ทุกวันนี้พลังงานที่ใช้ในประเทศไทยส่วนใหญ่ ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ท่ามกลางความต้องการพลังงานที่แทบจะไม่ได้ลดลง แล้วเราจะไปหาพลังงานที่ไหนมาเติมเต็มความต้องการโดยไม่จำเป็นต้องนำเข้า แต่ใช้ทรัพยากรที่เรามี เพื่อเปลี่ยนให้เป็นพลังงานทดแทนที่คุ้มค่ามากที่สุด
น่าสนใจที่ในธรรมชาติมีพืชที่เราสามารถนำไปแปรรูปเป็น ‘พลังงานชีวมวล’ ได้ โดยอาศัยคุณสมบัติของพืชที่พบทั่วไปในทุกภูมิภาค ให้ค่าความร้อนสูง และไม่สร้างมลภาวะในกระบวนการแปรรูปเป็นพลังงาน แต่ทว่าพืชที่มีอยู่มากมายหมื่นๆ สายพันธุ์ พืชสายพันธุ์ไหนที่จะโดดเด่นที่สุดกัน?
นี่จึงเป็นงานใหญ่ที่ต้องมีการวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพราะหากแนะนำให้เกษตรกรปลูกเพื่อเป็นพลังงานชีวมวลแล้ว จะต้องคุ้มค่าทุกสตางค์ เหมาะสมกับสภาพดินของแต่ละภูมิภาค ไม่จำเป็นต้องดูแลรักษามาก นี่จึงเป็นที่มาของโครงการวิจัย ‘การรวบรวมข้อมูลการปลูกไม้โตเร็วสำหรับจัดทำแผนที่นำทางงานวิจัยการปลูกไม้โตเร็วเพื่อพลังงาน’ สนับสนุนการวิจัยโดย สกว.
“เป้าหมายของสถาบันเราคือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร” น้ำเสียงอันอ่อนโยนแต่มุ่งมั่นของ ดร.มะลิวัลย์ หฤทัยธนาสันติ์ ผู้อำนวยการสถาบันผลิตผลเกษตรฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พูดถึงงานวิจัยที่เธอและทางคณะรวบรวมข้อมูลการปลูกไม้โตเร็วเพื่อพลังงาน ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการจัดทําข้อเสนอแนะและแผนที่นําทางเกี่ยวกับการวิจัยและการพัฒนาไม้โตเร็วเพื่อพลังงานในประเทศไทย โดยปัจจุบันมีการส่งเสริมการปลูกไม้โตเร็วเพื่อเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มขึ้น เนื่องจากการปลูกไม้โตเร็วเป็นการสร้างความมั่นคงของเชื้อเพลิงชีวมวล อีกทั้งมีคุณภาพในการเป็นเชื้อเพลิงดีกว่าเศษเหลือจากการทำเกษตรกรรม นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยเหลือในเรื่องคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทย ดังนั้น เราจึงมาหาคำตอบกันว่าวิจัยเรื่องนี้มีความเป็นมาและความน่าสนใจอย่างไร
‘ไม้โตเร็ว’ ดีอย่างไร ถึงได้นำมาใช้ในการศึกษา
เริ่มแรก ดร.มะลิวัลย์ อธิบายถึงสาเหตุการเลือกใช้ ‘ไม้โตเร็ว’ เพราะเป็นไม้ที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดย 1 ปี จะมีอัตราการเจริญเติบโตและผลผลิตอย่างน้อย 5 ตันต่อไร่ต่อปี และสามารถตัดได้รอบประมาณ 2 – 3 ปี ซึ่งตอนนี้ก็มีหลายๆ ต้นที่สามารถตัดได้ในรอบ 1 ปี ส่วนอีกคุณสมบัติหนึ่งคือ การแตกหน่อ เพราะไม้โตเร็วที่นำไปใช้เพื่อเป็นพลังงานมีข้อจำกัดที่ว่า เนื่องจากพลังงานเป็นปัจจัยหนึ่งในกระบวนการการผลิตของอุตสาหกรรม ฉะนั้นปัจจัยการผลิตจะมีราคาสูงไม่ได้ ดังนั้นการปลูกใหม่เรื่อยๆ ทำให้ต้นทุนค่อนข้างสูง จึงเลือกชนิดพันธุ์ที่ตัดแล้วสามารถแตกหน่อขึ้นมาใหม่ เพื่อที่จะเก็บเกี่ยวได้หลายๆ ครั้ง และทำให้ต้นทุนถูกลง
ส่วนไม้โตเร็วที่เธอเลือกใช้จะเป็น ‘ไม้ต่างถิ่น’ ทั้งหมด เนื่องจากไม้ท้องถิ่นมีการเจริญเติบโตที่ช้ากว่าไม้ต่างถิ่น มีข้อจำกัดหลายอย่างด้วยเรื่องของกฎหมาย และอื่นๆ ที่ทำให้นำไปใช้ประโยชน์ได้ยาก ซึ่งไม้ต่างถิ่นที่นำมาใช้ส่วนมากจะมาจากประเทศออสเตรเลีย เพราะเป็นไม้ต่างถิ่นที่โตเร็ว มีศักยภาพค่อนข้างสูง ทั้งยังเป็นทวีปที่มีความสมบุกสมบันในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เช่น ความแห้งแล้ง ถ้าไม้ชนิดไหนขึ้นได้ดีในออสเตรเลีย เมื่อนำไปปลูกที่อื่นก็มักจะขึ้นได้ดีเช่นกัน ซึ่ง ดร.มะลิวัลย์ ได้ค้นพบพืชที่มีศักยภาพเหมาะแก่การนำมาปลูกตามสภาพแวดล้อมที่ต่างกันออกไป โดยแบ่งเป็นทั้งหมด 3 ชนิด
ต้นยูคาลิปตัส Eucalyptus globulus Labill สามารถขึ้นได้ดีในภาคอีสานที่มีสภาพดินไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ ค่อนข้างจะแล้ง และสามารถปลูกได้ในสภาพดินที่หลากหลาย ต่อมาคือ กระถิ่นยักษ์ Leucaena leucocepphala เหมาะที่จะปลูกในภาคกลางตอนบนที่ดินอาจจะมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น สามารถปลูกได้ในดินทุกสภาพ ยกเว้นดินที่เป็นกรด เพราะมันชอบดินที่มีความเป็นด่างเล็กน้อย และสุดท้ายต้นที่สามารถปลูกในภาคใต้คือ กระถินอาคาเซีย Acacia auriculiformis เนื่องจากเป็นพืชที่ชอบน้ำ ฉะนั้น อาคาเซียก็สามารถขึ้นได้ดีพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนค่อนข้างสูงอย่างภาคใต้ อีกทั้งยังปลูกได้ในดินทุกสภาพ
แต่ก็อาจจะมีเรื่องที่มักสร้างความวิตก คือ ความเชื่อเรื่องการปลูกยูคาลิปตัสเป็นการทำลายดิน แต่จากวิทยานิพนธ์ของนิสิตปริญญาโท มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และวิจัยจาก สกว. หลายชิ้น พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ยูคาลิปตัสไม่ได้ทำลายดิน ในทางกลับกันกันยังสามารถช่วยปรับปรุงดินด้วยซ้ำ ส่วนกระถินยักษ์กับกระถินอาคาเซียที่แนะนำให้ปลูกนี้ก็เป็นพืชตระกูลถั่ว พอปลูกไปแล้ว ใบที่ร่วงหล่นลงมาก็ยังอุดมไปด้วยโปรตีนสูง นอกจากนี้ยังสามารถย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยและเพิ่มอินทรีย์วัตถุเข้าไปในดินได้อีกด้วย
“ส่วนหนึ่งที่เป็นเหตุผลว่าทำไมต้องใช้ไม้โตเร็วเป็นตัวบุกเบิกก่อน เพราะเพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่มันฟื้นฟูกลับมา แล้วหลังจากนั้นค่อยใส่ไม้โตช้าหรือไม้ในถิ่นกลับคืนไป หรือบางทีตอนนั้นก็อาจปลูกแบบผสมผสานเข้าไป” ผู้อำนวยการสาวหัวใจสีเขียวกล่าว
ทางเลือกที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรมีคุณภาพมากขึ้น
ในเรื่องของเกษตรกรเธอกล่าวว่า อาชีพหลักๆ ของคนไทยคือ ‘เกษตรกรรม’ ซึ่งมีพื้นที่กว่า 50 % ที่ทำการเกษตร แต่พอทำมากๆ เข้า ก็จะทำให้เกิดพื้นที่เสื่อมโทรม เกษตรกรก็ต้องเสียเงินในการใส่ปุ๋ยดูแล เพิ่มสารอินทรีย์ในดินต่างๆ เข้าไปเยอะมาก และสุดท้ายผลตอบแทนอาจได้ไม่คุ้มค่า สังเกตดูว่าเมื่อปลูกพืชทางการเกษตรทุกตัว พอมาคิดต้นทุนกำไรจริงๆ เกษตรกรได้เพียงนิดเดียว เพราะเป็นการทำแปลงที่มีขนาดเล็ก ดังนั้นการนำต้นไม้โตเร็วเข้าไปช่วยก่อน เข้าไปหยุด เข้าไปเปลี่ยน ในการใช้ประโยชน์ที่ดินเบื้องต้นก่อนหรือว่าปลูกแบบผสมผสานเข้าไปก็จะดี
นอกจากนี้เธอยังพูดถึงพื้นที่ในการปลูกสำหรับเกษตรกร และยกตัวอย่างครอบครัวที่มีพื้นที่ประมาณ 15 ไร่ หรือ 20 ไร่ ซึ่งในครอบครัวที่ทำเกษตรจริงๆ ก็เหลือแต่คนเฒ่าคนแก่ ลูกหลานที่เคยทำการเกษตรแต่รู้สึกเลี้ยงชีพไม่ได้เขาก็ต้องไปหางานอื่นทำ ดังนั้นการทำกัน 2 คน ดูแลพื้นที่ 15 ไร่ 20 ไร่ ก็ทำไม่ไหว ที่เคยไปกู้มาก็เอาไปใช้ทุนหมด ซึ่งการปลูกไม้โตเร็วเข้าไปอาจจะช่วยลดการใช้พื้นที่ลงเหลือแค่ประมาณ 5 ไร่ 10 ไร่ เป็นการปลูกพืชแบบปราณีตมากขึ้น มีกันแค่ 2 คนก็ดูแลได้ ปลูกเสร็จก็นานๆ มาดูทีไม่ให้มีวัชพืช ผ่านไป 1 ปี ก็มาดูวัชพืช 1-2 ครั้ง ปุ๋ยไม่ต้องใส่มาก ใส่แค่ตอนปลูกอย่างเดียวแล้วก็ดูไม่ให้ไฟเข้า
ในส่วนของผลตอบรับจากเกษตรกร เธอเล่าว่า “เกษตรกรให้การตอบรับดี” โดยเธอนำไม้โตเร็วไปทำแปลงสาธิตให้เกษตรกรดู เกษตรกรก็อยากปลูก เพราะพวกเขาพยายามที่จะเสาะหาพืชตัวใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อที่จะทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น สังเกตได้จากข่าวที่เกษตรกรถูกหลอกมีค่อนข้างมาก อย่างไปหลอกขายกล้าใหม่ๆ แปลกๆ ไปหลอกเขาว่าจะได้ผลผลิตดี ปลูกแล้วได้เงินเยอะ เกษตรกรก็พากันปลูก
“เกษตรกรเป็นประชาการส่วนใหญ่ของประเทศ แต่งานวิจัยที่เข้าไปช่วยเกษตรกร เพื่อให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นยังทำได้ไม่ดี เกษตรกรไทยก็ยังมีรายได้ที่ต่ำอยู่ อาจจะเกิน 50 ปีมาแล้วรายได้ก็ยังไม่เพิ่มขึ้นเท่าไหร่” เธอกล่าวอย่างเห็นใจ
ความท้าทายของวิจัยการปลูกต้นไม้โตเร็วเพื่อทดแทนพลังงาน
เมื่อพูดถึงความท้าทาย เธอกล่าวว่าวิจัยเรื่องนี้เป็นงานที่ต้องใช้เวลา อย่างการเก็บข้อมูลก็ต้องแบ่งถึง 3 ระยะ เพื่อให้แน่ใจว่าวิจัยนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆ และอีกอย่างคือ ไม่มีหน่วยงานที่ทำอย่างจริงจัง เรื่องไม้โตเร็ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชัดเจนที่สุดคือ ‘กรมป่าไม้’ แต่ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ภารกิจงานที่มีเยอะ นักวิจัยที่มีจำกัด และนอกจากเรื่องการใช้เวลานานแล้ว ก็ยังมีเรื่องทุน ที่หาค่อนข้างยาก เพราะเป็นงานต่อเนื่อง แต่ถ้าได้ผลก็จะสามารถช่วยเกษตรกรได้ เชื่อว่าไม้โตเร็วก็น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งให้เกษตรกรได้ เธอกล่าวเสริมอีกว่า ยังไงคนเราก็ต้องใช้พลังงานอยู่แล้ว อย่างเทรนด์การใช้ไฟฟ้าตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าก็มีการพัฒนาไปเรื่อยๆ ทุกอย่างต้องใช้ไฟฟ้า พลังงานชีวมวลก็ถือว่าเป็นจุดแข็งของประเทศ
อีกเรื่องคือ ‘พลังงานทดแทน’ เธอมีแผนที่ชัดเจนที่จะสนับสนุน ‘แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก’ (AEDP) ซึ่งมีหลายแบบ และมีมาตรการวิธีการปฏิบัติที่ค่อนข้างชัดเจน แต่นโยบายในเรื่องของการปฏิบัติจริงๆ ยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าไร จึงทำให้การที่เกษตรกรอยากจะปลูกหรือการที่ภาคเอกชนรู้สึกไม่มีความเชื่อมั่นมากพอที่จะมารวมกันตรงนี้ แม้ว่าเราจะทำให้เขาเชื่อได้ว่าปลูก 3 ชนิดนี้แล้วจะให้ผลตอบแทนดี แต่หากปลูกไปแล้วรัฐบาลไม่สนับสนุนเรื่องของการใช้พลังงานทดแทน ก็จะไม่มีตลาดในประเทศให้พวกเขา ทำให้ต้องไปหาตลาดต่างประเทศอีก ซึ่งก็ต้องใช้ความพยายามอีกระดับหนึ่งไม่เหมือนตลาดในประเทศ ดังนั้นด้านนโยบายของรัฐบาล หากมีความชัดเจน สนับสนุนเรื่องการปลูกพืชพลังงานทดแทน ลดพื้นที่ปลูกยางพารา ลดพื้นที่ปลูกข้าวที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ ก็จะทำให้เกิดความเชื่อมั่น ในเรื่องมาตรการกลไกลก็จะทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น โดยจุดแข็งของพลังงาน เป็นเรื่องของตลาดที่มีความต้องการอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีโรงไฟฟ้า มีภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้พลังงานชีวมวลอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ
“เราอยากเห็นวิจัยที่สร้างมาจากเกษตรกร ผู้ใช้โดยตรง เพราะตอนนี้ประเทศไทยมองแต่อะไรที่เป็นนวัตกรรม เห็น S curve สมาร์ทฟาร์มซึ่งมันดีและก็เป็นสิ่งที่โลกต้องการ แต่ในขณะเดียวกัน เรายังขาดงานวิจัยที่ไปช่วยตอบโจทย์เกษตรกร ซึ่งถ้าเราช่วยเขาได้ ประเทศเราก็จะขับเคลื่อนไปได้อีกแรง ” ดร.มะลิวัลย์ หฤทัยธนาสันติ์ กล่าวส่งท้าย
ขอขอบคุณ
ดร.มะลิวัลย์ หฤทัยธนาสันติ์
สถาบันผลิตผลเกษตรฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)