เมื่อเกจน้ำมันของคุณกำลังจะแตะไปที่ขีด E ก็เป็นสัญญาณแล้วว่าถึงเวลาที่ต้องเติม (และเสียทรัพย์อีกครา) ทุกครั้งก่อนคุณจะเลี้ยวเข้าปั๊มน้ำมัน สิ่งที่สะดุดตาที่สุดคงไม่พ้น ป้ายบอกราคาน้ำมันพร้อมตัวเลขเด่นชัดที่แจ้งให้คุณทราบว่าคุณจำเป็นต้องจ่ายเท่าไหร่เพื่อแลกกับน้ำมัน 1 ลิตร?
ปัจจุบันราคาน้ำมันค่อนข้างลดลงเมื่อเทียบกับยุคที่ราคาน้ำมันผันผวนในช่วงสิบปีที่แล้ว จากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สาเหตุจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า และความกังวลในเรื่องของอุปทานล้นตลาดจากการผลิตหินน้ำมัน (Shale oil) ของสหรัฐอเมริกาที่พุ่งสูงขึ้นจนทำให้อุปทานน้ำมันล้นตลาด จากนโยบายหนุนพลังงานฟอสซิลของทรัมป์
นอกจากนั้นยังมีเรื่องน่าจับตามองของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง เมื่อซาอุดิอาระเบียและกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางอีกหลายประเทศ ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูต ปิดพรมแดนทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศกับประเทศกาตาร์ ความขัดแย้งรอบนี้มีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบไปทั่วโลกเนื่องจากตะวันออกกลางเป็นกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก
ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าทั้งน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติเหลว (LNG) ส่วนใหญ่จากตะวันออกกลาง ซึ่งมีส่วนของกาตาร์อยู่บ้าง และมีสัญญาระยะยาวรับซื้อ LNG จากกาตาร์การบริหารความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพร้อมจัดหาจากแหล่งอื่น หรือเก็บสำรองเพิ่มขึ้นหากสถานการณ์ความขัดแย้งคาดเดายาก
ก็อย่างที่คุณเห็น น้ำมันมีการเดินทางระดับมหากาพย์ และมีปัจจัยรายล้อมอีรุงตุงนัง การทำความเข้าใจปรากฏการณ์น้ำมันจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเราต้องพึ่งพาพลังงานจากน้ำมันต่อไปอีกยาว แม้ในขณะนี้จะมีกระแสตื่นตัวด้านการพัฒนานวัตกรรมพลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียนกันกว้างขวาง แต่ก็ยังก้าวไม่ทันอัตราเร่งของการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ยังต้องการน้ำมันเป็นพื้นฐานในการค้นคว้าเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ยังไม่นับประเด็นที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองทางเศรษฐกิจและการเมืองอีกต่างหาก
น้ำมันที่คุณใช้ มาจากไหนกัน?
น้ำมันที่เราใช้มาจาก “น้ำมันดิบ” สารประกอบไฮโดรคาร์บอนซึ่งเกิดจากการทับถมกันของอินทรียวัตถุมาเป็นเวลาหลายร้อยล้านปี โดยปกติจะมีสถานะเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง ส่วนมากจะมีสีดำหรือน้ำตาล น้ำมันดิบที่ขุดขึ้นมาในแต่ละพื้นที่จะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของน้ำมันดิบในแหล่งนั้นๆ โดยแหล่งใหญ่สุดคือ ตะวันออกกลาง
กลุ่มประเทศตะวันออกกลางมีปริมาณน้ำมันสำรองถึง 47.3% ในขณะที่การใช้มีเพียง 9.8% เท่านั้น ก็ถือว่ายังมีอยู่เหลือเฟือ (แต่พวกเขาก็ไม่วางใจในน้ำมันที่เขามี ถึงกับลงทุนสร้างพลังงานทางเลือกอื่นๆ อย่าง ฟาร์มเซลล์แสงอาทิตย์และพลังงานน้ำอีกด้วย) แล้วประเทศไทยเราล่ะ เอาน้ำมันมาจากไหนกัน?
ประเทศไทยก็มีแหล่งน้ำมันเหมือนกัน แต่ปริมาณน้อยมาก ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน เราผลิตน้ำมันดิบเองได้เพียง 20% ของความต้องการ ส่วนอีก 80% ต้องนำเข้าทั้งหมด ด้วยข้อจำกัดหลายๆอย่าง ทำให้ปริมาณน้ำมันสำรองมีน้อยกว่า 0.05% ขณะที่มีปริมาณการใช้สูงกว่า 1.3% เอาเป็นว่า จากปริมาณน้ำมันสำรองที่มีเทียบกับปริมาณการใช้ในปัจจุบัน เราจะเหลือน้ำมันดิบให้ใช้เพียงอีก 2.3 ปีเท่านั้นก่อนจะหมดไป (จากข้อมูลเฉลี่ยปี 2015)
ถ้าเราสามารถเอาน้ำมันดิบมาเป็นเชื้อเพลิงเลยตรงๆ อะไรๆ ก็คงง่ายกว่านี้เยอะ น้ำมันดิบจะมีคุณค่าอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อผ่านกระบวนการกลั่นแล้วกลายเป็น ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป (Petroleum Products) ถึงจะเอามาใช้ในงานเพื่อมนุษย์ได้ง่ายขึ้น ซึ่งจากกระบวนการกลั่นทำให้เรามีน้ำมันหลากหลายคุณสมบัติตามอรรถประโยชน์ใช้สอย ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และน้ำมันเตา ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ราคาน้ำมันดิบแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไปตามคุณภาพของน้ำมันชนิดนั้นๆ เช่น น้ำมันดิบชนิดหนัก/เบา (Heavy/Light Crude) เมื่อผ่านกระบวนการกลั่นแล้วจะให้น้ำมันสำเร็จรูปเช่น เบนซิน หรือ ดีเซลในปริมาณมากน้อยต่างกัน
การคาดการณ์ราคาน้ำมันในอนาคตเป็นสิ่งที่ค่อนข้างซับซ้อน เพราะน้ำมันเป็นสินค้าที่ซื้อขายได้ทั่วโลก และสามารถทำให้คุณภาพเป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้ได้หลากหลาย มีความยืดหยุ่นสูงแตกต่างกับสินค้าอื่นๆ มาก เนื่องจากตลาดน้ำมันส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมระดับภูมิภาคที่เกิดจากหลายประเทศรวมกัน โดยมีปฏิบัติการของคนหลายกลุ่มที่มีวัตถุประสงค์และสภาพแวดล้อมต่างกันอีก เท่าที่ทำได้มากที่สุดคือ การวิเคราะห์ปัจจัยอันหลากหลายทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้นักวิเคราะห์ประเมินแนวโน้มราคาน้ำมันในระดับภูมิภาค (Regional Area) และระดับโลก (Global)
น้ำมันเดินทางมาไกล ไม่ใช่ที่ไหนก็มี
น้ำมันเป็นนักเดินทางตัวยง กว่าจะเป็นทุกหยดในรถคุณ มันผ่านผู้คนมาแล้วหลากหลายหน้าที่และความสามารถ ซึ่งน้ำมันดิบจะผ่านกระบวนการต่างๆ จนส่งผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างเป็นเหตุเป็นผล เริ่มตั้งแต่แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบกลางมหาสมุทร ขนส่งโดยทางเรือ เข้ามาสู่ฝั่ง เมื่อถึงโรงกลั่น น้ำมันดิบก็จะถูกประเมินโดยเอาไปกลั่นแยก เพื่อให้ได้น้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งค่าการกลั่นยังไม่ใช่กำไรที่โรงกลั่นจะได้ เพราะยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใดๆจากโรงกลั่น โดยประเทศไทยมีโรงกลั่นที่นำเข้าน้ำมันดิบเป็นหลัก ดังนั้น ราคา ณ โรงกลั่น จำต้องมีความสมดุลกัน หากโรงกลั่นของไทยตั้งถูกกว่าภูมิภาคอื่นๆ ก็จะไม่มีแรงจูงใจให้ใครมาลงทุนมาตั้งโรงกลั่นเพิ่ม (พอไม่มีโรงกลั่นเองก็ต้องไปใช้บริการโรงกลั่นจากสิงคโปร์อีก ทำให้เราเสียดุล) หรือหากโรงกลั่นไทยตั้งราคาแพงไป ผู้ค้าก็จะส่ายหน้าหนี หันไปนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด
หลังจากกลั่นจนได้น้ำมันสำเร็จรูป ก็จะถูกขนส่ง (แน่นอน บวกค่าขนส่ง ค่าประกัน ค่าน้ำมันสูญหาย) มีภาษีเทศบาล (เพื่อบำรุงท้องที่ที่โรงกลั่นตั้งอยู่) ภาษีสรรพสามิต กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งรัฐเป็นผู้กำหนด เพื่อนำเงินไปวิจัยและพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่นๆ ภาษีมูลค่าเพิ่มหัก ณ ที่จ่าย ค่าการตลาด ค่าขนส่งน้ำมัน ค่าใช้จ่ายในการสำรองน้ำมัน ค่าลงทุนที่ดินและค่าก่อสร้างจุดจ่ายน้ำมันใหม่ๆ ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานทั่วไป และค่าใช้จ่ายของปั๊มน้ำมันเองด้วย
นั่นล่ะ ถึงจะเป็นราคาขายปลีกที่คุณต้องจ่ายในแต่ละลิตร ซึ่งทุกภาคส่วนล้วนใช้เทคโนโลยีและทรัพยากรมนุษย์ กว่าจะได้น้ำมันคุณภาพมาถึงมือผู้บริโภค
โดยเฉลี่ยแล้ว ในน้ำมัน 1 ลิตร
60% เป็นต้นทุนน้ำมันสำเร็จรูป (ที่ขึ้นลงตามราคาน้ำมันโลกและอัตราแลกเปลี่ยน)
35% เป็นค่ากองทุนและภาษี (จัดเก็บโดยรัฐ เช่น ภาษีเทศบาล ภาษีมูลค่าเพิ่ม กองทุนน้ำมันฯ)
5% เป็นค่าการตลาด อาทิ ค่าจ้างเด็กปั้ม ค่าน้ำค่าไฟ ค่าดูแลสถานที่ (ราคาเฉลี่ยปี 2559)
Tip : ตัวเลขเริ่มเยอะ อาจทำให้สับสนจำง่ายๆ 1 ตัวเลขคือ 3ใน4 ประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมัน ¾ ของที่ต้องการใช้ และเป็นส่วนของต้นทุนเนื้อน้ำมันซะ ¾ ของราคาน้ำมันที่คุณเติมที่ปั๊ม
น้ำมัน ก็มีปัจจัยร่วมเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ อุปสงค์และอุปทานของน้ำมันแต่ละชนิดจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะและเหตุการณ์ต่างๆ เมื่อใดที่อุปสงค์/อุปทานไม่สมดุล ก็จะกระทบต่อราคาได้ ผนวกกับการพัฒนาเศรษฐกิจขยายตัวสูงขึ้น ก็ยิ่งส่งผลให้ระดับราคาน้ำมันสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
สภาพภูมิอากาศเองก็มีผล ความต้องการใช้น้ำมันในช่วงฤดูหนาว มักสูงขึ้นในแถบยุโรและอเมริกา จากความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความอบอุ่น (Heating Oil) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา จะมีปริมาณมากกว่าน้ำมันประเภทอื่น นอกจากนั้นกำลังการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันย่อมส่งผลกระทบต่อระดับราคาน้ำมันอย่างแน่นอน ดังเช่นวิกฤตการณ์น้ำมันโลกที่ เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ประเทศที่มีปริมาณน้ำมันสำรองและสามารถผลิตน้ำมันได้ในระดับสูงจึงมีอำนาจในการเจรจาต่อรองราคา ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ผลิตน้ำมันที่ว่านี้หมายถึงองค์การประเทศผู้ผลิตน้ำมันเป็นสินค้าออกหรือกลุ่มโอเปก (Organization of Petroleum Exporting Countries) ซึ่งปัจจุบันมี 11 ประเทศได้แก่ แอลจีเรีย อินโดนีเซีย อิหร่าน อิรัก คูเวต ลิเบีย ไนจีเรีย กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวเนซุเอลา โดยกลุ่มโอเปกสามารถควบคุมและบริหารปริมาณการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ หากประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปกผลิตน้ำมันมากหรือน้อยเกินไปก็ย่อมจะส่งผลถึงราคาน้ำมัน
เอาเป็นว่าบนโลกใบนี้ ไม่มีใครสามารถกำหนดราคาน้ำมันล่วงหน้าได้เลย เป็นการคาดการณ์แนวโน้ม และทิศทางราคาน้ำมันโดยพิจารณาจากปัจจัยร่วมต่างๆ เท่านั้น
น้ำมันไทยแพงกว่าน้ำมันประเทศอื่น จริงหรือ?
แต่ละประเทศล้วนเผชิญความท้าทายที่แตกต่างกัน ทำให้ราคาน้ำมันแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับโครงสร้างราคาเช่น ต้นทุนเนื้อน้ำมัน การเก็บภาษีและเงินเข้ากองทุนฯ และคุณภาพน้ำมันที่ใช้ต่างกันของแต่ละประเทศ แต่คำกล่าวอ้างว่า “น้ำมันเมืองไทยแพงที่สุด” ก็ดูจะคาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงมาดูกันว่า หากอิงกับราคาน้ำมันเบนซิน 95 ของเรากับเพื่อนบ้านโดยเฉลี่ยจะตกอยู่ที่ลิตรละกี่บาท
ไทย ลิตรละ 33.06 บาท
กัมพูชา ลิตรละ 31.48 บาท
พม่า ลิตรละ 18.72 บาท
สิงคโปร์ ลิตรละ 52.08 บาท
ฟิลิปปินส์ ลิตรละ 32.83 บาท
มาเลเซีย ลิตรละ 16.58 บาท
ลาว ลิตรละ 33.05 บาท
(ราคา ณ วันที่ 9 มิ.ย. 2560)
ซึ่งมาเลเซียน้ำมันมีราคาถูกกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากมีแหล่งทรัพยากรน้ำมันทางทะเลมากเกินกว่าความต้องใช้ จนสามารถส่งออกสร้างรายได้เข้าประเทศอีกด้วย นอกจากนี้รัฐบาลมาเลเซียยังใช้งบประมาณของประเทศสนับสนุนให้ราคาน้ำมันภายในประเทศต่ำกว่าราคาตลาด โดยมีการถกเถียงและต่อต้านนโยบายนี้จากสื่อภายในประเทศมาเลเซียว่ากลุ่มคนที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดนั้นเป็นกลุ่มคนร่ำรวย และกลุ่มพ่อค้าที่ลักลอบน้ำมันไปขายยังประเทศเพื่อนบ้าน
มาเลเซียน้ำมันถูกขนาดนี้ แต่ทำไมเราดันอิงราคากับสิงคโปร์
การตั้งราคาซื้อขายสินค้าทั่วไปส่วนใหญ่มีวิธีการกำหนดราคา 2 ประเภท คือ การตั้งราคาสินค้าจากต้นทุนบวกกำไร (Cost Plus) และการตั้งราคาสินค้าโดยอ้างอิงตลาดใหญ่ ๆ (Reference Price) ที่มีปริมาณการซื้อขายสูง ซึ่งวิธีการหลังนี้จะใช้กับสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) เช่น น้ำมัน ข้าว น้ำตาล ผัก ผลไม้ ฯลฯ ที่มีตลาดกลาง และมีการซื้อขายกันอย่างเสรี
สำหรับการกำหนดราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นของไทยได้ใช้เกณฑ์อ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ซื้อขายกันในตลาดโลกซึ่งตั้งอยู่ที่สิงคโปร์ ลักษณะเดียวกับการซื้อขายสินค้าอื่น ๆ ก็เหมือนตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในประเทศไทย เช่น การอ้างอิงราคาซื้อขายดอกไม้ที่ปากคลองตลาด ราคาผลไม้ที่ตลาดไท หรือการอ้างอิงราคาข้าวที่ท่าข้าวกำนันทรง เป็นต้น
ทั้งนี้ราคาน้ำมันอ้างอิงที่ตลาดสิงคโปร์ไม่ใช่ราคาที่โรงกลั่นในสิงคโปร์ประกาศขึ้นมาเองลอยๆ แต่เป็นตัวเลขราคาที่ผู้ค้าน้ำมันจากประเทศต่างๆ ในเอเชียเข้าไปตกลงซื้อ-ขายผ่านตลาดกลางสิงคโปร์ ซึ่งเป็น ศูนย์กลางซื้อขายน้ำมันระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไกล นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานตัวแทนบริษัทน้ำมันรายใหญ่ทั่วโลกมากกว่า 300 บริษัท มีปริมาณการซื้อขายสูงเช่นเดียวกันกับตลาดในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทำให้ยากต่อการปั่นราคาโดยผู้ซื้อหรือผู้ขาย และราคาที่ตกลงจะสะท้อนดีมานด์และ ซัพพลายของน้ำมันในภูมิภาคนี้
อีกทั้งสิงคโปร์ยังเป็นตลาดการส่งออกน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และอยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด ดังนั้น ต้นทุนในการนำเข้า จึงเป็นต้นทุนที่ถูกที่สุดที่โรงกลั่นไทยต้องแข่งขันด้วย
หากราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นของไทยไม่ได้อ้างอิงตลาดสิงคโปร์ จะทำให้เกิดความไม่สมดุลในการผลิตและการจัดหาของประเทศ เพราะหากไทยกำหนดราคาน้ำมันเอง เมื่อใดที่ราคาในประเทศต่ำกว่าราคาที่ตลาดสิงคโปร์ จะทำให้โรงกลั่นนำน้ำมันส่งออกไปขาย เพราะจะได้ราคาสูงกว่าอาจทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันในประเทศ
ในทางกลับกัน เมื่อใดที่ราคาสิงคโปร์ลดลงจนต่ำกว่าราคาที่โรงกลั่นกำหนด บริษัทน้ำมันก็ต้องอยากนำเข้าจากตลาดสิงคโปร์ เพราะราคาถูกกว่า ทั้งสองกรณีจะทำให้เกิดการนำเข้า-ส่งออกโดยไม่จำเป็น และทำให้สูญเสียเงินตราต่างประเทศ จะทำให้โรงกลั่นของไทย ไม่มีการพัฒนาปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง
การกำหนดราคาน้ำมันโดยอ้างอิงราคาตลาดโลกที่สิงคโปร์จึงเป็นวิธีการที่เหมาะสม เป็นไปตามกลไกตลาด เป็นผลดีมากกว่าผลเสีย และเป็นวิธีการปฏิบัติสากลที่ใช้ในการกำหนดราคาน้ำมันทั่วโลก
ใช้สอยอย่างเข้าใจธรรมชาติน้ำมัน
ไม่ว่าน้ำมันจะมีราคาเท่าไหร่ จะแพงหูฉี่จนฉีกกระเป๋าเงินคุณเป็นชิ้นๆ หรือถูกมากจนขับรถไปติดกลางสี่แยกเล่นๆฆ่าเวลา มันก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเราจะใช้สอยน้ำมันอย่างไม่มีวันหมด เพราะทุกๆวันเรากำลังใช้ทรัพยากรที่โลกอดออมมากว่าล้านๆปี เราจึงมีเวลาเหลืออยู่ไม่มากกับน้ำมัน แม้ตอนนี้จะมีน้ำมันรอคอยอยู่บนถนนเกือบทุกเส้น จนมักทำให้เราหลงลืมที่มาดั้งเดิมของมัน แต่ถึงอนาคตอันใกล้มันจะหมดลงอย่างแน่นอน หรืออาจจะแย่ที่สุดคือ น้ำมันหมดลงในขณะที่เราไม่พร้อมจะหาพลังงานใดๆมาทดแทน
ถึงวันนั้นมีเงินเป็นล้านๆ ก็ซื้อน้ำมันเพียงลิตรเดียวไม่ได้แล้ว