“อยากให้นายจ้างเข้าใจว่า มันเป็นเรื่องของชีวิตคน” เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ กล่าว

ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่จตุจักร
การกู้ภัยและค้นหาผู้สูญหายในเหตุตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม ดำเนินไปตลอดทั้งคืนทั้งวัน นับตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม หรือวันที่เกิดแผ่นไหว ซึ่งขณะนี้ (2 เมษายน) มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้รวม 15 คน และผู้สูญหายที่อยู่ระหว่างการค้นหาอีก 72 คน
ซึ่งแรงงานข้ามชาติ ถือเป็นส่วนหนึ่งของผู้ประสบภัยจากเหตุตึกถล่มในครั้งนี้ โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมา ดังนั้น ทีมข่าว The MATTER จึงลงพื้นที่ไปพูดคุยกับพวกเขา เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อสอบถามและพูดคุยกับพวกเขาว่า ตั้งแต่เกิดเหตุประสบพบเจอกับอะไรบ้าง และต้องการช่วยเหลือด้านไหนเป็นพิเศษหรือเปล่า
ต้องหยุดงาน ขาดรายได้ แต่อยากรู้ชะตากรรม

สุ (นามสมมติ) แรงงานก่อสร้างชาวเมียนมา
“ลุงผมยังติดอยู่ข้างใน รอมา 5 วันแล้ว” คำพูดของ สุ (นามสมมติ) แรงงานก่อสร้างชาวเมียนมา ที่กำลังยืนดูเจ้าหน้าที่ทำการค้นหาผู้สูญหายอย่างใจจดใจจ่อ หลังจากนั้นเขาพูดต่อทันทีว่า
“ผมไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับ [ตึก] กันแน่ เพราะทำงานอยู่อีกไซต์ก่อสร้าง จึงไม่อยากพูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก”
สุ บอกว่า ระหว่างเกิดเหตุ ลุงของเขาทำงานอยู่ที่ชั้น 19 พอทราบข่าวว่าตึกถล่ม ก็รีบเดินทางมาจุดเกิดเหตุทันที และรออยู่บริเวณนี้ตั้งแต่นั้นมา
“ผมมีโอกาสเห็นร่างผู้เสียชีวิตบ้าง จริงๆ ผมไม่ได้อยากเห็น แต่จำเป็นต้องทำ เพราะร่างๆ นั้นอาจเป็นลุงของผมก็ได้”
อย่างไรก็ตาม เราถามเขาว่าตอนนี้ต้องการความช่วยเหลือด้านใดเป็นพิเศษไหม เขายอมรับว่า จริงๆ แล้วตอนนี้ไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น เพียงต้องการเจอลุงของเขาเท่านั้น แต่ถ้ามีการประกาศข้อมูลแบบเรียลไทม์ เช่น ตอนนี้เจ้าหน้าที่กำลังช่วยผู้ประสบภัยขึ้นมา หรือผู้ที่ถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลเป็นใครบ้างก็น่าจะดี

ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่จตุจักร
สุ อธิบายเพิ่มว่า ด้วยเพดานของภาษา ทำให้การสื่อสารกันระหว่างญาติผู้เสียชีวิตกับเจ้าหน้าที่เป็นไปอย่างค่อนข้างลำบาก อย่างผมเองไปตรวจ DNA แล้ว เมื่อวันที่ 31 มีนาคม แต่ตอนนี้ยังไม่ได้รับข้อมูลอะไรเพิ่มเติมหลังจากนั้น เช่น ผลเลือดของผมไม่ตรงกับร่างผู้เสียชีวิตคนไหน เป็นต้น
ทั้งนี้ ข้อมูลจากนิติเวช ระบุว่า การพิสูจน์อัตลักษณ์ด้วย DNA จะใช้เวลา 1-2 วัน ถึงจะทราบผล

สเว สเว วิน แรงงานชาวเมียนมา ทำงานที่โรงงานรองเท้า ที่มหาชัย
คนถัดมาที่เราพูดคุยด้วย คือ สเว สเว วิน แรงงานชาวเมียนมา ทำงานโรงงานรองเท้า ที่มหาชัย ซึ่งขณะที่เราสัมภาษณ์ เธอนั่งอยู่ท่ามกลางพี่น้องของเธอที่ต่างรอคอย ‘น้องชาย’ ที่ยังติดอยู่ภายในซากถล่ม
เธอเริ่มเล่าว่า พวกเรามาจากมหาชัย เพิ่งถึงเมื่อคืนนี้ (31 มีนาคม) พอเราถามเธอว่า ต้องการความช่วยเหลืออะไรเป็นพิเศษหรือไม่ สเว สเว วิน ตอบว่า ไม่ต้องการอะไรเป็นพิเศษ และถ้าขาดเหลืออะไร ผู้จัดการของน้องชายจะดูแลและจัดการให้
“ไม่ต้องการอะไรตอนนี้เลย แค่อยากรู้ว่าน้องชายเป็นอย่างไร” เธอกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ
อย่างไรก็ดี เราถามความเห็นเรื่องการถล่มของตึกดังกล่าว เธอบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เธอไม่รู้ข้อมูลแน่ชัด แต่ก็มองว่าคนที่เกี่ยวข้อง ควรแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นอีก
เธอพูดปิดท้ายกับเราว่า ทั้งเธอและญาติอีก 2-3 คนที่นั่งอยู่ข้างเธอ จำเป็นต้องหยุดงาน และเดินทางมาที่นี่เพื่อรอคอยน้องชาย ส่งผลให้ขาดรายได้ แต่ไม่ถือเป็นปัญหาสำหรับพวกเขาตอนนี้ เพียงอยากรู้ชะตากรรมของน้องชายเท่านั้น
“อยากรู้ว่าน้องชายเป็นอย่างไรบ้าง มีชีวิตอยู่หรือเปล่า ตอนนี้ไม่ต้องการอะไร ไม่ว่าจะเป็นเงินรายวัน หรือเงินชดเชย ได้หรือไม่ได้ไม่เป็นไร”

ซอซอ แรงงานก่อสร้างชาวเมียนมา
ถัดมาที่ ซอซอ แรงงานก่อสร้างชาวเมียนมา ที่หนีออกมาจากตึก สตง.ทัน ให้สัมภาษณ์กับเราว่า “ตอนนี้ผมกำลังรอเพื่อนที่ยังติดอยู่ในนั้น” ทั้งนี้ เขาหยิบกระเป๋าเงินและโทรศัพท์ของเพื่อนๆ ของเขาให้เราดู

โทรศัพท์ของผู้ที่ยังสูญหาย
“ของพวกนี้เป็นของเพื่อนที่ยังติดอยู่ข้างใน ที่เพื่อนของผมที่ได้รับการช่วยเหลือ พยายามหยิบติดตัวออกมาด้วย”
ทั้งนี้ เขาเล่าถึงความกังวลให้เราฟังว่า เขาไม่สามารถทราบได้ว่า ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ที่ถูกนำตัวส่งไปโรงพยาบาล เป็นเพื่อนของเขาบ้างหรือไม่ เพราะต้องรอผลพิสูจน์อัตลักษณ์
ถ้ามีข้อมูลบอกตลอดก็ดี เพราะโทรศัพท์ของผมยังอยู่ในตึกที่ถล่ม ทำให้ไม่สามารถติดต่อสื่อสาร หรือทราบข้อมูลใดๆ ในช่องทางโซเชียลได้ นอกจากนี้ ผมและเพื่อนๆ ที่รอดชีวิต ยังมีปัญหาเรื่องเงิน เพราะพวกเรามีการรวบรวมเงินซื้อของใช้ที่จำเป็นให้กับเพื่อนที่อยู่โรงพยาบาล
“เงินที่มีร่อยหรอไปเรื่อยๆ แม้จะยังทำงานกันอยู่ตามปกติก็ตาม”
ซอซอ ระบุปิดท้ายว่า อยากให้การสร้างตึกมีความปลอดภัยมากกว่านี้ ไม่ว่าจะไซต์ก่อสร้างไหนก็ตาม ไม่อยากให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก

ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่จตุจักร
แรงงานข้ามชาติถูกข่มขู่จากนายจ้าง อยากให้รัฐเข้าช่วย
ตะวัน ล่ามชาวเมียนมา ที่เดินทางมาปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พูดคุยกับเราในฐานะตัวแทนแรงงานข้ามชาติว่า สิ่งที่ญาติและเพื่อนของผู้ประสบภัยต้องการมากที่สุดในตอนนี้คือ “การรู้ชะตากรรมของคนที่พวกเขาเฝ้ารอ พวกเขาไม่ได้อยากได้อะไร พวกเขาขอแค่นั้นจริงๆ”

ล่ามชาวเมียนมา
พอเราถามถึงความเห็นโดยรวมของแรงงานข้ามชาติ ที่มีต่อความปลอดภัยของตึกดังกล่าว ตะวันตอบว่า “ทุกคนอยากให้มีความปลอดภัยมากกว่านี้ อยากทำงานด้วยความปลอดภัย ไม่อยากประสบพบเจอกับกรณีเช่นนี้อีก”
พล (นามสมมติ) เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ พูดแทรกขึ้นมาว่า หัวหน้าไซต์งานที่นี่มีการบังคับลูกน้องไม่ให้พูดกับสื่อ
“ผมรับรู้มาว่าพวกหัวหน้ามีพูดกับลูกน้องว่า ‘ถ้าเห็นว่าพูดกับสื่อ จะไม่ให้ใส่เสื้อบริษัทอีกต่อไป’ ซึ่งมีการตะคอกใส่ด้วย”
และยังมีการบังคับไม่ให้ญาติของแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประสบภัย ตรวจ DNA เพราะกลัวโดนเรื่องเอกสารการจ้างงาน และการมอบเงินชดเชย

ครอบครัวและเพื่อนของผู้สูญหาย
เราถามพลว่าทราบเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร?
เขาตอบว่า เพราะเมื่อวันที่ 31 มีนาคม เจ้าหน้าที่มีการเรียกญาติผู้ประสบภัยมารวมตัวกัน เพื่อแจ้งว่าทุกคนจำเป็นต้องตรวจ DNA หากไม่ตรวจจะไม่ทราบว่าผู้ประสบภัยเป็นใคร ซึ่งทุกคนต่างให้ความร่วมมือ แต่สักพักแรงงานข้ามชาติหลายคนได้รับสายเรียกเข้าจากนายจ้าง ที่พูดสั่งว่า “ไม่ต้องไป ถ้าไปตรวจจะให้ออกจากงาน”
พล กล่าวต่อว่า เขาได้แจ้งกระทรวงแรงงานให้รับรู้เรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว “กระทรวงแรงงานรับปากกับผมว่า จะรีบเร่งแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดการข่มขู่แรงงานข้ามชาติจากนายจ้างอีก”
ไม่เพียงเท่านั้น เรื่องสถานทูตเมียนมาในไทย ก็ถูกตั้งคำถามเช่นเดียวกัน เพราะแรงงานหลายคนบอกว่า ตั้งแต่วันแรกจวบจนปัจจุบัน ไม่เคยเดินทางเข้ามาเลย “แรงงานไม่ต้องการให้เข้ามาช่วยตรงโน้นตรงนี้นะ แต่ต้องการให้มาพูดคุยสอบถามญาติที่รอคอย และสร้างความคุ้มครองเรื่องต่างๆ เพื่อสร้างความสบายใจให้แก่พวกเขา”

ครอบครัวและเพื่อนของผู้สูญหาย
ยกตัวอย่าง การดำเนินการเคลื่อนย้ายร่างผู้เสียชีวิต ที่ไม่มีญาติอยู่ในเมืองไทยเลย มีเพียงเพื่อนร่วมงาน ทางสถานทูตฯ ก็อาจจะให้อำนาจเพื่อนผู้เสียชีวิตในการจัดแจงแทนได้ พร้อมช่วยติดต่อประสานงานกับครอบครัวที่เมียนมาร่วมด้วย
“เพราะการรับร่างผู้เสียชีวิต ถ้าไม่ใช่ญาติ จะไม่สามารถรับได้ ดังนั้นสถานทูตฯ ก็ต้องเป็นคนรับรอง แต่จนตอนนี้ก็ยังไม่เห็นเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือใดๆ แม้จะแจ้งเรื่องไปแล้วก็ตาม”
เจ้าหน้าที่คนนี้ เสริมอีกว่า เขาได้พูดคุยกับ สตง. เรื่องการช่วยเหลือและเยียวยาผู้เสียหายไปแล้วเช่นกัน “ผมออกตัวไปหลายเรื่องมาก ตั้งแต่เรื่องไซต์งาน สถานทูตฯ เรื่องบริษัทที่ไม่ให้ลูกจ้างตรวจ DNA”
“ถ้ามีคนไม่พอใจ ผมอาจจะโดนเล่นงานได้ แต่ผมก็พยายามรวบรวมข้อมูลทุกอย่างที่มีให้กับหน่วยงานรัฐอยู่ดี เพราะไม่อยากให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การบังคับและขู่เข็ญแรงงานให้กลับไปทำงาน”
สำหรับผมแล้ว การที่ญาติของแรงงานข้ามชาติยังติดอยู่ข้างใน พวกเขาก็ต้องเครียดและเป็นกังวลกันเป็นธรรมดา อยากจะรู้ชะตากรรมของคนที่เขารัก แต่กลับมีการขู่เข็ญเกิดขึ้น “อยากให้นายจ้างเข้าใจว่า มันเป็นเรื่องของชีวิตคน” พลพูดปิดท้าย
องค์กรด้านแรงงานข้ามชาติ เร่งรัดให้รัฐบาลตรวจสอบและช่วยเหลือ

ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่จตุจักร
เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) มีการเผยแพร่ ‘จดหมายเปิดผนึก’ เพื่อขอให้รัฐบาลและกระทรวงแรงงานเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีอาคารก่อสร้างของรัฐถล่ม พร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบแรงงานทุกสัญชาติอย่างเร่งด่วน
โดยเนื้อหาภายในจดหมายเปิดผนึก แสดงให้เห็นถึงข้อกังวลและข้อเรียกร้องมายังรัฐบาล รวมถึงกระทรวงแรงงานในการคุ้มครองแรงงาน ในฐานะลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อาคารก่อสร้างของ สตง.ถล่ม เช่น
- ขอให้กองความปลอดภัยแรงงาน ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ใช้อำนาจตามกฎหมายในการเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง ของการถล่มของอาคารก่อสร้าง สตง.อย่างจริงจัง
- ขอให้กระทรวงแรงงานมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม เร่งตรวจสอบสิทธิของลูกจ้าง ในฐานะผู้ประกันตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537…และขอให้กระทรวงแรงงานเร่งดำเนินคดีเอาผิดต่อนายจ้าง ที่จงใจเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้ลูกจ้างทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือแรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงกองทุนทั้งสองได้ทันที
- ในช่วงที่แรงงานต้องหยุดงานลงชั่วคราว ทางกระทรวงแรงงานต้องตรวจสอบว่าลูกจ้างได้รับค่าจ้างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หรือไม่
- เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนแผนปฏิบัติการระดับชาติ ว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยให้มีการตรวจสอบกรณีบริษัทเอกชน ที่ชนะการประมูลจากโครงการทั้งของรัฐและรัฐวิสาหกิจซึ่งมีมูลค่าที่สูง จะต้องมีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เพื่อประกันว่าโครงการเหล่านั้นจะก่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ลูกจ้างในโครงการและสิ่งแวดล้อม อันเป็นการสนับสนุนให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืน ตามเจตจำนงของรัฐอย่างแท้จริง
อ่านจดหมายเปิดผนึกฉบับเต็มได้ที่: thematter.co
ดังนั้น หลังจากนี้ต้องคอยจับตาดูกันว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอาคารถล่มโดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ จะได้รับการช่วยเหลือและเยียวยาอย่างไรบ้าง จากทั้งรัฐบาล กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง