หากพูดถึงเป้าหมายในชีวิต เชื่อว่าคงมีหลายคนที่ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าการใช้ชีวิตให้มีความสุข
ทำให้หลายคนเคยชินกับการหาความสุขด้วยการแสวงหาบางสิ่งมาเติมเต็มความต้องการของตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก
กลายเป็นว่าเราอาจชินกับการเติมหลอดความสุขของตัวเองแบบนี้มากเกินไป จนอาจหลงลืมไปว่าในความเป็นจริงแล้วความสุขมีหลากหลายประเภท และหนึ่งในนั้นคือความสุขที่เกิดจากการเป็น ‘ผู้ให้’
เมื่อการเป็น ‘ผู้ให้’ ทำให้เรา ‘ได้รับ’ ความสุข
มีการให้อย่างหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยทุนทรัพย์ หรือต้องลงแรงสละเวลาชีวิตมากมาย ใครก็ทำได้ อาศัยแค่ใจที่อยากเป็นผู้ให้ก็เพียงพอ สิ่งนั้นก็คือการให้เลือด หรือการบริจาคโลหิต
เคยได้ยินคำพูดคนสมัยก่อนที่บอกว่า ‘การให้ที่ยิ่งใหญ่คือการให้ชีวิต’ ไหม เมื่อพูดว่าให้ชีวิตอาจดูเป็นเรื่องยิ่งใหญ่เกินตัวไปมาก หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่าจะสามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้นได้อย่างไร แต่ความจริงการที่เรามาเป็นผู้บริจาคเลือด เท่ากับเราได้ช่วยต่อชีวิตคนๆ หนึ่งแล้ว ที่กล่าวว่าเป็นการให้ชีวิตจึงไม่เกินจริงเลย
เพราะเลือดเป็นสิ่งจำเป็นในการใช้รักษาผู้ป่วย 77% นำไปให้ผู้ป่วยที่สูญเสียเลือดฉับพลันจากการเกิดอุบัติเหตุ, การผ่าตัด, การเสียเลือดหลังคลอดบุตร อีก 23% นำไปรักษาผู้ป่วยโรคเลือด ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีสารสกัดใดๆ ใช้ทดแทนเลือดในการรักษาผู้ป่วยเหล่านี้ได้ จำเป็นต้องขอรับบริจาคจากอาสาสมัครเพียงอย่างเดียว จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ทุกๆ ปีเรามักจะได้ยินข่าวคราวสภากาชาดขาดแคลนเลือดในคลัง
จากข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลหิตที่กำหนดว่าควรมีผู้บริจาคเลือดให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 3 ของจำนวนประชากร ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้บริจาคเฉลี่ยเพียงร้อยละ 1.63 ของจำนวนประชากรเท่านั้น และในจำนวนนั้นยังเป็นผู้บริจาคประจำ (ทุกๆ 3 เดือน) เพียงร้อยละ 34.16
นอกเหนือจากนั้นยังเป็นผู้บริจาคขาจรที่บริจาคเลือดปีละครั้ง ในขณะที่มีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้เลือดและอุบัติเหตุเกิดขึ้นในทุกๆ วัน จำนวนเลือดในคลังจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการอยู่เสมอ
ในแต่ละปีเลยมีทั้งการประชาสัมพันธ์และการจัดอีเวนต์ต่างๆ จากทั้งทางสภากาชาดไทยเอง รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอื่นๆ เพื่อดึงดูดคนมาบริจาคเลือดให้เราได้เห็นกันตลอดทั้งปี บางคนอาจเห็นผ่านตาแล้วผ่านไป แต่ถ้าลองเปิดใจมาเป็น ‘ผู้ให้’ อาจได้ความสุขกลับไปมากกว่าที่คิดก็ได้นะ
ให้โลหิต ให้ชีวิต ให้อะไรมากกว่าที่คิด
หลายคนอาจยังมีความเชื่อผิดๆ ต่อการบริจาคเลือดอยู่ อาจคิดว่าการให้เลือดเหมือนการเสียเลือดโดยทั่วไปที่น่าจะส่งผลเสียต่อร่างกาย แต่ความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม เพราะในสภาวะปกติร่างกายจะผลิตเลือดอยู่ตลอดเวลา ประมาณ 17-18 แก้ว ขณะที่ร่างกายต้องการใช้งานในปริมาณ 15-16 แก้วเท่านั้นเพื่อให้ระบบไหลเวียนเลือดของร่างกายปกติและคงที่ เลือดที่บริจาคไปนี้จึงเป็นเลือดส่วนเกิน แต่เราสามารถส่งต่อเพื่อช่วยเหลือคนอื่นๆ ที่ต้องการได้อีกมากมาย เพราะเลือดหนึ่งถุงสามารถนำไปปั่นแยกส่วนเพื่อใช้ช่วยเหลือคนได้มากกว่า 3 ส่วน ได้แก่ เม็ดเลือดแดง, เกร็ดเลือด, พลาสม่า และพลาสม่านี้เองยังสามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาได้อีกสามชนิด ได้แก่ แฟคเตอร์ VII อิมมูโนโกลบูลิน และอัลบูมิน เท่ากับว่าเลือดจาก 1 ผู้ให้อาจช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มากกว่า 3 คน
นอกจากไม่ส่งผลเสียต่อร่างกายและยังช่วยเหลือคนอื่นได้มากมายแล้ว การบริจาคเลือดยังส่งผลดีกับตัวเราอย่างคาดไม่ถึง การที่เราบริจาคเลือด ในทางหนึ่งเหมือนเราได้ถ่ายเลือดส่วนเกินออกจากร่างกายอย่างสม่ำเสมอและถูกวิธี เลยช่วยกระตุ้นการทำงานของไขกระดูกให้สร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงใหม่ ส่งผลให้ระบบไหลเวียนเลือดดี นอกจากนี้ยังมีรายงานการวิจัยที่สนับสนุนว่าการบริจาคเลือดทำให้ลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ช่วยเพิ่มไขมันดี (HDL) พร้อมทั้งช่วยยับยั้งการทำลายหลอดเลือดของไขมันไม่ดี (LDL) ไปจนถึงช่วยลดการสะสมของเหล็กที่ผิวหนังทำให้ผิวพรรณกระจ่างใส ช่วยชะลอความร่วงโรยของผิวหนังอีกต่างหาก
และสุดท้ายคือผลพลอยได้ทางจิตใจ เพราะการเป็นฝ่ายให้ก็สามารถทำให้เกิดความรู้สึกทางจิตวิทยาที่เติมเต็มเราได้ไม่ต่างจากความสุขจากวัตถุ ยิ่งเมื่อให้แล้วได้รับพลังงานดีๆ กลับมา ยังอาจทำให้ใจฟูมากกว่าการเติมเต็มความต้องการตัวเองคนเดียวซะอีก นั่นเพราะนอกจากเรามีความสุขแล้ว เรายังส่งต่อความสุขนี้ให้กับคนอื่น ไปจนถึงสังคมรอบๆ ตัวคนเหล่านั้นได้อีกด้วย
เห็นไหมว่าการบริจาคเลือดไม่ใช่สิ่งน่ากลัว แถมยังให้อะไรได้มากกว่าที่คิด แค่ดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง ใช้แค่ใจเป็นทุนก็ทั้งมีความสุขและมอบความสุขจากการเป็นผู้ให้เลือดได้แล้ว
เติมสุข สู่สังคม
การเป็นผู้ให้เป็นสิ่งที่ต้องตระหนักรู้และลงมือทำด้วยตนเองก็จริง แต่สิ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการตระหนักรู้เหล่านี้เป็นวงกว้างจำเป็นต้องอาศัยการจัดกิจกรรมและการประชาสัมพันธ์จากองค์กรต่างๆ เป็นอีกกำลังสำคัญ
ด้วยการมองเห็นปัญหาการขาดแคลนเลือดในคงคลังของสภากาชาดไทย รวมทั้งมองเห็นความสำคัญของการเป็นผู้ให้นี้เอง ทำให้ภาคเอกชนอย่าง บริษัท บางจากฯ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ บางจากฯ เนื่องในวาระการก้าวเข้าสู่ทศวรรศที่ 5 และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 จึงได้จัดตั้งโครงการ “เติมสุข สู่สังคม” โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งต่อความสุขไม่สิ้นสุด (Regenerative Happiness) ภายใต้แนวคิด “Greenovate to Regenerate สมดุลธรรมชาติ สรรค์พลังไม่สิ้นสุด” ด้วยการสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน และส่งต่อพื้นที่สีเขียว ส่งเสริมนวัตกรรม และความหลากหลายทางชีวภาพ
พร้อมกันนี้ยังบรรจุกิจกรรม การสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน ด้วยการปรับปรุงรถรับบริจาคโลหิต 30 ปีบางจากฯ พร้อมมอบรถรับบริจาคโลหิตคันใหม่ ให้กับสภากาชาดไทย รวมถึงเชิญชวนพนักงานในเครือและผู้สนใจร่วมบริจาคโลหิต และแสดงเจตจำนงร่วมบริจาคอวัยวะและดวงตา ให้กับศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยและศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อร่วมสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย นับว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่จะช่วยปลูกฝั่งเมล็ดพันธุ์แห่งการเป็นผู้ให้กับผู้คนได้อย่างเป็นรูปธรรม ช่วยส่งเสริมให้สังคมมองเห็นคุณค่าของการให้
นอกจากจะเติมสุขให้กับสังคมแล้ว ยังสามารถมอบความสุขให้ตัวเองได้ด้วย เรียกได้ว่ามีความสุขกันถ้วนหน้าทั้งผู้ให้และผู้รับ เติมสุขสู่สังคมได้อย่างแท้จริง
อ้างอิงข้อมูลจาก
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
ติดจอ ฬ.จุฬา (โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และสภากาชาดไทย)