบ้างใช่ไหม คนที่ยิงคำถามตรงมาที่เรา แหม ไอ้เราก็นึกว่าอยากชวนคุย อยากใส่ใจ อัปเดตชีวิตกันและกัน กลายเป็นว่ายิงคำถามมาเพื่อให้เราถามกลับ หรือหาจังหวะเล่าคำตอบนั้นเสียเองโดยที่เรายังไม่ทันถาม ตกลงแล้วคำถามที่ถามมา ถามเพื่ออยากรู้คำตอบของเรา หรือเพื่อคำตอบของพี่กันแน่เนี่ย?
และแล้วโลกใบนี้ก็ได้หาคำจำกัดความมาให้คนประเภทนี้ในชื่อ ‘Boomerasking’ มาจากคำว่า Boomerang และ Asking คือคนประเภทที่มักจะขว้างคำถามออกไป เพื่อให้คำถามนั้นย้อนกลับมาที่ตัวเอง เพราะจุดประสงค์หลักคืออยากตอบสิ่งนี้เองตั้งแต่แรกไงล่ะ อาจด้วยไม่มีใครถามแต่อยากตอบ หรือไม่อยากรอให้ใครมาถามก็เลยต้องสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเอง
คนประเภทนี้จะล่อหลอกด้วยคำถามที่เหมือนเพ่งความสนใจไปที่คนตอบ แต่ดันเลี้ยวหักหลบไปเรื่องตัวเองเสียได้ ถามว่ามันผิดถึงขั้นคอขาดบาดตายไหม แน่นอนว่าไม่ ไม่ผิดทั้งกฎหมาย ไม่ผิดทั้งศีลธรรม จะบอกว่าผิดเป็นรูปธรรมยังไม่ได้เลย แต่มันก็แอบหมิ่นเหม่จะไม่เข้ารูปเข้ารอยในมารยาททางสังคมสักเท่าไหร่
หากมันเป็นเพียงการเลี้ยวหักหลบมาเล่าเรื่องตัวเองเฉยๆ ก็ยังพอทน แต่บางครั้งกลับเป็นการยกตนข่มท่านนี่สิพอเลย เป็นแค่ครั้งสองครั้ง คนอาจเบื่อๆ เลี่ยงๆ กันไปเอง แต่ถ้าเป็นบ่อยเข้าอาจถูกมองในแง่ลบ จนคนไม่อยากต่อบทสนทนาด้วยเอานะ
ทำไมคนเราถึงชอบพูดเรื่องตัวเองมากขนาดนั้น?
ถอยกลับมามองอย่างกลางๆ มนุษย์เรามักสนใจตัวเองเป็นหลักอยู่แล้ว เลยอาจมีบ้างที่เผลอไผลเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของเรื่องอย่างไม่ตั้งใจ (หรือตั้งใจก็มีบ้าง) ความเห็นแก่ตัวบางอย่างก็เป็นเหมือนสัญชาตญาณที่ทำให้เราอยู่รอดได้ในชีวิต แต่ในบทสนทนาอาจไม่ได้เท่าไหร่ เพราะมีงานวิจัยหัวข้อ ‘Boomerasking: Answering Your Own Questions’ ตีพิมพ์บน Journal of Experimental Psychology: General ชี้ให้เห็นว่า การสนทนาประมาณ 40-60% จะเกี่ยวข้องกับตัวตนของเรา โดยเน้นที่ความรู้สึก ความคิดเห็น และประสบการณ์ส่วนตัว การสนทนาจึงมีส่วนสำคัญต่อการถ่ายทอดประสบการณ์ของมนุษย์ในเรื่องราวต่างๆ ฉันชอบสิ่งนั้น สิ่งนี้ แต่สิ่งที่ผู้คนชื่นชอบที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องตัวเขาเอง
จากงานวิจัยชิ้นดังกล่าวยังพูดถึงจุดมุ่งหมายเบื้องหลังการแบ่งปันเรื่องราวของตัวเอง ว่าไม่ได้ทำไปเพื่อความพึงพอใจอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความพยายามที่จะกำหนดความน่าประทับใจของตัวผู้พูดในสายตาผู้ฟังอีกด้วย มันก็เลยออกมาในรูปแบบเรื่องก็อยากเล่า เล่าไปก็ต้องชวนประทับใจ แล้ววิธีไหนล่ะที่จะทำให้ประทับใจ เราเลยต้องแสดงพฤติกรรมอย่างการโอ้อวด บ่น เพื่อเรียกปฏิกิริยาที่ต้องการ อย่างความชื่นชม ความเห็นอกเห็นใจ เป็นต้น
และประเภทของเหล่า Boomerasking ก็แบ่งออกเป็น 3 แบบด้วยกัน คือ
- Ask-bragging — ถามเพื่ออวด ทับถม หรือชมเชยแบบเสียดสี ให้คนฟังงงเล่นๆ ว่าสรุปชมจริงไหม(วะ) เช่น “ทำได้ขนาดนี้ก็เก่งแล้วล่ะ สำหรับคนไม่ค่อยถนัดเรื่องนี้อย่างเธอน่ะ”
- Ask-complaining — ถามเพื่อทำเป็นบ่นแล้ววกมาเล่าเรื่องตัวเอง เช่น “ยังแฮงก์ไม่หายเลย อดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้น่ะสิ ลากไปดื่มด้วยกันไม่ยอมปล่อยให้กลับสักที”
- Ask-sharing — ถามเพื่อเล่าเรื่องตัวเอง เช่น “ผิวคล้ำมากเลย แก้ยังไงดี วันหยุดไปอาบแดดแถวชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนมาน่ะ”
จิตใจมนุษย์ยากแท้หยั่งถึง ใช่ว่าเราจะไม่เรียนรู้ว่าการกระทำนี้อาจไม่เป็นที่ต้อนรับในวงพูดคุยสักเท่าไหร่ บางคนรู้แกวแล้วว่าหากทำสิ่งนี้อย่างโจ่งแจ้งเกินไปก็ไม่น่าประทับใจ เลยพยายามแสดงออกถึงเรื่องตัวเองอยากสุภาพและอ้อมแอ้มที่สุด
ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าทุกคนจะไม่ชอบพฤติกรรมนี้ไปเสียหมด บางคนกลับมองว่าสิ่งนี้มีข้อดีในตัวเหมือนกันนะ เพราะช่วยให้คู่สนทนารู้สึกมีส่วนร่วมในการพูดคุย (แม้จะเป็นแค่ช่วงเดียวก็ตาม) แต่จะเป็นข้อดีจริงหรือเปล่าก็อาจต้องฟังความเห็นของอีกฝ่ายด้วย
ในวงพูดคุยเรามีสิ่งต่างๆ ให้ทำมากมายเพื่อต่อยอดการสนทนา แสดงความสนใจ หลายครั้งอาจไม่จำเป็นเลยว่าเราจะต้องเห็นด้วยกับคู่สนทนาของเราตลอด ต่อให้คิดเห็นไม่ตรงกัน เรามีมุมมองอื่นก็สามารถใช้วิธีแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้นี่นา
อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจฟันธงได้ 100% ชี้เป็นชี้ตายว่าสิ่งไหนควรทำหรือไม่ควรทำ เพียงนำเสนอบางแง่มุมให้ลองพิจารณากันเท่านั้น หากใครที่รู้สึกว่านี่ฉันกำลังเป็นอยู่หรือเปล่า หรือหากรู้ตัวว่าอดใจไม่ไหวเผลอทำไปบ้างแล้ว แต่ก็อยากเบรกตัวเอง เราพอจะมีทางไหนบ้างไหมนะ?
- ถามเพื่อฟัง ไม่ถามเพื่อตัวเอง
นี่ล่ะ ยาแรงแก้ตรงจุด หากไม่รู้จะเริ่มจากไหน เริ่มที่เราเบาที่สุด เปลี่ยนความคิดของตัวเองก่อน หากปกติชอบถามเพื่อตอบสิ่งนั้นเสียเอง โฟกัสตัวเองมากไป ให้ลองมาโฟกัสชีวิตคนอื่นดูบ้าง ไม่ได้กำลังบอกให้ไปยุ่งวุ่นวายอะไรกับคนอื่นขนาดนั้น แต่หมายถึงลองเปลี่ยนการเล่าแต่เรื่องตัวเองเป็นการอัปเดตชีวิตกับเพื่อนๆ คนรอบข้างดู ผลัดกันเล่า ผลัดกันแสดงความเห็น ในแบบที่ปล่อยให้บทสนทนาไหลไปเรื่อยๆ โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเรื่องของใครเท่านั้น - ถามต่อยอดจากเรื่องที่ฟัง
หากเดิมเป็นคนที่ถามเพียงประโยคเดียวแล้ววกเข้าตัวเองเลย ลองมาเป็นผู้ฟังอย่างตั้งใจดูบ้าง เรื่องราวของเขาเป็นยังไง หากนั่นเป็นซีนของเขาก็ปล่อยให้เป็นซีนของเขาไป เราไม่จำเป็นต้องไปยืนเป็นตัวเด่นแทนทันที มีความคิดเห็นแบบไหน แล้วเกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น สวมบทเจ้าหนูจำไม อยากรู้เรื่องราวของคนอื่น อาจช่วยเราลดโฟกัสในตัวเองลงได้บ้าง แถมยังเป็นการแสดงออกว่าเรากำลังตั้งใจฟังอีกฝ่ายอยู่จริงๆ ด้วย - ไม่เทียบตัวเองกับคนอื่นมากจนเกินไป
บางครั้งพฤติกรรมนี้ก็เกิดขึ้นจากการที่เราพบว่า คนอื่นกำลังเป็นที่ถูกใจมากกว่า เขากำลังมีซีน กำลังมีสิ่งดีๆ มากกว่าเรา เราอยากจะเป็นแบบนั้นบ้างจัง อยากดีกว่าเขาเลยด้วยซ้ำ เลยเผลอใช้วิธีอ้อมแอ้มย้อนกลับมาชมตัวเองแบบนั้นออกไป หากสิ่งนี้กวนใจเราจนมันยุกยิกที่ปากอยากจะพูดออกไป อาจลองลดการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นลงบ้าง เราไม่จำเป็นต้องดีกว่าทุกคน ชนะทุกคน จนสุดท้ายเรายืนโดดเดี่ยวเพราะดีอยู่คนเดียวทุกครั้งไป - ใช้ในทางที่ถูก
หากเอาไปพูดในเรื่องชีวิตประจำวันทั่วไปแล้วน่าหมั่นไส้จนไม่มีใครอยากคุยด้วย ลองปรับมาใช้ในการทำงานแทนดูสิ แอบบอกเล่าเรื่องราวการทำงานของเราไปเนียนๆ หรือถ้าปกติเนื้องาน หน้าที่ของเราไม่ได้โดดเด่นด้วยตัวมันเอง ใครที่ยังไม่รู้ว่าเรามีผลงานอะไรก็จะได้รู้ในวันนี้แหละ แต่ข้อควรระวังคือต้องทำอย่างแนบเนียน ไม่เผลอไปยกตนข่มใครเข้าล่ะ
ไม่ได้มีคู่มือชีวิตกำหนดอย่างตายตัวว่า เราควรแสดงพฤติกรรมแบบไหน หรือไม่ควรทำแบบไหน แต่เราสามารถเรียนรู้ผ่านขวบปีที่พ้นผ่าน การเติบโตในทุกช่วงชีวิต สังคมแวดล้อม จะคอยสะกิดเตือนเราว่าพฤติกรรมไหนควรเก็บไว้ พฤติกรรมไหนควรทิ้ง กว่าจะรู้จะเข้าใจได้เราก็อาจต้องล้มต้องเจ็บด้วยตัวเองบ้าง
ผลลัพธ์คือ การกล่อมเกลาให้เรากลายเป็นคนในแบบที่เราเลือกแล้วว่า นี่แหละ ฉันในเวอร์ชั่นที่ตัวเองพอใจ และอยู่ร่วมในสังคมที่เราเป็นคนเลือกเองเช่นกัน
อ้างอิงจาก