ว่ากันว่าอีนาเมลที่เคลือบฟันของเรานั้น เป็นส่วนที่แข็งที่สุดในร่างกายของมนุษย์ แต่เคยสงสัยไหมว่า แล้วทำไมตลอดชีวิตที่ผ่านมาเรายังต้องคอยดูแลทะนุถนอมฟันกันเป็นอย่างดี
นั่นเป็นเพราะทุกวันนี้มนุษย์เราบริโภคอาหารแป้ง และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงมาก ส่งผลให้เกิดฟันผุ เหงือกอักเสบได้ง่าย หากละเลยการทำความสะอาดเศษอาหารที่ตกค้าง แต่ต้นตอปัญหาสุขภาพฟันของคนยุคนี้ ไม่ได้มาจากอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น แต่เป็นผลของวิวัฒนาการโครงสร้างร่างกาย ที่เรารับช่วงต่อมาจากบรรพบุรุษด้วยเช่นกัน การรู้จักที่มาที่ไปของร่างกายอาจตอบคำถามที่หลายคนคาใจได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ
ฟัน และเส้นผมของคนเรามีต้นกำเนิดมาจากเกล็ดปลา
เส้นผมและเกล็ดปลาถูกสร้างขึ้นภายนอกร่างกายในลักษณะที่ซ้ำๆ หน้าตาผมแต่ละเส้น เกล็ดแต่ละเกล็ดมีความคล้ายคลึงกัน ส่วนฟันมีจุดร่วมกับเกล็ดปลาในแง่ที่มันมีส่วนประกอบของกระดูกที่ใกล้เคียงกัน นิตยสาร Nature ตีพิมพ์ผลการค้นพบว่า จากการที่นักวิจัยทดลองโดยการนำตัวอย่างของเกล็ดและฟันบางส่วนของปลา Spotted Gar มาตรวจสอบ แล้วพบว่ามีสารที่เรียกว่า Ganoine ซึ่งคล้ายคลึงกับอีนาเมลที่ฟันของเรา สารนี้เองที่พัฒนามาเป็นฟันและเส้นผมของมนุษย์ในเวลาต่อมา
ในอดีตบรรพบุรุษของเราต้องกินอาหารดิบๆ ชิ้นใหญ่ๆ ฟันจึงต้องคม กรามจึงมีขนาดใหญ่ เพื่อให้บดเคี้ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ นักวิจัยชีววิทยาเกี่ยวกับพัฒนาการมนุษย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เชื่อว่ากรามของคนเรามีขนาดเล็กลง เพราะเราเริ่มคิดค้นเครื่องมือมาใช้ทุ่นแรง สร้างเครื่องมือขึ้นมาเพื่อตัด หั่นชิ้นเนื้อใหญ่ๆ ให้มีขนาดเล็กลง หั่นเนื้อ ผลไม้ ผัก ให้พอดีคำ กรามของเราจึงไม่ต้องทำงานหนัก ไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ หรือแกร่งเท่าเดิม แถมยังประหยัดเวลา ประหยัดพลังงานในการเคี้ยวอาหารมากขึ้นอีกด้วย รวมไปถึงเมื่อมนุษย์ได้รู้จักเกษตรกรรม การปรุงอาหารให้สุก เลี้ยงสัตว์เอง ไม่ต้องล่าสัตว์หากินตามมีตามเกิดอีกต่อไป ทำให้วิถีการกินเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมในแต่ละวันก็เปลี่ยนไป มวลกระดูกมีความหนาแน่นน้อยลง ฟันของเราก็มีขนาดเล็กลงตามไปด้วยเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นไปตามกฎการคัดเลือกของธรรมชาติ ในเมื่อกรามเล็ก ฟันเล็กเข้ากับบริบทใหม่ของการใช้ชีวิตมากกว่า จึงอยู่รอดได้ดีกว่าและขยายจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
ในทางกลับกัน ขนาดของกราม และฟันที่เล็กลงก็ส่งผลต่อเรื่องอื่นๆ ในร่างกายของเราด้วย เพราะเมื่อโครงสร้างในช่องปากซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งในกะโหลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงไป ก็ทำให้วิธีการสื่อสาร รูปแบบการออกเสียงของเราเปลี่ยนแปลงไปด้วย และเชื่อกันว่า มีผลต่อพัฒนาการสมองของเราในส่วนพื้นที่ ที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงความร้อนในร่างกายด้วย
มีการถกเถียงที่น่าสนใจว่า การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต จากการเป็นผู้ล่ามาเป็นผู้ปลูกนั้น เป็นต้นเหตุสำคัญ ที่ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ มากมายในมนุษย์ เช่นการที่เราต้องทุกข์ทรมานกับฟันคุดอันเป็นร่องรอยของวิวัฒนาการอย่างหนึ่ง ที่สืบเนื่องมาจากจำนวนของฟันที่ขึ้นมาไม่พอดีกับขนาดของกรามที่หดสั้นลง หรือการที่เราเคลื่อนไหวน้อยลงจากการใช้เครื่องทุ่นแรงมากขึ้น แต่กินมากกว่าเดิม ทำให้ได้รับปริมาณแคลอรี่มากเกินจำเป็น จนทำให้เกิดโรคอ้วน แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกอย่างที่กล่าวมานั้น เกิดขึ้นได้ก็เป็นเพราะผลพวงของการต่อสู้ดิ้นรน ที่จะมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ ร่วมกับการคัดสรรของธรรมชาติ และการตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้นของบรรพบุรุษของเรา การย้อนกลับไปศึกษาที่มาที่ไปในประวัติศาสตร์ของฟัน จึงอาจเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยนำทางให้เราพบวิธีดูแลรักษาสุขภาพฟันกันได้ดีขึ้นต่อไปในอนาคต
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.thoughtco.com/human-jaw-evolution-and-food-processing-4000409
https://www.smithsonianmag.com/smart-news/how-dawn-farming-changed-our-mouths-worst-180954167/
https://www.popsci.com/teeth-enamel-might-have-started-as-fish-scales
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0960982201004389
https://www.sciencealert.com/your-teeth-maybe-evolved-from-fish-scales