เพราะการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกแม้เพียงหนึ่งองศาไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
ที่ผ่านมาจึงเห็นแคมเปญสิ่งแวดล้อมทั้งตามโซเชียลมีเดียและสื่อทุกกระแสที่พยายามบอกให้เราช่วยกันคนละเล็กละน้อยในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การประหยัดพลังงาน บริโภคเท่าที่จำเป็น และการลดละเลิกใช้ถุงพลาสติก เพราะมันทั้งต้องใช้เวลาเป็นร้อยปีกว่าจะย่อยสลายได้ แล้วก็สร้างขยะอันล้นเกินให้โลกไปในคราวเดียวกัน
จนเมื่อเข้าสู่ดีเดย์ในวันที่ 1 มกราคม 2563 ที่หลายประเทศเริ่มประกาศแบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ส่วนประเทศไทยเองก็ใช้วันปีใหม่นี้เป็นโอกาสในการขอความร่วมมือจากร้านค้าทุกภาคส่วน ให้งดแจกถุงพลาสติกให้กับผู้มาใช้บริการ
ทั้งหมดนั้นเกิดเป็นคำถามของใครหลายคนว่าจริงๆ แล้วพลาสติกผิดขนาดนั้นเลยหรือ ในเมื่อแท้จริงแล้ว พลาสติกมีคุณสมบัติและประโยชน์มากมายในตัวเอง หากเลือกนำมาใช้งานอย่างถูกวิธี
วงการแพทย์ต้องพึ่งพลาสติกเพื่อต่อสู้กับโควิด-19
ท่ามกลางกระแสสังคมที่บอกให้เรา ลด ละ เลิก พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือบางคนอาจจะเคยเจอการเหน็บแนมจากเพื่อนฝูงอยู่บ้างเวลาใช้หลอดหรือเผลอถือถุงพลาสติกว่าเธอมันช่างไม่รักโลกเอาซะเลย แล้วอยู่ๆ เป้าหมายลดพลาสติกก็ถูกทดสอบด้วยการระบาดของไวรัสโควิด-19 นั่นเพราะการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับทุกสิ่งอย่างซ้ำๆ ย่อมทำให้ทั้งเราและร้านค้าต้องกลับมาใช้ถุงหรือแก้วพลาสติกกันน่ะสิ แล้วอุปกรณ์ป้องกันและรักษาเชื้อโรคที่มีประสิทธิภาพในตอนนี้ มันก็ทำมาจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งนี่เอง
นั่นแปลว่าพลาสติกกำลังจะกลับมา และถ้ามองกันจริงๆ จังๆ เราก็จะเห็นว่าพลาสติกมันมีประโยชน์อยู่มากเลยนี่นา เพราะนอกจากที่กล่าวไปข้างต้น วงการแพทย์ตอนนี้ก็ตามหาพลาสติกเพื่อมารองรับกระบวนการรักษาและป้องกันโรคกันอยู่สูงมาก ไม่ว่าจะเป็น หน้ากาก N95 หน้ากากอนามัย เสื้อกาวน์ หน้ากากครอบหน้าเพื่อป้องกันการกระเด็นของละอองน้ำและสารคัดหลั่ง หรือเฟสชิลด์ กระบอกสูบของเหลว สายยางสำหรับคนไข้ ชุดตรวจ หรือแม้แต่ถุงพลาสติกที่คนที่กักตัวอยู่บ้านเองก็ต้องหามาห่อหุ้มหน้ากากที่ใส่ไปแล้วก่อนทิ้งลงถังขยะเพื่อไม่ให้เชื้อโรคกระจายตัว รวมถึงการสั่งอาหารมาทานที่บ้านที่ยังไง๊ยังไงก็มีการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวอย่างแน่นอน
ด้วยความที่พลาสติกมีต้นทุนค่อนข้างต่ำ แถมสำนักงานมาตรฐานอาหารแห่งสหราชอาณาจักร (Food Standard Agency – FSA) เองก็แนะนำว่าเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารหรือวัตถุที่เราใส่ไปในถุงผ้า เช่น แบคทีเรียอย่าง อี.โคไล ก็อาจจะหลุดไปเกาะสะสมอยู่บนถุงผ้าได้นานถึง 10 วัน ในสถานการณ์แห่งความระวังเช่นนี้ พลาสติกจึงเป็นตัวเลือกที่ได้เวลากลับมาพิสูจน์ตัวเองอีกครั้งหนึ่งเนื่องจากมันมีคุณสมบัติเฉพาะที่ทำให้เชื้อโรคไม่สามารถมีชีวิตเกาะอยู่นานได้ และยังมีคุณสมบัติในการกันน้ำ ทำให้เชื้อโรคไม่สามารถทะลุผิวของพลาสติกเข้าไปปะปนกับของในถุงได้
ไม่ใช่ผู้วิเศษ แต่ก็ไม่ได้ร้ายอย่างที่คิดนะ
โดยรวมแล้วพลาสติกมีประโยชน์ต่อโลกอยู่มาก อย่างไรก็ดี ผู้ใช้งานอย่างเราทุกคน จำเป็นที่จะต้องเลือกใช้และเลือกทิ้งให้ถูกวิธี เพื่อลดปัญหาและช่วยกันจัดการขยะให้ได้มากที่สุด
เรื่องพลาสติกจึงมีความซับซ้อนมากกว่าการหยุดใช้แล้วทุกปัญหาสิ่งแวดล้อมจะจบสิ้น และเมื่อพลาสติกกลับมามีบทบาทในการช่วยเพื่อนมนุษย์ในช่วงโรคระบาดตอนนี้มากขึ้น หลังจากนี้ไปเราน่าจะได้กลับมาทบทวนแนวทางจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพและใช้งานพลาสติกให้เป็นมิตรต่อโลกได้มากกว่าเดิมกัน
รักษาระยะห่างระหว่างเชื้อโรค
พลาสติกจึงกลายมาเป็นพระเอกที่ช่วยให้เรารักษาระยะห่างจากเชื้อโรคอย่างไวรัสโควิด-19 ในตอนนี้ได้มากขึ้น และเพื่อลดความเสี่ยงและร่วมด้วยช่วยกันลดจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสให้ไวที่สุด กลุ่มบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ CG Group จึงเห็นความสำคัญของการเร่งผลิตเสื้อกาวน์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจากเม็ดพลาสติกชนิดโพลีเอทิลีนคุณภาพดีของ GC Group ที่ทำให้วัสดุมีน้ำหนักเบา กันน้ำ แต่ก็เหนียวทนทานและระบายอากาศได้เป็นอย่างดี เพื่อส่งต่อให้กับโรงพยาบาลและสถานประกอบการที่ให้การรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด 12 แห่งทั่วประเทศ
โดยการออกแบบและตัดเย็บชุดกาวน์นั้นเน้นให้สวมใส่ง่าย มีปลายแขนยาว น้ำหนักเบา ช่วยอำนวยความสะดวกให้บุคลากรทางการแพทย์เกิดคล่องตัวในการปฏิบัติงานมากที่สุด และได้รับการปกป้องจากการปนเปื้อนของสารคัดหลั่งรวมถึงลดความเสี่ยงของการติดเชื้อจากผู้ป่วยถึงคนไข้ได้ในคราวเดียวกัน ชุดกาวน์ดังกล่าวยังออกแบบมาให้ส่วนคอและบ่าด้านหลังมีรอยบากที่ช่วยให้บุคลากรการแพทย์ทุกคนสามารถกระตุกเพื่อให้เสื้อฉีกขาดพร้อมนำไปคัดแยกรวมถึงจัดการขยะต่อได้อย่างง่ายดาย
ไม่เพียงเท่านั้น ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นมา GC Group ยังจัดทำโครงการ Green Health Project เพื่อส่งมอบกลีเซอรีนคุณภาพสูงให้แก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปผลิตเจลแอลกอฮอล์ล้างมือก่อนจะส่งต่อและส่งเสริมการป้องกันไวรัสที่ทุกคนก็ทำได้ด้วยตัวเองผ่านการล้างมือให้สะอาดและรักษาระยะห่างทางสังคมให้กับประชาชนทั่วไปรวมถึงพนักงานในเครือ GC Group อีกด้วย
เมื่อคิดทุกอย่างให้รอบคอบตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงขั้นตอนการจัดการกับขยะอย่างมีประสิทธิภาพเหมือนอย่างโมเดลนี้ของ GC Group พลาสติกก็กลายมาเป็นตัวช่วยในการรักษาระยะห่างระหว่างเรากับเชื้อโรค แถมยังไม่เหลือภาระให้กับโลกไปในคราวเดียวกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.matichon.co.th/columnists/news_1869654
https://nypost.com/2020/03/14/using-tote-bags-instead-of-plastic-could-help-spread-the-coronavirus/
https://www.nationalgeographic.com/magazine/2018/06/plastic-planet-waste-pollution-trash-crisis/