โดนัท น้ำอัดลม ไก่ทอด พิซซ่า ตลอดจนบรรดาอาหาร Junk food ทั้งหลายดูจะเป็นของขวัญแสนล่อตาล่อใจที่เด็กน้อยทุกคนคาดหวังจะได้เป็นรางวัลในวันหยุดปลายสัปดาห์
ลามไปจนถึงมื้อปกติในวันอันแสนรีบเร่งที่พ่อแม่ไม่มีเวลาตระเตรียมมื้อเย็นหลังเลิกเรียนให้ โดยหารู้ไม่ว่าไม่ใช่เพียงแค่อาหารเหล่านี้จะเป็นศัตรูตัวฉกาจกับสุขภาพของเด็กเท่านั้น หากแต่ยังสร้างเสริมนิสัยการบริโภคอาหารตามใจปากโดยไม่คำนึงถึงสุขภาพให้กับเด็กอีกด้วย
ขณะที่ในพื้นที่อันห่างไกลยังมีเด็กๆ อีกจำนวนหนึ่งที่มีปัญหาด้านการบริโภคในทำนองเดียวกัน นั่นคือขาดการเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์เนื่องด้วยรายได้ของผู้ปกครอง หรือการอาศัยอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ซึ่งไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลไหน หรือเด็กกลุ่มใด ก็พบว่ามื้ออาหารของเด็กไทยในปัจจุบันนี้ อาจกลายเป็นฝันร้ายที่ตามหลอกหลอนเด็กน้อยเหล่านั้นไปจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และกลายเป็นปัญหาเรื้อรังในอนาคตได้
“The only way to keep your health is to eat what you don’t want, drink what you don’t like, and do what you’d rather not.”
Mark Twain
เราเรียนรู้กันมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าการกินอาหารเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีนั้น ร่างกายจำเป็นต้องได้รับสารอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ หรือลงให้ลึกไปอีกหน่อยก็ควรกินผักให้ครบทั้ง 5 สี แต่ในความเป็นจริงแล้วจะมีสักกี่คนที่สามารถทำตามชุดความรู้เบื้องต้นนี้ได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ซึ่งไม่สามารถเลือกมื้ออาหารเองได้ การกินอาหารให้ถูกต้องตามหลักการนี้ไม่ใช่เพียงแนวทางที่คิดค้นขึ้นลอยๆ เพราะจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่ามีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ต้องเจ็บป่วยเนื่องด้วยภาวะทุพโภชนาการ หรือการได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
ตัวเลข 3 ล้านคนทั่วโลกนั้นเป็นตัวเลขที่น่าตื่นตกใจไม่น้อยถ้าจะบอกว่านี่คือจำนวนเด็กที่เสียชีวิตเนื่องจากการขาดสารอาหาร นอกเหนือจากนั้น ปัญหาด้านอาหารทั้งขาดและเกินยังส่งผลให้มีเด็กที่เป็นโรคอ้วนถึง 43 ล้านคน และเด็กที่มีปัญหาแคระแกร็นกว่า 161 ล้านคนทั่วโลก
“All the money in the world can’t buy you back good health.”
Reba McEntire
มองดูในประเทศไทยเองจำนวนของเด็กที่มีภาวะผอม น้ำหนักเกิน หรือแคระแกร็นก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน โดยสาเหตุหลักพบว่าเกิดจากพ่อแม่ผู้ปกครองที่ขาดความรู้ความเข้าใจด้านโภชนาการที่ดี ตลอดจนภาวะด้านทุนทรัพย์ก็เป็นปัจจัยสำคัญ อย่างที่เรารู้กันดีว่าร่างกายก็เสมือนกระจกสะท้อนถึงสิ่งที่เรารับเข้าไป “You’re what you eat” ต่างที่การสะท้อนของกระจกจะฉายภาพเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่การสะท้อนของการบริโภคนั้นสามารถติดตัวเราไปในระยะยาวแม้ว่าเราจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ผ่านโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่แฝงตัวอยู่ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน หลอดเลือด ความดัน หัวใจ โรคไต ไปจนถึงความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงอย่างมะเร็ง กลายเป็นปัญหาห่วงโซ่ที่กระทบไปถึงระบบสาธารณสุขของประเทศไทย และประชากรหลักที่จะเป็นส่วนขับเคลื่อนสังคมต่อไปในอนาคต
ซึ่งกว่าที่เราจะรู้ตัวก็ไม่สามารถนั่งไทม์แมชชีนย้อนเอาสุขภาพที่ดีกลับมาได้แล้ว เพราะฉะนั้นปัญหาเรื่องอาหารการกินในเด็กจึงควรถูกยกเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่เราทุกคนควรมีส่วนร่วมในการป้องกัน และดูแลให้เด็กๆ เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี ตลอดจนเข้าใจถึงการดูแลโภชนาการให้ตัวเอง
“It is health that is real wealth and not pieces of gold and silver.”
Mahatma Gandhi
เพราะปัญหา “ไม่เลือกกิน กินไม่เลือก เลือกไม่กิน” ตลอดจนความต้องการปลูกฝังลักษณะนิสัยเลือกกินแต่ของมีประโยชน์เพื่อสุขภาพที่ดีของเด็กๆ ผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้อย่างมูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย จึงได้ก่อตั้งโครงการหนึ่งที่มีชื่อว่า “ฟาร์มสุขภาพของหนู” ขึ้น เล่าโดยย่อ โครงการนี้คือการเข้าไปช่วยเหลือเด็กๆ ในถิ่นทุรกันดารอย่างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ตลอดจนพ่อแม่ผู้ปกครอง คุณครู ผู้นำชุมชน ให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับเรื่องโภชนาการอย่างถูกต้อง
ทั้งยังสานต่อการพัฒนาแหล่งอาหารที่ดี และมีประโยชน์ต่อเด็กๆ อย่างแปลงผัก แหล่งเลี้ยงเป็ดพันธุ์ไข่ บ่อปลานิล ด้วยการน้อมนำหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาเป็นกรอบแนวคิดของการพัฒนา เพื่อเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว การเกิดขึ้นของโครงการนี้ไม่เพียงแต่เป็นการช่วยเหลือเด็กๆ อย่างเป็นรูปธรรมที่เล็งเห็นผลจริงแล้ว การได้มอบความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องด้านโภชนาการ รวมถึงการสอนวิชาที่เกี่ยวข้องต่างๆ อาทิ การเกษตร การแปรรูปอาหาร ยังนับเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวอย่างชาญฉลาด ที่ทำให้เด็กสามารถพึ่งตนเองได้ในอนาคต ทั้งยังสามารถส่งต่อความรู้นี้ไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน หยุดยั้งวงจรทุพโภชนาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพราะสุขภาพคือสมบัติแสนสำคัญ และล้ำค่าอย่างที่ไม่มีแก้วแหวนเงินทองใดๆ มาเทียบได้ มูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทยยังคงมุ่งมั่นที่จะสานต่อโครงการนี้โดยกระจายความช่วยเหลือไปยังพื้นที่อื่นๆ อีกต่อไปในอนาคตอันใกล้
“Because without your health, you’ve got nothing going on.”
Ric Flair