โรคภัยไข้เจ็บในโลกนี้มีมากมายราวแสนโรคและมีโรคใหม่ๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ แต่ ‘มะเร็ง’ นั้นเรียกได้ว่าเป็นอันดับต้นๆ ในความหวาดกลัวของทุกคนเสมอมา
ตั้งแต่โลกได้รู้จักกับโรคมะเร็ง เมื่อปี 1775 โดยนายแพทย์ชาวอังกฤษคนหนึ่ง จวบจนทุกวันนี้ เราก็ยังคงต้องอยู่ท่ามกลางสถิติการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งมากขึ้นเรื่อยๆ โดยคนไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งสูงเป็นอันดับหนึ่ง มากถึง 78,540 คนต่อปี หรือเฉลี่ยแล้วชั่วโมงละ 8 ราย และยังมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 122,757 คน การเล่าถึงจำนวนอาจจะดูห่างไกลตัวจนจินตนาการไม่ออก แต่เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้สัมผัสความโศกเศร้าเสียใจเมื่อคนใกล้ตัวจากไปด้วยโรคนี้กันอยู่บ้าง ทำให้ทันทีที่ได้ยินคำว่า ‘มะเร็ง’ หลายคนจึงเห็นภาพที่มากกว่าความเจ็บป่วยทางกายของผู้ป่วย เพราะกระบวนการรักษาที่ชวนให้อ่อนแรงทั้งกาย ใจ ไปจนถึงภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งยังส่งผลกระทบถึงครอบครัวและสังคมรอบข้างไปตามๆ กัน
แม้เราจะได้ยินข่าวคราวงานวิจัยเกี่ยวกับการรักษามะเร็งรูปแบบใหม่ๆ ออกมามอบความหวังในการรักษามะเร็งอยู่เนืองๆ ภาพจำที่เคยได้พบเห็นผ่านสื่อหรือคำบอกเล่าต่างๆ ก็ยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าชีวิตหนึ่งกำลังจะสิ้นสุดลงทันทีที่หมอบอกว่าเป็นมะเร็ง แต่ด้วยความมุ่งมั่นค้นคว้าวิจัยหาวิธีรักษาโรคมะเร็งที่ได้ผลและเหมาะสมกับแต่ละคนมากยิ่งขึ้น ทำให้วงการแพทย์ค้นพบวิธีการรักษาโรคมะเร็งแนวทางใหม่ที่แตกต่างไปจากวิธีการเดิมๆ ที่เราคุ้นเคยกัน
ภูมิคุ้มกันบำบัด หรือ Immunotherapy คือการใช้ภูมิคุ้มกันในร่างกายมาต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง นับเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษามะเร็งที่กำลังได้รับความสนใจในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา
“โดยปกติร่างกายของเรามีเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่หลักในการสร้างภูมิคุ้มกัน จัดการสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย เซลล์มะเร็งคือเซลล์ที่มีการกลายพันธุ์และถือเป็นสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย แต่มีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดเป็นโรคมะเร็งในที่สุด เมื่อมีการค้นพบกลไกการหลบภูมิคุ้มกันของเซลล์มะเร็ง จึงทำให้สามารถหาวิธีนำภูมิคุ้มกันมาใช้เป็นแนวทางใหม่ในการรักษาโรคมะเร็งได้”
รองศาสตราจารย์นายแพทย์เอกภพ สิระชัยนันท์ หัวหน้าสาขาวิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายถึงแนวคิดการในการต่อสู้กับมะเร็งรูปแบบใหม่ ที่ไม่ได้ทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรง แต่กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ให้ไปทำลายเซลล์มะเร็งอีกที ซึ่งประสิทธิภาพการรักษาค่อนข้างดี มีผลข้างเคียงน้อย จึงทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น โดยข้อบ่งชี้ในการรักษามะเร็งแต่ละชนิด ขึ้นอยู่กับระยะ และลักษณะของโรค
ผศ.พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขยายความต่อเกี่ยวกับสถานการณ์การใช้ยาภูมิต้านทานบำบัดในประเทศไทยว่า
“ยากลุ่มนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักในคนไทยส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นยากลุ่มใหม่และมีราคาสูง ทำให้การเข้าถึงยายังจำกัดอยู่ในคนบางกลุ่มเท่านั้น แต่ปัจจุบันมียากลุ่มภูมิต้านทานบำบัดหลายตัวมากขึ้น มีการแข่งขันเรื่องราคา ทำให้คนไข้มีโอกาสเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ อยากให้คนไข้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการรักษาด้วยยาภูมิต้านทานบำบัดมากขึ้น เพื่อประโยชน์ทางการรักษา พร้อมทั้งภาครัฐหรือคุณหมอเองก็ต้องแนะนำผู้ป่วยได้ด้วยว่าการรักษาด้วยยาภูมิต้านทานเป็นมาตรฐานและได้รับการรักษาทั่วโลกเพื่อเป็นหนึ่งในทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็ง”
ในปัจจุบันยากลุ่มภูมิต้านทานบำบัด ใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอด มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งลำไส้ใหญ่ ในระยะที่ 4 แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะนำมาใช้ในการรักษามะเร็งชนิดอื่นๆ และทดลองใช้ในการรักษาระยะเริ่มต้นและหลังจากหายขาดเพื่อลดความเสี่ยงกลับมาเป็นซ้ำต่อไปอีกด้วย
นี่จึงเป็นข่าวดีสำหรับเราทุกคนที่มีทางเลือกใหม่ๆ ในการรักษาโรคร้ายที่ใครๆ ก็กลัวโรคนี้ แต่สิ่งสำคัญที่สุด ไม่ว่าผู้ป่วยคนนั้นจะเป็นเราเองหรือคนใกล้ชิด การรับมือต่อโรคนี้ของแต่ละคนย่อมมีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามสภาพร่างกายของแต่ละคน ระยะของมะเร็ง ชนิดของมะเร็ง ฯลฯ
การปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อค้นหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด จึงเป็นหนทางที่จะเอาชนะมะเร็งแล้วกลับมาใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ได้อีกครั้ง