จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในบ้านเราตอนนี้ ถือว่าดีขึ้นมาก ทำให้มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ อยู่เป็นระยะๆ จนกระทั่งในวันนี้มาตรการล็อคดาวน์ก็ได้ถูกยกเลิกไปเป็นที่เรียบร้อย โดยที่รัฐบาลก็ยังคงขอให้ประชาชนเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในรอบที่ 2
สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปคือ New Normal หรือความปกติรูปแบบใหม่ ซึ่งไม่เพียงแค่จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตที่ต้องมีการปรับตัวเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อภาพรวมในหลายๆ ด้าน หนึ่งในนั้นคือเรื่องการจัดการกับขยะปนเปื้อนอย่างหน้ากากอนามัย และขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกจากการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ส่งตรงถึงบ้าน เพื่อความปลอดภัยในเวลาที่ทุกคนต้องหยุดและอยู่บ้านช่วงวิกฤตโควิด-19 รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตอย่างเจลแอลกอฮอลล์ในขวดขนาดเล็ก ถุงมือป้องกันเชื้อโรค ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจัดการขยะในระยะยาวอย่างแน่นอน
แนวคิด Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด จึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่ GC หรือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) นำมาใช้ในการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ของ GC พร้อมกับการผสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผสานพลังนวัตกรรมพลาสติกและเคมีภัณฑ์เข้ากับองค์ความรู้จากภาคการศึกษาและการแพทย์ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่า วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีส่วนผสมจากพลาสติก ตั้งแต่หน้ากากอนามัย Face Shield เสื้อกาวน์ ไปจนถึงชุดป้องกันต่างๆ ที่มีความจำเป็นและเป็นที่ต้องการอย่างมากในช่วงเวลาที่การแพร่ระบาดกำลังวิกฤต ทำให้ GC ในฐานะผู้ผลิตที่เชี่ยวชาญด้านเคมีภัณฑ์ จึงได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ขึ้นมาโดยเฉพาะ
ไม่ว่าจะเป็น เสื้อกาวน์ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกประเภท PE (Polyethylene) ที่ออกแบบตัดเย็บให้สวมใส่ง่ายสบาย ช่วยให้แพทย์มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนสารคัดหลั่งและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากผู้ป่วย นอกจากนี้ GC ยังได้ร่วมมือกับบริษัทในกลุ่มและวชิรพยาบาล พัฒนา Medical Protective Suit ชุดป้องกันทางการแพทย์ระดับสูง ที่ใช้เฉพาะในห้องผ่าตัดและ ICU สำหรับคนไข้ที่มีอาการรุนแรงและมีโอกาสแพร่กระจายของเชื้อโรคสูง เพื่อป้องกันบุคลากรที่ทำหัตถการหรือที่อยู่ในห้องปฏิบัติการให้ปลอดภัย โดยใน 1 ชุด ประกอบไปด้วย เสื้อกาวน์ที่ผลิตจากผ้าสปันบอนด์ ผสม Meltblown, หมวกอัดอากาศป้องกันการติดเชื้อ (PAPRs) ที่นำเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติมาประยุกต์ใช้ มีคุณสมบัติแข็งแรง ทนทาน ง่ายต่อการทำความสะอาด มีปีกหมวกที่ผลิตจากเส้นใยที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และผ้าคลุมหมวก ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกคุณภาพสูงอีกด้วย
นอกจากนั้นในด้านอุปกรณ์อื่นๆ GC ยังสนับสนุนการผลิต Face Shield รวมถึง PE Films ฟิล์มพลาสติกมีคุณสมบัติเหนียวแน่น คงทน ยืดหยุ่นได้ดี นำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายในการป้องกัน เช่น ฉากกั้น, ผ้าปูเตียง และฟิล์มห่อหุ้มเครื่องมือแพทย์ เพื่อบริจาคแก่โรงพยาบาลและสถานพยาบาลกว่า 900 แห่งทั่วประเทศ
นวัตกรรม Upcycling เป็นเหมือนหัวใจหลักของ Circular Economy ก็ว่าได้ GC จึงได้ต่อยอดนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ โดยผลิต หน้ากากผ้า ที่ผ่านกระบวนการ Upcycling มอบให้กับคนทั่วไป
และ GC ยังได้ผนึกกำลังพันธมิตร สนับสนุนเซ็ตบรรจุภัณฑ์พลาสติกรักษ์โลกสำหรับบรรจุอาหารแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง กว่า 300,000 ชิ้น ผ่านแคมเปญ ‘สู้ไปด้วยกัน l Stronger Together’ ให้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหารต่างๆ กว่า 200 ร้าน ที่มีความจำเป็นต้องปรับการให้บริการขายอาหารผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งบรรจุภัณฑ์เหล่านี้มีความพิเศษคือเป็นพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ช่วยลดปัญหาของขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากสั่งอาหารออนไลน์เป็นจำนวนมากในช่วงนี้ได้เป็นอย่างดี รวมถึงฉากกั้น ทำจากพลาสติกใสชนิด PET ที่มีความหนาและใส และในส่วนคลิปซึ่งเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ประกอบฉากกั้นยังทำจากแหอวนซึ่งเป็นวัสดุรีไซเคิล 100% มอบให้กับร้านอาหารบริเวณเยาวราชและเจริญกรุง 50 ร้าน
จับมือพันธมิตร แก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ
ในสถานการณ์เช่นนี้ การร่วมมือกันคือแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ GC จึงไม่ได้ดำเนินการทุกอย่างเพียงองค์กรเดียว แต่ยังร่วมมือกับพันธมิตร อย่างเช่น มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันพัฒนา ตู้โควิเคลียร์ หรือตู้พ่นซิลเวอร์นาโนฆ่าเชื้อ ลดความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ใช้ร่วมกับน้ำยาฆ่าเชื้อที่ทาง GC เป็นผู้ผลิตเอง เพื่อมอบให้กับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช โดยคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เพื่อช่วยลดความเสี่ยงให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปที่จำเป็นต้องมาใช้บริการในโรงพยาบาล
และอย่างที่ทราบกันว่า เจลแอลกอฮอล์ คือตัวช่วยสำคัญในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ช่วงหนึ่งแอลกอฮอล์กลายเป็นสินค้าที่ขาดตลาด GC จึงได้ร่วมกับกลุ่มบริษัท ไทยเบเวอเรจ จำกัด (มหาชน) สนับสนุน Glycerine และ Triethanolamine (TEA) เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเจลแอลกอฮอล์ จำนวนกว่า 1,000,000 ขวด หรือประมาณ 50,000 ลิตร เพื่อมอบให้โรงพยาบาลและแจกจ่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
ให้ความรู้ แก้ไขปัญหาในระยะยาว
หัวใจของการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ตามแนวทางของ Circular Economy ไม่ใช่เพียงแค่การจัดการทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจกับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคเองอีกด้วย GC จึงได้ทำการเผยแพร่วิธีการคัดแยกขยะก่อนทิ้งอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้แล้ว ซึ่งถ้าจัดการไม่ถูกวิธี อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้ การให้ความรู้การทำหน้ากากอนามัย ที่สามารถซักและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ช่วยลดทั้งการใช้ทรัพยากรและปริมาณขยะได้ในระยะยาว รวมถึงการดำเนินงานร่วมกันพันธมิตรในโครงการส่งพลาสติกกลับบ้านเพื่อนำกลับมาสู่การผลิตเป็นทรัพยากรอีกครั้ง
ด้วยแนวทางการดำเนินงานของ GC ที่กล่าวมาทั้งหมด จึงเป็นหนึ่งแรงที่จะพัฒนาความร่วมมือ ด้วยการผสานพลังนวัตกรรมพลาสติกและเคมีภัณฑ์จากภาคเอกชน เข้ากับองค์ความรู้จากภาคการศึกษาและการแพทย์ ตามแนวทาง Circular Economy เพื่อฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ไปด้วยกันได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืน