“สายพันธุ์ที่จะสามารถอยู่รอดเติบโตต่อไปได้ ไม่ใช่สายพันธุ์ที่แข็งแกร่งที่สุด หรือกระทั่งสายพันธุ์ที่ฉลาดที่สุด หากแต่เป็นผู้ที่สามารถปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงได้ต่างหาก”
ชาร์ล ดาร์วิน นักวิทยาศาสตร์ผู้เลื่องชื่อเกี่ยวกับวิชาพันธุศาสตร์ไม่ได้กล่าวไว้ (อ้าว!?) ถึงแม้ว่าที่จริงแล้วประโยคอันโด่งดังนี้จะมีที่มาจากย่อหน้าหนึ่งของตำราเรียนก็ตาม แต่ถึงกระนั้นจากทฤษฎีการคัดสรรทางธรรมชาติที่นักวิทยาศาสตร์ผู้เปรื่องปราดท่านนี้ได้ค้นพบไว้เมื่อนับร้อยปีที่แล้ว ก็เป็นข้อยืนยันชั้นดีที่ช่วยสนับสนุนประโยคนี้ให้มีน้ำหนักมากยิ่งกว่ามากขึ้นไปอีก
ซึ่งข้อเท็จจริงที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงแค่ในวิวัฒนาการของสิ่งชีวิตในธรรมชาติทั่วไป แต่ยังกินความกว้างไปถึงสังคมมนุษย์ออฟฟิศอันแสนใกล้ตัวเราอีกด้วย
ระหว่างชั้นยังมีบันได ระหว่างวัยก็มีช่องว่าง
เคยไหมเรียนจบมหาวิทยาลัยมาก็ฝันว่าจะได้พาตัวเองไปอยู่ในบริษัทใหญ่โต ได้แต่งตัวสวยๆ นั่งจิบกาแฟชิลล์ๆ ระหว่างทำงาน มีรุ่นพี่ที่น่ารักคอยสอนงานด้วยความจริงใจ เพื่อนร่วมงานสมัครรักใคร่กลมเกลียว กลับบ้านนอนหลับอย่างมีความสุขทุกคืน …ตัดภาพมาที่ความเป็นจริง นอกจากจะต้องหอบสังขารที่เหมือนนอนไม่พอไปฝากชีวิตไว้กับพี่วินฯ ทุกเช้าแล้ว พอเท้าก้าวเข้าประตูปุ๊บชีวิตก็เหมือนต้องเตรียมพร้อมรับมือกับมนุษย์ที่พูดกันคนละภาษาปั๊บ โดยเฉพาะในบริษัทที่พนักงานมีความแตกต่างของช่วงวัยค่อนข้างมากก็อาจจะยิ่งมีปัญหานี้เป็นพิเศษ
ไม่ว่าจะเป็นมุมมองในด้านการทำงานที่แต่ละฝ่ายต่างก็มีวิถีทางเป็นของตัวเอง ขณะที่ฝั่งผู้ใหญ่อาจคุ้นชินกับการทำงานเป็นระบบระเบียบ เป็นขั้นเป็นตอน ตลอดจนให้คุณค่ากับผลลัพธ์แบบเก่าที่เคยประสบความสำเร็จมา เด็กรุ่นใหม่กว่ากลับมักชื่นชอบการทำงานที่รวดเร็ว ลดขั้นตอนวุ่นวาย และมุ่งเป้าประสิทธิผลที่แตกต่างจากที่เคยทำได้มาก่อน
นี่ยังไม่รวมถึงปัญหาความแตกต่างทางความคิดในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่หลายครั้งอาจบานปลายกลายเป็นความบาดหมางรอยใหญ่ อาทิ เรื่องของระบบอาวุโส การเข้างาน การแต่งตัว วัฒนธรรมองค์กร ไปยันรสนิยมในการตัดสินงาน ซึ่งความแตกต่างตรงนี้หากไม่ได้รับการปรับจูนที่เหมาะสม ยิ่งนานวันก็จะยิ่งทับถมจนกลายเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่รอวันซัดฝั่ง
เก็บเกี่ยวประโยชน์จากความสดใหม่
หลายๆ ครั้งเมื่อความขัดแย้ง หรือความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างคนสอง สาม หรือหลายช่วงวัยเกิดขึ้น ตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติระบบอาวุโสของไทย เหล่าเด็กรุ่นใหม่ผู้บารมียังอ่อนแอก็มักจะต้องแพ้ให้กับผู้ใหญ่ที่มีตำแหน่งสูงกว่า หรืออยู่มาก่อนอย่างราบคาบ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก น่าเสียดายต่อทั้งในแง่ผลประโยชน์ของบริษัท และน่าเสียดายในแง่ของโอกาสในการได้เรียนรู้วิธีคิดที่สดใหม่จากเด็กรุ่นใหม่กว่า
โบยัน สลัต นักศึกษาหนุ่มชาวดัชท์ริเริ่มความคิดสร้างทุ่นกำจัดขยะในมหาสมุทรจนต่อยอดกลายเป็นองค์กร The Ocean Cleanup ขณะอายุได้เพียง 19 , เดวิด คาร์ป นักพัฒนาเว็บไซต์ได้ออกแบบเว็บไซต์รูปภาพชื่อดัง Tumblr ก่อนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการขณะอายุได้เพียง 21 และแน่นอนอย่างที่เรารู้กันมาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก และผองเพื่อนร่วมกันคิดค้น ตลอดจนเปิดตัวแพลตฟอร์มต้นกำเนิด facebook ขณะที่เขาอายุได้เพียง 20 ปีเท่านั้น
เพราะบางครั้งอายุก็ไม่ใช่ตัวตัดสินทุกอย่างเสมอไป การเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ได้มีโอกาสนำเสนอความคิดเห็นของตัวเอง และการเปิดใจให้กับไอเดียใหม่ๆ (ที่ผู้ใหญ่บางคนอาจถึงกับคิ้วกระตุกในทีแรก) คือกุญแจที่สำคัญมากดอกหนึ่งในการทำธุรกิจศตวรรษนี้ เพราะนอกจากจะเป็นการเปิดทางให้เหล่าเด็กใหม่ไฟแรงได้แสดงถึงศักยภาพอันจะเป็นประโยชน์สูงสุดกับบริษัทแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้เหล่าพนักงานในทุกๆ ช่วงวัยรู้สึกตื่นตัวที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ และพัฒนาตัวเองอยู่เสมออีกด้วย
ปรับตัวไม่ได้ ก็อยู่ไม่รอด
เพราะฉะนั้นแล้วหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยนำพาทั้งพนักงาน และองค์กรให้อยู่รอดไปด้วยกันก็คือการยึดเอากฎเกณฑ์ธรรมชาติอย่าง ‘การปรับตัว’ เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต แม้ว่าคุณจะเป็นคนที่ฉลาดที่สุด มีความสามารถที่สุด หรือทุ่มเทให้กับบริษัทที่สุดก็ตาม แต่หากไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับวิธีการทำงานของลูกน้องเด็กรุ่นใหม่ หรือผู้บริหารระดับสูงที่บางครั้งเหมือนหลุดมาจากยุคจูราสสิคปาร์คได้ วันหนึ่งไม่คุณ หรือเขาก็ต้องเป็นฝ่ายไป หรือร้ายกว่านั้นก็ต้องทนทำงานท่ามกลางรอยร้าวอันแสนน่าอึดอัดใจเช่นนี้ไปทุกวัน
นั่นยังไม่นับความเปลี่ยนแปลงภายนอกของโลกที่หมุนไปทุกวันๆ วันนี้เศรษฐกิจดี บริษัทยังสามารถรองรับกับการทำงานรูปแบบเก่าๆ ได้ก็นับว่าโชคดีไป แต่หากวันไหนสถานการณ์เปลี่ยนแปลง บริษัทต้องการไอเดียใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ มาเพื่อชดเชยส่วนที่ลดงบประมาณไป หากคุณยังเป็นคนหนึ่งที่ยึดติดกับวิธีคิดแบบเดิม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์แบบเดิม วันนั้นอาจเป็นวันที่คุณจะได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าทำไมสิ่งมีชีวิตบางประเภทถึงได้สูญพันธุ์ไปจากโลกของเรา
รุ่นน้องในวันนี้ คือผลผลิตของรุ่นพี่ในวันนั้น
โบราณมีสุภาษิตหนึ่งว่า ‘ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น’ ถ้ามองให้ดีสุภาษิตนี้ไม่ได้หมายถึงแค่การถ่ายทอดทางสายเลือดอย่างเดียว เพราะแม้ในสายตาของผู้ใหญ่เด็กยุคนี้จะมีความแตกต่างทางความคิดมากแค่ไหน แต่ยังไงก็หนีความจริงไม่ได้ว่าเราต่างก็เป็นผลผลิตจากคนยุคก่อนเช่นกัน เราดูหนังที่คนยุคก่อนสร้าง เสพดนตรีที่คนยุคก่อนเล่น อ่านหนังสือที่คนยุคก่อนเขียน โตมากับสื่อที่เป็นฝีมือของคนยุคก่อน เพราะฉะนั้นท่ามกลางความแตกต่างของช่วงวัย ต้องอย่าลืมว่าเราก็ยังมีความรู้สึกร่วมบางอย่างที่คาบเกี่ยวกัน
เมื่อมองถึงความจริงในข้อนี้ การปรับตัวเข้าหากันก็ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด เริ่มจากการเปิดใจยอมรับความแตกต่าง ยอมรับความคิดเห็นของแต่ละฝ่ายอย่างจริงใจ ใช้เหตุผลในการวิเคราะห์หาทางออกที่เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างปราศจากอคติ ไม่ด่วนตัดสินใจในสิ่งที่ไม่รู้ ไม่เชื่อ หรือไม่เคยมีประสบการณ์สัมผัสมาก่อน และที่ต้องจำเอาไว้ให้แม่นมั่นก็คือ หากเราเกลียดอะไรในสิ่งที่คนรุ่นก่อนปฏิบัติกับเรามา ก็จงอย่านำสิ่งนั้นไปทำต่อกับเด็กๆ ในรุ่นถัดจากเรา
เคมีที่ลงตัวของทุก Generation
มาถึงจุดนี้ก็คงไม่ต้องถามกันแล้วว่าใครกันที่ต้องเป็นคนปรับตัว นอกจากคนทุกๆ Gen ควรจะใช้ความพยายามในการปรับตัวเข้าหากันแล้ว บริษัทที่มีวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาตรงจุดนี้มากพอ ก็ควรต้องเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันหาเคมีที่ลงตัวกับคนทุกๆ รุ่นให้สามารถทำงานร่วมกันได้ เหมือนที่ GC (บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)) เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้มาตลอด เพราะเมื่อผู้ร่วมงานทุกคน ทุก Gen สามารถเปิดใจยอมรับความแตกต่างในกันและกัน พยายามปรับตัว อดทน เรียนรู้ ความเชื่อ ความชอบ วิธี และวิถีในการทำงานที่แตกต่าง ก็จะยิ่งเป็นการส่งเสริม สนับสนุนซึ่งกันและกันให้ก้าวไปได้ไกลกว่าเดิม
GC สนับสนุนการหาเคมีที่ลงตัวของคนทุกรุ่น