โลกทุกวันนี้ ขับเคลื่อนด้วยพลังของ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่แฝงเข้าไปอยู่ในแทบทุกเทคโนโลยีการดำเนินชีวิตของเรา แต่ในความสะดวกสบาย ก็ต้องแลกมาด้วยความท้าทายในการใช้พลังงานที่มากขึ้นอย่างมหาศาลเช่นกัน
ในวาระครบรอบ 40 ปีบางจากฯ ก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 จึงได้จัดงาน Bangchak Group’s Greenovative Forum ครั้งที่ 14 ในหัวข้อ ‘Crafting Tomorrow’s Future with Sustainable Energy and AI’ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการทั้งในและต่างประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและความรู้เกี่ยวกับบทบาทสำคัญของ AI ในการสร้างอนาคตที่เป็นมิตรกับการจัดการด้านพลังงาน สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
The MATTER ชวนไปถอดบทเรียน Session ที่น่าสนใจในหัวข้อ AI, Energy and Environment โดยคุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถึงประเด็นการนำประโยชน์ของ AI มาใช้ ภายใต้ความท้าทายในการรักษาสมดุลระหว่างเทคโนโลยี พลังงาน และสิ่งแวดล้อม
ความสะดวกสบายที่ AI มอบให้ กับสิ่งที่ต้องแลก
คุณชัยวัฒน์ได้เริ่มต้นด้วยการย้อนไปถึงในอดีตเมื่อหลายร้อยปีก่อน ที่เทคโนโลยียังอยู่ในยุคเริ่มต้น อุปกรณ์ที่ใช้ในการจดบันทึกชิ้นแรกๆ อย่างกระดานชนวน จนกระทั่งมาสู่การใช้กระดาษจดในสมุด พัฒนาไปสู่การใช้เครื่องพิมพ์ดีด กระทั่งถึงคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟน ที่ช่วยให้ productivity ของมนุษย์มีมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เท่ากับการมาถึงของ AI ที่ไม่เพียงช่วยย่นระยะเวลาการทำงานให้น้อยลง แต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึง productivity ให้มากขึ้นเป็นหลายเท่าตัวเลยทีเดียว และความฉลาดของ AI ก็ยังคงไม่หยุดพัฒนาเพียงเท่านี้
“ผมเชื่อมั่นว่า AI น่าจะเป็น breakthrough ที่จะช่วยทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้นและทำอะไรได้ดีขึ้น แต่มันจะไม่สามารถทำงานด้วยตัวเองหรือ self-generate ได้ จะทำได้แค่นำข้อมูลเป็นแสนล้านล้านจาก Data Lake ที่เป็นข้อมูลจริงที่มาจากคนมาย่อย เพื่อนำคำตอบมาให้เรา แตกต่างจากคนที่ใช้ข้อมูลนิดเดียวก็สามารถคิดต่อยอดได้”
คุณชัยวัฒน์ได้ชี้ให้เห็นถึงการเก็บข้อมูลดังกล่าว ก็แลกมาซึ่งการใช้พลังงานที่มหาศาล โดยยกตัวอย่างการใช้พลังงานของ Data Center ที่ใช้จัดเก็บข้อมูลบน Cloud ทั่วไปจะใช้ประมาณ 30-100 เมกะวัตต์ ต่อ 1 Data Center แต่สำหรับ Data Center ที่ประกาศโดย OpenAI ใช้ไฟฟ้ามากถึง 5 กิกะวัตต์ต่อ 1 ไซต์ ซึ่งเทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าในโรงกลั่นน้ำมันถึง 100 โรงกลั่น โดยขณะที่การใช้ Data Center ของผู้ให้บริการ AI ทั่วโลก อยู่ที่ประมาณ 70 เทระวัตต์ต่อชั่วโมง (TWh) ถ้าหากสมมติให้ประชากรทั่วโลก 2,000 ล้านคน จะใช้ไฟฟ้ามากถึง 85,000 เทระวัตต์ต่อชั่วโมง หรือเทียบได้กับการใช้ไฟฟ้าในกรุงเทพฯ 1,600 กรุงเทพฯ เลยทีเดียว
จาก Energy Addition สู่การทำ Energy Transition อย่างถูกต้อง
แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงาน หรือ Energy Transition จากพลังงานแบบดั้งเดิม มาเป็นการใช้พลังงานรูปแบบใหม่ เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาสักพัก เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตพลังงาน จากพลังงานน้ำมัน พลังงานถ่านหิน และพลังงานก๊าซธรรมชาติ หรือการเปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือกอย่าง พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อนใต้พิภพ และพลังงานชีวมวล
“การทำ Energy Transition ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนจากมืดเป็นสว่างเหมือนกับเปิดปิดสวิตช์ได้แบบข้ามคืน แต่เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลานานมากๆ เคยมีคนบอกว่า โลกเราไม่เคยมี Energy Transition มีแต่เป็น Energy Addition คือทับถมกันไปเรื่อยๆ การนำพลังงานเก่ามาทดแทนพลังงานใหม่ ต้องดู demand เก่า รวมถึง demand ใหม่ที่เกิดจากการใช้ AI ด้วย ว่าจะตอบโจทย์ได้หรือไม่ ผมคิดว่าการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของเรา น่าจะช่วย Energy Transition ได้เยอะมากกว่าที่ต้องไปคาดหวังให้ทุกคนต้องเลิกใช้น้ำมัน แล้วมาใช้พลังงานทางเลือกทั้งหมด ซึ่งเป็นไปได้ยากในช่วงเวลาเพียงเท่านี้”
คุณชัยวัฒน์ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ไลฟ์สไตล์และจิตสำนึกในการใช้พลังงาน คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การใช้พลังงานลดน้อยลงได้ เพื่อให้ที่สุดท้าย โลกไม่ต้องไปพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งอาจสร้างผลกระทบให้กับโลกอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
ทางออกใหม่ของการทำให้ AI ใช้พลังงานน้อยลง
ไม่ว่า AI จะพัฒนาไปไกลมากขนาดไหน แต่ปัญหาสำคัญคือเรื่องของการใช้พลังงานอันมหาศาล คุณชัยวัฒน์จึงได้หยิบยกตัวอย่างแนวคิดเรื่อง DNA Data Storage ซึ่งเป็นการปฏิวัติระบบบริหารการจัดเก็บข้อมูลที่ใช้พลังงานเท่าเดิม แต่มีประสิทธิภาพในการประมวลผลมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับการเก็บข้อมูลแบบดั้งเดิม โดยเปลี่ยนจากการเข้ารหัสข้อมูล 0101 เป็นรหัส 4 ตัวคือ ACGT หรือรหัสจากโครโมโซม 23 คู่แบบเดียวกับ DNA ของมนุษย์
คุณชัยวัฒน์ได้เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า เทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลกจำเป็นต้องพัฒนาได้ด้วยตัวของมันเอง เพื่อที่สุดท้ายจะช่วยให้การใช้พลังงานได้ลดน้อยลง ตัวอย่างถ้าหากเปรียบเทียบ AI เป็นเครื่องจักร เช่นเดียวกับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อ 50 ที่แล้วบริโภคน้ำมัน 4 กิโลเมตร/ลิตร แต่ทุกวันนี้สามารถทำได้ 30 กิโลเมตร/ลิตร เรียกว่าเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพแบบก้าวกระโดด
“ผมมองว่าของทุกอย่างในโลกมีต้นทุน มีราคา AI เป็นเครื่องมือที่ฉลาดมากๆ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือที่กินพลังงานมากๆ เช่นกัน เพราะฉะนั้นต้องกลับมาคิดว่า เราจะใช้มันยังไงให้ได้ประโยชน์สูงสุด คุ้มค่ากับทรัพยากรที่สูญเสียไป”