“ไทยแลนด์ สู้สู้!” เป็นที่รู้กันว่าเสียงกู่ร้องตะโกนจากกองเชียร์นั้น สร้างความฮึกเหิมให้กับเหล่านักกีฬามากมายขนาดไหน แน่นอนว่าการฝึกซ้อมและการเตรียมตัวของนักกีฬาเองเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดชัยชนะ แต่ก็ไม่น้อยที่เสียงเชียร์ส่งผลโดยตรงต่อชัยชนะที่เกิดขึ้น
ซีเกมส์ครั้งล่าสุดที่มาเลเซีย นักกีฬาไทยทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม แม้จะเป็นแค่รองเจ้าเหรียญทอง แต่ก็ต้องยกเครดิตส่วนหนึ่งให้กับกองเชียร์ในสนาม ถึงแม้จะไม่ได้มากมาย เพราะเราไม่ใช่เจ้าภาพ แต่เชื่อว่าเมื่อใดที่นักกีฬาหันไปเห็นธงชาติไทยโบกสะบัดไหวๆ อยู่ ณ มุมใดมุมหนึ่งของสนาม หรือแม้กระทั่งรู้ว่าที่เมืองไทยยังมีคนอีกนับล้านกำลังตะโกนเชียร์ส่งแรงใจอยู่หน้าจอ ก็ทำให้เกิดแรงฮึดขึ้นมาจนสามารถคว้าชัยได้ในที่สุด
แต่เบื้องหลังของเสียงเชียร์เหล่านั้นยังมีอะไรมากกว่าเป็นการส่งแรงใจ หากนักกีฬาคือตัวแทนของแต่ละประเทศที่ได้รับการส่งมาเพื่อเข้าแข่งขัน การแพ้ชนะมีผลต่อภาพลักษณ์ ศักดิ์ศรี และชื่อเสียงของประเทศอยู่ไม่น้อย กองเชียร์ก็เปรียบได้กับผู้สนับสนุนหลักที่แปะป้ายแบรนด์ธงชาติ ซึ่งมีทั้งภาพลักษณ์ ศักดิ์ศรี และชื่อเสียงของประเทศห่อหุ้มอยู่ด้วยเช่นกัน
ศักดิ์ศรีของชาติในเสียงเชียร์
หลังจากที่โลกเข้าสู่ยุคของกีฬาโอลิมปิกยุคใหม่ ที่เปลี่ยนจากการแข่งขันเพื่อแย่งชิงอำนาจระหว่างประเทศ สู่เป้าหมายใหม่คือการสร้างความเท่าเทียมและสามัคคีผ่านตัวแทนนักกีฬาจากทุกประเทศทั่วโลก ถึงแม้จะมีเป้าหมายคือสันติภาพ แต่ด้วยนิยามของการแข่งขันและความเป็นชาติ ก็ทำให้มหกรรมกีฬายังเต็มไปด้วยศักดิ์ศรีของความเป็นชาติอยู่ดี ที่เห็นชัดที่สุดนอกเหนือไปจากความเก่งกาจของนักกีฬาแล้ว คือการเป็นเจ้าภาพของแต่ละประเทศ ซึ่งสะท้อนภาพลักษณ์ของทางการของประเทศผู้จัดได้อย่างดีที่สุด และหน่วยย่อยลงมานั่นก็คือ กองเชียร์ ในฐานะประชากรของประเทศเจ้าภาพที่ต้องรวมใจกันเป็นหนึ่งเดียวสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของการเชียร์ให้ประจักษ์ต่อชาติอื่นๆ ที่เข้าร่วมการแข่งขัน
ภาพที่ชัดที่สุดของการรวมแรงใจของกองเชียร์ คงหนีไม่พ้นการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนที่โตเกียวในปี 1964 ที่มีความสำคัญต่อจิตใจชาวญี่ปุ่นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นครั้งแรกที่โอลิมปิกจัดขึ้นในทวีปเอเชีย ยังถือเป็นการประกาศอย่างเป็นทางการต่อสังคมโลกว่าพวกเขากลับมาแล้ว หลังจากพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งใช้เวลาไม่ถึง 20 ปีเท่านั้นในการฟื้นฟูประเทศ ในการแข่งขันครั้งนั้นวอลเลย์บอลได้ถูกบรรจุอย่างเป็นทางการครั้งแรกในโอลิมปิก และก็นักตบสาวของญี่ปุ่นก็สามารถคว้าเหรียญทองเป็นครั้งแรกได้ในประวัติศาสตร์ แม้สนามแข่งขันจะจุคนได้ไม่มาก แต่กองเชียร์เกือบทั้งประเทศก็ได้ส่งเสียงเชียร์ผ่านหน้าจอทีวี วัดเป็นเรตติ้งได้คร่าวๆ ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศ จนทำให้โอลิมปิกคือจุดเริ่มต้นแรกๆ ที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นเกิดความเป็นชาตินิยมและภูมิใจในศักดิ์ศรีความเป็นชาติมาจนถึงทุกวันนี้เลยทีเดียว
วัฒนธรรมที่แพร่กระจายผ่านเสียงเชียร์
หากใครยังจำได้ ในการแข่งขันฟุตบอลโลกที่แอฟริกาใต้ในปี 2010 ในการถ่ายทอดสดการแข่งขัน เสียงหวูดของวูวูเซลา นั้นดังหลอนประสาทหูขนาดไหน ซึ่งจริงๆ แล้วมันคือเครื่องดนตรีของชนพื้นเมืองแอฟริกาใต้ที่นำมาใช้เป่าเชียร์ในการแข่งขันฟุตบอล จนกลายเป็นที่กล่าวถึงว่าเสียงของมันสามารถข่มขวัญกองเชียร์ของคู่ต่อสู้ได้ เพราะแทบไม่มีเสียงเชียร์หรือเครื่องดนตรีชนิดไหนสามารถทำเสียงดังกังวาลได้ขนาดนั้น และที่สำคัญยังทำลายสมาธิของนักเตะในสนามอันส่งผลต่อฟอร์มการเล่นไม่มากก็น้อย ถึงขนาดมีการเรียกร้องให้แบนเครื่องดนตรีชนิดนี้ในสนามเลยทีเดียว จากวัฒนธรรมพื้นเมืองกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกได้อย่างไม่น่าเชื่อ
เสียงเชียร์ที่เต็มไปด้วยความหวังของชาติ
แม้เรื่องการเชียร์กีฬาจะเป็นเรื่องของการรวมกลุ่มของคนหมู่มากที่มีใจรักในสิ่งเดียวกัน แต่ถ้าหากลองลงลึกในตัวบุคคลก็จะพบว่า จุดประสงค์ในการเชียร์ของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนต้องการเข้าสังคมเพื่อแลกเปลี่ยนมุมอง บางคนก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเชียร์ตามกระแส ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีด้วยซ้ำไป อย่างกระแสฟุตบอลไทยฟีเวอร์ก็น่าจะเห็นชัดเจนที่สุด Ronald F. Levant ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจาก University of Akron อเมริกาอธิบายว่าการเชียร์กีฬาคือการได้สัมผัสประสบการณ์ความสำเร็จร่วมกันกับนักกีฬา ถึงชีวิตจริงจะไม่เคยประสบความสำเร็จเลยก็ตาม แต่ถ้าทีมที่รักได้แชมป์ก็เหมือนได้รู้สึกประสบความสำเร็จไม่ต่างกัน
ในการแข่งขันซีเกมส์ที่ผ่านมาอินสตาแกรมของ FIFA ได้โพสต์ภาพของ ดักแด้ ไทยแลนด์ หรือชื่อจริง ไทยแลนด์ คำทอง ผู้นำเชียร์ทีมชาติไทยที่ครั้งหนึ่งเคยมีความฝันว่าอยากจะเป็นนักวอลเลย์บอลทีมชาติ อยากจะมีธงชาติไทยติดบนหน้าอก แต่ด้วยปัจจัยชีวิตทำให้เขามาเอาดีทางด้านการแสดงตลก ก่อนจะผันตัวสู่การเป็นผู้นำเชียร์แบบเต็มตัว เขาทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจอย่างหนักตามตระเวณไปเชียร์ทีมชาติทุกชนิดกีฬาแทบทุกการแข่งขัน ซึ่งไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกจากเรื่องความภูมิใจในชาติ การเชียร์จึงเป็นการฝากความหวังให้ตัวแทนนักกีฬาไทยได้ทำหน้าที่แทน เพราะถ้าหากนักกีฬาประสบความสำเร็จ กองเชียร์อย่างเขาก็ประสบความสำเร็จเช่นกัน
การเชียร์กีฬาจึงไม่ใช่แค่การปลุกเร้าให้นักกีฬาได้รับชัยชนะ แต่ยังมีเบื้องหลังของความเป็นชาติที่กองเชียร์ปักหมุดหมายแห่งความหวังไว้ให้ทีมชาติประสบความสำเร็จ จะศึกนี้หรือศึกไหนก็มาร่วมภาคภูมิใจกับนักกีฬาทีมชาติไทยไปพร้อมๆ กัน #prideofthailand
อ้างอิง
http://www.posttoday.com/analysis/interview/373108
https://en.wikipedia.org/wiki/Vuvuzela
https://www.olympic.org/tokyo-1964
http://www.huffingtonpost.com/2015/01/30/sports-fan-mental-health-benefits_n_6565314.html