แม้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยจะถูกพูดถึงมากขึ้น หลายอย่างเริ่มมีกระแสความเคลื่อนไหวในทิศทางที่ดี หากมิติหนึ่งที่สำคัญเป็นลำดับต้นๆ แต่ยังต้องการความช่วยเหลือก็คือมิติเรื่องโภชนาการและสุขอนามัย
ผลสำรวจจากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลพบว่าเด็กไทยอายุ 6 เดือน – 12 ปี ทั้งในเขตเมืองและพื้นที่ห่างไกล กำลังเผชิญกับภาวะทุพโภชนาการหลายแบบ ทั้งขาดสารอาหาร ทั้งมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ อีกทั้งกว่า 70% ก็ยังได้รับแคลเซียมต่อวันไม่เพียงพออีกด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านสติปัญญา การเจริญเติบโตของร่างกาย รวมถึงการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย
สาเหตุทางตรงของปัญหาเหล่านี้ก็คือการที่เด็กไม่ได้รับสารอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ หรือได้กินอาหารที่มีคุณภาพครบทั้ง 3 มื้อ แต่สาเหตุที่เป็นต้นทางจริงๆ แล้วก็คือ ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งอาหารที่ถูกต้องตามโภชนาการนั่นเอง
ดังนั้น หากเราต้องการให้เด็กในวันนี้ที่จะเติบโตมาเป็นกำลังขับเคลื่อนสังคมในวันต่อไป การวางรากฐานที่แข็งแรงคือสิ่งจำเป็น และสุขภาพกับโภชนาการที่ดีคืออิฐก้อนแรกที่สำคัญของรากฐานนั้น
จริงอยู่ว่าการเรียนรู้ของเด็กเป็นรากฐานที่สำคัญ แต่เราจะพาเด็กๆ ไปถึงจุดนั้นไม่ได้เลย ถ้าท้องยังหิว ถ้าร่างกายยังไม่พร้อมสมบูรณ์
โครงการ ‘ฟาร์มสุขภาพของหนู’ โดย ‘มูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย’ จึงเกิดขึ้นเพื่อจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอิฐก้อนแรกก้อนนั้น
เป้าหมายของโครงการนั้นไม่ได้ซับซ้อนนัก เพราะความปรารถนาตั้งต้นคือการช่วยเหลือให้เด็กไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน แต่วิธีการจะไปให้ถึงเป้าหมายนั้นก็ต้องใช้ความร่วมมือหลายภาคส่วน และกิจกรรมที่จะเป็นสะพานพาเด็กๆ ไปพบกับคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
เริ่มต้นจากการสนับสนุนทุนตั้งต้นเมื่อโรงเรียนเริ่มดำเนินโครงการตามแผนงานของแต่ละโรงเรียน และการมอบทุนหมุนเวียนเมื่อโรงเรียนดำเนินโครงการจนถึงช่วงท้าย เพื่อนำไปเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับการพัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่อง
กิจกรรมที่ว่าก็มีตั้งแต่การเรียนรู้เทคนิคการทำเกษตรแบบผสมผสานสำหรับเด็กโดยใช้วิธีธรรมชาติที่ปลอดภัย เข้าใจหลักการบริหารจัดการพื้นที่เกษตร รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับเด็ก โดยไม่ลืมที่จะให้เด็กๆ ได้ลงมือทำ (Active Learning) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และปลูกฝังการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา
แต่การทำกิจกรรมกับเด็กๆ เพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถสร้างความยั่งยืนได้ จึงจำเป็นที่จะต้องส่งต่อความรู้ให้แก่ตัวแทนครูและผู้นำชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ (Farm Guru) เพื่อนำไปต่อยอดให้โครงการฟาร์มสุขภาพของหนูยั่งยืน
โครงการฟาร์มสุขภาพของหนูเดินทางมาถึงปีที่ 4
แอมเวย์ได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนและศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จนสามารถขยายโอกาสไปสู่ 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร อุดรธานี เลย และบึงกาฬ ครอบคลุมโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนจำนวน 22 แห่ง ทำให้มีนักเรียนได้รับประโยชน์จากโครงการกว่า 1,800 คน
นักเรียนสามารถเข้าถึงอาหารที่หลากหลาย ได้มาตรฐาน และเพียงพอสำหรับพัฒนาการทางร่างกาย อีกทั้งยังต่อยอดโดยนำไปแปรรูปเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้กลับสู่โรงเรียน ครอบครัว และชุมชน
รวมแล้วตลอด 4 ปี แอมเวย์ส่งต่อโอกาสผ่านการสนับสนุนฟาร์มสุขภาพของหนู ผ่านโรงเรียนในทุกภูมิภาค จำนวน 79 แห่ง มีนักเรียนได้รับประโยชน์ถึง 10,431 คน ตัวแทนครูและผู้นำชุมชนอีก 395 คน โดยมอบเงินสนับสนุนรวมทั้งสิ้น 7.9 ล้านบาท
สุขภาพและพัฒนาการทางร่างกายของเด็กสำคัญต่อชีวิตพวกเขาในอนาคตมากพอๆ กับที่คุณภาพชีวิตเด็กๆ สำคัญต่ออนาคตของชุมชนและประเทศ ดังนั้น การยกระดับโอกาสให้เด็กๆ เข้าถึงอาหารที่ได้คุณภาพคือเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน
และก็คงไม่ผิดนัก หากเราจะบอกว่าโครงการฟาร์มสุขภาพของหนู คือจุดเริ่มต้นอันนำไปสู่ความสุขของชุมชนอย่างยั่งยืน
รับชมวิดีโอโครงการฟาร์มสุขภาพของหนูได้ที่นี่