ในระยะเวลาไม่กี่ปีมานี้ เราคงคุ้นเคยกับธุรกิจแบบ Sharing Economy กันมากขึ้น เพราะถือเป็นโครงสร้างของธุรกิจแนวใหม่ที่ตอบโจทย์เรื่องของการบริหารทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดหรือมีมากเกินความจำเป็น ให้สามารถกลับมาสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยส่วนมากมักจะเป็นธุรกิจบริการอย่าง Airbnb, Spotify, Uber และ Grab ที่กำลังครองตลาดโลกอยู่ในขณะนี้ แถมยังมีการคาดการณ์ว่าธุรกิจนี้ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไปเรื่อยๆ
ในขณะเดียวกัน การขายสินค้าแบรนด์เนมมือสอง ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจแบบ Sharing Economy ที่กำลังเติบโตสวนทางกับธุรกิจแบรนด์เนมมือหนึ่งที่กำลังเผชิญกับภาวะยอดขายตกต่ำ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาในหลายปีมานี้ ทำให้คนส่วนใหญ่หันมาช้อปสินค้าแบรนด์เนมมือสองกันมากขึ้น กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจแห่งการแบ่งปันที่เปลี่ยนมุมมองต่อสินค้าแบรนด์เนม จากสินค้าฟุ่มเฟือยกลายเป็นการสินค้าที่มีคุณค่ามากขึ้นเช่นกัน เพราะนอกจากจะประหยัดเงินในกระเป๋ากว่าแล้ว คุณค่าทางจิตใจก็ไม่ได้ลดลงไปเลยแม้แต่น้อย
The MATTER ได้พูดคุยกับ ชูศักดิ์ ตั้งเลิศสัมพันธ์ ผู้บริหารแห่ง Money Café Pinkoo ที่เปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ของโรงรับจำนำให้ดูทันสมัยขึ้นเมื่อปีที่แล้ว โดยในปีนี้กำลังมีแพลนที่จะเปิด Brand Off Tokyo ร้านซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้าแบรนด์เนมมือสองรายใหญ่ของญี่ปุ่นที่มีสาขากว่า 50 แห่งทั่วประเทศ ให้มาเปิดในบ้านเรา ถึงประเด็นเรื่อง Sharing Economy ของธุรกิจขายสินค้าแบรนด์เนมมือสองที่เปรียบได้กับการตอบโจทย์สังคม ทั้งในเรื่องของการบริการทรัพยากรอย่างมีคุณค่า และความสุขที่ส่งต่อกันได้ผ่านของแบรนด์เนม
มองเห็นโอกาสอะไรถึงได้นำ Brand Off Tokyo เข้ามาเปิดในไทย
ผมมีโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ทำให้ได้เห็นไอเดียเรื่องของการใช้สินค้าคุณภาพในราคาที่สมเหตุสมผล และในเรื่องของการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เรียกว่าเป็น Way of Life ของเขาเลย ซึ่งเขามีวิธีคิดอย่างละเอียดในเรื่องของความคุ้มค่า ตั้งแต่ต้นทุนการผลิต ไปจนถึงการใช้งาน ทุกอย่างประกอบเป็นวิถีชีวิตของเขามานานมาก ทำให้เขาคำนึงถึงเรื่อง Sharing Economy มาโดยตลอด
ผมคิดว่าบ้านเราอาจมีมาแล้วส่วนหนึ่ง มีการเข้าไปแทรกซึมอยู่ในหลายๆ ธุรกิจ เพียงแต่ว่าภาพอาจจะยังไม่ชัดเจนมาก เราจึงอยากนำตรงนั้นเข้ามาให้เกิดในบ้านเราบ้าง ประกอบกับที่เราทำ Money Café ที่เปลี่ยนทัศนคติต่อการเข้าโรงรับจำนำได้สำเร็จ เราจึงเอาแนวคิดตรงนี้มาต่อยอดในธุรกิจ Brand Off Tokyo ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้างขึ้น
มองว่าตลาดสินค้าแบรนด์เนมมือสองในไทยตอนนี้เป็นอย่างไร
ความเป็นระบบทุนนิยมมันเปิดกว้างทั้งเอเชีย และทั่วโลก แนวคิดในการใช้ของที่มีคุณค่าเป็นสิ่งที่คนเริ่มให้ความสำคัญ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะสินค้าแบรนด์เนม แต่ยังรวมถึงสินค้าอย่างอื่นด้วย คนไทยเราสามารถบริโภคข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าแบรนด์เนมมากขึ้น ทำให้คนเขาถึงสินค้าแบรนด์เนมมากขึ้นตาม แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นมือหนึ่งหรือมือสองตลาดมันใหญ่ขึ้นมาก แล้วสินค้าทั้งสองตลาดมีจุดที่เชื่อมโยงกันอยู่ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ให้เราอยากเข้ามาเป็นตัวกลางตรงนี้
คิดเห็นอย่างไรกับทัศนคติที่ว่า การซื้อของแบรนด์เนมเป็นการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย
ต้องตอบว่า ไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกัน การที่จะวัดว่าสินค้าแบรนด์เนมฟุ่มเฟือย หรือเปล่า ปัจจัยหลักที่นำมาเป็นตัววัด อาจจะไม่ใช่เรื่องของราคาอย่างเดียว สิ่งที่เป็นองค์ประกอบว่าสินค้าชิ้นนั้นมีคุณค่า หรือไม่ เราจะต้องดูด้านอื่นๆ ด้วย ทั้งในของเรื่องมูลค่าสินค้า ซึ่งแต่ละคนก็ให้ราคาที่ไม่เท่ากัน บางคนยอมจ่ายสินค้านี้ในราคาเท่านี้ แต่อีกคนยอมจ่ายแพงกว่า ทำให้ถูกแปรรูปออกมาเป็นเงินที่ไม่เท่ากัน
รวมถึงในเรื่องของคุณค่าทางจิตใจ และวัตถุประสงค์ของการซื้อ เช่น คุณซื้อสินค้าในราคาไม่แพง แต่คุณใช้ได้แค่ครั้งเดียว ก็อาจจะมองว่าสินค้าชิ้นนั้นเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยได้ แต่ถ้าคุณซื้อสินค้าชิ้นนั้นมาในราคาที่แพงกว่า แต่ความถี่ในการใช้ที่บ่อยกว่า คุณมีความสุขที่จะใช้สินค้าชิ้นนั้นเยอะกว่า สินค้าชิ้นนั้นอาจจะไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือยก็ได้ หรือถ้าคุณซื้อมาในราคา x บาท แต่คุณสามารถนำไปขายในราคา x+y ก็ถือเป็นพาร์ทของการลงทุน เพราะฉะนั้นจึงมีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นตัววัด ความฟุ่มเฟือยจึงขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการซื้อของแต่ละคน ไม่มีอะไรถูกผิดหรือถูกแพงซะทีเดียว
แนวคิดแบบ Sharing Economy เข้าไปตอบโจทย์ในการขายสินค้าแบรนด์เนมมือสองอย่างไร
ปัจจุบันแนวคิด Sharing Economy แทรกซึมไปทั่วโลก ในบ้านเราเองโดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ระบบนี้เริ่มเข้ามาในแง่ของธุรกิจบริการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่พัก การขนส่ง เพราะฉะนั้นเราเป็นแค่พาร์ทหนึ่งเท่านั้น ซึ่งจริงๆ สินค้าแบรนด์เนมเหล่านี้มีความเป็นแฟชันที่ lifetime จะอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อย่างของที่เราเคยซื้อมามือหนึ่งครั้งแรก เรา fall in love กับเขาเยอะ แต่เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งไม่ใช่ว่าเราไม่ชอบแล้ว แต่เราเจอของใหม่ที่ดีกว่า เราจึงสามารถส่งต่อของเก่าไปยังอีกคนหนึ่งได้ แล้วราคาที่ถูกส่งต่อก็เป็นราคาที่ยอมรับได้ สิ่งนี้ทำให้ต้นทุนการซื้อสินค้าของผู้บริโภคจะถูกลง เพราะมันเป็นการแชร์ในเรื่องของปัจจัยการผลิต
ถ้ามองแบบภาพกว้างคือทรัพยากรทุกวันนี้มีอยู่อย่างจำกัด การใช้สินค้ามือสองทำให้ลดทรัพยากร และปริมาณขยะได้เป็นอย่างดี ทำให้คนมองสินค้าแบรนด์เนมมือสองเป็นสินค้าที่คุ้มค่า เพราะต้นทุน ความสุข และความพึงพอใจทุกอย่างก็จะถูกแชร์กันไป ถึงที่สุดแล้วก็จะดีกับตัวบุคคล สังคม และโลกต่อไปได้ เราจึงอยากจะให้ Brand Off Tokyo เป็นองค์กรที่ยึดมั่นในชุดความคิดของ Sharing Economy เพื่อให้ผู้บริโภคใช้สินค้าที่มีคุณภาพในราคาที่ถูกลง และช่วยโลกในเรื่องของการผลิตที่ลดลงได้
ปัญหาเรื่องของก็อปและราคากลาง คือปัญหาหลักในตลาดของมือสองที่ต้องพบเจอ Brand Off เข้ามาแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร
เนื่องจาก Brand Off Tokyo เป็น International brand ที่มีสาขาอยู่ทั้งญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน และเป็นหนึ่งในองค์กรที่ทำให้เกิดมาตรฐานใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมสินค้ามือสอง เพราะฉะนั้นเราจึงมีมาตรฐานชัดเจนของราคากลางที่อิงจากราคาทั่วโลก มีการเก็บข้อมูลของสินค้าแต่ละชนิดเยอะมาก ทั้งสเปคของสินค้าแต่ละรุ่นแต่ละประเภท เราสามารถอิงข้อมูลทั้งราคาและคุณภาพได้ตลอดเวลา รวมไปถึงเรื่องบุคลากรอย่าง inspector ที่มีประสบการณ์มา 25 ปี มีระบบเทรนนิ่งทั้งภายในและภายนอก แม้แต่บุคลากรที่เข้ามาทำงานในบ้านเราก็ผ่านการเทรนนิ่งมาแล้ว ซึ่ง Brand Off Tokyo ก็อยู่ในสมาคม AACD (The Association Against Counterfeit Product Distribution) สมาคมที่ต่อต้านและป้องกันสินค้าเลียนแบบ ซึ่งทำให้ลูกค้าของ Brand Off Tokyo เกิดความมั่นใจได้ทั้งเรื่องคุณภาพ ราคา และสินค้าที่เป็นของแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์
ส่วนเรื่องการขายออนไลน์เป็นอีกสเต็ปหนึ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะถ้าสินค้าที่ขายภายใต้ Brand Off Tokyo น่าเชื่อถือร้อยเปอร์เซ็นต์ จะทำให้คนตัดสินใจซื้อของบนออนไลน์ได้ไม่ยากเลย แม้มีข้อจำกัดบางอย่างบ้าง แต่จะเป็นปัจจัยรองๆ เมื่อเทียบกับปัจจัยเรื่องของแท้หรือไม่แท้ จะเป็นการตัดสินใจในเรื่องของดีไซน์เป็นหลักว่าชอบหรือไม่ชอบเท่านั้นมากกว่า
มองว่าการซื้อของแบรนด์เนมมือสอง คือทางเลือกของคนที่อยากจะมีของแบรนด์เนมใช้ แต่เงินไม่พร้อมหรือเปล่า
กลุ่มลูกค้าของ Brand Off Tokyo จริงๆ ถ้าแยกออกมาเป็นเซ็กเมนต์คือ กลุ่มหนึ่งคือคนที่อยากจะได้สินค้าแบรนด์เนม แต่อาจจะยังคิดว่าไม่เหมาะสมที่จะซื้อของมือหนึ่ง เช่น คนที่เพิ่งทำงานยังมีรายได้ไม่มาก กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่มีกำลังซื้อแบรนด์เนมเยอะอยู่แล้ว จนสามารถที่จะนำสินค้าตรงนี้มาทำให้เกิดคุณค่าในรูปแบบใหม่ อย่างถ้าชอบน้อยลง เขาก็นำสินค้านั้นมาหา Brand Off Tokyo แล้วเราก็ประเมินมูลค่าสินค้านั้นให้ในราคาที่เหมาะสม และอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่มีสินค้าอยู่แล้ว แล้วอยากได้สินค้าชิ้นใหม่ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อสินค้าใหม่เรื่อยๆ ทำให้เสียเงินเปล่าๆ เพราะฉะนั้นเราจึงสร้างระบบของการเทรดแลกเปลี่ยนกันขึ้นมา
บางสินค้าก็เป็นความฉลาดในแง่การตลาดที่มีการออกสินค้าลิมิเต็ดที่ไม่สามารถไปหาซื้อที่ไหนก็ได้ ทำให้คนเราอยากได้กันมากขึ้น แต่ก็ต้องบอกว่าเราไม่ได้สนับสนุนให้ทุกคนต้องมีครบทั้งหมด และเราคงไม่ได้หวังว่าจะให้ทุกคนใช้สินค้ามือสอง หนึ่งคนอาจจะมีทั้งสินค้ามือหนึ่งและมือสองได้ในเวลาเดียวกัน ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ ความคิด และองค์ประกอบด้านรายได้ ซึ่งตรงนี้เป็นปัจจัยที่เราไม่สามารถกำหนดได้
เรียกได้ว่าเป็นการบริหารการเงินและความรู้สึก
ส่วนตัวยอมรับว่าผมก็ใช้สินค้าแบรนด์เนม แต่ก็มีวิธีคิดที่เปลี่ยนไปตามวัยที่เพิ่มขึ้น เดิมทีที่เราได้สินค้ามาก็ภูมิใจ แต่ก็ไม่ใช่ทุกชิ้นที่เราอยากจะเก็บไว้ทุกชิ้นได้ตลอด จะลดน้อยลงไปตามกาลเวลา ตรงนี้ก็เลยคิดว่าทำไมไม่ใช้แนวคิดแบบ Sharing Economy เข้ามา ซึ่งผมไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องของความฟุ่มเฟือย แต่มองว่าเป็นเรื่องของประสบการณ์ที่อาจจะมีราคา อย่างเรื่องของการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนสิ่งที่ได้รับคือประสบการณ์ที่มีคุณค่า ซึ่งเงินก็เป็นปัจจัยในการแลกมาซึ่งประสบการณ์นั้นๆ ในแง่ของสินค้าแบรนด์เนมก็เช่นกัน การได้ของมาก็เป็นประสบการณ์หนึ่งที่ได้รับ โดยมีเรื่องเงินเป็นปัจจัยเช่นกัน เชื่อว่า Collector ทั้งหลายต่างก็รู้สึกเช่นเดียวกัน
เพราะทุกอย่างเป็นการจ่ายแบบฉลาดใช้ จึงเป็นการปิดประตูว่าแบรนด์เนมเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยหรือเปล่า มันขึ้นอยู่กับความคิดของผู้บริโภคมากกว่า เป็นผลตอบแทนที่ให้คุณค่าทางจิตใจที่ไม่สามารถวัดได้ด้วยตัวเงิน และเป็นการบริหารกิเลสที่ดีจริงๆ คนเราไม่สามารถตัดกิเลสได้หมด ยังมีความอยากได้นั่นอยากได้นี่ตลอดเวลา ถามว่าจำเป็นไหมที่ต้องซื้อสินค้ามือหนึ่งทันทีในภาวะที่ยังไม่พร้อม นี่เป็นคำตอบที่คุณจะสามารถบริหารกิเลสในระดับที่เหมาะสมได้ ถ้าคุณรู้จักตนเองดี โลกนี้อาจจะไม่ได้มีคำตอบแค่ว่าถูกหรือผิด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม คุณสามารถใช้วิธีคิดให้เหมาะกับตัวเราเองได้ สิ่งนี้จึงเป็นหัวใจสำคัญของ Brand Off Tokyo
สุดท้ายแล้วมองว่า Brand Off Tokyo by Money Café ได้เข้าไปช่วยเหลือสังคมอย่างไร
สินค้าหลายๆ ชิ้นที่เรามี เราอาจลืมหรือให้ความสำคัญน้อยลงไป ซึ่งความจำเป็นวัดได้จากสินค้าชิ้นนั้นเราไม่ได้ถูกใช้เกินสามถึงหกเดือนหรือยัง เราก็ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าสินค้าชิ้นนั้นจำเป็นสำหรับตัวเองหรือเปล่า หรือเราควรจะนำกลับมาสร้างคุณค่าในรูปแบบใหม่ๆ ถ้าตีกันตรงๆ อย่างน้อยที่สุดก็ได้เงินกลับไป หรือได้เคลียร์พื้นที่บ้าน ขณะเดียวกันในเรื่องจิตใจ เราอาจจะไม่รู้ว่าคนที่มาซื้อต่อเขาจะแฮปปี้มากน้อยแค่ไหน ความสุขจึงถูกส่งต่อได้ไม่ยากเลย
ทุกอย่างมีคำตอบให้กับชีวิตได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเปิดรับแค่ไหน ปรัชญาของญี่ปุ่นมองว่าสินค้าหนึ่งชิ้นที่มีคุณค่าสามารถส่งต่อกับคนอื่นไปได้อีกเรื่อยๆ เพราะคุณค่าของสินค้าแต่ละชิ้นไม่มีวันหมด ตราบใดที่คนยังเห็นคุณค่าของสิ่งนั้นอยู่ และ Brand Off Tokyo เองก็ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างลูกค้าคนที่หนึ่งกับลูกค้าคนที่สองต่อไปเรื่อยๆ ถ้าทุกคนคิดแบบนี้ได้ ความสุขจะได้รับการส่งต่อไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ภาพเล็กๆ ของแต่ละคนไปจนถึงภาพที่ใหญ่อย่างสังคม ตามคอนเซปต์ Sharing Economy, Sharing Happiness
ในวันที่ 30 มีนาคม ถึง 1 เมษายน 2561 นี้ ทาง Brand Off by Money Café จะจัดงาน Brand Off Tokyo Market Place Sharing Economy … Sharing Happiness รับซื้อ และขาย สินค้าแบรนด์เนม ณ โรงแรมเอ็มโพเรียม สวีท บริเวณห้าง Emporium BTS พร้อมพงษ์ ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ https://goo.gl/forms/IMzRwXQpwKLPk6G42